รีวิว Ubuntu 9.10 "Karmic Koala"

by mk
2 November 2009 - 04:32

Blognone เคยรีวิว Ubuntu แบบเต็มๆ ไปครั้งหนึ่งในรุ่น 6.06 LTS "Dapper Drake" (จากนั้นเคยมี 7.04 "Feisty Fawn" รุ่นเบต้า และ Ubuntu Netbook Remix แต่เป็นตอนสั้นๆ) ตอนนี้เมื่อ Ubuntu 9.10 "Karmic Koala" ออกตัวจริงเรียบร้อย ก็ได้เวลามารีวิวกันอีกครั้ง

Karmic Koala ถือเป็นรุ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นก่อนหน้า Jaunty Jackalope เยอะพอสมควร ควรค่าแก่การนำมารีวิว อย่างไรก็ตาม โครงสร้างและวิธีการทำงานของมันก็ยังไม่ต่างอะไรจาก Ubuntu รุ่นก่อนๆ มากนัก ผมเชื่อว่าผู้อ่าน Blognone คงเคยลองใช้ Ubuntu กันหมดแล้ว (ถ้าไม่เคยก็ลองซะ!) ดังนั้นคงจะข้ามส่วนที่ซ้ำๆ กับของเดิมออกไป เน้นแต่ของใหม่ดีกว่านะครับ

ดาวน์โหลดและติดตั้ง

จุดนี้ไม่มีอะไรต่างไปจากเดิมเลย Ubuntu 9.10 ทั้งตัวมาในซีดีเพียง 1 แผ่นเท่านั้น (จุดเด่นที่ Mac OS X และ Windows 7 ไม่มีทางสู้ได้) วิธีการติดตั้งที่ง่ายที่สุดคือดาวน์โหลดไฟล์ .iso รุ่น desktop-i386 (หรือ amd64 ถ้าต้องการใช้งานแบบ 64 บิต) ซึ่งมีตัวติดตั้งแบบกราฟิกสวยงาม และเป็น Live CD ในตัว

เพื่อความรวดเร็ว แนะนำให้ดาวน์โหลดจาก mirror ในประเทศ เช่น mirror.in.th หรือ mirror1.ku.ac.th ถ้าใครมี mirror ในประเทศที่อื่นๆ แนะนำก็เขียนไว้ในคอมเมนต์ได้ครับ

มาถึง พ.ศ. นี้ การเขียนไฟล์ .iso ลงแผ่นซีดีเริ่มจะ "เอาท์" แล้ว นอกจากเขียนช้า ยังเปลืองแผ่น ใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า เพิ่มขยะให้โลก วิธีที่ดีกว่าคือเขียนลง USB drive/flash drive/thumb drive (ตามแต่จะเรียก) แล้วบูตด้วย USB drive แทน

ขั้นตอนอย่างละเอียดอ่านได้จาก USB Installation Media แบบสรุปคือไปดาวน์โหลดโปรแกรม UNetbootin เพื่อช่วยเขียนไฟล์ .iso ลง USB drive ภายในสองคลิก ทำงานบนวินโดวส์ได้ ที่ผมลองใช้เวลาประมาณ 5 นาทีก็เสร็จแล้ว

พอได้ USB พร้อมติดตั้งก็บูตเครื่องจาก USB ซึ่งจะบูตเข้าสู่ Ubuntu แบบ Live CD ให้ทดลองใช้จนกว่าจะพอใจ (มันสามารถใช้เป็น recovery CD หรือแบ่งพาร์ทิชันในกรณีอื่นๆ ได้ด้วย) ถ้าใครโชคดีหน่อยใช้ชิปเซ็ต Wi-Fi ยี่ห้ออื่นๆ ที่ไม่ใช่ Broadcom (เช่น อินนเทลหรือ Atheros) ก็สามารถต่อเน็ตได้ทันที

เมื่อพร้อมติดตั้งแล้วก็คลิกที่ไอคอน Install Ubuntu บนเดสก์ท็อป ตัวติดตั้งที่คุ้นเคย Ubiquity จะโผล่ขึ้นมาให้เห็น ขั้นตอนการติดตั้งผมคงไม่ต้องลงรายละเอียด ส่วนที่เปลี่ยนไปคือ

