เป็นเจ้าของแบบใด? เงินก็จ่ายแต่ซ่อมเองไม่ได้ ไทยควรมีกฎหมาย Rights to Repair หรือยัง

by nismod
8 August 2024 - 11:12

สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตหรือแล็บท็อปที่คุณกำลังใช้อ่านโพสต์นี้อยู่ คุณคิดว่าคุณเป็นเจ้าของมันจริงๆ “มีสิทธิเต็มรูปแบบ” กับมันอยู่ใช่ไหม ถ้าผมบอกว่า คุณไม่ได้เป็นเจ้าของมัน 100% โดยที่คุณไม่รู้ตัว หรืออาจจะรู้แต่ยังไม่เดือดร้อนกับมันล่ะ

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แนวคิดในการทำธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงจนทำให้ความอิสระหรือสิทธิ์ต่างๆ ที่เรามีกับอุปกรณือิเล็กทรอนิคส์ต่างๆ น้อยลงไปเรื่อยๆ จนเราถูกห้าม หรือแม้กระทั่งถูกลงโทษ เพียงแค่ต้องการบำรุงรักษาหรือซ่อมอุปกรณ์เหล่านั้น ใกล้ตัวเราที่สุดอาจจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตหรือแล็บท็อปนี่แหละ

หลายประเทศทั่วโลกทั้งฝั่งผู้บริโภคและภาครัฐ มีความพยายามผลักดันและสู้กลับเรื่องนี้ หลายๆ ประเทศมีกฎหมาย Rights to Repair ออกมาแล้ว เช่นอังกฤษ สหรัฐ และสหภาพยุโรป

แล้วประเทศไทย ควรผลักดันเรื่องนี้เป็นประเด็นสาธารณะ จนนำไปสู่กระบวนการออกกฎหมายได้หรือยัง?

ซื้อใหม่เถอะ คุ้มกว่า

คุณพ่อใครหลายๆ คนในปัจจุบัน อาจจะยังมีพฤติกรรมแบบนี้อยู่ คือซ่อมอยู่ทุกอย่างด้วยตัวเอง ที่บ้านมีอุปกรณ์ครบครัน ไม่ต้องพึ่งช่างไม่ต้องพึ่งศูนย์ หรือสัก 10-20 ปีก่อน การเรียกช่างมาซ่อม หรือเอาอุปกรณ์เช่นโทรศัพท์มือถือ ไปซ่อมที่ร้านใกล้บ้าน ก็ดูจะเป็นเรื่องปกติ

แต่ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสบริโภคนิยม, การวางกลยุทธของบริษัทผู้ผลิตที่ทำให้อุปกรณ์ซ่อมยาก, ไปจนถึงกระบวนการผลิตที่ทำให้สินค้าหลายๆ อย่างมีราคาถูกลงมาเมื่อเทียบกับเมื่อค่าแรงในสมัยก่อน ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นไปในลักษณะ “ซื้อใหม่เหอะ คุ้มกว่า” ค่อนข้างมาก (Perzanowski, 2020)

Deloitte เผยแพร่ผลสำรวจผู้บริโภคราว 1,000 คนเกี่ยวกับเรื่องนี้พบว่า 40% บอกว่าเลือกที่จะซื้อของใหม่เลย หากของเก่าเสีย อีก 7% บอกว่าอาจจะซื้อของมือ 2 หรือเครื่องซ่อม (refurbished) แทน โดยคนที่เลือกที่ไม่ซ่อม 60% บอกว่าสาเหตุหลักคือ ราคาค่าซ่อมที่สูงมาก

