Peter Lynch นักลงทุนชื่อดังระดับตำนานเคยกล่าวประโยคว่า "ในยุคตื่นทอง มีแต่คนขุดทองที่สูญเสียเงิน คนที่ทำกำไรจากเหตุการณ์นี้คือคนที่ขายจอบ พลั่ว เต็นท์ กางเกงยีนส์" (ที่มา) ทำให้แนวคิดเรื่องการขายเครื่องมือจำเป็น ในภาวะที่บางสิ่งกำลังเป็นที่นิยมยังคงใช้ได้อยู่เสมอ ท่ามกลางกระแส AI ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในที่สุดบริษัทที่ขาย "ของที่จำเป็น" อย่าง NVIDIA ก็กลายเป็นบริษัทมีมูลค่ากิจการสูงที่สุดในโลกไปแล้ว
เหตุการณ์นี้ในวงการเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องใหม่ ในยุคฟองสบู่ดอตคอม ช่วงปี 1997-2000 ซึ่งเกิดกระแสของธุรกิจบนอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก ก็ทำให้บริษัทที่ขายเครื่องมือที่จำเป็นอย่าง Cisco เคยมีมูลค่ากิจการมากที่สุดในโลก แซงไมโครซอฟท์ที่เป็นบริษัทอันดับ 1 ในเวลานั้นไป (ครั้งนี้ NVIDIA ก็แซงไมโครซอฟท์) จึงเกิดคำถามว่าเรื่องราวที่เห็นตอนนี้จะซ้ำรอยเดิมหรือไม่?
ถ้าจะมีใครสักคนที่ให้ความเห็นได้น่าสนใจก็คือ John Chambers อดีตซีอีโอ Cisco ในช่วงเวลานั้น เขาบอกว่าจริงอยู่ที่มีสถานการณ์หลายอย่าง ทำให้ดูคล้ายคลึงกัน แต่พัฒนาการของ AI นั้นแตกต่างจากการมาของอินเทอร์เน็ต หรือการประมวลผลบนคลาวด์ ทั้งขนาดของตลาดที่มี โอกาสการเติบโตที่ใหญ่กว่ามาก มากกว่าตอนยุคอินเทอร์เน็ตหรือคลาวด์รวมกันเสียอีก การเป็นบริษัทอันดับ 1 ของ NVIDIA ครั้งนี้ จึงแตกต่างกัน
Chambers บอกว่าแผนธุรกิจที่ Jensen Huang ซีอีโอ NVIDIA ใช้อยู่ตอนนี้ แตกต่างจาก Cisco เวลานั้น สิ่งที่เหมือนกันคือการครองส่วนแบ่งตลาดสูงมาก และคู่แข่งก็ไล่ตามไม่ทัน ซึ่งเป็นผลการจากการลงทุนสะสมไว้ก่อนหน้าที่ตลาดจะมา ทำให้ขึ้นมาเป็นบริษัทอันดับ 1 ได้นั่นเอง
ที่มา: The Wall Street Journal