Blognone

Whoscall พบมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ในไทย 168 ล้านครั้ง พุ่ง 112% สูงสุดในรอบ 5 ปี

authorby boompw
published on24 February 2025 - 08:11

Gogolook ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whoscall เปิดรายงานประจำปี 2024 วิเคราะห์สถานการณ์กลโกงของมิจฉาชีพตลอดปี จากจำนวนผู้ใช้งาน 25 ล้านรายในไทยพบการหลอกลวง (สแกม) ผ่านการโทรและ SMS รวมกัน 168 ล้านครั้ง หรือเพิ่มขึ้นกว่า 112% สูงสุดในรอบ 5 ปี

alt="Whoscall"

สำหรับจำนวนการโทรหลอกลวงอยู่ที่ 38 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 85% ซึ่งมาจากการหลอกขายของ การแอบอ้างเป็นบริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ การหลอกทวงเงิน การหลอกว่าเป็นหนี้ และการหลอกว่ามีเงินกู้อนุมัติง่าย

ส่วนจำนวนข้อความ SMS หลอกลวงอยู่ที่ 130 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 123% เนื่องจากการส่ง SMS ทำได้ง่ายและมีราคาถูก มิจฉาชีพจึงเลือกข่องทางนี้ โดย 5 อันดับข้อความ SMS หลอกลวงที่พบมากที่สุด มีดังนี้:

  • ให้เครดิตเล่นเว็บพนันฟรี
  • หลอกว่าส่งพัสดุ มีพัสดุติดค้าง
  • เงินกู้ผิดกฎหมาย มีสิทธิกู้เงินง่าย อนุมัติทันที
  • แอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐและเอกชน
  • หลอกให้ลงทุน ได้ผลตอบแทนดี

ความเสียหายจาก SMS ส่วนหนึ่งมาจากลิงค์อันตรายแปลกปลอม โดยฟีเจอร์ Web Checker ของ Whoscall ที่ตรวจสอบลิงก์ที่น่าสงสัยและอันตรายบนเว็บบราวเซอร์ในระหว่างการใช้งานโทรศัพท์ พบประเภทความอันตรายดังนี้:

  • ลิงก์ฟิชชิงที่ดูดเงินหรือล้วงข้อมูลส่วนบุคคล 40%
  • ลิงก์พนันออนไลน์ผิดกฎหมาย 30%
  • ลิงก์หลอกให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่มีมัลแวร์ 30%

ขณะที่ฟีเจอร์ ID Security ของ Whoscall ที่ตรวจสอบความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล พบว่า 41% ของข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานรั่วไหลไปยังดาร์กเว็บและดีพเว็บ โดย 97% เป็นอีเมล และ 88% เป็นเบอร์โทร ซึ่งอาจมีข้อมูลเช่น ชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ และพาสเวิร์ด

Gogolook บอกว่าสาเหตุที่จำนวนการหลอกลวงเพิ่มขึ้นสูงขนาดนี้ เป็นเพราะมิจฉาชีพนำ AI มาใช้ในการหลอกลวงมากขึ้น ทำให้กลโกงมีความซับซ้อน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงระบบการทำธุรกรรมทางการเงินที่มีช่องโหว่

โดยแนวโน้มการหลอกลวงที่ต้องจับตามอง คือการแอบอ้างหน่วยงานรัฐและเอกชน การฉ้อโกงทางการเงิน รวมถึงการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล

ด้านผู้กำกับการกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บอกว่าในช่วง 3-4 ปีนี้ มีการปรับปรุงพัฒนาระบบและโครงสร้าง ทำให้ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหามิจฉาชีพ แต่ในภาพรวม ความเสียหายเห็นถึงการเติบโตที่น้อยลงแล้ว

แม้จำนวนการแจ้งความจะลดลง แต่หากมีการพัฒนาระบบและเทคโนโลยี การเก็บดาต้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการอุดช่องโหว่ช่องทางการทำธุรกรรมทางการเงิน เชื่อว่าการหลอกลวงก็จะสามารถลดลงได้กว่านี้ด้วย โดยทางตำรวจไซเบอร์มีการเข้าไปคุยกับแบงก์ชาติ เพื่อหารือปัญหาและทางแก้ในเบื้องต้น

alt="scam"

Blognone Jobs Premium