ใน เปิดโลก Android: รีวิว HTC Magic และ HTC Sense ตอนแรก เราพูดถึงตัวฮาร์ดแวร์ และแนวคิดพื้นฐานของตัวระบบปฏิบัติการไปแล้ว ในตอนที่สองจะเป็นเรื่องของโปรแกรมที่ติดมากับเครื่องนะครับ
คำเตือน: ตอนนี้ภาพเยอะมาก!
พูดถึงสมาร์ทโฟนยุคนี้ โปรแกรมแรกที่นึกถึงคงไม่มีอะไรเกินเว็บเบราว์เซอร์ เจ้าเบราว์เซอร์ของ Android ไม่ใช่ Chrome แต่ก็อิงตัวเรนเดอร์บน WebKit เหมือนกัน ความสามารถในการเรนเดอร์โดยรวมคงไม่ต่างอะไรกับ Mobile Safari
แสดงผล Blognone และ Exteen ได้อย่างถูกต้องสวยงาม โปรดสังเกตโฆษณาโนเกียที่ขอบด้านขวาของ Exteen มันคือ Flash!!! (มีเฉพาะ ROM ของ HTC ครับ ตัวเล่นใช้ชื่อว่า HTC Flash Player ผมหาข้อมูลไม่เจอว่ามันเทียบเท่า Adobe Flash ตัวไหน)
เมื่อเปิดเบราว์เซอร์ขึ้นมาครั้งแรกสุด หน้าจอจะค้างไว้ชั่วขณะ ไม่ใช่บั๊กแต่มันจะทำการ sign-on ตัวเราเข้ากับกูเกิลให้เสร็จสรรพ เข้าเว็บของกูเกิลไม่ต้องล็อกอินซ้ำ สะดวกแต่ก็เสียวๆ เหมือนกันนะนี่ ส่วนเรื่อง URL autocomplete ก็มีมาให้พร้อม
เบราว์เซอร์ของ Android สามารถแสดงผลแบบหลายแท็บได้ (ต้องกดเมนูก่อนแล้วเลือก Windows ไม่ค่อยสะดวกเท่าไรนัก) สิ่งที่ HTC ทำเพิ่มจาก ROM เวอร์ชันปกติ คือ visual bookmarks ครับ ในรุ่นปกติจะเป็นรายการข้อความธรรมดา แต่รุ่นของ HTC ทำเป็นภาพ thumbnail อย่างสวย เว็บทั้งหมดที่เราทำ bookmarks เอาไว้สามารถเข้าถึงได้จาก bookmarks widget เช่นกัน
อีกอย่างที่เพิ่มเข้ามาจากเบราว์เซอร์ของ Android รุ่นมาตรฐาน คือเบราว์เซอร์ตัวนี้รองรับมัลติทัช สามารถซูมเข้าออกแบบสองนิ้วได้ ทำให้การท่องเว็บสะดวกขึ้นมาก
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียที่สำคัญของเบราว์เซอร์ตัวนี้คือ มันไม่ตัดคำ เหมือนกับ Mobile Safari
สรุปว่า เบราว์เซอร์ของ Android เวอร์ชัน HTC มีความสามารถเทียบเท่า Mobile Safari เกือบทุกอย่าง เปิดเว็บได้ดีไม่มีปัญหา มีข้อดีกว่าตรงสนับสนุน Flash แต่ด้อยกว่าเรื่องตัดคำ
โปรแกรมกลุ่มถัดไปคือโปรแกรมในกลุ่ม Google Experience ซึ่งเป็นจุดขายสำคัญของแพลตฟอร์ม Android
Gmail
ในฐานะที่ผมเคยใช้ Gmail บนมือถือแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้ง iPhone และ BlackBerry ผมกล้าพูดได้เต็มปากว่า Gmail บน Android สมบูรณ์ที่สุด (แหงละ กูเกิลทำเองนี่นา) การใช้งานแทบไม่ด้อยกว่า Gmail เวอร์ชันเต็มเลย
