หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งรัฐนิวยอร์กผ่านร่างกฎหมาย Digital Fair Repair Act (หรือที่มักจะเรียกกันว่า Right to Repair) มานานกว่า 6 เดือน เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา นาง Kathy Hochul ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กก็ลงนามให้กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว
สำหรับใครที่ไม่คุ้นเคย กฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญให้ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต้องจำหน่ายอะไหล่ รวมทั้งเปิดเผยคู่มือการซ่อมอุปกรณ์และซอพต์แวร์ที่เกี่ยวข้องให้กับผู้บริโภคและร้านซ่อมอิสระ ในระดับเดียวกับศูนย์บริการของผู้ผลิต ทำให้ผู้บริโภคมีอิสระในการเลือกร้านซ่อม ช่วยให้การซ่อมอุปกรณ์มีราคาจับต้องได้มากขึ้น ลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กได้แก้ไขกฎหมายนี้บางส่วนก่อนลงนาม การแก้ไขที่มีการถกเถียงกันอย่างมากคือการอนุญาตให้ผู้ผลิตขายอะไหล่ในลักษณะที่ประกอบมาแล้วโดยไม่แยกส่วน ในกรณีที่ "หากติดตั้งไม่ถูกต้องจะทำให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ" ("the risk of improper installation heightens the risk of injury") ซึ่ง Louis Rossmann หนึ่งในแกนนำกลุ่มส่งเสริม Right to Repair ถึงกับบอกว่ากฎหมายที่แก้ไขแล้วนี้ "ไร้ประโยชน์ในทางปฏิบัติ" ("functionally useless") เขายกตัวอย่างว่าผู้ผลิตอาจจะติดกาวแบตเตอรี่เข้ากับจอ ขายชิ้นส่วนดังกล่าวในราคาเกือบเท่ากับตัวเครื่อง แล้วอ้างว่าการพยายามแยกแบตเตอรี่ออกจากกันเสี่ยงต่อการระเบิด ซึ่งไม่ต่างอะไรกับในปัจจุบัน
กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม ปีหน้า และมีผลกับอุปกรณ์ที่ผลิตหรือจำหน่ายใหม่เท่านััน
ที่มา: iFixit, Twitter: Jon Campbell, YouTube: Louis Rossmann