สิ่งที่สูญเสียไป จากการเลือกทิ้งเครื่องเก่าและซื้อเครื่องใหม่ ไม่ได้มีเพียงแค่ขยะอิเล็กทรอนิคส์ โดยข้อมูลจากรายงาน Global E-waste Monitor 2024 ของ United Nations Institute for Training and Research (UNITAR) เผยว่าปี 2022 ทั่วโลกผลิตขยะอิเล็กทรอนิคส์รวมกันกว่า 6.2 หมื่นล้านตันต่อปี ส่วนของไทยอยู่ที่ 7.5 แสนตันต่อปี แต่ยังมีเรื่องของเม็ดเงินที่ควรจะประหยัดได้ โดย EU ประเมินว่าเม็ดเงินตรงนี้ในภูมิภาคที่เสียไปอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านยูโรต่อปีเลยทีเดียว

การออกแบบให้หมดอายุขัย (planned obsolescence)

จริงอยู่ที่ของทุกสิ่งมีวันหมดอายุขัย มีวันเสื่อมสภาพตามธรรมชาติของมัน ไม่ว่าจะถูกใช้งานหรือไม่ถูกใช้ แต่แนวคิดของการออกแบบให้หมดอายุขัยนี้ คือการตั้งตั้นตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้เสื่อมลงหรือใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพภายในกรอบระยะเวลาหนึ่งๆ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคที่บริษัทผู้ผลิตมี ซึ่งปลายทางคือการบีบให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นการการันตีรายได้ในระยะยาวของบริษัททางหนึ่ง

ตัวอย่างที่ชัดเจนและหลายคนอาจจะจำได้ คือเมื่อปี 2017 ที่มีการทดสอบ ก่อนแอปเปิลจะออกมายอมรับว่า มีการปรับประสิทธิภาพ iPhone บางรุ่นลง หากแบตเตอรี่เสื่อม จนนำไปสู่การฟ้องร้อง และซัมซุงโดนปรับ กรณีทำให้ Galaxy Note 4 ช้าลงหลังอัพเดตซอฟต์แวร์

เป็นเจ้าของแบบใด?

หนึ่งในแนวทางการออกแบบให้หมดอายุขัย ที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคตรงๆ และจับต้องได้ที่สุด คือการออกแบบการซ่อมอุปกรณ์เองนั้นมีความยากหรือแทบเป็นไปไม่ได้ เช่น การใช้น็อต Pentelope ที่ดาว 5 แฉกเป็นเหมือนสัญลักษณ์ดอกซากูระของแอปเปิล ซึ่งไม่ใช่หัวน็อตที่ใช้กันแพร่หลายและหาไขควงได้ทั่วไปในช่วงปี 2009-2010 โดยแอปเปิลใช้กับทั้ง MacBook Pro, MacBook Air และ iPhone ในช่วงนั้น

ภาพจาก iFixit

การกีดกันเรื่องการซ่อม แอปเปิลน่าจะมีชื่อเสียงเรื่องนี้มากที่สุดเจ้าหนึ่ง ด้วยความเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงและตัวอุปกรณ์มีความแพร่หลายในการใช้งาน โดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การซ่อมหรือเปลี่ยนชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์เอง หากไม่ได้ทำที่ร้านของแอปเปิลหรือพาร์ทเนอร์ (parts pairing) ก็มักจะถูกซอฟต์แวร์ล็อกการใช้งานพื้นฐานเช่น Face ID และหนึ่งในเคสที่โด่งดังที่สุดของกรณีนี้ คือการฟ้องร้องร้านซ่อมรายเล็กๆ ในนอร์เวย์ ที่สุดท้ายศาลฎีกาตัดสินให้แอปเปิลชนะ

ตัวอย่างอีกเคสคือ John Deere บริษัทผลิตเครื่องจักรการเกษตรของสหรัฐ ที่เคยใช้วิธีแบบเดียวกัน ปิดกั้นการซ่อมโดยช่างอิสระ และคิดค่าชิ้นส่วนหรือบริการที่ค่อนข้างแพง ซึ่งกรณีของ John Deere ไม่ได้กระทบลูกค้าแค่ในแง่ราคาค่าบริการ แต่ลูกค้าที่ใช้งานเครื่องจักรเหล่านี้ส่วนใหญ่ อยู่ในพื้นที่ห่างไกล การนำเครื่องจักรออกนอกพื้นที่ไปซ่อม ย่อมเสียเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่เป็นรายได้มากกว่าเดิม จนมีความพยายามเจลเบรค เครื่องจักรของ John Deere เลยด้วยซ้ำ