Gmail บน Android เป็นโปรแกรมแยกต่างหากจากโปรแกรมอีเมลปกติ (ที่ดึงข้อมูลผ่าน POP3/IMAP/Exchange) ความสามารถคือ
ระบบ autocomplete เวลาเลือกที่อยู่ผู้ส่ง ก็ทำได้ไม่มีปัญหา มันดูด contact ของเราใน Gmail มาหมด
ข้อเสียอันเดียวที่พบคือมันไม่รองรับมัลติทัช ดังนั้นเวลาจะลบเมลต้องมานั่งลบทีละเมล ลำบากเล็กน้อย แต่เอาจริงแล้วเก็บไว้ลบตอนมีคอมใช้ก็ได้อยู่แล้ว
ในรีวิวนี้ ผมไม่ได้ทดสอบอีเมลแบบปกตินอกจาก Gmail นะครับ (เพราะตอนนี้ย้ายมาใช้ Gmail หมดแล้ว)
Google Talk
iPhone เป็นแพลตฟอร์มที่ไม่ค่อยสนับสนุน IM แม้แต่ iChat ของแอปเปิลเอง (น่าสนใจว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น) แต่ Android นั้นกลับกัน แทบจะยัดเยียดให้เราใช้ Google Talk เพราะมันรวมอยู่ในโปรแกรม Google Experiece ใช้ล็อกอินเดียวกับตอนที่เราตั้งค่าไว้ครั้งแรกสุด จากนั้นใช้งานได้ทันที
(ภาพซ้าย) หน้า Contact List ใครเป็นใครดูกันเอง (ภาพขวา) หน้าสนทนา สนับสนุน emoticon, group chat รวมไปถึง off-record! เท่มาก
แน่นอนว่ามันใช้คุยได้เฉพาะ Google Talk เท่านั้น ถ้าอยากใช้ IM ตัวอื่นก็ต้องใช้โปรแกรม thrid party ครับ โปรแกรมตัวนี้รองรับ background notification ในตัว วิธีที่ง่ายที่สุดในการสลับหน้าต่างคือ รอให้คู่สนทนาทักมา แล้วค่อยเรียกหน้าจอสนทนาจาก Notifications ที่ขอบด้านบน เอาจริงแล้วแทบไม่ต้องใช้หน้า Contact List เลย ยกเว้นตอนทักกันครั้งแรกเท่านั้น
Google Maps
เช่นเดียวกับโปรแกรมก่อนหน้านี้ มันมีฟีเจอร์ทุกอย่างเทียบเท่าเวอร์ชันเต็ม ทั้งโหมดการแสดงผลแบบถนน-ดาวเทียม, ค้นหาสถานที่, บอกเส้นทาง, สภาพจราจร และ Google Latitude (เผลอๆ ดีกว่าด้วยซ้ำเพราะบนมือถือมี GPS แล้วมันใช้ง่ายกว่ามาก)
Google Maps เป็นอีกโปรแกรมที่รองรับมัลติทัช ซูมแบบสองนิ้วได้สบาย อัพเดต: ไม่มีมัลติทัชครับ
Google Calendar
Google Calendar ไม่เคยเป็นโปรแกรมที่หวือหวา ได้รับความสนใจเทียบเท่ากับโปรแกรมตัวอื่นๆ ของกูเกิล แต่พอมันย้ายมาอยู่บนมือถือ ความสำคัญก็เพิ่มขึ้นทันทีเพราะเป็นแกนกลางสำคัญของโปรแกรมตระกูล PIM
Android ไม่มีโปรแกรมปฏิทินตัวอื่นรวมมาให้แต่แรก เรียกง่ายๆ ว่ายัดเยียดให้เราใช้ Google Calendar กันเลยล่ะ ความสามารถก็ครบครัน แสดงปฏิทินตาม label ได้ มีโหมดแสดงผลเป็นเดือน-สัปดาห์-วัน-รายการงาน ทุกอย่าง sync อัตโนมัติเช่นเดียวกับ Gmail
