ในวินาทีนี้คงไม่มีกระแสอะไรจะแรงกว่าเรื่องของ iPad หรือ tablet ตัวใหม่ของแอปเปิลที่ใครๆ ก็ลือกันมานานแสนนาน กระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ทั้งแง่บวกและลบต่างหลั่งไหลกันมา ตกลงแล้ว iPad นี่คืออะไร และจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับโลกใบนี้?
อย่างที่หลายๆ ที่บอกกัน ไม่มีคำอธิบายอะไรที่ดีกว่าการบอกว่า iPad คือ iPhone / iPod touch ขนาดยักษ์ ด้วยรูปลักษณ์พื้นฐานที่แทบจะถอดแบบกันมา ทั้งกรอบดำ จอขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่ทั้งหมด ปุ่ม Home ที่อยู่ด้านล่าง พร้อมปุ่มและพอร์ทต่างๆ ที่แทบจะไม่แตกต่างกัน สิ่งเดียวที่แตกต่าง คือขนาดหน้าจอที่ใหญ่กว่าเดิมมาก ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว iPad มีความหนาสูงสุดอยู่ที่ครึ่งนิ้ว และมีน้ำหนักประมาณ 0.68 กิโลกรัม หรือครึ่งหนึ่งของ MacBook Air พอดี
ในงานเปิดตัว แอปเปิลได้แสดงจุดยืนที่ชัดเกี่ยวกับการพัฒนา iPad นี้ว่าเป็นอุปกรณ์กลุ่มใหม่ที่จะมาคั่นกลางระหว่าง iPhone / iPod touch กับ Mac / PC โดยการที่จะเป็นอุปกรณ์กลุ่มใหม่ได้นั้น จะต้องมีอะไรที่เหนือกว่าของที่มีอยู่เดิม โดยได้มีการกล่าวถึงเน็ตบุ๊กว่าเป็นอุปกรณ์ที่ช้า และทำอะไรไม่ได้ ซึ่งอาจจะเป็นคำเหน็บแนมสไตล์แอปเปิล (ที่สามารถตอกกลับได้ง่ายๆ ว่า “ทำให้ราคาถูกเท่านี้ได้หรือเปล่า?”)
การออกแบบ iPad ที่สำคัญคือการนำเอาเทคโนโลยี Multi-touch ที่แอปเปิลมีอยู่ใน iPhone / iPod touch มาสร้างประสบการณ์ใหม่ที่ให้มีขีดความสามารถเทียบเท่ากับคอมพิวเตอร์อื่นๆ ทั่วไป แอปเปิลเลือกที่จะใช้ iPhone OS แทนที่จะเป็น Mac OS เพราะการสัมผัสยังเป็นการติดต่อกับผู้ใช้ที่สำคัญ และคงง่ายกว่าที่จะพัฒนาแอพพลิเคชันที่ทำงานได้ทั้งบน iPhone และ iPad หากเทียบกับ iPad และ Mac OS X โดยในงานนี้แอปเปิลยังรักษาจุดยืนที่เคยประกาศไว้เมื่อ 3 ปีก่อนว่า “ใครกันต้องการ stylus?”