หน้าจอเลือกเขตเวลาแบบใหม่ สวยขึ้น และจิ้มกรุงเทพก็เจอกรุงเทพแล้ว ไม่ใช่ต้องไปจิ้มที่พม่าถึงจะได้กรุงเทพแบบรุ่นก่อน

Ubuntu 9.10 ใช้ระบบไฟล์ ext4 เป็นค่าดีฟอลต์เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่รองรับใน Ubuntu 9.04 แต่ยังไม่เปิดใช้เป็นดีฟอลต์ ผมใช้ ext4 ตั้งแต่ตอนติดตั้ง 9.04 แล้ว ส่วนนี้จึงไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม แต่คนที่ใช้ ext3 อยู่ก่อน ถ้าไม่อยากฟอร์แมตก็ยังสามารถใช้ต่อไปได้ไม่มีปัญหา

หน้าจอแนะนำโปรแกรมและฟีเจอร์ระหว่างรอก็อปปี้ไฟล์ ให้อ่านเล่นๆ เผื่อจะมีความรู้มากขึ้น ถ้าใครยังจำได้ ฟีเจอร์นี้เคยมีใน Red Hat รุ่นเก๋ากึ๊ก (ถ้าผมจำไม่ผิดจะเป็น Red Hat 8) และ Fedora รุ่นต้นๆ

ผมใช้เวลาติดตั้งรวมทั้งสิ้น 6 นาที 45 วินาที (จับเวลาตั้งแต่ดับเบิลคลิกที่ไอคอนติดตั้ง) เร็วสุดยอดเลยครับ Ubuntu ใช้วิธี dump ระบบปฏิบัติการที่อยู่ในแรมจาก Live CD ลงไปในดิสก์ แล้วค่อยลบส่วนที่ไม่จำเป็นออกทีหลัง

ติดตั้งเสร็จแล้วก็สั่งบูตเครื่องอีก 1 ที

หน้าจอบูตแบบใหม่

การเปลี่ยนแปลงของ Ubuntu 9.10 เราจะเห็นได้ตั้งแต่การบูตครั้งแรกเลยทีเดียว อย่างแรกถ้าใครลงคู่ไปกับวินโดวส์หรือระบบปฏิบัติการอื่นๆ ด้วย จะเจอกับ GRUB 2 ซึ่งเป็นบูตโหลดเดอร์ตัวใหม่ หน้าตาเหมือนเดิมแต่ฟีเจอร์เยอะขึ้นมาก

ถัดมาคือหน้าจอบูตแบบใหม่ อธิบายยังไงก็คงไม่เห็นภาพ ดูวิดีโอประกอบดีกว่า (วิดีโอโดย mamaieee จาก YouTube)

หน้าจอบูตแบบใหม่แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกที่ยังไม่บูตเข้า X Window จะกลายเป็นโลโก้ Ubuntu สีขาวบนพื้นหลังสีดำ โลโก้จะส่องสว่างสลับมืดได้อารมณ์หน้าจอบูตของ Mac OS X แต่สลับสีกัน ส่วนช่วงถัดไป ขณะที่กำลังเรียก X Window จะพบพื้นหลังสีน้ำตาล มีไฟส่องจากข้างบน และมีโลโก้พร้อมข้อความ Ubuntu สีขาว ก่อนจะเปลี่ยนเป็นหน้าจอล็อกอิน

จุดอ่อนสำคัญของลินุกซ์อยู่ที่ความสวยงาม และหน้าจอบูตก็เป็นหนึ่งในจุดอ่อนที่ว่า ฝั่งดิสโทรคู่แข่งอย่าง Fedora ก้าวหน้ากว่าเพราะพัฒนาระบบหน้าจอบูตตัวใหม่ Plymouth ขึ้นตั้งแต่ Fedora 10