Contacts
อีกหนึ่งโปรแกรมที่ทำงานเงียบๆ อยู่เบื้องหลัง แต่มันเป็น 3 ประสานในงานด้าน PIM (Gmail-Calendar-Contacts) เปิดเครื่องมาล็อกอินปั๊บ มันจะโหลด contact ทั้งหมดจาก Gmail มาไว้ที่มือถือของเราทันที
จุดนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ ข้อดีแน่นอนว่ามันสะดวก ข้อเสียคือ Gmail มันเก็บอีเมลแอดเดรสทุกอันที่เราเคยส่งออกไป ทำให้สมุดที่อยู่ของเรามีขนาดใหญ่มาก และเต็มไปด้วยอีเมลไม่สำคัญที่สะสมมาตลอดชีวิตการใช้งาน Gmail
ผมนั่งๆ นอนๆ คิดหาโซลูชันแก้ไขเรื่องนี้อยู่นาน สุดท้ายค้นพบว่าถ้าคิดจะใช้ Android ก็ไม่มีทางเลือกอื่น ต้องฝากชีวิตไว้กับกูเกิลเท่านั้น เลิกใช้ Contacts ที่อื่นๆ ทั้งหมด (รวมถึงเบอร์ที่เก็บอยู่ในซิมด้วย) แล้วใช้ Contacts ของ Gmail เพียงที่เดียว
นั่นแปลว่า เราจะต้องมานั่งประกอบร่างเบอร์โทรในซิม กับอีเมลใน Gmail ให้เป็นบุคคลเดียวกันไปทีละราย เหนื่อยแน่นอน แต่ผลลัพธ์สุดท้ายก็คุ้มเพราะเราจะได้ "Contacts อันสุดท้ายของชีวิตที่ฝากไว้กับกูเกิล" อนาคตจะสบายแล้ว (แนะนำให้ทำผ่านพีซีครับ ง่ายกว่ากันเยอะ)
หมายเหตุ: สำหรับผู้ที่มี Contacts จากแหล่งอื่นๆ เช่น Outlook อันนี้ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าโซลูชันที่ดีที่สุดควรเป็นอย่างไร แต่ถ้าเข้าข่ายคนปกติคือไม่ได้ใช้ Outlook ก็ย้ายไป Gmail ให้หมดเถอะครับ
หน้าจอหลักของ Contacts ไม่มีอะไรพิสดาร หน้ารายละเอียดขอยืมคุณ Sugree มาเป็นนายแบบ
HTC ได้อัพเกรดความสามารถของ Contacts จาก Android รุ่นปกติ ให้มันรองรับ Facebook และ Flickr ด้วย (ฟีเจอร์นี้เหมือนกับ Synergy ของ Palm webOS)
เราต้องทำการเชื่อม contact เข้ากับ Facebook เสียก่อน (มันจะแนะนำให้ว่า contact อันนี้น่าจะเป็นคนเดียวกับใครใน Facebook แม่นพอสมควรถ้าเซฟเป็นชื่อนามสกุลจริง) แน่นอนว่าต้องไล่ทำไปทีละอันเหมือนกันครับ
ข้อดีที่ชัดเจนที่สุดของฟีเจอร์นี้คือ contact มันจะไปดึงภาพจาก Facebook profile มาให้ด้วย แม้ว่า Contacts แบบทั่วไปจะดึงภาพจาก Google Talk มาให้ แต่คนใช้ Google Talk ยังน้อยและหลายคนไม่ได้ตั้งภาพแสดงตัว ในขณะที่คนใช้ Facebook เกือบทุกคนใช้ภาพหน้าตัวเองอยู่แล้ว
สุดท้ายมันเลยทำให้ Contacts ของผมมีภาพหน้าคนประกอบเยอะขึ้นมาก เวลาโทรเข้ามาก็เห็นหน้าชัดเจนว่าใครเป็นใคร