ข้ออ้างที่บริษัทใหญ่เหล่านี้ใช้เพื่อแก้ต่างนโยบายแบบนี้ คือเรื่องของมาตรฐานของชิ้นส่วน มาตรฐานการซ่อมและความปลอดภัยในการใช้งานของลูกค้า แต่มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้วิธีเหล่านี้ ไม่ว่าจะเรื่องดีไซน์ฮาร์ดแวร์, การใช้ซอฟต์แวร์ปิดกั้น, กฎหมายด้านสิทธิบัตร เป็นความพยายามใช้อำนาจของบริษัทผู้ผลิตที่มีเหนือฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ในการผูกขาดกระบวนการซ่อม เพื่อให้เม็ดเงินในกระบวนการซ่อม หรือแม้แต่การซื้อเครื่องใหม่ วนกลับไปหาผู้ผลิตแต่เพียงเจ้าเดียว (Tim Cook เคยยอมรับด้วยซ้ำว่า การเปลี่ยนแบตเตอรี่ราคาถูก จะกระทบยอดขาย iPhone) เท่ากับว่าแม้เราจะเป็นเจ้าของ แต่อำนาจในการควบคุมเหนืออุปกรณ์เหล่านี้ ยังเป็นของบริษัทอยู่ไม่น้อย (Perzanowski, 2021)

Rights to Repair ทั่วโลกและไทยไปถึงไหนแล้วตอนนี้?

ด้วยแนวทางของผู้ผลิตอุปกรณ์ที่ไปในทิศทางข้างต้นค่อนข้างมาก ทำให้การเคลื่อนไหวสิทธิ์ในการซ่อม เริ่มมีมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ฝรั่งเศสในปี 2021 ที่ออกกฎหมายบังคับให้บริษัทที่ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์และนำมาขายในฝรั่งเศส ต้องติดป้าย “ดัชนีความง่ายในการซ่อม (Repairability Index)” ซึ่งอิงมาจากการให้คะแนนของ iFixit ก่อนที่ล่าสุดในปีนี้ จะปรับมาเป็น “ดัชนีความทนทาน (Durability Index)” ที่เพิ่มเกณฑ์เรื่องการอัพเกรด, ความทนทานในการใช้งานหรือการบำรุงรักษาเพิ่มเข้าไปด้วย เช่นเดียวกับอังกฤษที่ออกกฎหมาย Rights to Repairs มาตั้งแต่ปี 2021 โดยให้เวลาผู้ผลิต 2 ปี เตรียมการในการทำให้ชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับซ่อม สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

ภาพจาก Ministère de la Transition écologique

ส่วนสหภาพยุโรปก็เพิ่งผ่านกฎหมายลักษณะเดียวกันปีที่แล้ว ที่ผู้บริโภค ต้องสามารถเข้าถึงทางเลือกในการซ่อมอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ได้ง่ายและถูกขึ้น หลังหมดประกัน ขณะที่สหรัฐอเมริกา ณ ตอนนี้มีเพียงมลรัฐนิวยอร์ค, โคโลราโด (เฉพาะอุปกรณ์การเกษตร), มินนิโซตา, แคลิฟอร์เนีย, โอเรกอน, และโคโลราโด ที่มีกฎหมายลักษณะนี้ อาจแตกต่างกันไปในรายละเอียด เช่นของโอเรกอน เป็นกฎหมายแบนการทำ parts pairing (ใช้ชิ้นส่วนที่ไม่ได้มาจากผู้ผลิตโดยตรงในการซ่อม)

