จากประเด็นข่าวที่ผ่านมา เมื่อมีผู้ใช้งานแอปเดลิเวอรี่ ชื่อดัง ได้เข้าไปแก้ไขชื่อแผนที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ โดยมีการเปลี่ยนชื่อในสถานที่ต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยกบฏแห่งชาติธรรมศาสตร์, ลานประหารกบฏคอมมิวนิสต์ไทย เป็นต้น
ซึ่งเบื้องหลังคือ แอปเดลิเวอรี่ดังกล่าวดึงข้อมูลแผนที่มาจาก OpenStreetMap ซึ่งเป็นผู้ให้บริการฐานข้อมูลในรูปแบบของแผนที่ก่อตั้งโดย Steve Coast มีจุดประสงค์คือ แบ่งปันเพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงพื้นที่ฟรี โดยหน้าตาของ OpenStreetMap จะมีความคล้ายคลึงกับ Google Map ที่เราคุ้นเคยกัน แต่ต่างตรงที่ OpenStreetMap สามารถแก้ไขข้อมูลหรือเปลี่ยนแปลงได้ตามต้องการและไม่สามารถเข้าถึงการดูผ่านดาวเทียมได้ ส่วน Google Map สามารถดูได้ละเอียดกว่า
แน่นอนว่า OpenStreetMap มีบริการเปิด API สำหรับผู้ที่ต้องการเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันอื่นได้แบบฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม แนวทางในการสร้างข้อมูลแผนที่ของ OpenStreetMap โดยเฉพาะหมุดสถานที่ต่างๆ บนแผนที่ จะอาศัยการเปิดให้ชุมชนร่วมกันเข้ามาปักหมุดและระบุชื่อบนแผนที่ ซึ่งก็ให้ชุมชนเป็นคนช่วยตรวจสอบแก้ไขให้ถูกต้อง (แนวทางคล้ายๆ กับ Wikipedia ที่เปิดให้ชุมชนเข้ามากรอกข้อมูล และช่วยกันตรวจสอบ)
ด้วยช่องนี้นี่เองที่เปิดให้คนเข้าไปแก้ไขชื่อของหมุดในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บน OpenStreetMap ตามที่ปรากฏบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับผู้ให้บริการเดลิเวอรี่รายดังกล่าว ซึ่งล่าสุด ข้อมูลบน OpenStreetMap ก็ถูกแก้กลับให้ถูกต้องแล้ว
แต่ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ OpenStreetMap ถูกนำไปใช้ได้หลากหลายวัตถุประสงค์ มีหลายแอปฯ และหลายเว็บไซต์ที่นำ OpenStreetMap ไปพัฒนาจนสามารถสร้างแอปฯ GPS แบบออฟไลน์อย่าง OsmAnd หรือ Maps.me ได้ รวมไปถึง Locus Map แอปฯ นำทางสำหรับนักเดินป่า นักปั่นจักรยาน และนักท่องเที่ยว เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ OpenStreetMap มีการเปิดให้สมัครสมาชิกระดับแพลตตินั่มได้ ซึ่งสมาชิกรายแรกเป็น TomTom บริษัทแผนที่จากเนเธอร์แลนด์ รวมไปถึง Microsoft และ Meta เป็นสมาชิกระดับโกลด์อีกด้วย โดยมีเหตุผลว่า OpenStreetMap ถือเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่ทรงพลังสามารถสร้างประโยชน์และนำไปพัฒนาต่อยอดได้อีกมาก
Disclaimer - Blognone เป็นบริษัทในเครือของ LINE MAN Wongnai