ตอนนี้เป็นเรื่องของแอพพลิเคชันที่ติดมากับ Windows 7 รวมถึงแอพพลิเคชันในชุด Windows Live Essentials ที่ดาวน์โหลดมาลงเพิ่มเติมได้ และพูดถึง Windows XP Mode (XPM) นิดหน่อย
ความเดิม
โปรแกรมแรกที่ควรค่าแก่การพูดถึงไม่มีตัวไหนดีกว่า Internet Explorer 8 ซึ่งพัฒนาจาก IE7 ในหลายจุด รายละเอียดไม่อยากมาฉายซ้ำ อ่านได้ใน รีวิว Internet Explorer 8
IE8 บน Windows 7 กับ IE8 ของวินโดวส์รุ่นอื่นๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ มีจุดต่างกันที่เห็นได้ชัดเพียงจุดเดียว นั่นคือเปลี่ยนจาก Windows Live Search มาเป็น Bing
ถึงแม้ว่า IE8 จะพัฒนาขึ้นจากเดิมมาก แต่เทียบกับคู่แข่งในท้องตลาดแล้วยังห่างชั้นอยู่พอสมควร คำแนะนำจากใจของผมคือใช้ Windows 7 กับเบราว์เซอร์ตัวอื่นๆ ตามชอบ (แนะนำ Firefox กับ Chrome) เดี๋ยวนี้ไม่มีปัญหาเซ็ตเบราว์เซอร์อื่นเป็น default แต่เปิดลิงก์ยังเป็น IE อีกแล้ว สบายใจได้
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ IE8 ที่มากับ Windows 7 ไม่สามารถเล่นได้ทั้ง Flash และ Silverlight ครับ ต้องดาวน์โหลดเองเพิ่มเติม
Windows Media Player หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า WMP นั้นก็มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานตั้งแต่ Windows 95/98 ภายหลังถูกรวมเข้ามากับ XP ในรุ่น 8 และพัฒนามาเป็น WMP12 ใน Windows 7 ซึ่งใช้ได้บน Windows 7 เท่านั้น ไม่สามารถดาวน์โหลดมาติดตั้งเองได้แบบ WMP11
การเปลี่ยนแปลงสำคัญของ WMP12 มี 3 อย่างครับ อย่างแรกคือ หน้าตา
จากภาพเห็นชัดเจนว่าโทนสีดำของ WMP11/Vista กลายมาเป็นสีฟ้าใสบางเบาใน WMP12/7 แต่โครงสร้างหลักๆ ยังเหมือนเดิม
ในส่วนของหน้าตายังมีการเปลี่ยนแปลงอีกจุด นั่นคือ WMP12 ไม่มี "โหมด" (เช่น Now Playing, Burn, Sync) ที่ชัดเจนแบบ WMP11 และ WMP รุ่นก่อนหน้าอีกแล้ว มันถูกแปลงสภาพกลายเป็น sidebar ด้านขวามือแทน (ถ้าภาพไม่ชัด คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)
เจ้า sidebar ประกอบด้วย 3 แท็บซึ่งยกยอดมาจากของเดิม ได้แก่ Play, Burn และ Sync การแสดงผลของมันจะเป็นอิสระจาก Library ด้านซ้ายมือ สามารถซ่อน sidebar ได้ แต่ Library จะถูกแสดงเสมอ และแน่นอน Library ของ WMP12 ใช้ร่วมกับ Libraries ของตัวระบบปฏิบัติการ (อ่านเรื่อง Libraries ได้ในรีวิว Windows 7 ตอนที่ 4)
