เกิดเหตุปะทะคารมอีกแล้ว คราวนี้เป็นทีอดีตผู้บริหารของไมโครซอฟท์กับไมโครซอฟท์เอง
เมื่อสามวันก่อน คุณ Dick Brass อดีตรองประธานของไมโครซอฟท์ ได้เขียนบทความลง New York Times หัวข้อ "การทำลายความคิดสร้างสรรค์ของไมโครซอฟท์" (Microsoft’s Creative Destruction) โดยกล่าวว่า
คำถามที่สำคัญกว่าคือทำไมไมโครซอฟท์ไม่เคยนำพวกเรา [ผู้ใช้งาน]* ไปสู่อนาคตได้เลย ต่างกับผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของคู่แข่ง ทั้งแท็บเล็ตอย่าง iPad, เครื่องอ่านอีบุ๊กอย่าง Kindle, สมาร์ทโฟนอย่างไอโฟนหรือแบล็คเบอร์รี่, บริการค้นหาข้อมูลอย่างกูเกิล, เครื่องเล่นเพลงอย่างไอพอดและบริการอย่างไอทูน หรือเว็บชุมชนออนไลน์อย่างเฟสบุ๊กหรือทวิตเตอร์
คุณ Brass ยังได้กล่าวต่ออีกว่า ไมโครซอฟท์มักนำเสนอแต่ผลประกอบการที่มาจากผลิตภัณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อนานมาแล้ว (อย่างล่าสุดที่ไมโครซอฟท์ได้กำไรในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วถึง 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเกิดจากการขายวินโดวส์ 7 และออฟฟิศเป็นหลัก (ดูข่าวเก่า โดยคุณ mk)) แต่เขาได้กล่าวว่าไมโครซอฟท์ไม่สามารถพึ่งพาผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเพื่อก้าวสู่อนาคตได้ยั่งยืนตลอดไป
คุณ Brass ได้กล่าวว่าไมโครซอฟท์กลายเป็น "คนที่งุ่มงาม ไร้ความสามารถในการเป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรม" นอกจากนั้นไมโครซอฟท์ยังทำลายความคิดสร้างสรรค์ของนักคิด [พนักงาน]* เป็นประจำ ซึ่งเกิดจากการแข่งขันภายในบริษัทอย่างรุนแรงและไร้การควบคุม ส่งผลให้กลายเป็นการแย่งชิงและทำลายซึ่งกันและกันของฝ่ายที่ได้เปรียบกว่า [ทีมที่ดูแลโครงการใหญ่และสำคัญกว่า]* จึงไม่น่าแปลกอะไรที่ผู้บริหารที่ดูแลส่วนงานอื่นๆ อย่าง เพลง อีบุ๊ก โทรศัพท์ การค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต และแท็บเล็ตจะพากันตบเท้าตีจากไมโครซอฟท์ไป
ตัวอย่างเช่น เมื่อตอนที่ทีมของคุณ Brass พัฒนาเทคโนโลยีการแสดงผลฟอนต์บนจอแอลซีดี ClearType ซึ่งช่วยเพิ่มความคมชัดให้กับฟอนต์ที่แสดงผล ทำให้ผู้ใช้งานอ่านได้ง่ายไม่ต้องเพ่งสายตามากนัก ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวจะทำให้ไมโครซอฟท์ได้เปรียบอย่างมากกับฮาร์ดแวร์ทุกตัวที่มีจอแสดงผล แต่วิศวกรในทีมวินโดวส์กลับไปเข้าใจว่าเทคโนโลยีดังกล่าวทำให้การแสดงผลแย่ลง ส่วนหัวหน้าทีมออฟฟิศบอกเทคโนโลยีดังกล่าวคลุมเครือ (fuzzy) และทำให้เขาปวดหัวได้ ส่วนรองประธานกลุ่มอุปกรณ์พกพาบอกว่าเขาจะสนับสนุนเทคโนโลยี ClearType ต่อไปหากโอนย้ายโครงการและทีมพัฒนาไปอยู่ภายใต้การดูแลของเขาเอง ท้ายที่สุด ถึงแม้เทคโนโลยี ClearType ได้รับสิทธิบัตร การสนับสนุน และคำชมเชยจากสาธารณะ (บุคคลภายนอก) ก็ต้องใช้เวลาร่วมทศวรรษก่อนที่เทคโนโลยีดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในวินโดวส์เอ็กซ์พี
ที่มา: New York Times ผ่าน C|Net
ควันยังไม่ทันจางหาย ไมโครซอฟท์ก็ได้เขียนบทความ "มาวัดผลงานของพวกเราจากผลกระทบในวงกว้างที่มันสร้างขึ้น" (Measuring Our Work by Its Broad Impact) ตอบโต้บทความของคุณ Brass ผ่าน The Official Microsoft Blog โดยคุณ Frank Shaw รองประธานฝ่ายสื่อสารองค์กร (Corporate Communications) ได้กล่าวว่า
มันไม่เพียงพอที่จะมีเพียงแค่ไอเดียที่ดีหรือบรรเจิดเท่านั้น พวกเรา (ไมโครซอฟท์) จะวัดผลงานเหล่านั้นจากผลกระทบในวงกว้างที่มันสร้างขึ้น
สำหรับบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงผู้คนจำนวนมาก นวัตกรรมไม่ใช่วัดแค่ความเร็ว (ที่ถูกนำเข้าสู่ตลาด) เท่านั้น แต่ต้องวัดระดับการเข้าถึงผู้ใช้ด้วย (innovation at scale, not just innovation at speed)
คุณ Shaw ได้ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์หลายตัว ทั้ง OneNote ที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับแท็บเล็ตและปัจจุบันก็กลายเป็นส่วนสำคัญของชุดโปรแกรมออฟฟิศ หรือเทคโนโลยี ClearType ที่ปัจจุบันถูกติดตั้งไปพร้อมกับวินโดวส์หลายพันล้านเครื่องทั่วโลก หรือ Xbox 360 ที่เป็นเครื่องเล่นเกมคอนโซลแรกของโลกที่รองรับการแสดงผลความละเอียดสูง (HD) และเชื่อมต่อเว็บชุมชนออนไลน์อย่างเฟสบุ๊กและทวิตเตอร์ รวมทั้ง Project Natal ที่นิตยสาร Popular Science, Popular Mechanics และ Time จัดว่าเป็นอันดับหนึ่งของสิ่งประดิษฐ์ของปีที่แล้ว^
ที่มา: The Official Microsoft Blog ผ่าน Engadget
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง
หมายเหตุ