รายงาน TWTCON BKK 09

by mk
27 November 2009 - 07:20

เมื่อวานนี้ ทางทีมของ Kapook.com ได้จัดงาน TWTCON BKK 09 ซึ่งเป็นงาน Twitter for Business Conference ขึ้น แม้ว่าจะเป็นงานที่เน้นผู้ฟังกลุ่มธุรกิจ แต่เนื้อหาที่พูดในงานก็มีประโยชน์กับผู้ใช้ social media ทั่วไปไม่น้อย ในฐานะที่ผมได้ไปงานนี้ด้วย เลยเก็บเนื้อหาบางส่วนมาเล่าให้ฟังครับ

ที่มาที่ไปของงานคงไม่ต้องเล่าซ้ำ อ่านกันเองได้จาก

ภาพประกอบเป็นผมถ่ายเองบางส่วน (อันที่ไม่ชัดนั่นแหละ!) ส่วนภาพชัดๆ ผมไปขอมาจากช่างกล้องอย่างเป็นทางการของงานครับ

งานเริ่มโดยคุณสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (@SatitTrang) มาในฐานะรัฐมนตรีที่คุมสื่อออนไลน์ของรัฐบาล เนื่องจากงานเริ่มเช้ามาก (8.30) ผมไปทันแค่ตอนกลางๆ

ประเด็นเนื้อหาที่รัฐมนตรีสาทิตย์พูด

  • นายกรัฐมนตรีไม่มีเวลามาใช้ Twitter เอง แต่ก็ตามดูตลอด
  • เว็บ pm.go.th เป็นต้นแบบให้เว็บโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งนำข้อมูลการลงทุนของรัฐบาลมาเปิดเผยให้เข้าถึงง่ายๆ
  • รัฐบาลกำลังเตรียมโครงการด้านการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ลักษณะเดียวกับ data.gov โดยอาจไปศึกษาวิธีการทำงานของรัฐบาลสิงคโปร์ด้วย ตอนนี้ตั้งคณะกรรมการแล้ว อยู่ในระหว่างศึกษาข้อมูล
  • ประสบการณ์การใช้ Twitter ของรัฐมนตรีสาทิตย์ โดยเริ่มสนใจจากกรณีประท้วงในอิหร่านเมื่อกลางปีนี้
  • นโยบายด้านการสื่อสารของไทย ที่ผ่านมาสนใจเฉพาะเชิงโครงสร้าง ยังต้องตั้งคำถามต่อไปว่า จะสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้สื่อให้กับเยาวชนได้อย่างไร

ถัดมาเป็น Keynote เปิดงานโดยคุณปรเมศวร์ มินศิริ หรือ @iwhale แห่ง Kapook มาเล่าความรู้ที่ได้จากงาน TWTRCON DC 09 ที่สหรัฐ

ประเด็นเนื้อหาที่พูด

  • Social media เริ่มถูกพูดถึงในสื่อครั้งแรก คือนิตยสาร BusinessWeek ฉบับปลายปี 2004 (เล่มนี้ครับ The Vanishing Mass Media) จากนั้นมาเริ่มดังก็ตอน TIME เลือกให้ "คุณ" เป็นบุคคลแห่งปี 2006)
  • Social media มีคนให้นิยามมันว่าเป็น "conversational media" (สื่อที่เกิดจากการสนทนาระหว่างผู้ใช้) บทความที่สำคัญคือ The Rise of Conversational Media (ผมไม่แน่ใจว่าต้นฉบับคืออันไหน) บทความนี้มีประโยคเด็ดว่า

