We Are Social ดิจิทัลเอเจนซี่ ออกรายงานเพิ่มเติมต่อจาก Digital 2023 โดยรายงานนี้โฟกัสเฉพาะข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย Digital 2023: Thailand ซึ่งสะท้อนภาพรวมและรูปแบบพฤติกรรมการใช้งานในประเทศ
รายงานฉบับเต็มมี 125 หน้า ซึ่ง We Are Social เองก็ได้ทำสรุปประเด็นสำคัญที่น่าสนใจไว้ดังนี้
ประชากรอินเทอร์เน็ตของไทยมี 61.21 ล้านคน คิดเป็น 85.3% ของประชากรทั้งประเทศ (71.75 ล้านคน) เป็นข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2023 เพิ่มขึ้น 0.2% จากตัวเลขในปี 2022
ค่ากลางความเร็วอินเทอร์เน็ตของไทย ซึ่งวัดโดย Ookla พบว่าค่ามัธยฐาน (Median) ของความเร็วอินเทอร์เน็ตมือถืออยู่ที่ 37.85 Mbps ส่วนอินเทอร์เน็ตสายอยู่ที่ 205.63 Mbps เพิ่มขึ้น 18-20% จากปีก่อน
ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในไทยมี 52.25 ล้านคน คิดเป็น 72.8% ของประชากรทั้งหมด อย่างไรก็ตาม We Are Social ให้ความเห็นว่าตัวเลขนี้มาจากเครื่องมือวัดอื่น ซึ่งอาจไม่ตรงกับตัวเลขจริง
Facebook มีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุดเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ LINE ด้วยอัตราที่ใกล้กันมาก ตามด้วย Facebook Messenger, TikTok และ Instagram
อันดับมีการสลับเล็กน้อยเมื่อถามว่าโซเชียลมีเดียใด ที่ชอบใช้งาน เป็น Facebook, TikTok, LINE และ Instagram ตามลำดับ
ผู้ใช้งาน Facebook ในไทยมี 48.10 ล้านคน อัตราการเข้าถึงโฆษณาบนแพลตฟอร์ม (Ad Reach) คิดเป็น 67.0% ของประชากรทั้งประเทศ
จำนวนผู้ใช้งาน YouTube ในไทยมี 43.90 ล้านคน ขณะที่อัตราการเข้าถึงโฆษณาอยู่ที่ 61.2% ของประชากรทั้งประเทศ
มาดูที่ Instagram ตัวเลขผู้ใช้งานอยู่ที่ 17.35 ล้านคน คิดเป็น 24.2% ของประชากรทั้งประเทศ รายงานของ Meta บอกว่าประชากร Instagram ในไทยเป็นเพศหญิง 60.9% และเพศชาย 39.1% ทั้งนี้การจำแนกเพศของรายงาน Meta มีเพียง 2 ค่าเท่านั้นคือหญิงและชาย ซึ่งอัตราส่วนนี้แตกต่างจาก Facebook ที่เพศหญิง 51.0% และเพศชาย 49.0%
ตัวเลขของ TikTok ในไทย มีผู้ใช้งาน 40.28 ล้านคน ซึ่ง ByteDance ระบุว่าเป็นตัวเลขเฉพาะผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนอายุมากกว่า 18 ปี
ตัวเลขผู้ใช้งานแพลตฟอร์มอื่นเป็นดังนี้ Facebook Messenger 35.05 ล้านคน, Twitter 14.60 ล้านคน และ LinkedIn 4.10 ล้านคน
คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 8 ชั่วโมง 6 นาที ต่อวัน โดยประมาณ 5 ชั่วโมง อยู่บนสมาร์ทโฟน และ 3 ชั่วโมงอยู่บนคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ต
การสำรวจคำถามว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพื่ออะไร 64.9% บอกว่าหาข้อมูล รองลงมา 58.1% ติดตามข่าวสาร-เหตุการณ์ และ 54.8% บอกดูวิดีโอ รายการทีวี หรือหนัง
