ย้อนไปในเดือนกรกฎาคม Meta ได้เปิดตัว Threads แอปโซเชียลเน้นโพสต์ข้อความ ซึ่งการเลือกจังหวะเวลาเปิดตัวในช่วงที่ Twitter ตอนนั้นตั้งลิมิตผู้ใช้งาน ส่งผลให้ Threads กลายเป็นทางเลือกที่คนแห่กันมาสมัครลองใช้ ทำสถิติมีผู้สมัครใช้งาน 100 ล้านบัญชี ในเวลาเพียง 5 วัน เร็วที่สุดในทุกแพลตฟอร์มที่เคยมีมา
Jesse Chen ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมของ Threads ได้เขียนบล็อกและให้สัมภาษณ์ พูดถึงความท้าทายของโครงการ ที่มีระยะเวลาสั้นในการพัฒนา ตลอดจนการสเกลเพื่อรองรับผู้สมัครใช้งานจำนวนมหาศาลที่ไม่เคยมีมาก่อน
Threads เริ่มพัฒนาในเดือนมกราคม ด้วยทีมขนาดเล็ก เพื่อความคล่องตัว และต้องการให้โครงการนี้เป็นความลับ และค่อย ๆ เพิ่มจำนวนทีมงาน โดยปัจจุบันมีผู้จัดการผลิตภัณฑ์ 3 คน นักออกแบบ 3 คน และวิศวกรอีกประมาณ 60 คน
แนวทางการพัฒนาคือใช้พื้นฐานของ Instagram ให้มากที่สุดเพื่อย่นระยะเวลา backend จึงใช้ Django รวมทั้งส่วนโมเดลข้อมูล ลอจิก ระบบความปลอดภัย จนถึงโครงสร้างเซิร์ฟเวอร์ เป็นการนำของเดียวกับ Instagram มาใช้ซ้ำ ส่วนตัวแอปนั้น iOS พื้นฐานหลักคือ Swift และ Android ใช้ Jetpack Compose ฟีเจอร์ในตอนแรกถูกจำกัดเท่าที่ต้องการมากที่สุด เพื่อให้แอปเปิดตัวได้ตามกำหนดเวลาที่วางไว้
Threads ได้โค้ดเวอร์ชันสุดท้ายสำหรับส่งขึ้นสโตร์ในเดือนมิถุนายน และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับในการเปิดตัวเดือนกรกฎาคม เมื่อได้กำหนดวันเวลาแล้ว ทีมงานหลักที่กระจายอยู่ใน 4 เมือง พร้อมวิศวกรส่วน Infrastructure ก็พร้อมรอรับโหลดที่เข้ามา เครื่องมือมอนิเตอร์ที่ใช้คือ ODS และ Scuba
ทีมงานประเมินว่าโหลดส่วนที่ท้าทายที่สุด คือเมื่อมีบัญชีที่มีผู้ติดตามจำนวนมากเพิ่งเข้ามาใช้ Threads บัญชีที่กดรอคิวติดตามไว้ก่อนหน้านี้ทั้งหมดจะเข้ามา follow พร้อมกัน จึงต้องหาวิธีจัดการในกรณีนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นสเกลที่ไม่เคยมีมาก่อน
ถึงแม้สถิติผู้สมัครใช้งานจะรวดเร็วมากคือ 1 ล้านบัญชีใน 1 ชั่วโมง และจบวันแรกที่ 30 ล้านบัญชี แต่ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่วางไว้นานแล้วของแพลตฟอร์มเครือ Meta ทำให้ backend ระบบสามารถรองรับปริมาณนี้ได้โดยไม่มีปัญหาเกิดขึ้น
แนวทางจากนี้ของ Threads คือการเพิ่มฟีเจอร์ต่าง ๆ เข้ามาให้รวดเร็วมากที่สุด ตลอดจนการปรับปรุง backend เพื่อให้รองรับการสเกลเฉพาะของ Threads ได้ดีขึ้น และเนื่องจาก Threads ประกาศตั้งแต่ต้นว่าจะรองรับโปรโตคอล ActivityPub ซึ่งเป็นโซเชียลแบบกระจายศูนย์ นี่จึงเป็นอีกสิ่งที่จะเพิ่มเติมเข้ามา
ที่มา: Meta และ The Pragmatic Engineer