ทำความเข้าใจโครงสร้างของ OpenAI ที่ไม่เหมือน Tech Company ทั่วไป และอาจเป็นสาเหตุการไล่ออก Sam Altman

by arjin
18 November 2023 - 07:17

ข่าวช็อกวงการสุดสัปดาห์ที่บอร์ดบริษัท OpenAI มีคำสั่งไล่ออกซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Sam Altman อาจฟังดูเหมือนเรื่องราวที่เคยได้ยินในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ที่ผู้ก่อตั้งบริษัท ต้องถูกบอร์ดบริษัทที่ตั้งจากนักลงทุนไล่ออก แต่กรณีของ OpenAI และ Sam Altman นั้นอาจแตกต่างออกไป

บทความนี้รวมรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารและการถือหุ้นของ OpenAI ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยแบบไม่แสวงหากำไร (Non-profit)

OpenAI ก่อตั้งในปี 2015 ในรูปแบบบริษัทไม่แสวงหากำไร รับเงินจากกลุ่มนักลงทุนในข้อตกลง 1 พันล้านดอลลาร์ (แต่ได้เงินจริง 130.5 ล้านดอลลาร์) บนภารกิจของบริษัทคือการสร้าง AI ที่ทำงานได้ครอบจักรวาล (Aritifical General Intelliegence - AGI) ปลอดภัย และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ผู้ร่วมก่อตั้ง OpenAI ในช่วงแรกได้แก่ Elon Musk ซีอีโอ Tesla, Sam Altman ซีอีโอบริษัทการลงทุน Y Combinator, Reid Hoffman ผู้ก่อตั้ง LinkedIn, Greg Brockman ผู้บริหาร Stripe, Jessica Livingston พาร์ตเนอร์ Y Combinator, Peter Thiel นักลงทุนชื่อดังและผู้ร่วมก่อตั้ง PayPal

ปัญหาในเวลาต่อมา นอกจากเงินที่เป็นรูปแบบเงินบริจาคจะมาไม่ครบตามที่ตกลง (ส่วนหนึ่งเพราะ Elon Musk ลาออกด้วย) การประมวลผลงานด้าน AI ต้องใช้เงินมหาศาล ทำให้ OpenAI ตัดสินใจปรับโครงสร้างบริษัทใหม่ให้รองรับเงินลงทุนใหม่ แต่ผู้ลงทุนภายนอกก็ต่างต้องการกำไรจากการลงทุน จากบริษัทที่บอกว่าไม่แสวงหากำไร ความขัดแย้งนี้จึงนำมาสู่โครงสร้าง OpenAI ตามภาพ

OpenAI ใช้วิธีตั้งบริษัทใหม่ที่แสวงหากำไร (For-Profit) แบบจำกัดกำไรผลตอบแทน กล่าวคือบริษัทนี้จะมีกำไรคืนให้ผู้ถือหุ้นที่ตัวเลขหนึ่งในข้อตกลง หากเกินจากนั้นจะส่งเข้าไปที่บริษัทแม่ส่วน Non-Profit ซึ่งบริษัทใหม่ที่ตั้งมา ยังมีผู้ถือหุ้นหลักคือ OpenAI ที่เป็น Non-Profit และพนักงานกับกลุ่มนักลงทุนรุ่นแรก แต่เปิดโอกาสรับเงินลงทุนจากนักลงทุนภายนอก ที่ตอนนี้รายหลักคือไมโครซอฟท์ ซึ่งทั้งหมดถูกกำกับดูแลโดยบอร์ดบริษัทจากฝั่ง Non-Profit เพื่อให้ภารกิจหลักของ OpenAI ยังเป็นการสร้าง AI เพื่อมนุษยชาติ

จากภาพจะเห็นว่าไมโครซอฟท์มีบทบาทเพียงการถือหุ้นในบริษัท For-Profit แต่ไม่มีอำนาจควบคุมบอร์ดบริษัทที่ทั้งหมดมาจาก Non-Profit

OpenAI ยังใช้แนวทางตั้งบอร์ดบริษัทให้เป็นอิสระมากที่สุด โดยกรรมการอิสระทุกคนจะไม่มีหุ้นของ OpenAI ส่วน ซีอีโอ Sam Altman ถือหุ้นทางอ้อมผ่าน Y Combinator ในรูปเงินบริจาคที่เป็นส่วนน้อย

ประเด็นสำคัญคือหน้าที่ของบอร์ดนั้นระบุว่า ต้องประเมินความคืบหน้าของการสร้าง AGI เป็นระยะ ว่าสามารถทำงานทดแทนมนุษย์และสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจหรือไม่ ส่วนกระบวนการพัฒนาที่เป็นการขายไลเซนส์เชิงพาณิชย์ รวมถึงส่วนที่ให้กับไมโครซอฟท์ จะต้องเกิดขึ้นก่อนการสร้าง AGI ประเด็นนี้จึงเกิดคำถามว่าถ้าวันนั้นที่ AGI เกิดขึ้นจริง แล้ว OpenAI จะดำเนินงานอย่างไรต่อไปในเมื่อบริษัทส่วนไม่แสวงหากำไรบรรลุเป้าหมายแล้ว?

ถึงตอนนี้ OpenAI ส่วนที่เป็น For-Profit ได้เงินลงทุนไปแล้วมากกว่า 1.13 หมื่นล้านดอลลาร์ นอกจากไมโครซอฟท์แล้วยังมี Sequoia Capital, Andreessen Horowitz และ Tiger Global ที่เป็นนักลงทุน

ประเด็นขัดแย้งนี้ถูกตั้งข้อสังเกตมาระยะหนึ่งแล้วว่าจะดำเนินงานได้ราบรื่นหรือไม่ เฉพาะปีนี้บอร์ดบริษัทของ OpenAI ก็ลาออกไปแล้วหลายคนตั้งแต่ Reid Hoffman ผู้ก่อตั้ง LinkedIn, Shivon Zilis ผู้บริหาร Neuralink, Will Hurd อดีตสมาชิกสภาผู้แทนฯ

โครงสร้างบอร์ดของ OpenAI มีทั้งหมด 6 คน แบ่งเป็นพนักงาน OpenAI 3 คน และกรรมการอิสระจากภายนอก 3 คน ซึ่งบอร์ดบริษัทที่ลงมติตัดสินใจไล่ออก Altman และปลดตำแหน่ง Greg Brockman ประธานบอร์ดครั้งนี้มี 4 คนคือ Ilya Sutskever ผู้ร่วมก่อตั้ง OpenAI อีกคนที่ตอนนี้มีตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย Scientist ด้วย ก่อนหน้านี้ทำงานที่กูเกิล ผลจากการตัดสินใจนี้ทำให้ Ilya เป็นผู้ร่วมก่อตั้งคนเดียวที่เหลืออยู่ที่ยังเป็นบอร์ด OpenAI

บอร์ดอีก 3 คนคือ Adam D’Angelo ซีอีโอ Quora เว็บบอร์ดถามตอบ โดยก่อนก่อตั้ง Quora เขาเป็นซีทีโอที่ Facebook, Tasha McCauley ซีอีโอสตาร์ทอัพ GeoSim ที่พัฒนาเทคโนโลยีโมเดล 3D สำหรับการจัดการเมือง และ Helen Toner ผู้อำนวยการองค์กรวิจัย Georgetown’s Center for Security and Emerging Technology ที่เน้นงานด้านการนำเทคโนโลยีมาสร้างประโยชน์กับผู้คน

ที่มา: The San Francisco Standard และ OpenAI

Blognone Jobs Premium