เดิมที Ubuntu ใช้หน้าจอบูตที่ชื่อ usplash ซึ่งมีปัญหาทางเทคนิคในเรื่องความเร็วและลำดับการบูต ครั้นจะไปใช้ Plymouth นักพัฒนาของ Ubuntu ก็ให้เหตุผลว่าฟีเจอร์ของ Plymouth ไม่ต่างอะไรกับ usplash ทางออกจึงเป็นการพัฒนาหน้าจอบูตตัวใหม่คือ xsplash ขึ้นมาใช้ในรุ่นนี้ อ่านรายละเอียดได้จากบล็อก Making a splash ของ Scott James Remnant

xsplash นั้นครบเครื่องทั้งความเร็วและความสวยงาม อย่างไรก็ตาม ในแง่ความสวยงาม เท่าที่ผมลองมันยังไม่ค่อยเนียนเท่าไร ระหว่างหน้าจอบูตทั้งสองช่วงยังมีเคอร์เซอร์กระพริบของโหมด text โผล่มาให้เห็นบ้าง และเจอปัญหาสีเพี้ยน โลโก้แหว่ง กับการ์ดจอบางยี่ห้อ (เช่น ATI ในกรณีที่ใช้ไดรเวอร์โอเพนซอร์ส) ซึ่งคาดว่าคงจะแก้ไขในรุ่นต่อๆ ไป

แต่เรื่องความเร็วน่าประทับใจมากครับ ก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาว่า Ubuntu 9.10 ใช้เวลาบูต 5 วินาทีบน SSD แม้ว่าเท่าที่ใช้จริงจะไม่ได้ขนาดนั้น แต่ก็เร็วขึ้นแบบเห็นได้ชัดเจน การบูตครั้งแรกจะช้าสักนิด ผมจับเวลานับตั้งแต่กด Enter ที่ GRUB ได้ 45 วินาที แต่ครั้งที่สองลดลงเป็น 36 วินาที

เรื่องเวลาในการบูต ถ้ามีโอกาสหาเครื่องที่ใช้ SSD ได้จะไปทดสอบแล้วมารายงานอีกครั้ง ทาง Canonical ตั้งเป้าว่าในรุ่นหน้า Ubuntu 10.4 จะต้องได้ต่ำกว่า 10 วินาที!!!

หน้าจอล็อกอินใช้ธีมเดียวกันกับ xsplash เพื่อความต่อเนื่อง ผมจับภาพนี้บน VirtualBox จอเล็ก เมนูด้านล่างเลยซ้อนทับกัน หน้าจอล็อกอิน GDM รุ่น 2.28 นี้เขียนใหม่หมดนับจาก Ubuntu 9.04 มีฟีเจอร์มากขึ้นและทำงานร่วมกับ xsplash ได้ดีขึ้น แต่ในแง่ผู้ใช้งานคงไม่มีอะไรต่างไปนัก

เดสก์ท็อปและหน้าตา

เมื่อล็อกอินเรียบร้อยจะพบกับเดสก์ท็อปมาตรฐานของ Ubuntu 9.10 ดังภาพ

Ubuntu 9.10 ถือว่ายกเครื่องระบบธีมที่ใช้มานานหลายปีใหม่หมด ธีมเดิม Human ถูกโละทิ้ง เปลี่ยนมาใช้ธีมใหม่ Humanity แทน การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมีดังนี้

ไอคอนที่ notification area มุมขวาบนของหน้าจอ ถูกเปลี่ยนเป็นไอคอนสีเดียว (แบบเดียวกับ Mac OS X) เรียบหรู ดูดีขึ้นมาก

อย่างไรก็ตามไอคอนสีเดียวเหล่านี้ยังมีแต่ไอคอนมาตรฐานเท่านั้น ถ้าเพิ่มไอคอนโปรแกรมแปลกๆ บางตัวเข้าไป อาจจะหลุดคอนเซปต์ได้ ผู้ใช้ Ubuntu บางคนแก้ปัญหานี้โดยการวาดไอคอนสีเดียวใช้เอง ใครต้องการก็ตามไปโหลดกันได้ครับ

ไอคอนของโปรแกรมก็วาดใหม่หมด โดยไอคอนชุด Humanity จะตัดขอบดำชัดกว่า Human และใช้สีธรรมชาติ ไม่ glossy เหมือน Human

