มหากาพย์ Social Games แฉกลโกงเกมบน Social Network

by mk
5 November 2009 - 10:36

เรื่องนี้เป็นมหากาพย์เรื่องยาวในวงการเว็บของฝรั่ง ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วยาวมาจนถึงสัปดาห์นี้ ผมเล่าแบบคร่าวๆ ละกันนะครับ

ผมเชื่อว่าผู้อ่าน Blognone ทุกคนน่าจะใช้ Facebook และจำนวนไม่น้อยคงเคยเล่นเกมบน Facebook ในตระกูลที่เรียกว่า social gaming ตัวอย่างที่ดังๆ ก็อย่าง Farmville, Restaurant City, Pet Society ฯลฯ ในรอบปีนี้ (เกมพวกนี้ดังมากๆ ไม่เฉพาะเมืองไทยอย่างเดียว เกมที่นิยมที่สุดคือ Farmville นั้นมีคนเล่นถึง 61 ล้านคน พอๆ กับประชากรไทยเลยนะ)

คนที่เคยเล่นน่าจะนึกออกว่า รายได้ของผู้ผลิตเกมพวกนี้นอกจากโฆษณาแล้ว ยังมีรายได้จากการขายไอเทมหรือเงินเสมือนในเกม ปัญหามันเกิดมาจากตรงนี้ละครับ เพราะเกมพวกนี้ได้ล่อลวง (scam) ด้วยวิธีต่างๆ ให้ผู้เล่นยอมเสียเงินซื้อของในเกม

ตัวอย่าง scam ได้แก่

  • ขอให้ตอบแบบสอบถามหรือแบบทดสอบ (เช่น ทดสอบ IQ) เพื่อแลกกับเงินในเกม จากนั้นผู้เล่นจะเจอหน้าจอขอหมายเลขโทรศัพท์เพื่อรับผลการทดสอบทาง SMS ซึ่งผู้เล่นจะโดนค่า SMS ราคาแพงโดยไม่รู้ตัว
  • หลอกให้ซื้อวิดีโอ/ดีวีดีชุดด้านการศึกษาต่างๆ เพื่อแลกกับเงินในเกม โดยบอกว่าเสียค่าส่งเพียง 10 ดอลลาร์ แต่เอาเข้าจริงแล้ว ผู้สั่งซื้อจะต้องเสียเงินเต็มจำนวน 189.95 ดอลลาร์ จะเสียแค่ 10 ดอลลาร์ต่อเมื่อคืนแผ่นกลับไปยังผู้ขายเท่านั้น
  • หลอกให้ดาวน์โหลดทูลบาร์พิเศษเพื่อแลกกับเงินในเกม แต่ทูลบาร์มาพร้อมกับสปายแวร์
  • โฆษณาที่ทำหน้าตาเหมือนปุ่มมาตรฐานของ Facebook (หรือ MySpace)

รายละเอียดวิธีการ scam อ่านใน How To Spam Facebook Like A Pro: An Insider’s Confession เขียนโดยคนที่เคยทำแล้วกลับใจมาแฉกลโกง

โครงสร้างของ social games แบ่งออกเป็น 3 พวกดังนี้ครับ

  • เจ้าของบริการ social network เช่น MySpace/Facebook
  • เจ้าของบริการ app บน social network เช่น Zynga (Farmville) หรือ Playfish (Pet Society, Restaurant City)
  • เครือข่ายผู้ลงโฆษณาบน app ใน social network อีกทอดหนึ่ง

กลุ่มที่มีปัญหาคือกลุ่มสุดท้ายที่ใช้กลโกงต่างๆ เพื่อทำให้ผู้เล่นเสียเงิน แม้ว่าสองกลุ่มแรกจะมีนโยบายต่อต้านกลโกงเหล่านี้ แต่ก็มักจะทำเป็นไม่เห็น เพราะมีส่วนแบ่งรายได้จากค่าโฆษณาของกลุ่มที่สามเช่นกัน (บริษัทที่ถูกตีเยอะที่สุดคือ Facebook และ Zynga)