การเปลี่ยนแปลงอย่างที่สองไม่มีรูปภาพให้ดู แต่ก็สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือเรื่อง codec
WMP12 สนับสนุน codec ที่ได้รับความนิยมในตลาดจำนวนมาก เช่น H.264, DivX, Xvid, AAC, 3GP (อย่างไรก็ตามยังไม่สนับสนุน Ogg Vorbis/Theora) นอกจากนี้ยังสามารถอ่าน iTunes Library ได้ด้วย เล่นไฟล์ได้เกือบทุกอย่างที่ iTunes เล่นได้ มีข้อยกเว้นนิดหน่อยตรงพวกที่ติด DRM ของแอปเปิล ซึ่งคนไทยคงไม่ค่อยมีใครมีไฟล์พวกนี้สักเท่าไร
ฟีเจอร์สำคัญอย่างที่สามคือ Play To สั่งเล่นเพลงหรือหนังแบบรีโมทไปยังอุปกรณ์อื่นๆ ผมเขียนถึงเรื่องนี้แล้วในหัวข้อ HomeGroup อ่านได้จาก รีวิว Windows 7 ตอนที่ 6
สรุป
มีภาพหน้าจอของ WMP12 ที่จับภาพเตรียมเอาไว้แต่ไม่ได้เอาลงรีวิวเพราะไม่ค่อยสำคัญ เดี๋ยวมันจะยืดเยื้อเปลืองที่ ใครสนใจกดเข้าไปดูได้ครับ
Windows Mecia Center เป็นโปรแกรมสำหรับความบันเทิงภายในบ้านที่เน้นต่อออกจอทีวีแทนที่จะเป็นจอคอม (แต่เล่นไฟล์ที่เก็บไว้ในคอม) ถูกโชว์ตัวครั้งแรกใน Windows XP Media Center Edition ซึ่งเป็น XP รุ่นที่ไม่ค่อยมีใครใช้กันมากนัก ต่อมามันถูกรวมเข้ากับ Vista แต่มีเฉพาะในรุ่นใหญ่เท่านั้น (Home Premium กับ Ultimate) พอมาถึง Windows 7 มันกลายเป็นฟีเจอร์มาตรฐานของวินโดวส์ไปแล้ว
เนื่องจากผมไม่มีทีวีจอใหญ่หรืออุปกรณ์ความบันเทิงลักษณะนี้ เลยไม่รู้จะทดสอบอะไร จิ้มในคอมมันก็ไม่ค่อยเห็นพลังของมันเท่าไร แปะรูปให้ดูสั้นๆ ละกันครับ
อินเทอร์เฟซของ Windows Media Center ออกแบบมาสำหรับรีโมท ใช้ปุ่มทิศทางเลื่อนขึ้นลงซ้ายขวาเป็นหลัก คล้ายๆ กับ XMB ของ PS3/PSP
เวลาเล่นไฟล์ก็มี visualization สวยๆ ให้ดูอลังการเล่นๆ
Paint เป็นโปรแกรมที่อยู่คู่บุญมาตั้งแต่ Windows 1.0 แต่คงไม่ค่อยมีคนเคยใช้ Windows 1.0 กันเท่าไรนัก
คนที่โตทันยุค Windows 3.1 ซึ่งเป็นวินโดวส์ที่คนเริ่มใช้กันในวงกว้าง คงคุ้นเคยกับโปรแกรม Paintbrush ที่ใช้วาดรูปแบบง่ายๆ (แต่ก็มีพวกความพยายามสูง เอาไปวาดรูปงามๆ ก็เยอะ) พอข้ามมาเป็น Windows 95 มันถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Paint มีความสามารถเพิ่มเติมบ้างเล็กน้อย (เช่น สนับสนุนฟอร์แมตภาพเพิ่มขึ้น) แต่โดยรวมๆ แล้วแทบไม่เปลี่ยนเลยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
แต่ใน Windows 7 โปรแกรม Paint ถูกเปลี่ยนแปลงอย่างสะเทือนฟ้าดิน เพราะมันเปลี่ยนมาใช้อินเทอร์เฟซแบบ Ribbon ที่เริ่มใช้กันใน Office 2007