เนื่องจากว่าเราใช้ Human กันมาหลายปี พอมาเจอ Humanity อาจจะไม่คุ้นเคยบ้าง (รูปร่างหน้าตาคล้ายๆ ของเดิม แต่สไตล์เปลี่ยนไป ตอนแรกผมก็ไม่ชอบแต่ใช้ๆ ไปแล้วเริ่มคุ้นก็โอเค) ถ้าใครอยากเปลี่ยนกลับเป็น Human ก็ต้องออกแรงโหลดเพิ่มกันหน่อย เพราะใน Ubuntu 9.10 ถอด Human ออกไปแล้ว

ในภาพรวม ไอคอนชุด Humanity ทำให้ Ubuntu ดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น แต่ถ้าเทียบกับ Mac OS X หรือ Windows Vista/7 แล้ว ยังดูตามหลังอยู่เช่นเดิม (รสนิยมส่วนตัว สามารถถกเถียงกันได้)

ฟีเจอร์ (?) ของ GNOME 2.28 คือเอาไอคอนในเมนูและปุ่มออกไป เพื่อให้หน้าจอสะอาดมากขึ้น แต่ในบางกรณีอย่างรูปข้างบน มันทำให้เมนูดูแหว่งๆ ไม่สวยงาม ถ้าใครอยากเปลี่ยนกลับสามารถทำได้จาก Systerm > Preferences > Appearance > Interface แล้วเลือก Show icons in menus

อันนี้ในรูปข้างบนคงเห็นกันแล้ว แต่ผมตัดแบบชัดๆ มาเน้นให้ดูอีกที ธีมของขอบหน้าต่างและ widget เปลี่ยนไปเช่นกัน ขอบหน้าต่างของธีม Humanity เปลี่ยนจากสีส้มมาเป็นสีน้ำตาล เพิ่มความขัดแย้งในหมู่ผู้นิยมความสวยงามยิ่งขึ้น (น้ำตาล = ขี้เหร่??) แต่ที่ผมว่าแปลกๆ คือไอคอนโปรแกรมตรงมุมซ้ายของหน้าต่าง เปลี่ยนเป็นปุ่มวงกลมแทน อันนี้ผมไม่แน่ใจว่าทีมออกแบบของ Ubuntu คิดอย่างไร ถ้าให้เดาคือพยายามเลียนแบบ Mac OS X ที่ไม่มีไอคอนบนแถบหน้าต่างเช่นกัน อันนี้เปลี่ยนยากครับ ถ้าอยากแก้กลับต้องไปแก้ในไฟล์ธีมของ Metacity

ส่วนธีมของ widget จะเห็นว่ามันดูแบนๆ กว่าธีม Clearlooks อันเดิม ใครไม่ชอบก็ไปเปลี่ยนกลับได้

นอกจากนี้ Ubuntu 9.10 ยังมีธีมสีเข้มๆ ให้เลือกอีก 2 ตัว คือ DarkRoom กับ New Wave ลองเปลี่ยนเล่นได้ตามสะดวก

อย่างสุดท้ายนี่ควรจะมีมาตั้งนานแล้ว สงสัยเห็น Windows 7 อัดภาพพื้นหลังคุณภาพสูงมาให้เป็นจำนวนมาก Ubuntu 9.10 เลยเอาบ้าง :P

ความสวยงามนี่แล้วแต่จะมองนะครับ ผมว่าโอเคในระดับหนึ่งแต่ยังด้อยกว่าของ Windows/Mac OS X อยู่เล็กน้อย จุดที่น่าสังเกตคือแถวที่สองอันซ้ายสุด เป็นภาพพื้นหลังแบบเปลี่ยนตามเวลา โดยใช้ภาพจักรวาลที่ถ่ายจากกล้องฮับเบิล

โปรแกรมใหม่

Ubuntu 9.10 มาพร้อมกับโปรแกรมใหม่หลายตัว เริ่มจากโปรแกรมที่ได้ใช้กันในชีวิตประจำวันมากที่สุดก่อนครับ

Empathy

แรกสุดคือโปรแกรม IM ตัวใหม่ Empathy ซึ่งรวมเข้ามากับชุด GNOME มาตรฐานตั้งแต่รุ่น 2.24 แต่ Ubuntu เพิ่งเปลี่ยนมาใช้เป็นดีฟอลต์ในรุ่นนี้ (2.28)

