ตอนจบของซีรีย์ Android แล้วครับ ถ้าไม่ได้อ่านตอนก่อนหน้านี้ ในตอนแรกพูดถึงฮาร์ดแวร์และแนวคิดพื้นฐานของระบบปฏิบัติการ ส่วนตอนที่สองพูดถึงโปรแกรมต่างๆ ที่มากับเครื่อง
ประเด็นที่ผมให้น้ำหนักมากในการทดสอบสมาร์ทโฟนคือคีย์บอร์ด แพลตฟอร์ม Android นั้นมีทั้งคีย์บอร์ดจริงและคีย์บอร์ดบนหน้าจอ ตอนนี้มีมือถือหลายรุ่นที่ให้คีย์บอร์ดจริงมาด้วย (เช่น T-Mobile G1 และ Verizon Droid) แต่ HTC Magic นี่เป็นคีย์บอร์ดบนหน้าจอครับ
ขึ้นชื่อว่าเป็นคีย์บอร์ดเสมือน แปลว่ามันคือซอฟต์แวร์และมีได้หลายเวอร์ชัน สำหรับ HTC ที่วางขายในประเทศไทยใช้คีย์บอร์ด CN Thai ของบริษัท CN Solutions
ให้ภาพเล่าเรื่องแทนดีกว่านะครับ ดูผังของคีย์บอร์ดแล้วจินตนาการว่ามันจะพิมพ์ง่าย-ยากแค่ไหน
เท่าที่ผมพิมพ์มาได้ระยะหนึ่ง พบว่าการใช้คีย์บอร์ดแบบ 5 แถวตามภาษาไทย ทำให้ปุ่มมีขนาดเล็ก พิมพ์ยากพอสมควร (ทางแก้คือพิมพ์ในแนวนอนแทน ถ้าต้องพิมพ์อะไรยาวๆ) แต่ก็มีข้อดีว่าใช้ผังลักษณะเดียวกับคีย์บอร์ดพีซี พิมพ์สัญลักษณ์และตัวเลขได้ง่าย
ใน ROM เวอร์ชันอื่นๆ นั้นมีระบบแนะนำคำทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ของภาษาอังกฤษนั้นบอกได้ว่า "ยอดเยี่ยมมาก" ส่วนภาษาไทยโอเค แต่ต้องใช้ปุ่ม space เพื่อบอกจุดจบของคำ (กด space สองทีจึงเว้นวรรค) นั้นแปลกๆ ไปนิด แต่ความสามารถนี้ไม่มีใน Magic รุ่นที่ทดสอบครับ
Android เลือกใช้แนวทางการตั้งค่าตามแบบระบบปฏิบัติการของพีซี นั่นคือ แต่ละโปรแกรมจะมีหน้าจอ Settings หรือ Preferences ของตัวเอง และมีโปรแกรม Settings ของระบบแยกต่างหาก (ต่างจาก iPhone ที่เอาทุกอย่างไปรวมกันในโปรแกรม Settings กลางของระบบ)
หน้าจอ Settings ของ Android ไม่มีอะไรหวือหวา เป็น list เลื่อนลงมาเรียบๆ สำหรับเวอร์ชันของ HTC ได้เพิ่มตัวเลือกเข้ามาอีก 2 หมวด คือ Personalize (ปรับแต่ง scene, ภาพหน้าจอ, ริงโทน) และ Social Network (ตั้งค่าบัญชีผู้ใช้ของ Twitter/Facebook/Flickr)
การเปิด-ปิดตัวเลือกที่ใช้บ่อยๆ ทำได้สะดวกผ่าน widget ซึ่งสามารถวางไว้บนหน้าจอได้เลย ตัวอย่าง widget เช่น Wi-Fi, GPS, EDGE, Bluetooth เป็นต้น
ของแถม: หน้า About ของ HTC Magic เครื่องที่ผมใช้ทดสอบ เผื่อจะมีใครสนใจในรายละเอียดของเวอร์ชัน
วิธีการแจกจ่าย (distribute) โปรแกรมบนมือถือเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหลังแอปเปิลเปิดตัว iPhone App Store จากเดิมที่เราต้องไล่ตามหาไฟล์โปรแกรมที่ต้องการ ดาวน์โหลด และติดตั้งโปรแกรมลงในเครื่องด้วยวิธีการต่างๆ ที่ยุ่งยาก การมาถึงของ App Store ลบขั้นตอนเหล่านี้ออกไปจากระบบ สิ่งที่ต้องทำมีแค่ search แล้วกดโหลดเท่านั้น ความสะดวกสบายในการได้มาซึ่งโปรแกรมที่ต้องการ รวมกับความนิยมของตัว iPhone จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันมีโปรแกรมใน App Store กว่า 1 แสนตัว และคู่แข่งของแอปเปิลทุกเจ้าต้องเลียนแบบแนวทางนี้กันทั้งนั้น