ถ้าดูที่ส่วนบนของภาพข้างต้น (ส่วนล่างไม่ต้องสนใจครับ ผมจงใจใส่มาให้เสียสมาธิ) จะเห็นแถบเครื่องมือทั้งหมดของ Paint ถูกรวมเข้ามาอยู่ใน Ribbon เพียงอันเดียว จำนวนปุ่มหดได้ยืดได้ตามสไตล์ Ribbon ทั่วไป ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นปุ่มใหม่ๆ อย่าง Brushes และ Crop เพิ่มขึ้นมา แต่คงไม่ลงรายละเอียด ให้ไปลองเล่นกันเองระลึกความหลังกันดีกว่า
แถบ Ribbon อันที่สองคือ View รวมเอาตัวเลือกด้านการแสดงผล เช่น ซูม (แต่ใช้ slider ที่มุมขวาล่างง่ายกว่า) กริด ไม้บรรทัด ฯลฯ ไว้ที่เดียวกัน
สิ่งที่ผมชอบอีกอันของ Paint รุ่นใหม่คือเวลาสั่งเซฟ ค่าดีฟอลต์จะเป็น PNG แล้ว
WordPad เป็นโปรแกรมประมวลผลคำแบบง่ายๆ ที่เริ่มใส่เข้ามาใน Windows 95 และแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลยเช่นกัน ใน Windows 7 มันถูกแปลงร่างเป็น Ribbon เช่นเดียวกับ Paint
หน้าตาไม่ต่างอะไรกับ Word 2007 มาก คงไม่ต้องลงรายละเอียดให้เปลืองพื้นที่
จุดน่าสนใจคือไฟล์ที่สนับสนุน รองรับ Office Open XML และ OpenDocument แล้ว แต่ไม่รับ .doc ต้องไปหา OpenOffice.org หรือ Word Viewer มาลงกันเอง
โปรแกรมคู่บุญของวินโดวส์อีกตัว มีมาตั้งแต่ Windows 1.0 ฟีเจอร์เพิ่มเล็กน้อยตามกาลเวลาแต่หน้าตาไม่ค่อยเปลี่ยน
พอมาถึง Windows 7 หน้าตาเปลี่ยนเล็กน้อย ช่องตัวเลขกลายเป็นสองบรรทัด และเปลี่ยนปุ่มให้ดูโฉบเฉี่ยวขึ้นบ้าง
มีโหมด Programmer เพิ่มเข้ามาด้วย ใครใช้เลขฐาน 16 บ่อยๆ เรียกมาใช้งานกันได้
นี่เป็นฟีเจอร์เล็กๆ อีกอันของ Windows 7 ครับ ใน Vista เราสามารถแปะโน้ตลักษณะเดียวกันได้ แต่มันอยู่ในรูป Sidebar Gadget ซึ่งถือว่าดีหรือไม่ ผมไม่เคยใช้ Vista คงตอบไม่ได้ แต่ใน Windows 7 มันกลายร่างเป็นแอพพลิเคชันธรรมดาแทน Gadget
ความสามารถคงไม่มีอะไรล้ำยุคเกินโปรแกรม Sticky Notes ทั่วไป สามารถแปะโน้ตได้หลายอัน เปลี่ยนสีได้ ลากไปมาได้ ฟอนต์ที่ใช้ถ้าเป็นภาษาอังกฤษจะเป็นฟอนต์ลายมือ บางคนอาจไม่ชอบแต่ผมเฉยๆ ส่วนฟอนต์ภาษาไทยใช้ฟอนต์มาตรฐาน
จุดน่าสนใจคือไม่ว่าเราจะแปะ Sticky Notes สักกี่อัน ไอคอนใน Taskbar มันจะแสดงแค่หน้าต่างเดียวเสมอ และมันจะไม่ถูกแสดงในหน้าจอ Flip 3D สาเหตุนี่ผมเดาเอาเองว่ากันรก
สรุปสั้นๆ
รายละเอียดเพิ่มเติม:
Windows PowerShell เป็น shell ของวินโดวส์ที่ทำออกมาแข่งกับ shell ของยูนิกซ์โดยเฉพาะ เหตุเป็นเพราะไมโครซอฟท์ต้องการรุกเข้ามาในตลาดเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งบรรดาแอดมินติดนิสัยทำงานผ่าน shell แต่จะใช้ DOS shell มันก็ดันมีความสามารถไม่มากเท่ากับพวก bash ดังนั้นทางออกคือสร้าง PowerShell ที่มีความสามารถมากขึ้น มีฟีเจอร์อย่าง pipeline และ shell script ทัดเทียมกับยูนิกซ์
PowerShell 1.0 มาพร้อมกับ Windows Server 2008 แต่สามารถดาวน์โหลดมาใช้กับ XP/Vista/2003 ได้ ส่วน Windows 7 และ Windows Server 2008 R2 จะเป็น PowerShell 2.0
PowerShell ใช้สีฟ้าเป็นเอกลักษณ์ ต่างจาก cmd.exe ที่เป็นสีดำ (แต่ cmd.exe ใน Windows 7 ก็ยังมีนะ)
PowerShell 2.0 ยังมาพร้อมกับ Windows PowerShell ISE (Integrated Scripting Environment) อ่านชื่อแล้วน่าจะเดากันได้ว่ามันคือ IDE สำหรับเขียน shell script คงไม่ลงรายละเอียดนะครับ
ถ้าเราลงเกมที่เป็นแบรนด์ Games for Windows (รายชื่อ) มันจะมาโผล่ในหน้าต่าง Games Explorer นี้ด้วย แทนโฟลเดอร์ของเกมนั้นๆ ในเมนูดังเช่นโปรแกรมปกติ
เมื่อเทียบกับโปรแกรมระดับแอพพลิเคชันที่อยู่ใน Vista แล้ว Windows 7 มีโปรแกรมหายไปเพียบเลยครับ
โปรแกรมที่หายไปเหล่านี้ ย้ายไปรวมอยู่ในชุด Windows Live Essentials ที่ต้องดาวน์โหลดเพิ่มเองต่างหาก
เหตุผลในการเอาออกนั้นไมโครซอฟท์ไม่ได้ระบุชัด บางคนมองว่าเพื่อหลีกเลี่ยงข้อหาผูกขาดที่จะเกิดในอนาคต แต่ผมยังไม่ค่อยเชื่อเพราะโปรแกรมที่โดนฟ้องกลับไม่ถูกเอาออก (IE และ Windows Media Player)
ผมคิดว่าปัจจัยหลักน่าจะเป็นยุทธศาสตร์ Windows Live ที่ไมโครซอฟท์ต้องการผลักดันมากกว่า การที่ต้องดาวน์โหลดโปรแกรมผ่านเว็บ Windows Live แยกต่างหากมีผลดีคือ ช่วยให้คนใช้โปรแกรม/บริการใหม่ๆ ในตระกูล Windows Live ได้เร็วขึ้น คนไม่ยึดติดกับโปรแกรมรุ่นแรกที่มากับตัวระบบปฏิบัติการ (พอนึกภาพคนที่ยังใช้ Windows Messenger รุ่นที่มากับ XP ได้ใช่ไหมครับ คนใช้อาจแฮปปี้แต่ไมโครซอฟท์ไม่แฮปปี้แน่ๆ)
Windows Live Essentials คือชุดของโปรแกรมที่แปะชื่อ Windows Live นำหน้า ปัจจุบันอยู่ในเวอร์ชันที่ไมโครซอฟท์เรียกว่า "Wave 3" มีโปรแกรมในชุด 7 ตัวดังนี้
โปรแกรมทุกตัวสามารถเลือกติดตั้งได้เอง นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมลับคือ Windows Live Sync ซึ่งใช้อัพโหลดไฟล์จาก Windows Live Photo Gallery ขึ้นไปยังเซิร์ฟเวอร์ของไมโครซอฟท์ได้ และ Silverlight ถ้าอยากดาวน์โหลดมาในคราวเดียวกัน