ข้อดีของ Empathy คือมันถูกเขียนขึ้นบนเฟรมเวิร์ค Telepathy ที่ถูกออกแบบสำหรับการสื่อสารทาง IM รองรับการคุยด้วยเสียงและวิดีโออย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับโปรแกรมตัวอื่นๆ ของ GNOME ได้ดีกว่า ไม่เป็นเอกเทศเหมือนกับ Pidgin

สาเหตุสำคัญที่ Empathy ถูกนำมาใช้แทน Pidgin ก็เพราะแกนหลักของ Pidgin นั้นพัฒนาช้ามากถึงมากที่สุด (นักพัฒนาหลักถูกกูเกิลดึงตัวไปทำ Google Talk เสียแล้ว ส่วนตัวโครงการ Pidgin เองก็มีปัญหาภายในมากมาย) ดิสโทรต่างๆ รอไม่ไหวจึงย้ายไปใช้ Empathy กันแทน

แต่เท่าที่ผมลองใช้มา Empathy ยังสู้ Pidgin ในแง่ IM ข้อความและการใช้งานทั่วไปไม่ได้อยู่หลายจุดครับ (เช่น ไม่สามารถสั่งออนไลน์ทีละบัญชีได้) ฟีเจอร์ด้านวิดีโอและเสียงก็กลับไม่เวิร์คอย่างที่โม้เอาไว้ ดังนั้นถ้าใครใช้ Empathy แล้วอึดอัดแบบผม ก็สามารถเปลี่ยนกลับไปใช้ Pidgin ได้โดยไม่ยากเย็นอะไรเลย

เมื่อพูดถึง IM และการสื่อสารแล้ว อีกประเด็นที่ควรพูดถึงคือไอคอน indicator-applet รูปจดหมายบน panel มุมขวาบน ไอคอนนี้ถูกเพิ่มเข้ามาในรุ่น 9.04 พร้อมกับระบบแจ้งเตือนข้อความแบบใหม่ ไอเดียของมันคือทำระบบแจ้งเตือนเหตุการณ์ต่างๆ ของระบบปฏิบัติการที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ข้อความแจ้งเตือนทั่วไป (เช่น ใครออนไลน์เข้ามา) จะถูกแสดงขึ้นมาเป็น bubble ส่วนข้อความสำคัญที่ส่งเข้ามาหาเราโดยตรง (เช่น ข้อความ IM หรืออีเมลใหม่) จะแสดงที่ไอคอนจดหมายอันนี้

โปรแกรมหลายตัวของ Ubuntu รองรับไอคอนจดหมาย indicator-applet อันนี้แล้ว เช่น IM (ทั้ง Pidgin และ Empathy) อีเมล (Evolution) และ Microblogging (Gwibber) เวลามีข้อความใหม่เข้ามาไอคอนจดหมายจะกลายเป็นสีดำทั้งอัน กดแล้วจะบอกว่ามีใครติดต่อเรามาอย่างไรบ้าง

มองในแง่ดีมันช่วยเรื่องตรงรบกวนการทำงานอื่นๆ ของเราน้อยลง แต่ในแง่เสียอยู่ที่ความคุ้นเคยครับ สรุปว่าผมต้องปิดฟีเจอร์พวกนี้ทิ้งหมด แล้วกลับไปให้ Pidgin ใช้วิธีเตือนโดยการกระพริบที่ taskbar แบบเดิม ระบบใหม่ยังไม่ค่อยเข้าที่เท่าไร

Ubuntu Software Center

ตามข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ Canonical เตรียมเพิ่ม Ubuntu Software Store ลงใน 9.10 ชื่อสุดท้ายของมันคือ Ubuntu Software Center แผนการของ Canonical คือเปลี่ยนระบบจัดการแพจเกจทั้งหมดของ Ubuntu ให้มาใช้ผ่าน Ubuntu Software Center เพียงตัวเดียวเพื่อลดความสับสน

แต่ในรุ่นแรก Ubuntu Software Center เข้ามาแทน Add/Remove เดิมเพียงตัวเดียวเท่านั้น โปรแกรม Synaptic และ Update Manager ยังคงอยู่ การใช้งาน Ubuntu Software Center จะคล้ายๆ กับ App Store บนสมาร์ทโฟน คือค้นหาโปรแกรมแล้วกดติดตั้งได้เลย ดูการออกแบบนั้นชัดเจนว่า Canonical เตรียมใช้มันเป็นช่องทางสำหรับขายโปรแกรมในอนาคต