อาจจะด้วยกลุ่มประเทศใหญ่ๆ ที่เป็นตลาดใหญ่อย่างในยุโรป หรือสหรัฐอเมริกาเองก็เริ่มมีการออกกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคลักษณะนี้ออกมา ทำให้เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงจากฝั่งผู้ผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะแอปเปิล ที่ถูกโจมตีเรื่องนี้มาตลอด ก็ออกโครงการ Self-Repair ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่มีกฎหมายครอบคลุม ซัมซุงออกโครงการ Self-Repair อุปกรณ์ Galaxy ในเกาหลีใต้ หรือกรณีของ John Derre ก็มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ให้ช่างภายนอกซ่อมเครื่องจักรได้ง่ายขึ้นเช่นกัน ส่วนของเอเชีย ก็คงต้องติดตามต่อไปว่าโครงการของแอปเปิลและซัมซุงจะครอบคลุมหรือไม่ แม้ไม่มีกฎหมายก็ตาม

ไทยไม่ค่อยพูดถึงเรื่องนี้

ส่วนของไทยปัจจุบัน มีแค่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 2 หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ขาย มาตรา 472 ถึง 474 ที่ระบุให้ผู้ขาย รับผิดชอบกรณีสินค้าที่ขายมีการชำรุดบกพร่อง ซึ่งมีข้อยกเว้น กรณีที่ผู้ซื้อ เห็นว่ามีปัญหาอยู่แล้วตอนส่งมอบ และยอมรับสินค้านั้นเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ประมวลกฎหมายดังกล่าว เป็นเพียงการตีกรอบกว้างๆ ให้ผู้ขายหรือผู้ผลิตรับผิดชอบสินค้าที่มีปัญหาเท่านั้น ทำให้ในแง่การใช้งานจริง อาจจะอยู่ในรูปแบบของการรับประกัน 1-2 ปี แบบมีเงื่อนไขจ่ายเงินเพิ่มบางกรณี หรือการรับซ่อมแบบแบบเสียเงิน หลังหมดประกัน (ผู้เขียนตีความเอาเอง)

ขณะเดียวกันก็ยังมีความพยายามของ สคบ. ในการผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. .... (ยังไม่ผ่านสภาและบังคับใช้) หรือชื่อเล่นว่า Lemon Law ที่เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ข้างต้น มีขอบเขตการรับผิดชอบของผู้ขายไม่ชัดเจน หรือสิทธิของลูกค้าที่ยังคลุมเครือ โดยสาระสำคัญของ Lemon Law ปัจจุบัน เป็นการกำหนดขอบเขตของผู้ขาย และให้สิทธิเรียกร้องต่อผู้ซื้อในการเปลี่ยนสินค้า ซ่อม ขอลดราคา หรือเลิกสัญญาการซื้อขาย

ภาพจาก Shutterstock

อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติในตัว Lemon Law เองก็ยังพูดถึงแค่สิทธิในการซ่อมจากผู้ขายหรือผู้ผลิตให้ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น ทำให้ปัญหาข้างต้นที่กล่าวมาในบทความ ยังไม่ถูกแตะหรือพูดถึง เท่ากับว่า กฎหมายในลักษณะ Rights to Repair ของไทยนั้นยังไม่มีแม้แต่ร่าง

คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในบ้านเรา อาจจะอ่อนเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ทำให้การเรียกร้องกฎหมายด้านนี้ที่เข้มข้นขึ้น อาจจะมีอยู่หลายประเด็น รวมถึงไม่ได้มีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้มากพอ (เพราะปัญหาบ้านเราเยอะ?) แต่ถึงเวลาหรือยังที่กฎหมาย Rights to Repair ควรกลายประเด็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น และสอดแทรกไปกับกระบวนการนิติบัญญัติ ที่ทำให้ผู้บริโภคมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น ในการจัดการอุปกรณ์ที่ตัวเองซื้อมาอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ที่ผู้บริโภค ไม่จำเป็นจำต้องเสียค่าซ่อมแพงๆ หรือเสียเงินเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ อย่างไม่จำเป็น

Blognone Jobs Premium