"Conversation is king"
Content is just something to talk about

  • หนังสืออีกเล่มที่มีอิทธิพลคือ The Attention Economy (Amazon) ซึ่งบอกว่า "ความสนใจ" กลายเป็นทรัพยากรอันมีค่า (และหายาก) ในโลกยุคนี้ ทุกฝ่ายต่างแย่งชิง "ความสนใจ" ของผู้ใช้มาเป็นของตัวเอง
  • ความสนใจกลายเป็น "สกุลเงิน" ใหม่ของโลกออนไลน์
  • พูดเรื่อง "อิทธิพล" หรือ influence ว่าเป็นเรื่องของการลงทุน คือคนใช้เน็ตลงทุนลงแรงเพื่อให้ตัวเองกลายเป็นผู้มีอิทธิพล พูดอะไรมีคนฟัง มีคนเคารพ แทนการลงทุนเพื่อได้กำไรเป็นตัวเงิน
  • คำว่า return of investment (ROI) จึงกลายเป็น return of influence
  • พัฒนาการของความสัมพันธ์ออนไลน์ คือการเปลี่ยน "attention" หรือความสนใจ ให้เป็น "engagement" หรือการเข้าร่วม
  • คุณปรเมศวร์มองว่า จุดแข็งของ Twitter เหนือ Facebook คือ vanity URL หรือ URL สั้นที่แสดงตัวตนของผู้ใช้ แม้ว่าภายหลัง Facebook จะเปิด vanity url บ้าง แต่ยังไงก็ไม่มีทางสู้ @username ได้ เวลาเจอคนรู้จักใหม่ๆ แทนที่จะให้นามบัตร บอกเว็บหรืออีเมล ก็แค่บอก @username แล้วที่เหลือก็ไปตามหาตัวตนในเน็ตกันเจอได้
  • จุดแข็งอย่างที่สองของ Twitter คือความสั้น การที่ถูกบังคับให้เขียนแค่ 140 ตัวอักษร ทำให้คนอ่านเสียเวลาอ่านน้อยลง อ่านข้อความอื่นๆ ได้เยอะขึ้น

เนื้อหาในส่วนนี้มีประโยชน์มาก และมีเยอะกว่าที่ผมจดมามากๆ เดี๋ยวทางผู้จัดคงอัพโหลดสไลด์แจกครับ รอติดตามจากเว็บของงานละกัน

ลำดับถัดไปเป็นเรื่อง "การสร้างเครือข่ายธุรกิจผ่าน Twitter" โดยคุณธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย หรือ @mktmag กูรูด้านการตลาด เขียนหนังสือหลายเล่มและจัดรายการวิทยุช่วงบ่ายๆ ทุกวัน

ลีลาของคุณธันยวัชร์นั้นเล่าเป็นตัวหนังสือได้ยาก เพราะใช้น้ำเสียงและการเล่าเรื่องเป็นหลัก (มันมากครับ) ไม่เน้นสไลด์มากนัก อย่างไรก็ตามเนื้อหาที่คุณธันยวัชร์พูดก็ตามสไลด์ และสไลด์ก็จับประเด็นเข้มข้นจริงๆ ไม่มี noise มาเกะกะ ผมขอเล่าด้วย slideshow แทนนะครับ (ได้รับคำอนุญาตให้เผยแพร่จากคุณธันยวัชร์แล้ว)

ลำดับสุดท้ายก่อนเที่ยง เป็นประสบการณ์การใช้ Twitter ของดาราและเซเลบครับ ไม่มีเรื่องมาฝาก เราเน้นรูป

จากซ้าย @nuishow, @panraphee, @patee122, @kalamare, @dc_danai และ @ceemeagain

@panraphee ตัวจริงน่ารักมากครับ

@kalamare สาวคนดังแห่งยุคนี้

@ceemeagain หลายคนคงรู้จักกันดี

ช่วงบ่ายผมอยู่ไม่ครบ ถ้าใครไปช่วยเสริมข้อมูลด้วยครับ ตอนนี้หาสไลด์เจอแต่ของ @pawoot (@iannnnn และ @sugree ส่งสไลด์ในคอมเมนต์ด่วน!)

โดยส่วนตัวแล้วผมอยากให้มีงานลักษณะนี้เกิดขึ้นเยอะๆ (งานเชิงไอทีแบบเสียเงิน) เพราะมันจะช่วยอุดหนุนและค้ำจุนให้งานอยู่ได้ ไม่งั้นเราจะเจอแต่งานสัมมนาฟรีแอบขายของเต็มไปหมดแบบทุกวันนี้ บัตรแพงไม่แพงมันเป็นเรื่องของกลุ่มเป้าหมายมากกว่า ถ้ารู้สึกว่าบัตรแพงไปก็แปลว่าเราคงไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของงานนั้นๆ สำหรับงานนี้มีคนฟังหลายร้อย (กะด้วยสายตา ผมว่า 300++ แต่ต้องไปถามข้อมูลจากผู้จัดอีกครั้ง) ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

สุดท้ายต้องขอบคุณ @iwhale เจ้าของงาน @oaddybeing แม่งานใหญ่ และทีมงานผู้จัดงานทุกๆ ท่าน ที่สร้างงานดีๆ แบบนี้ครับ

Blognone Jobs Premium