รายงานการประชุม คีย์บอร์ดภาษาไทยบนมือถือ

by mk
27 October 2009 - 03:26

ใน Ask Blognone ตอน "ปัญหาคีย์บอร์ดภาษาไทยบนมือถือ" ผมได้ขอข้อมูลและความเห็นเรื่องคีย์บอร์ดภาษาไทยบนมือถือยี่ห้อต่างๆ จากผู้อ่าน Blognone หลังจากนั้นผมได้รวบรวมข้อมูลและนำเสนอต่อที่ประชุมของ NECTEC วันนี้เลยมารายงานความคืบหน้าครับ

การประชุมมีขึ้นเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2552 ที่ NECTEC Academy ตรงถนนศรีอยุธยา ผู้เข้าร่วมประชุมมีดังนี้ (ใบเซ็นชื่อไม่อยู่ที่ผม ขอใส่ชื่อเป็นบางคนละกัน เดี๋ยวเขียนผิด)

  • ดร. วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช - ผู้ช่วยผู้อำนวยการ NECTEC (ประธาน)
  • ดร. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล - รองผู้อำนวยการ สวทช.
  • ดร. ภูกิจ อรุณสกุล - Mobile Operator & Enterprise Senior Manager จาก HTC
  • คุณเนตรชนก ตรีรยาภิวัฒ์ - กรรมการผู้จัดการ C & N Solution (ภาษาไทยบน Windows Mobile และ Android)
  • ตัวแทนจากบริษัท Thai-G (ภาษาไทยบน Windows Mobile)
  • คุณชาญศักดิ์ สุวรรณกุล - เว็บมาสเตอร์ของ PDAMobiz.com
  • คุณเจมส์ คลาร์ค
  • ตัวแทนจากไมโครซอฟท์
  • ตัวแทนจาก Longdo
  • ทีม Traffy ของ NECTEC

ถ้าตกหล่นท่านใดไปก็ขออภัยนะครับ

งานเริ่มโดยผมนำเสนอข้อมูลที่รวบรวมมาจากกระทู้ข้างต้น ไม่มีอะไรใหม่ เน้นรูปเป็นหลัก สไลด์ตามนี้

จากนั้นที่ประชุมได้อภิปรายเรื่องสถานการณ์ของคีย์บอร์ดในปัจจุบัน ดังนี้

  • ปัจจุบันคีย์บอร์ดบนมือถือแบ่งได้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ hard keyboard (คีย์บอร์ดจริงมีปุ่ม) กับ soft keyboard (คีย์บอร์ดบนหน้าจอ)
  • ส่วน hard keyboard มีความหลากหลายมาก จำนวนและวิธีเรียงปุ่มขึ้นกับผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ ซึ่งคงไปยุ่งกับเขาได้ยาก มาดูเรื่อง soft keyboard กันดีกว่า
  • ไมโครซอฟท์ไม่ได้ยุ่งกับระบบภาษาไทยบน Windows Mobile ซึ่งผู้ขายฮาร์ดแวร์จะเป็นคนรับผิดชอบเอง โดยจ้าง C & N Solution และ Thai-G ทำระบบภาษาไทยในเครื่องแต่รุ่น
  • เดิมที HTC บริษัทแม่จะไม่ยุ่งกับระบบภาษาไทยของมือถือ HTC ที่ขายในเมืองไทย อยากทำอะไรก็ทำไปขอให้ขายได้ แต่นโยบายกำลังจะเปลี่ยนมาเป็นว่า คีย์บอร์ดภาษาไทยต้องมีจำนวนแถวเท่ากับคีย์บอร์ดภาษาอังกฤษ ในกรณีที่ภาษาอังกฤษมี 4 แถว จะไม่สามารถขยายภาษาไทยเป็น 5 แถวได้ ส่วนมาตรฐานคีย์บอร์ดภาษาอังกฤษของ HTC ก็ไม่มี รูปแบบเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ขึ้นกับรุ่นเป็นหลัก
  • ถ้าเกิดว่ามี "มาตรฐานภาษาไทยบนคีย์บอร์ดมือถือ" ขึ้นมา ทาง HTC อาจจะทำตามได้ลำบากเพราะขัดกับแนวทางของบริษัทแม่
  • ทาง C & N Solution ได้เล่าประสบการณ์การทำภาษาไทยบน Windows Mobile มาตั้งแต่ปี 2000 แนวทางของ C & N คือยึดตัวอักษรภาษาอังกฤษเป็นหลัก แล้ว map คีย์ภาษาไทยตามนั้น ซึ่งแปลว่าการแปลงตัวภาษาอังกฤษเป็นไทยจะคงที่เสมอ แต่ตำแหน่งของปุ่มจะถูกย้ายไปในที่แปลกๆ ตามภาษาอังกฤษ ในกรณีที่ปุ่มสัญลักษณ์ของภาษาอังกฤษถูกเอาออกไป ภาษาไทยจะถูกใส่ใน spacebar
  • ปัจจุบัน C & N มีคีย์บอร์ดภาษาไทยของ ThaiWinCE ให้เลือกทั้งหมด 5 แบบ (ขึ้นกับความเหมาะสมของหน้าจอ) ผู้ใหญ่ที่พิมพ์ดีดเป็นมักชอบคีย์บอร์ดเต็มที่มีปุ่มครบเหมือนคอมพิวเตอร์เพราะติดนิสัย แต่เด็กๆ ชอบคีย์บอร์ดแบบ 4 แถวที่ปุ่มสระรวมกันเป็นปุ่มเดียวมากกว่า
  • Thai-G บอกว่าคีย์บอร์ดภาษาไทยในปัจจุบัน เกิดจากจินตนาการล้วนๆ ไม่มีหลักการหรือข้อมูลวิจัยมารองรับ

