กูเกิลเผยรายละเอียดของโครงการแก้ปัญหาโลกร้อน ด้วยการใช้ AI ตรวจจับตำแหน่งของการปล่อยก๊าซมีเทนจากภาพถ่ายดาวเทียม
ก๊าซมีเทน (methane) เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญของภาวะเรือนกระจก และการปล่อยก๊าซมีเทนมักมาจากกระบวนผลิตเชื้อเพลิงฟอซซิล เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
กูเกิลร่วมกับ Environmental Defense Fund (EDF) หน่วยงานไม่หวังผลกำไรที่ทำด้านสิ่งแวดล้อมมายาวนาน และกำลังจะปล่อยดาวเทียม MethaneSAT ของตัวเองสู่ชั้นบรรยากาศในเดือนมีนาคมนี้ ดาวเทียม MethaneSAT จะโคจรรอบโลกวันละ 15 รอบแล้วถ่ายภาพที่เห็นระดับของกีาซมีเทนกลับมาวิเคราะห์
เมื่อได้ภาพแล้ว กูเกิลจะรับช่วงต่อโดยนำภาพมาใส่ใน Google Earth Engine เพื่อให้องค์กรอื่นนำไปใช้งานต่อได้ง่าย และกูเกิลยังนำไปเชื่อมต่อกับภาพถ่ายดาวเทียมปกติ ที่มีอัลกอริทึมของกูเกิลพยายามแยกแยะว่าจุดไหนในโลกเป็นบ่อน้ำมัน ตรงไหนเป็นปั๊มที่ขุดน้ำมันมาจากใต้ดิน ตรงไหนเป็นคลังเก็บน้ำมันบ้าง เมื่อนำมาเช็คกับแผนที่การปล่อยมีเทนจาก MethaneSAT ก็สามารถตรวจสอบได้ว่าจุดไนมีการรั่วไหลของมีเทน เพื่อให้แก้ปัญหาได้รวดเร็วและตรงจุด
ตัวอย่างภาพถ่ายดาวเทียมแสดงระดับของมีเทน ใช้งานผ่าน Google Earth Engine
ตัวอย่างภาพถ่ายดาวเทียมแสดงบ่อน้ำมัน (จุดขาวในภาพบน) และการแยกแยะสิ่งปลูกสร้างในบ่อน้ำมันด้วย AI (สีแดง = ตัวปั๊ม, สีน้ำเงิน = ถังเก็บน้ำมัน)
ที่มา - Google