เนื่องจากมันยังเป็นแค่รุ่นแรก ความสามารถยังด้อยอยู่ครับ ข้อเสียของมันคือ

  • เรียงโปรแกรมได้ตามตัวอักษรเท่านั้น ไม่มีระบบเรตติ้งหรือเรียงตามความนิยม
  • โปรแกรมที่ติดตั้งได้มีเฉพาะโปรแกรมใน main และ universe เท่านั้น ใช้ลงโปรแกรมใน PPA ไม่ได้
  • ดาวน์โหลดโปรแกรมได้ทีละตัว แม้ว่าจะลงโปรแกรมหลายตัว

ในอนาคตมันคงดีขึ้น แต่ตอนนี้ผมกลับไปใช้ Synaptic ดีกว่า

Ubuntu One

บริการสำรองไฟล์ในกลุ่มเมฆของ Canonical ถ้าใครเคยใช้ Dropbox มาก็ไม่ต้องอธิบาย เหมือนเปี๊ยบไม่มีอะไรแตกต่าง

เราจะได้โฟลเดอร์ Ubuntu One เพิ่มเข้ามาใน Home เหมือนกับ Dropbox และสามารถเข้าถึงไฟล์ได้จากหน้าเว็บของ Ubuntu One (ใช้บัญชีผู้ใช้ของ Launchpad.net ได้ทันที)

พื้นที่เก็บข้อมูลแบบมาตรฐาน 2GB เท่ากับ Dropbox ถ้าอยากได้มากขึ้น มีแบบ 50GB ให้เลือกจ่ายเพิ่มเดือนละ 10 ดอลลาร์ จากการใช้งาน Dropbox ของผม ถ้าเก็บเฉพาะไฟล์งานสำคัญๆ ไม่เก็บภาพ วิดีโอ หรือโปรแกรมนี่ 2GB เหลือเฟือครับ

Ubuntu One ฟังดูดีแต่สุดท้ายมาตายน้ำตื้น เพราะ Ubuntu One client รุ่นที่มากับ 9.10 ตัวจริงมีบั๊ก (อยู่ใน known issues ของ Ubuntu 9.10 Release Notes) ต้องสั่งอัพเดตทีนึงก่อนจึงจะใช้ได้

การใช้งานทั่วไปของ Ubuntu One ไม่มีปัญหาอะไร แต่เทียบกับ Dropbox แล้วยังเป็นรองด้านฟีเจอร์ เพราะว่า Dropbox สามารถใช้กับวินโดวส์และแมค (รวมถึง iPhone) ถ้าใครใช้คอมพิวเตอร์หลายแพลตฟอร์มร่วมกัน ก็ควรเลือกใช้ Dropbox จะดีกว่า (บน Ubuntu ติดตั้งง่ายมาก มีทั้ง .deb และ PPA) น่าสนใจเหมือนกันว่า Canonical จะแก้เกมนี้อย่างไร

Disk Utility

โปรแกรมตัวใหม่ Disk Utility หรือชื่อจริง Palimpsest อยู่ใน System > Administration เอาไว้ช่วยจัดการกับไดรฟ์และพาร์ทิชันโดยเฉพาะ (ฟีเจอร์เหมือนกับ Disk Utility ของแมคเลย)

PulseAudio/Sound Preferences

หลังจาก Ubuntu เปลี่ยนมาใช้ PulseAudio ในรุ่นก่อนๆ มันก็เริ่มเข้าที่เข้าทาง ล่าสุดหน้าจอควบคุมเสียงได้เปลี่ยนโฉมใหม่เพื่อรองรับฟีเจอร์ของ PulseAudio แล้ว ฟีเจอร์ที่เจ๋งที่สุดคือควบคุมเสียงของแต่ละโปรแกรมแยกจากกันได้แล้ว (ลดความรำคาญจากพวกชอบใส่เพลงลงบล็อกได้มาก)

Bluetooth

โปรแกรมจัดการ Bluetooth ของ GNOME พัฒนาขึ้นมาก ไม่พิกลพิการเหมือนรุ่นเดิม แต่เทียบฟีเจอร์แล้วยังด้อยกว่า blueman ถ้าใครมีปัญหาอาจพิจารณาลง blueman เป็นทางเลือกได้