ดร. ทวีศักดิ์ ได้ประเมินว่าการออกมาตรฐานสำหรับคีย์บอร์ดภาษาไทยในปัจจุบันอาจไม่คุ้มแก่การลงทุนแรงงาน เพราะมีเงื่อนไขที่ฝั่งผู้ผลิตฮาร์ดแวร์เป็นจำนวนมาก (ต้องยึดตามคีย์บอร์ดภาษาอังกฤษเป็นหลัก) ดังนั้นควรมองไปที่ มาตรฐานการป้อนภาษาไทยบนมือถือในอนาคต ว่าเราสามารถคิดนวัตกรรมการป้อนข้อมูลที่ดีกว่าปัจจุบันได้หรือไม่ เพราะอีกไม่นานคนไทยคงใช้มือถือต่อเน็ตกันมากกว่าพีซี ควรคิดระบบป้อนข้อมูลที่มีประสิทธิภาพเตรียมรอเอาไว้เลย

  • ทางเลือกที่เป็นไปได้ เช่น การเขียนเป็นภาษาคาราโอเกะ เลียนแบบการป้อนข้อมูล Pinyin ของจีน เพียงแต่อุปสรรคสำคัญคือการแปลงเสียงภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ (transliteration/romanization) จะทำอย่างไร? ปัจจุบันมีหลักเกณฑ์ของราชบัณฑิตแต่ว่าคนส่วนมากก็ใช้ไม่ค่อยตรงนัก และหลายจุดก็ไม่สมเหตุสมผล อาจต้องประดิษฐ์หลักการถอดเสียงแบบใหม่ที่อิงกับหลักที่คนทั่วไปใช้อยู่แล้ว
  • การถอดเสียงอาจมีปัญหาว่าคนไทยหวงวัฒนธรรมหรือการสะกดแบบเดิม แต่ควรดูกรณีของประเทศจีนทั้งประเทศที่กล้าเปลี่ยนไปใช้ Pinyin เป็นตัวอย่าง กรณีของ Pinyin นั้นทิ้งวรรณยุกต์ไปแล้วใช้การคาดเดาคำ ซึ่งมีความแม่นยำประมาณ 90%
  • ดร. วิรัช ให้ข้อมูลว่า NECTEC เคยทดลองพัฒนาระบบป้อนข้อมูลลักษณะนี้ เช่น Smart-Q เพียงแต่ความสามารถของฮาร์ดแวร์ในสมัยนั้น (2001) ยังต่ำ ใส่อัลกอริธึมในการคาดเดาคำที่ซับซ้อนได้ยาก
  • ทางเลือกที่สองที่เป็นไปได้ คือ สร้างระบบ key top แบบใหม่ที่ไม่อิงกับคีย์บอร์ดในปัจจุบัน (หมายถึง A = ฟ) เช่น อาจเป็น A = ก_ หรือ A = ะ า เป็นต้น ซึ่งคนที่พิมพ์ดีดไม่เป็นน่าจะเข้าใจได้ง่ายกว่า และมีงานวิจัยหรือ usability test รองรับ
  • รูปแบบการป้อนข้อมูลภาษาไทยเหล่านี้ ควรประกาศให้เป็น public domain เพื่อป้องกันการจดสิทธิบัตรแล้วจะไม่สามารถใช้งานได้ในวงกว้าง เมื่อรูปแบบที่ใช้งานได้จริงเป็น public domain แล้ว อุตสาหกรรมน่าจะยอมรับแนวทางนี้เอง โดย NECTEC ยินดีเป็นผู้ประสานงานให้

สรุปการประชุม

  • ไม่ทำมาตรฐานเรื่องปุ่มภาษาไทยบน soft keyboard แล้ว เพราะขัดกับแนวทางของผู้ผลิตฮาร์ดแวร์
  • แต่ละฝ่ายลองไปศึกษาเรื่อง romanization/transliteration และรูปแบบอื่นๆ ที่เป็นไปได้มาก่อน โดย ดร. วิรัช รับไปศึกษาข้อมูลมาให้
  • นัดประชุมครั้งต่อไป ช่วงกลางเดือนธันวาคม

เพิ่มเติมโดย mk

  • จริงๆ อยากเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการมือถือ/PDA เข้าร่วมประชุมมากกว่านี้ แต่ติดขัดในเรื่องเงื่อนเวลา ในโอกาสหน้าผมอาจติดต่อบางท่านแถวๆ นี้ เชิญไปให้ความเห็นด้วยนะครับ
  • ถ้าใครรู้จักกับค่ายมือถือเหล่านี้ รบกวนติดต่อผมมาหลังไมค์: Nokia, iPhone (Apple/TRUE), i-Mobile, Wellcom, G-NET, TWZ และเฮาส์แบรนด์ทั้งหลาย
  • ใครมีไอเดียที่น่าสนใจว่า รูปแบบการป้อนข้อมูลบนมือถือควรมีหน้าตาอย่างไร คุยกันได้ในคอมเมนต์
  • คุณเจมส์ คลาร์ค ลองร่างไอเดียส่งเข้ามาขอความเห็น ผมยังไม่มีเวลาแปล ตอนนี้อ่านฉบับภาษาอังกฤษกันไปก่อน Thai Input Method for Smart Phones

สุดท้ายขอบคุณคุณพรพรหม @pornprom จาก NECTEC Academy ที่ช่วยประสานงานให้เกิดการประชุมได้ครับ

Blognone Jobs Premium