ถ้าให้เทียบกับ Windows Live Essentials กับโปรแกรมที่ลักษณะคล้ายๆ กันตัวอื่น ก็คงเป็น iLife ของแอปเปิล (Movie/Photo) ส่วนอีกตัวที่คล้ายคือ Google Pack ครับ (Picasa/GTalk/Google Toolbar)
แม้ว่าคนจะรู้กันทั้งโลกว่าไมโครซอฟท์ให้ดาวน์โหลด Windows Live Essentials แยกจาก Windows 7 แต่สิ่งที่น่าตกใจมากคือในตัว Windows 7 เองมีพูดถึง Windows Live Essentials น้อยสุดๆ นั่นคือเป็นแค่ลิงก์เล็กๆ อยู่ในหน้า Getting Started (ซึ่งไม่เปิดโดยอัตโนมัติเหมือนวินโดวส์รุ่นก่อนๆ) เท่านั้น ถ้าไม่สังเกตดีๆ ไม่มีทางหาเจอ
ผู้ใช้ XP/Vista ก็สามารถดาวน์โหลด Windows Live Essentials มาติดตั้งได้ฟรีโดยไม่ต้องมี Windows 7 (ยกเว้น Movie Maker ใช้งานได้บน Vista/7 เท่านั้น) ดังนั้นส่วนนี้ผมจะไปเร็วๆ เพราะทดลองกันเองได้อยู่แล้ว
โปรแกรมอีเมลแจกฟรีจากไมโครซอฟท์ นับเป็นรุ่นที่สามต่อจาก Outlook Express และ Windows Mail
Windows Live Mail ทำงานได้ทุกอย่างตามที่โปรแกรม PIM ที่ดีควรจะทำได้ครับ
ส่วนของอีเมลมันจะเชื่อมกับบัญชี Hotmail ให้เราโดยอัตโนมัติ ถ้าใครใช้ Gmail จำเป็นต้องอ่านผ่าน IMAP ที่เจ๋งคือถ้าเราสร้างบัญชี Gmail มันจะรู้และช่วยเราเปิดใช้ IMAP ด้วย
ปฏิทินจะเชื่อมกับบัญชี Windows Live Calendar ซึ่งเป็นบริการบนเว็บได้ด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับคนใช้ Google Calendar และปฏิทินออนไลน์อื่นๆ ไม่สามารถโหลดไฟล์ RSS หรือ ical เข้ามาได้ ถ้าอยากใช้จริงๆ ต้องอิมพอร์ต ical จากที่อื่นเข้าไปที่ Windows Live Calendar ก่อนแล้วค่อย sync มายัง Windows Live Mail อีกที ไม่อย่างนั้นก็ต้องหา Outlook รุ่นเต็มหรือ Thunderbird มาใช้
มันเป็นโปรแกรมที่ชื่อยาวมาก และผมก็ยังนึกไม่ออกว่าเวลาเรียกกันตามภาษาปากจะเรียกกันยังไง (WLPG?) โปรแกรมนี้สืบทอดมาจาก Windows Photo Gallery ใน Vista หน้าที่ก็ตามชื่อคือจัดการกับรูปภาพ โดยเน้นภาพถ่ายเป็นหลัก (เทียบได้กับ iPhoto, Picasa, F-Spot, Gthumb ฯลฯ)
ความสามารถก็เทียบเท่าโปรแกรมคู่แข่งอื่นๆ แต่งภาพได้ ทำอัลบั้มได้ ทำสไลด์โชว์ได้ ที่น่าสนใจคือการอัพโหลดนั้นรองรับ Flickr มาตั้งแต่ต้น และถ้าติดตั้งปลั๊กอินเพิ่มเติมยังสามารถอัพโหลดไปที่ Facebook, Picasa, Multiply ฯลฯ ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ Face Detection สามารถแท็กภาพเป็นชื่อบุคคลได้ (อ่านในบล็อกของ ipats) วิธีการจัดเก็บรูปภาพก็ใช้ระบบ Libraries ของ Windows 7