ฟีเจอร์ Facebook ใน Contacts ยังจะแสดงข้อความสถานะของเพื่อนๆ เราให้ด้วย เพียงแต่ต้องกดเข้ามาดูในหน้า Contacts ถึงจะเห็น (HTC ไม่มี Facebook App แยกมาให้) เอาจริงแล้วก็ไม่ได้ใช้เท่าไรนัก
ส่วนของ Flickr นั้นจะไปเชื่อมกับโปรแกรมอัลบั้มภาพ ผมขอยืมอัลบั้มของคุณ Ford Antitrust มาเป็นตัวอย่างสาธิตการทำงาน :D
YouTube
โปรแกรมตัวสุดท้ายในกลุ่ม Google Experience คือ YouTube การใช้งานจะคล้ายๆ กับเวอร์ชันบน iPhone ครับ นั่นคือมันจะโหลดไฟล์เวอร์ชัน MP4 มาให้ดูแทน FLV ข้อดีคือชัดกว่า แต่ข้อเสียก็คือไม่ใช่ทุกวิดีโอที่จะถูกแปลงเป็น MP4
ส่วนการดู YouTube ผ่านเว็บเบราว์เซอร์ เนื่องจาก HTC ให้ Flash Player มาด้วย ดังนั้นจะเป็นการดูผ่าน Flash ทั้งหมด ไม่ต้องผ่านโปรแกรม YouTube แต่อย่างใด
โปรแกรมกล้องเท่าที่ผมเคยใช้ใน Android เวอร์ชันอื่นๆ (อิงจาก Android 1.6) นั้น "ไร้สิ้น" ซึ่งความสามารถใดๆ จนเข้าขั้นน่าเศร้า แต่ใน HTC Sense โปรแกรมกล้องพัฒนามาก ครบครัน มีออพชันที่สมควรมีทุกอย่าง
HTC Magic รุ่นอัพ ROM แล้วสามารถถ่ายวิดีโอได้ด้วยครับ แต่ผมไม่ได้ทดสอบ
ส่วนโปรแกรมดูภาพหรือที่เรียกว่า Albums ก็ถูกเพิ่มความสามารถจาก Android รุ่นปกติไปเยอะ มีเอฟเฟคต์พื้นเปียกสะท้อนภาพถ่าย, แก้ไขภาพในระดับพื้นฐาน, แสดงภาพแบบ slideshow
ฟีเจอร์ที่ผมชอบมากของ Android คือการประสานงานกันระหว่างโปรแกรมต่างๆ ที่ติดตั้งเอาไว้ (ทำนองเดียวกับ BlackBerry) ลงโปรแกรมอะไรเอาไว้ ถ้ามันสนับสนุนฟีเจอร์ Share เวลาเรากดปุ่มแชร์ที่ภาพ ก็สามารถส่งเข้าไปยัง social network ต่างๆ ได้ทันที
ในทางกลับกัน เราสามารถดูอัลบั้มภาพใน Facebook หรือ Flickr ได้ (HTC สนับสนุนแค่ 2 ตัวนี้)
ตัวอย่างการดูภาพที่เก็บอยู่บน Flickr (อภินันทนาการโดยคุณ @fordantitrust)
ก่อนที่จะมีสาวกแอปเปิลเข้ามาโวยวายว่าพูดถึง Android มากเกินไป เพื่อความยุติธรรม ผมยืนยันว่าความสามารถด้านมัลติมีเดียอื่นๆ (ดูหนังฟังเพลง) ของ Android นั้นด้อยกว่า iPhone มาก ยิ่งถ้าเป็น Vanilla Android เข้าขั้นเลวร้าย เพราะมันไม่มีแม้กระทั่ง video player! (โหลดเพิ่มเองได้) ส่วนเวอร์ชันของ HTC ได้รับการปรับปรุงขึ้นมาเยอะแล้ว แต่เทียบกับ iPhone ก็ยังห่างไกล
โปรแกรมฟังเพลงทำงานพื้นฐานได้ครบ มี playlist แยกเพลงตามอัลบั้มหรือศิลปินได้ แต่ก็ไม่มีฟีเจอร์หรูหราแบบ Cover Flow