Android ก็หนีไม่พ้น โดยกูเกิลเรียกชื่อร้านขายโปรแกรมว่า Android Market มันมีสถานะเป็นโปรแกรมหนึ่งตัว และเป็นส่วนหนึ่งของ Google Experience (แปลว่าไม่ได้มากับมือถือทุกรุ่น แต่ส่วนมากมีครับ)
หน้าตาของ Android Market ก็เรียบๆ ครับ มีโปรแกรมแนะนำจำนวนหนึ่ง แยกโปรแกรมตามหมวด และมีระบบให้ดาว
ข้อเสียที่พบคือมันต้องสั่งอัพเดตโปรแกรมทีละตัว สั่งอัพเดตทั้งหมดเลยไม่ได้ ส่วนการติดตั้งโปรแกรมจะแสดงข้อความให้เราดูว่า โปรแกรมที่จะติดตั้งจะเข้าถึงส่วนใดของมือถือได้บ้าง
เราไม่สามารถดูรายละเอียดของโปรแกรมใน Android Market ผ่านเว็บได้ จำเป็นต้องดูผ่าน Android Market เท่านั้น (มีให้ดูเล็กน้อยพอเป็นแซมเปิลบนเว็บของ Android)
บน Android Market มีทั้งโปรแกรมฟรีและเสียเงิน การซื้อโปรแกรมต้องทำผ่าน Google Checkout และตอนนี้ยังใช้งานได้ในไม่กี่ประเทศเท่านั้น (รายชื่อประเทศที่สนับสนุน) สำหรับประเทศไทยไม่มีชื่ออยู่ในรายการทั้งแบบฟรีและเสียเงิน แต่ผมก็สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมฟรีใช้ได้ไม่มีปัญหา
ผมเขียนไปแล้วในตอนแรกว่า ข้อดีของ Android คือ มันไม่กั๊ก ถ้าบน Android Market ไม่มีโปรแกรมที่ต้องการ? ลงเองได้เลยครับ จะลงแบบก็อปปี้ไฟล์ไปติดตั้งเอง หรือดาวน์โหลด App Store ทางเลือกอื่นๆ เช่น SlideMe, MobiHand หรือแม้กระทั่งร้านขายโปรแกรมสำหรับผู้ใหญ่ MiKandi ที่เคยลงข่าวใน Blognone ไปแล้ว แนวทางแบบนี้แก้ปัญหา "App โดน Reject" แบบที่เกิดขึ้นใน iPhone ได้ผลดีมาก ใครอยากลงโปรแกรมนอก Android Market ก็รับความเสี่ยงกันเอง แต่กูเกิลเปิดช่องไว้ให้แล้ว ไม่ได้ขัดขวางอะไร
ตัวเลขของโปรแกรมใน Android Market เท่าที่มีข่าวออกมาล่าสุดคือประมาณ 16,000 ตัว (TechCrunch) ตามหลัง iPhone ไกล แต่ก็ถือว่าเยอะเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่นๆ เช่น Palm App Catalog มี 800 ตัว (MyPre) และ Windows Marketplace ที่มี 800 ตัวเท่ากัน (PocketNow) โดยรวมแล้วมีโปรแกรมที่ใช้งานทั่วๆ ไปครบครัน ที่ขาดอยู่คือโปรแกรมเฉพาะทางแบบสุดๆ และเกมดังจากค่ายดัง
ผมใช้เวลาตรงนี้สั้นๆ แนะนำโปรแกรมที่ลองใช้แล้วชอบ แบบยาวๆ ไปแลกเปลี่ยนกันได้ในกระทู้ ใช้ Android App อะไรกันบ้าง? นะครับ
ซ้าย: Abduction! เกมอะไรไม่รู้สนุกเป็นบ้า ขวา: Soccer Livescores เอาไว้ดูผลบอล (สังเกตว่ามีโฆษณาไทยใน AdMob แล้ว)
ซ้าย: Bloo โปรแกรมเล่น Facebook ความสามารถสูง แต่ต้องขออนุญาต Facebook ก่อนทุกอย่างกว่าจะใช้งานได้ ขวา: Official Facebook App เพิ่งอัพเกรดใหญ่ไปไม่นานนี้ ความสามารถเพิ่มมากขึ้นแต่ยังสู้ Bloo ไม่ได้ มีดีตรงที่เป็น official ใช้ได้ทันที
ซ้าย: Foursquare เกมแท็กสถานที่ แถวนี้เล่นกันหลายคน ขวา: Layar โปรแกรม Augmented Reality (อ่าน ข่าวเก่า ประกอบ)
Twidroid โปรแกรม Twitter client ที่ดีที่สุดบน Android ในขณะนี้