โปรแกรมตัดหนังแบบง่ายๆ สืบทอดตำแหน่งจาก Windows Movie Maker ที่มากับวินโดวส์ตั้งแต่ Windows Me
Windows Live Movie Maker เปลี่ยนอินเทอร์เฟซเป็น Ribbon เช่นเดียวกับ Paint และ WordPad ส่วนความสามารถก็คือการนำภาพ, เสียง, คลิปวิดีโอมาตัดต่อเข้าด้วยกัน ถ้าดูตรงมุมขวาจะเห็นไอคอนอัพโหลดไปยัง YouTube ด้วยครับ
ผมไม่ค่อยมีเรื่องต้องตัดหนัง ไม่รู้จะรีวิวยังไงเช่นกัน รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้จากเว็บ Movie Maker Preview ที่ไมโครซอฟท์ลงทุนเปิดเพื่อโปรโมท Windows Live Movie Maker โดยเฉพาะ
โปรแกรมอื่นในชุด Windows Live Essentials ไปลองกันเอาเองนะครับ ผมเขียนถึงเฉพาะโปรแกรมที่เทียบเท่า Vista เท่านั้น สรุปว่าทั้งสามตัวพัฒนาขึ้น มีฟีเจอร์เยอะขึ้น สวยขึ้น ลิงก์กับบริการออนไลน์ได้ดีขึ้น ควรค่าแก่การดาวน์โหลดมาใช้
ฟีเจอร์สุดท้ายของตอนนี้คือ Windows XP Mode (อ่านข่าวเก่า Windows 7 จะมาพร้อมกับ Windows XP!?) มันคือการทำ virtualization เพื่อแก้ปัญหาโปรแกรมบน XP ที่ใช้บน Windows 7 ไม่ได้
การทำงานของมันจะใช้โปรแกรม Windows Virtual PC (หรือชื่อเดิม Microsoft Virtual PC) ที่ไมโครซอฟท์แจกฟรีอยู่แล้วเข้าช่วย ส่วนตัว XPM คือ Windows XP SP3 เอามาแพ็กเป็นก้อน ขนาดประมาณ 470 MB ให้เอามารันเป็น guest OS บน Virtual PC อีกต่อหนึ่ง แล้วค่อยติดตั้งโปรแกรมที่ต้องการบน Windows XP อีกชั้น เพียงแต่โปรแกรมจะสามารถรันได้ "เสมือนว่า" เป็นโปรแกรมที่อยู่บน Windows 7
ดังนั้นขั้นตอนจะต้องดาวน์โหลดและติดตั้ง Windows Virtual PC ก่อน (มาเป็นก้อนไฟล์สำหรับ Windows Update) แล้วค่อยติดตั้ง Windows XP Mode
อย่างไรก็ตามมีข้อจำกัดว่า Windows XP Mode จะทำงานบน Windows 7 Professional และ Ultimate เท่านั้น นอกจากนี้ซีพียูยังต้องสนับสนุน Intel VT หรือ AMD-V ด้วย
ผมไม่มีคอมพิวเตอร์ที่รองรับทั้ง Intel VT และ AMD-V ดังนั้นฟีเจอร์นี้ไม่รีวิวนะครับ
ตอนแรกผมตั้งใจไว้ว่าจะรีวิวเรื่องนี้ แต่ภายหลังเปลี่ยนใจ ให้ชุมชน Blognone ช่วยกันรายงานผ่าน Ask Blognone: โปรแกรมไหนบ้างที่ใช้ได้บน Windows 7 แทน ผลที่ได้น่าประทับใจมาก ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกันให้ข้อมูลครับ ผมเองคนเดียวคงทำไม่ได้ขนาดนี้แน่ๆ
ปิดท้าย
ตอนหน้าตอนสุดท้ายแล้ว การเดินทางอันยาวนานจะได้สิ้นสุดลงเสียที หัวข้อของตอนที่ 8 คือประสิทธิภาพ, ภาษาไทย และสรุปเรื่องราวทั้งหมดของ Windows 7