โคอาล่ามีกรรม

ในข่าว Ubuntu 9.10 Karmic Koala เปิดให้โหลดแล้ว คุณ lew ตั้งชื่อมันไว้ว่า "โคอาล่ามีกรรม" จากการทดสอบบนฮาร์ดแวร์หลายตัว พบว่า "มีกรรมจริงๆ ครับ"

Ubuntu 9.10 มีปัญหาและความไม่สมบูรณ์หลายอย่าง เริ่มจากฮาร์ดแวร์ก่อน

ไดรเวอร์ฮาร์ดแวร์

ปัญหาคลาสสิคตลอดกาลของลินุกซ์คือไดรเวอร์ฮาร์ดแวร์ที่ไม่มีแบบโอเพนซอร์ส (หรือมีแต่ไม่สมบูรณ์) ทำให้การติดตั้งและใช้งานในช่วงแรกมีปัญหาอย่างมาก ปัญหา 3 อันดับยอดนิยมได้แก่

  • ชิปเซ็ต Wi-Fi ของ Broadcom - ทำให้โน้ตบุ๊กต่อเน็ตไม่ได้ทันที แก้โดยหาสายแลนมาจิ้มให้ต่อเน็ตได้ก่อน แล้วค่อยติดตั้งไดรเวอร์จาก Hardware Drivers
  • การ์ดจอ NVIDIA - ปัญหาที่ผมยังเจอต่อเนื่องมาหลายรุ่น คือ Ubuntu ที่ไม่ใช้ไดรเวอร์จาก NVIDIA จะจอเบี้ยวตั้งแต่ตอนติดตั้งเลยครับ (จอไม่พอดีกับมอนิเตอร์) ต้องทนๆ ติดตั้งให้เสร็จแล้วค่อยลงไดรเวอร์ NVIDIA ถึงจะหาย
  • การ์ดจอ ATI - ถ้าเป็น Ubuntu 9.10 รุ่นปกติไม่มีปัญหาอะไรยกเว้นใช้ Compiz ไม่ได้ ซึ่งก็ไม่สำคัญนัก แต่ถ้าเป็น Ubuntu Netbook Remix ที่เขียนหน้าจอด้วย Clutter นี่อืดจนใช้งานแบบไม่ลงไดรเวอร์ fglrx ไม่ได้

ปัญหาทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ผ่าน Restricted Drivers ซึ่งสามารถติดตั้งได้ง่ายๆ แต่มันก็ทำให้เสียอารมณ์ไปมาก Ubuntu 9.10 ยังหนีไม่พ้นวัฏจักรแห่งความเศร้าอันนี้ และมันคงดำเนินต่อไปอีกนาน

หาอุปกรณ์ USB และแผ่นไม่เจอ

ปัญหานี้ผมเจอเป็นบางเครื่อง แต่ดันซวยมาเจอกับเครื่องหลักที่ใช้ทำงาน อาการคือ Ubuntu 9.10 ไม่เมาท์พาร์ทิชันจากซีดี ดีวีดี SD และ USB drive โดยอัตโนมัติ (คือใน Disk Utility มองเห็นอุปกรณ์ แต่ใน GNOME ไม่ยอมเมาท์ให้)

เท่าที่ลองค้นๆ ดู คนเป็นกันเยอะและด่ากันเยอะเพราะมันเป็นบั๊กซีเรียส และขณะนี้ยังไม่มีตัวอัพเดตแต่อย่างใด

  • Ubuntuforums: 1, 2
  • Launchpad: 1, 2

ปัญหา Compiz กับการ์ดจอ ATI

เข้าใจว่ามีคนเจอปัญหานี้ตั้งแต่ 9.04 อาการคือถ้าเปิด desktop effect แล้วใช้การ์ดจอ ATI ตอนย่อหน้าต่างลงไปเก็บที่ taskbar จะไม่มีปัญหา แต่ตอนเปิดกลับมันจะหน่วงๆ ประมาณ 1 วินาที ยังไม่มีแก้เช่นกัน เห็นว่าเป็นปัญหากับไดรเวอร์ของ ATI เอง ทางแก้ชั่วคราวคือไม่ใช้ desktop effect

