The Wall Street Journal มีรายงานถึงการเติบโตของบริการเพลงสตรีมมิ่ง ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมดนตรีเองก็กลับมาเติบโตต่อเนื่อง แต่การเติบโตนี้ก็เปลี่ยนวิธีการหลายอย่างด้านเพลงด้วยเช่นกัน
ประเด็นแรกคือสตรีมมิ่งมีเงื่อนไขการจ่ายเงิน ให้เพลงที่ถูกเล่นเกิน 30 วินาที ผลทำให้เพลงต้องลดอินโทร หรือช่วงเริ่มต้นที่มีแต่เสียงดนตรีให้สั้นที่สุด เพื่อเข้าสู่เนื้อร้องหรือท่อนฮุค เพื่อหวังว่าคนฟังเพลงที่ได้ฟังครั้งแรกจะไม่กดข้ามไป โดยปัจจุบันทำนองท่อนฮุคเรื่องคำร้องฮุค มักปรากฏในระยะ 5-10 วินาทีแรกของเพลง
Mark Ronson ศิลปินและโปรดิวเซอร์ชื่อดัง ยังเล่าว่าเพลงปัจจุบันถูกบีบให้ต้องสั้นลงด้วย โดยมักต่ำกว่า 3 นาที 15 วินาที เพราะแม้จะผ่าน 30 วินาทีแรกที่ได้เงินแล้ว แต่ถ้าคนไม่ฟังเพลงให้จบ แพลตฟอร์มจะบันทึกอัตราฟังไม่จบเพลง และอัลกอริทึมก็จะกดคะแนนเพลงนั้นลงไปอีก ส่งผลต่อการติดเพลย์ลิสต์ประเภท Today's Top Hits ที่มีผู้ฟังเป็นประจำจำนวนมาก และเพิ่มโอกาสทำเงิน
บล็อกเกอร์ Michael Tauberg ทำสถิติเพลงยอดนิยม พบว่าค่าเฉลี่ยหลังปี 2000 เพลงฮิตสั้นลงมากกว่า 30 วินาที ในครึ่งแรกของปี 2021 เพลงส่วนใหญ่ที่ติดอันดับ 1 ของชาร์ต ก็ยาวน้อยกว่า 3 นาที
ประเด็นถัดมาคืออัลบั้มเพลง เมื่อการฟังเพลงเดี่ยว ๆ ใช้วิธีการหนึ่ง แต่อัลบั้มเป็นอีกแนวทางการฟัง ที่คนจะฟังตั้งแต่เพลงแรกจนถึงเพลงสุดท้าย ศิลปินจึงใช้วิธีใส่เพลงจำนวนมากขึ้นในหนึ่งอัลบั้ม ซึ่งเพิ่มรายได้และโอกาส ตัวอย่างที่ชัดเจนต่อพฤติกรรมนี้คืออัลบั้ม Midnights ของ Taylor Swift ที่ทุกเพลงในอัลบั้มติดชาร์ตพร้อมกัน หรือ Divide ของ Ed Sheeran ที่ทุกเพลงก็ติดชาร์ต พฤติกรรมนี้ทำให้บริษัทจัดอันดับในอังกฤษ ต้องเพิ่มกฎว่าศิลปินหนึ่งคน จะมีเพลงติดชาร์ตที่รายงานได้มากที่สุด 3 เพลง
สุดท้ายเป็นประเด็นแนวเพลง ในอดีตร้านขายซีดีจะจัดหมวดเพลง ทำให้หมวดเฉพาะกลุ่มทางร้านมักจัดแยกออกไปไม่ได้รับความสนใจมาก แต่ในสตรีมมิ่งเป็นโอกาสที่เพลงหมวดเหล่านี้จะเข้าถึงคนทั้งโลกง่ายขึ้น สะท้อนจากความนิยมเพลงละตินและ K-Pop ในช่วงที่ผ่านมา
ความหลากหลายของหมวดเพลงที่คนสนใจ ยังส่งผลให้หลายเพลงเลือกผสมผสานแนวเพลงหลายแบบไว้ในเพลงเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นทำนอง หรือศิลปินที่มาคอลแลบ ทำให้เพลงนั้น ๆ มีโอกาสปรากฏในเพลย์ลิสต์หรือหมวดเพลงที่กว้างมากขึ้นนั่นเอง
ที่มา: The Wall Street Journal ภาพ Pixabay