อุปกรณ์ที่ใช้ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต จากกลุ่มที่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ต 95.3% ใช้โทรศัพท์ทุกประเภทรวมกัน ขณะที่แล็ปท็อปหรือเดสก์ท็อปมีอยู่ 47.6% แท็บเล็ตมี 25.6% เมื่อนำมาคิดเป็นส่วนแบ่งแล้ว คนเข้าอินเทอร์เน็ตจากโทรศัพท์คิดเป็น 68.00%
ส่วนประเด็นนี้เป็นที่พูดถึงกันมากในออนไลน์วันนี้ นั่นคือเว็บไซต์ยอดนิยมที่คนไทยเข้าชม ซึ่งในรายงานมี 2 แหล่งข้อมูล เริ่มที่ Semrush โดยผลออกมา YouTube มาที่หนึ่งตามด้วย Google และ Facebook ส่วนอันดับรอง ๆ ก็ดูมีเว็บเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ติดมาหลายเว็บทีเดียว
ส่วนอีกข้อมูลมาจาก Similarweb สามอันดับแรกสลับเล็กน้อยคือ Google, YouTube, Facebook ตามลำดับ ขณะที่เว็บเนื้อหาผู้ใหญ่นั้นก็ยังคงคิด Top 20 มาด้วย แต่จำนวนน้อยกว่า
คีย์เวิร์ดค้นหายอดนิยมในกูเกิลของไทย แปล มีจำนวนมากที่สุด ตามด้วย หนัง และ ผล บอล
เมื่อสำรวจถึงวิธีการหาข้อมูลที่เฉพาะแนวทาง พบว่า 45.5% เคยเข้าโซเชียลเพื่อหาข้อมูลแบรนด์สินค้า 34.8% เคยเสิร์ชด้วยรูปภาพ 41.8% เคยใช้โปรแกรมแปลภาษา และ 18.4% เคยใช้งานผู้ช่วยแบบคำสั่งเสียง
คนไทย 94.3% ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเคยชมวิดีโอรวมกันทุกประเภท โดยเมื่อแยกย่อย 56.0% ดูมิวสิควิดีโอ 42.1% ดูคลิปตลกหรือไวรัล และ 33.1% ดูคลิปเล่นเกม
มาที่ข้อมูลการฟัง 36.9% ฟังเพลงผ่านบริการสตรีมมิ่ง และ 21.8% ฟังพอดคาสต์
จำนวนอุปกรณ์โทรศัพท์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในไทยมีมากกว่าจำนวนประชากรคือ 101.2 ล้านเครื่อง
แอปมือถือยอดนิยม วัดจากจำนวนผู้ใช้งาน Facebook, LINE และ Facebook Messenger มาอันดับ 1-3 ส่วนฝั่งเกมเป็น RoV, Roblox และ Free Fire ตามลำดับ
แต่ถ้าวัดจำนวนดาวน์โหลด ตอนนี้ TikTok มาเป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับการจ่ายเงิน YouTube มาในอันดับ 1 ฝั่งแอป ขณะที่เกมเป็น RoV
ปัจจัยที่เสริมให้คนตัดสินใจจ่ายเงินซื้อของออนไลน์มากขึ้น 54.7% บอกว่าส่งฟรี รองลงมา 49.0% ให้คูปอง-ส่วนลด และ 36.1% บอกว่า COD หรือสามารถจ่ายเงินตอนรับสินค้า
ประเภทสินค้าที่มีการซื้อออนไลน์ตามมูลค่า กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด 5.77 พันล้านดอลลาร์ รองลงมาคือของใช้ส่วนตัว-ของใช้ในบ้าน 4.10 พันล้านดอลลาร์
วิธีการชำระเงิน 37% โอนเงินไปยังบัญชีธนาคาร 23% ใช้โมบายล์วอลเลต และ 22% ใช้บัตรเครดิต
ตลาดการจ่ายเงินให้ดิจิทัลมีเดีย มากที่สุดมาจากเกม ตามด้วยวิดีโอสตรีมมิ่ง และอีบุ๊ก
ในรายงานยังมีข้อมูลอีกหลายหมวดธุรกิจ และรายละเอียดเพิ่มเติมของดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง สามารถดูได้จากที่มา
ที่มา: We Are Social