คนที่เริ่มแฉกลโกงเหล่านี้คือเว็บไซต์ TechCrunch โดยมีคู่กรณีเป็นบริษัท Offerpal ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มที่สาม ทาง Michael Arrington บรรณาธิการของ TechCrunch ได้ปะทะคารมกับ Anu Shukla ซีอีโอหญิงของ Offerpal ในงานสัมมนา ซึ่ง Shukla ได้ปฏิเสธข้อหาอย่างสิ้นเชิงด้วยประโยคว่า “shit, doubleshit, and bullshit” (มีคนถ่ายวิดีโอเก็บไว้ด้วย ดูในลิงก์อันแรกข้างล่าง)

จากนั้นมหากาพย์ก็เริ่มบังเกิดครับ หลังจาก TechCrunch จุดประเด็นในเรื่องนี้ บริษัทผู้พัฒนา app บางแห่ง (เช่น HotOrNot และ RockYou) ออกมาปฏิเสธว่านโยบายของบริษัทนั้นไม่รับโฆษณา scam พวกนี้อยู่แล้ว

ฝั่ง Offerpal ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ VentureBeat ตอบโต้คำกล่าวหาของ TechCrunch และชี้แจงถึงข้อสงสัยต่างๆ

ผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Zynga ยอมรับว่ารายได้ของบริษัทถึง 1 ใน 3 มาจาก scam (คาดกันว่า Zynga มีรายได้ปีละ 250 ล้านดอลลาร์ แปลว่าเงินจาก scam มากถึง 80 ล้านดอลลาร์หรือราวๆ 2700 ล้านบาท!!!) ผู้บริหารของ Zynga แถลงว่าจะปรับนโยบายไม่ประนีประนอมกับ scam ในที่สุด

เจ้าของบริการ social network เองก็ต้องขยับตัว ฝั่ง MySpace ถึงขนาดประกาศกฎเพิ่มในเงื่อนไขการใช้งาน (MySpace’s Zero Tolerance Policy for App Scams) ส่วน Facebook ยังปิดปากเงียบ แต่มีข่าววงในว่าทีมงานของ Facebook ก็จับตาดูเรื่องนี้เช่นกัน

แต่ระหว่างสงครามกำลังดำเนินไป กลับมีข่าวว่า "ผู้ร้าย" ของเรื่องนี้ Anu Shukla ออกจากตำแหน่งซีอีโอของ Offerpal โดยทางซีอีโอคนใหม่ George Garrick บอกว่าการเปลี่ยนตัวซีอีโอรอบนี้เป็น "เรื่องบังเอิญ" ที่เกิดขึ้นในช่วงที่บริษัทโดนโจมตีพอดี เพราะบริษัทเตรียมการเปลี่ยนตัวผู้บริหารมาสักระยะแล้ว อย่างไรก็ตามเขายังไม่ตอบคำถามเรื่องข้อกล่าวหาของบริษัท และ Anu Shukla ยืนยันว่าเธอจะยังอยู่ในบริษัทนี้ต่อไป

มหากาพย์ยังไม่น่าจะจบง่ายๆ แม้ว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวง social gaming จะหันมาเข้มงวดกับเรื่อง scam กันมากขึ้น ระหว่างนี้ผู้เล่น social games ชาวไทยก็ควรป้องกันตัวเองและคนรู้จัก โดยให้ความรู้เรื่องโฆษณา scam เช่น ไม่ควรคลิกมั่วๆ หรือยอมกรอกข้อมูลส่วนตัวครับ

อัพเดต: 6 พ.ย.

Facebook ลงมาร่วมวงปราบ scam แล้ว - TechCrunch

ที่มา

TechCrunch

VentureBeat

Blognone Jobs Premium