แม้ว่า iPad จะสามารถใช้งานแอพพลิเคชันบน iPhone เดิมทั้งหมดได้ แต่แน่นอนว่าในสภาพการใช้งานจริงโปรแกรมที่ออกแบบไว้สำหรับจอเล็กๆ มาถูกแสดงผลบนจอใหญ่ๆ ก็คงจะรู้สึกแปลกหูแปลกตาและเสียดายพื้นที่ (เว้นแต่พวกเกมที่อาจจะไม่มีปัญหามาก) แต่สิ่งนี้คือการสร้างความมั่นใจให้กับเหล่านักพัฒนาว่าองค์ความรู้เดิมทั้งหมดที่พวกเขามีกับ iPhone OS จะสามารถต่อยอดบน iPad ได้ทันที ในขณะที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้ไปในตัวว่า แอพพลิเคชันทั้งหมดที่พวกเขาเคยชื่นชอบบน iPhone OS มีโอกาสจะมาลง iPad อย่างสมบูรณ์แน่นอนเช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่มเสียด้วยซ้ำ (หากผู้พัฒนาตัดสินใจที่จะอัปเดทให้ฟรี)
คงไม่มีใครกังขาว่า iPad จะสามารถทำหน้าที่พื้นฐานที่ iPod ทำได้อย่างดูหนัง ฟังเพลง อีเมล หรือเล่นอินเทอร์เน็ตได้อย่างไม่มีปัญหา (เว้นเสียแต่ว่ายังคงไม่มี Flash เหมือนเดิม) แถมในบางมุมยังจะดีกว่าด้วยซ้ำเนื่องจากพื้นที่หน้าจอที่ใหญ่กว่า การพิมพ์อีเมลด้วยคีย์บอร์ดบนจอใหญ่ๆ หรือท่องเว็บที่ไม่ต้องเพ่งซูมไปซูมมาก็คงง่ายขึ้น จึงเหลือคำถามหนึ่งที่สำคัญว่า แล้ว iPad จะสามารถใช้งานแอพพลิเคชันในระดับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทั่วไปหรือไม่?
แอปเปิลได้ลองนำเสนอ iWork (ชุดแอพพลิเคชันสำนักงานของแอปเปิล) เวอร์ชันสำหรับ iPad โดยได้มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาส่วนติดต่อกับผู้ใช้ใหม่เกือบทั้งหมด การพยายามรักษาพื้นที่หน้าจอโดยหลีกเลี่ยงให้เหลือแต่สิ่งที่จำเป็น ในขณะที่ตัวเลือกต่างๆ พยายามย้ายหรือซ่อนให้ไปอยู่ในเมนูหรือองค์ประกอบต่างๆ แทน หลายๆ สำนักที่ได้ทดสอบกันพบว่าหากใครที่ใช้ iPhone OS เป็นอยู่แล้ว จะสามารถจับจุดและใช้งานมันได้ทันที สำหรับผู้ใช้ใหม่อาจจะต้องใช้เวลานานกว่าหากเทียบกับ iPhone หรือ iPod touch พอสมควร ปัญหานี้จึงเป็นความท้าทายใหม่ของเหล่าพัฒนาที่จะพยายามใช้การติดต่อแบบสัมผัสนี้กับแอพพลิเคชันต่างๆ ที่เราอาจคุ้นเคยกับการคลิกด้วยเมาส์ แน่นอนว่าในช่วงเวลาแรกอาจมีความสับสนวุ่นวาย เหมือนกับเกม Wii ในช่วงแรกๆ ที่ยังจับจุดการใช้ Wii Remote กันไม่ค่อยได้ แต่เวลาจะค่อยๆ พิสูจน์ว่าระบบสัมผัสนี้จะสามารถใช้ได้จริงในแอพพลิเคชันเหล่านี้หรือไม่ รวมถึงว่าแม้จะใช้ได้จริง เราจะมีเหตุผลอะไรที่จะเลือกใช้โปรแกรมเหล่านี้บน iPad แทนบนคอมพิวเตอร์ของเราที่คุ้นเคยอยู่แล้ว?
สำหรับในการเล่นเกม จุดที่น่าสนใจของ iPad ที่สุดน่าจะเป็นขนาดจอ ใน iPhone / iPod touch เดิมที่มีปัญหาสำคัญคือการควบคุมที่ต้องใช้การสัมผัสหลายๆ ครั้งมักจะทำให้นิ้วของผู้เล่นไปบังหน้าจอโดยไม่จำเป็น แต่ด้วยขนาดจอที่ใหญ่ขึ้นมากของ iPad จุดนี้อาจจะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป คงจะเหลือเพียงความรู้สึกของการได้ขยี้ปุ่มเท่านั้นที่ยังไม่มีทางทดแทนได้จากอุปกรณ์เล่นเกมเจ้าอื่นๆ
แอปเปิลได้อ้างว่า iPad มีแบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานทั่วไปได้ยาวนานถึง 10 ชั่วโมง ซึ่งคงเป็นเรื่องปกติที่ตัวเลขนี้จะมากกว่าสภาพการใช้งานจริงที่เราจะได้ใช้มัน แต่คำถามที่น่าสนใจคือ เราคาดหวังให้ตัวเลขนี้สูงแค่ไหน?