ปัญหาด้านฮาร์ดแวร์อื่นๆ ที่ผมเจอคือเรื่องไมโครโฟนที่ไม่เคยมีเสียงมาหลายรุ่น ส่วนกล้องที่ติดมากับโน้ตบุ๊กใช้งานได้ดีแล้วในรุ่นนี้

Font hinting

มาดูปัญหาด้านซอฟต์แวร์กันบ้าง นอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้ว ผมยังเจอว่าค่า hinting สำหรับฟอนต์ของระบบตั้งค่ามาเป็น Slight ซึ่งดูไม่ดีเอาเสียเลย ทางแก้คือเปลี่ยนเป็น Medium หรือ Full จะดูคมชัดขึ้นมาก

แต่แก้ผ่านหน้าจอ Appearance ของ GNOME อย่างเดียวไม่พอครับ Firefox ไม่ยอมปฏิบัติตาม ทางแก้คือสร้างไฟล์ .fonts.conf ใน home โดยทำตามกระทู้ใน Ubuntuforums

เรื่องฟอนต์ยังมีอีกบั๊กที่สืบเนื่องยาวนานมาจากการเปลี่ยนแปลงของ GNOME ทำให้เราไม่มีวิธีง่ายๆ ในการเพิ่มฟอนต์ลงไปในระบบ ทางแก้คือสร้างโฟลเดอร์ .fonts ขึ้นมาใน home แล้วก็อปฟอนต์ที่ต้องการมาใส่ไว้ในนี้

สรุป

Ubuntu 9.10 เปลี่ยนจาก 9.04 เยอะพอสมควร การเปลี่ยนแปลงหลายๆ จุดเป็นเรื่องที่น่าต้อนรับในภาพรวม อย่างไรก็ตาม มันยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ดี และมีผลเสียต่อการใช้งานระยะสั้นอยู่มากพอควร เช่น Ubuntu Software Center หรือหน้าจอบูตที่ยังติดๆ ขัดๆ

ส่วนติดต่อผู้ใช้แม้ว่าจะถูกยกเครื่องใหม่แต่ก็ยังมีบั๊กเล็กๆ น้อยๆ อีกหลายจุด เช่น บั๊ก font hinting ของ Firefox ซึ่งเป็นบั๊กที่ไม่น่าอภัยให้เป็นอย่างมาก

ประเด็นปัญหาด้านฮาร์ดแวร์นี้ผมเคยเขียนไว้ในรีวิว Windows 7 แล้วว่ามันขึ้นกับ "กรรมเวร" ของผู้ใช้แต่ละท่าน ถ้าโชคดีใช้ฮาร์ดแวร์ที่ไม่ค่อยมีปัญหา มันก็ไม่เคยมีปัญหา แต่ถ้าใช้ "ฮาร์ดแวร์มีกรรม" มันก็จะมีปัญหาอยู่เรื่อยไป รอบนี้ผมเจอ "โคอาล่าแห่งชะตากรรม" เข้าไปเต็มๆ แต่คนอื่นอาจเจอประสบการณ์ที่ต่างออกไป ไม่มีใครรู้จนกว่าจะลองเอา Live CD ไปทดสอบดูครับ

(ในกรณีทั่วไปแล้ว ชิปเซ็ตอินเทลดีที่สุด ทั้งการ์ดจอและ Wi-Fi ตอนซื้อนี่ท่องไว้เลย อินเทลๆๆๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเลย เพราะอย่างใน 9.04 ก็มีบั๊กร้ายแรงกับการ์ดจออินเทลนะ)

ถ้าให้ผมสรุป Karmic Koala เปรียบได้กับ Beta 1 ของ 10.4 LTS "Lucid Lynx" ฟีเจอร์นำร่องหลายอย่างใน Karmic น่าจะเริ่มเข้าที่เข้าทางใน Lucid แต่ถ้าว่ากันตามตรงมันเป็นรุ่นเบต้าที่เสถียรและใช้งานทั่วไปได้ไม่มีปัญหา (ยกเว้นจะ "มีกรรม" แบบผม)

Blognone Jobs Premium