ใน HTC Magic ไม่มีโปรแกรมดูวิดีโอแยกต่างหาก แต่สามารถเรียกดูวิดีโอได้ผ่าน Albums ไม่มีลูกเล่นอะไรหวือหวาเช่นกัน
Android เวอร์ชันของ HTC ไม่สามารถซื้อเพลงหรือหนังออนไลน์ได้เหมือน iTunes Store (แต่สามารถดาวน์โหลด Amazon MP3 Store มาติดตั้งเองได้) และกูเกิลไม่มีโปรแกรมช่วยจัดการไฟล์มัลติมีเดียระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์กับมือถือ ในลักษณะเดียวกับ iTunes (และคงไม่ทำแบบ Palm ที่เลือกใช้วิธีหลอก iTunes ว่าเป็น iPhone)
ผมกำลังนั่งนึกสงสัยเหมือนกันว่า กูเกิลจะแก้เกมมัลติมีเดียอย่างไร ที่แน่ๆ คงจับมือกับ Amazon MP3 Store (หรือร้านขายเพลงอื่นๆ เช่น Rhapsody) ให้มากขึ้น ส่วนของโปรแกรมจัดการเพลงอาจร่วมมือกับ Windows Media Player แต่ก็คงไม่ใช่โซลูชันครอบจักรวาลมากนัก (หรือว่าเราจะมี Google Media Player?)
นอกจากโปรแกรมที่ใช้หลักๆ แล้ว HTC ยังให้โปรแกรมทำงานเบ็ดเตล็ดมาอีกจำนวนหนึ่ง กล่าวถึงแบบเร็วๆ พอ ไม่ต้องลงรายละเอียด
โปรแกรมจดโน้ต รวมเอา AK Notepad ซึ่งเป็นโปรแกรมจดโน้ตชื่อดังบนแพลตฟอร์ม Android มาให้เลย, โปรแกรมเครื่องคิดเลข มีความสามารถในการคำนวณขั้นสูงบ้างตามสมควร
ที่ผมชอบคือโปรแกรม Clock ซึ่งมีพร้อมทั้งการแสดงเวลาข้าม timezone, นาฬิกาปลุก, stopwatch และ timer ไม่ต้องลำบากลำบนไปหาเอง
โปรแกรมพยากรณ์อากาศ ใช้ได้ดีไม่มีปัญหาอะไร ตรวจหาสถานที่ให้เองอัตโนมัติ แต่ส่วนมากคงดูผ่าน widget กันมากกว่าตัวโปรแกรม, เกมเอียงลูกเหล็กให้ลงหลุม Teeter
Footprints โปรแกรมแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวโดยอิงกับพิกัดของเราในขณะนั้น ตอนนี้ยังมีเฉพาะข้อมูลของสิงคโปร์ ไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไร เหมือนเป็นโปรแกรมเดโมมากกว่า
Quickoffice โปรแกรมออฟฟิศแบบเสียเงินที่ HTC รวมมาให้กับ ROM หน้าที่หลักของมันคือเปิดไฟล์ที่แนบมากับอีเมล เท่าที่ผมลองยังไม่สามารถอ่านไฟล์ OpenDocument ได้ แต่ถ้าเป็น .doc, .xls, .ppt ก็เปิดได้ไม่มีปัญหา
นอกจากนี้ HTC ยังมีโปรแกรมที่ผมไม่ได้จับภาพมาด้วย
ตอนหน้าผมจะพูดถึงส่วนประกอบสำคัญอย่าง Android Market และแง่มุมที่เหลืออยู่ของ HTC Magic เช่นเรื่องคีย์บอร์ดภาษาไทย รวมไปถึงแนะนำโปรแกรมที่น่าใช้บางตัวบนแพลตฟอร์ม Android ครับ