หากเปรียบเทียบกับอุปกรณ์พกพาอย่างโทรศัพท์ตัวเลขนี้จะถือว่าน้อย ในขณะที่หากเราเทียบกับสารพัดโน๊ตบุ๊กและเน็ตบุ๊ก ตัวเลขนี้กลับกลายเป็นตัวเลขที่น่าตื่นตาตื่นใจขึ้นมาทันที และเพราะสิ่งนี้คืออุปกรณ์จำพวกใหม่ จึงยากที่เราจะมีตัวชี้วัดที่จะมาเปรียบเทียบว่าสภาพการใช้งานจริงๆ แล้วเราต้องการแบตเตอรี่นานแค่ไหน อย่างไรก็ตามหากดูจากภาพที่แอปเปิลนำเสนอมาในวีดีโอต่างๆ ดูเหมือนอุปกรณ์นี้จะมุ่งเน้นให้มีการใช้งานในสภาพที่เราอยู่กับที่มากกว่า เช่นนั่งอยู่กับบ้าน หรือที่ออฟฟิศ ซึ่งทำให้การหาที่เสียบสายชาร์จไปด้วยใช้ไปด้วยไม่ใช้เรื่องยากเท่าไหร่ รวมกับว่า iPad มีขนาดที่ใหญ่พอสมควร การจะพกพาติดตัวไปทุกวันอย่าง iPhone คงไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำได้
ยังมีอีกสัญญาณหนึ่งที่แอปเปิลแสดงถึงการที่ iPad ไม่ใช่อุปกรณ์ที่เน้นให้ใช้คนเดียวอย่าง iPhone / iPod touch นั่นคือการเลือกใช้จอ LED LCD แบบ IPS ที่มีจุดเด่นที่สำคัญคือมุมมองที่กว้างกว่าจอแบบอื่นๆ มาก และย่อมทำให้ประสบการณ์การใช้ iPad กับคนอื่นที่นั่งหรือยืนอยู่ข้างๆ เราง่ายขึ้น แต่แน่นอนว่ามีข้อเสียที่สำคัญ นั้นคือการใช้พลังงานที่สูงกว่าตัวเลือกอื่นๆ อย่าง AMOLED ที่ Zune HD หรือ Nexus One ใช้
แอปเปิลยังเปิดตัว iBooks โดยนำเสนอ iPad นี้ไปเปรียบเทียบกับ Kindle ของ Amazon แน่นอนว่าในตอนนี้ iBooks ยังเสียเปรียบอยู่มากทั้งในเรื่องของจำนวนหนังสือที่ให้เลือก จนถึงตัว iPad เองที่ไม่ได้ออกแบบมาไว้สำหรับให้อ่านอย่างเดียวอย่าง Kindle ที่เบาหวิว แต่ iPad เองก็มีฟีเจอร์อื่นๆ มากมายที่อาจทำให้ผู้ใช้รู้สึกอยากที่จะจ่ายเงินก้อนเดียวเพื่อทุกอย่างไปเลยได้เช่นเดียวกัน และจอสีก็เป็นอีกจุดขายสำคัญ แม้ว่าคนอย่างพวกเราๆ กันเองจะรู้ดีกว่าจอ e-Ink มีข้อดีในเรื่องของพลังงานและราคา แต่ผู้ใช้ทั่วไปอาจไม่สนใจเรื่องนี้ ผมเคยดูรายการ Martha ที่มีการเอา Kindle มาโชว์ มาร์ธา (ซึ่งน่าจะแทนผู้ใช้ทั่วไปได้ดีกว่าพวกเรา) มีการพูดอย่างชัดเจนว่า “อยากได้จอสี” ซึ่งออกจะขัดจากความตั้งใจของ Amazon ที่อยากให้ Kindle ถูก เบา และใช้ได้นานๆ สักหน่อย แต่ผู้ใช้ทั่วไปไม่มีทางรู้หรือเข้าใจถึงเหตุผลเชิงเทคนิกเหล่านี้นอกจากราคา ซึ่ง iPad ก็ชดเชยราคาด้วยฟีเจอร์อีกมากมายได้เป็นอย่างดี