ลูกค้าของ Blognone มีนักพัฒนาซอฟต์แวร์อยู่ไม่น้อย ประเด็นนี้ไม่พูดไม่ได้ :D การพัฒนาโปรแกรมบน Android ใช้ภาษา Java แต่คอมไพล์เป็นไบนารีของตัวเอง (ไม่ใช่ไบต์โค้ด) ชื่อ Dalvik ผมเคยเขียนรายละเอียดทางเทคนิคไว้หน่อยนึงที่ Android Developer Challenge - โอกาสทองของเด็กไทย ใครสนใจตามไปอ่านกันเอง
เครื่องมือในการพัฒนา Android จำเป็นต้องดาวน์โหลด Android SDK จาก Android Developer ใช้งานได้ทั้งวินโดวส์ แมค และลินุกซ์ มีมาให้ครบทั้ง simulator และเครื่องมือเสริมอื่นๆ
คนที่อยากใช้ IDE ในการพัฒนาก็ไม่ยากครับ กูเกิลแนะนำด้วยซ้ำว่าการพัฒนาโปรแกรมที่รวดเร็วควรใช้ Eclipse (ลงปลั๊กอิน Android Development Tools ผมลองบน Eclipse 3.5/Ubuntu 9.10 ก็มีปัญหาจุกจิกเล็กน้อยแต่ใช้งานพัฒนาโปรแกรมได้
นอกจากนี้ Android ยังมี Android Native Development Kit สำหรับคนที่ต้องการเรียกใช้โค้ดบางส่วนที่เป็น native ได้ด้วย (ซึ่งมีข่าวว่า Firefox/Fennec อาจลง Android ผ่านวิธีการนี้)
เมื่อพัฒนาโปรแกรมเสร็จแล้ว จะนำขึ้น Android Market ต้องเสียค่าลงทะเบียนนักพัฒนา 25 ดอลลาร์ (หน้าลงทะเบียน) ตอนนี้นักพัฒนาแถวบ้านเรายังสามารถแจกจ่ายโปรแกรมได้เฉพาะแบบฟรีเท่านั้น ถ้าอยากขายโปรแกรมบน Market ก็ต้องไปหาบัญชีธนาคารในสหรัฐมาก่อนล่ะครับ
ผมคงเล่าประเด็นการพัฒนาโปรแกรมบน Android ไว้แค่นี้ ใครสนใจอะไรเพิ่มเติม ลองไปดูที่เว็บ DroidSans ซึ่งเป็นชุมชนนักพัฒนา Android ชาวไทย
สรุปข้อดีของ Android
สรุปข้อเสียของ Android
เรื่องฮาร์ดแวร์ของ HTC Magic ผมให้ความเห็นในตอนแรกไปแล้ว และผมคิดว่าคงไม่สำคัญอะไรมาก เพราะช่วงต้นปีหน้าเราจะเจอสภาวะ "กองทัพแอนดรอยด์จู่โจม" (Attack of the Droids) กันอีกรอบ โดยเฉพาะระดับหัวหน้ากองพลอย่าง Nexus One คงไม่มีใครคนไหนสนใจมือถือที่ออกมาได้ครึ่งปีอย่าง Magic อีกแล้ว
ข้อสรุปของผมคือ Android เป็นแพลตฟอร์มมือถือที่น่ากลัวมาก ตอนนี้แม้ว่ายังสู้ iPhone ไม่ได้ แต่ก็ไล่จี้ด้วยอัตราเร่งสูงมาก ตอนนี้ในแง่ฟีเจอร์ยังเบียดแย่งอันดับสองกับ BlackBerry (ข้อดีข้อเสียคนละแบบ) แต่ภายในหกเดือนครึ่งปีคงจะแซงในไม่ช้า
คำแนะนำของผมสำหรับเดือนธันวาคม 2552 ขณะที่เขียนบทความนี้ คือ ยังไม่ต้องซื้อ ครับ เท่าที่สำรวจดูในตลาดตอนนี้ยังไม่มีมือถือ Android ตัวไหนที่มีความสามารถต่อราคาที่น่าซื้อ เมื่อบวกกับการออกรุ่นที่รวดเร็วของ Android (ล่าสุดนี้รุ่น 2.1 เริ่มออกมาแล้ว) และกองทัพมือถือที่จะทยอยเปิดตัวในช่วงต้นปีหน้า รออีกสักนิดจะเป็นการดีที่สุด
ถ้าเป็นนักพัฒนาและต้องการพัฒนาโปรแกรมบน Android ผมแนะนำกลับกันว่าให้ซื้อรุ่นท็อปๆ อย่าง Hero แล้วฝึกวิชาเขียนโปรแกรมรอกันได้เลย ตอนนี้ยังขายไม่ได้ก็รอส่งประกวดไปพลางๆ ก็ได้ ตลาดยังเล็กและคู่แข่งยังน้อยเมื่อเทียบกับ iPhone ที่ตลาดเริ่มอิ่มตัวแล้ว ในขณะที่ยอดผู้ใช้รวมก็เยอะพอจนถึงระดับที่คุ้มการลงทุนพัฒนา
ผมขอปิดท้ายบทความนี้ด้วยคำพยากรณ์สั้นๆ ว่ากูเกิลจะทำอะไรต่อไปในปีหน้า