อีกผู้เล่นหนึ่งที่น่าถูกเปรียบเทียบคือ Chrome OS แม้ว่าในตอนนี้จะยังไม่มีความชัดเจนในตัวฮาร์ดแวร์ที่จะออกมา แต่สิ่งที่เราคงยืนยันได้แน่ๆ คือ iPhone OS น่าจะทำทุกอย่างที่ Chrome OS ทำได้ แต่แน่นอนว่าตัว Chrome OS เองน่าจะมีอิสระของฮาร์ดแวร์ที่สูงกว่าที่อาจจะมาทั้งในรูปแบบ tablet หรือโน๊ตบุ๊กให้เลือกใช้ก็ว่ากันไป รวมถึงความต้องการทางฮาร์ดแวร์ที่น่าจะต่ำกว่า และส่งผลถึงราคาที่ถูกกว่าอย่างแน่นอน และเมื่อถึงจุดนั้นหากแอปเปิลคิดจะมาสู้ด้วยจริงๆ คงไม่ยากสำหรับแอปเปิลแล้วที่จะทำอุปกรณ์ที่มีแต่ Safari บน iPhone OS กับฮาร์ดแวร์พอประมาณราคาถูกมาสู้ด้วย ดังนั้น Chrome OS คงจะต้องหาจุดขายอื่นๆ (นอกเหนือจากอิสระของฮาร์ดแวร์) มาต่อสู้ให้ได้เช่นเดียวกันเมื่อถึงเวลานั้น
อีกข้อกังขาหนึ่งที่ทุกคนสงสัย คือทำไมแอปเปิลถึงเลือกใช้จอขนาด 4:3 ยิ่งกับตัวเลข 1024 x 768 ที่มีกลิ่นไอของความโบราณซ่อนอยู่ เหตุผลหนึ่งที่เป็นไปได้คือ อุปกรณ์นี้จำเป็นต้องถือได้ด้วยมือเดียว (เพราะอีกมือต้องใช้สัมผัสเป็นหลัก) ในขณะที่ต้องสามารถปรับเปลี่ยนมุมมองได้ทั้งแนวนอนและแนวตั้ง การจับอุปกรณ์ลักษณะนี้ในแนวนอนที่มีอัตราส่วน 16:9 ด้วยมือซ้ายที่ขอบด้านซ้ายคงไม่ง่ายเท่าใดนักจนอาจจะต้องหาวิธีการจับแบบอื่นๆ ซึ่งเป็นรูปแบบที่แอปเปิลไม่ต้องการ หากเราสังเกตการออกแบบของ iPad จะพบว่ามีขอบรอบจอที่หนาผิดปกติ และเท่ากันรอบๆ ทุกด้าน ซึ่งแตกต่างจาก iPhone / iPod touch ที่จะมีเฉพาะด้านบนและล่างเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับอุปกรณ์พวกพอร์ทต่างๆ จะเห็นได้ว่าแอปเปิลตั้งใจให้ผู้ใช้จับ iPad ในสภาพที่สามารถหมุนไปหมุนมาได้โดยง่าย โดยมือที่จับก็ยังไม่ไปสัมผัสจอจนทำให้โปรแกรมเข้าใจผิดไป
นอกจากนี้เรายังสังเกตได้ว่า แอปเปิลพยายามที่จะนำเสนอ iPad ว่ารูปแบบพื้นฐานของมันคือแนวตั้ง ทั้งจากภาพประชาสัมพันธ์ต่างๆ การถือของสตีฟบนเวที การเสียบบน Dock ตำแหน่งของปุ่ม Home หรือแม้แต่หน้าจอ Home Screen ก็ตาม เพราะนั่นคือแนวทางที่เหมาะสมในการถือ iPad นี้ อาจจะเป็นไปได้ว่าแอปเปิลต้องใช้เวลาในการสร้างความเคยชินนี้ ก่อนที่จะออก iPad ที่กลายเป็น 16:9 หรือ 3:2 ต่อไป
คุณสมบัติอื่นๆ ทางด้านฮาร์ดแวร์ก็ไม่มีอะไรที่คาดเดาไม่ได้หรือแตกต่างจากเจ้าอื่นถ้าจะทำเป็นพิเศษ มี Accelerometer, Ambient Light Sensor, Wi-Fi a/b/g/n, Bluetooth 2.1 EDR, Digital Compass นอกจากนี้หากเป็นรุ่นที่มี EDGE/3G ก็จะมี A-GPS เพิ่มขึ้นมา
จุดที่น่าตื่นเต้นที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือราคาของ iPad ที่เริ่มต้นเพียง $499 หากเราเทียบกับ JooJoo ที่มีราคาเท่ากัน iPad เหนือกว่าในแทบทุกแง่มุม ทั้งขนาด 16GB เทียบกับ 4GB, ความบาง 0.5 นิ้วเทียบกับ 0.7 นิ้ว น้ำหนัก 0.68 กิโลเทียบกับ 1.1 กิโล แบตเตอรี่ 10 ชั่วโมงเทียบกับ 5 ชั่วโมง ทิ้งไว้สิ่งที่เหนือกว่าของ JooJoo คือจอที่ใหญ่กว่า ละเอียดกว่า
หากเราลองมาเปรียบเทียบ iPad 3G 16GB กับ iPhone 3GS 16GB องค์ประกอบที่ต่างกันหลักๆ ทางฮาร์ดแวร์มีเพียงกล้อง ขนาดเครื่อง ขนาดจอที่สุดท้ายแล้วน่าจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า แต่ iPad กลับขายที่ $630 เทียบกับ iPhone 3GS ที่ราคาประเมินอยู่ที่ $700 จะเห็นได้ว่าแอปเปิลตั้งใจตั้งราคา iPad ไว้ในจุดที่ต่ำกว่าปกติมาก และน่าจะมีกำไรสุทธิจริงๆ ต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไป
คำถามคือ...ทำไม?
ประเด็นแรกที่อาจเป็นไปได้ คือการที่แอปเปิลอาจคาดหวังการได้กำไรจาก iTunes Store, App Store และ iBookstore แต่ประเด็นนี้ก็อาจจะขัดกับประกาศผลประกอบการเมื่อไม่นานนี้ของแอปเปิลที่ระบุว่า กำไรจาก iTunes Store และ App Store น้อยมากหากเทียบกับรายได้จากการขายฮาร์ดแวร์
อีกประเด็นหนึ่ง คือการรีบแย่งพื้นที่นี้ไว้เพราะเป็นสมรภูมิที่หลายๆ คนกำลังจะเตรียมลงมาเล่น อุปกรณ์นี้ไม่ใช่ของที่จะมาแทนโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ แปลว่าผู้ใช้ต้องเจียดเงินเพิ่มเพื่อที่ว่างตรงนี้ จึงแน่นอนว่ามันต้องมีราคาถูกพอที่ผู้ใช้จะยอมจ่าย แม้ว่า $499 อาจจะยังแพงไปสำหรับหลายๆ คนในตอนนี้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็คงสร้างฐานลูกค้าได้มากกว่า $999 ที่เคยลือกันไว้ และฐานลูกค้าเหล่านี้ก็จะมีประโยชน์กับตัวแอปเปิลเองในอนาคต เหมือนที่ iPod สามารถดึงให้ผู้ใช้หลายๆ คนมาใช้ Mac ได้ เป็นต้น
คงไม่มีใครกังขาว่า iPad มีจุดเริ่มที่น่าสนใจมากมาย มีฟีเจอร์และแนวทางการใช้งานมากมายที่เราหลายๆ คนจินตนาการกันไว้ แต่ปัญหาเดียวและใหญ่ที่สุดที่จะชี้ชะตา iPad คือ พวกเราจะมีที่ว่างในชีวิตให้กับอุปกรณ์ประเภทที่สามนี้จริงๆ หรือ?
เวลาเท่านั้นที่ตอบได้ครับ...
(แก้ไขเพิ่มเติมจากบล็อก iPad, would it WIN or FAIL ของผมเอง)