ลองเล่น Samsung Spica i5700

by lew
16 February 2010 - 22:50

Samsung i5700 หรือ Spica เป็นโทรศัพท์ที่ดูเหมือนหลงทางเข้ามาในเมืองไทย เพราะมันเพิ่งวางจำหน่ายเมื่อปลายปีที่ผ่าน หลังจากนั้นแค่วันเดียวผมก็พยายามติดต่อทางซัมซุงเพื่อขอยืมมันมาเล่นและพบว่าการขอยืมมาเล่นนี่มันยากได้เรื่องเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมก็ได้มันมา และต่อไปนี้คือคือประสบการณ์การใช้งานของผม

ผมได้รับ Spica มาในซองกระดาษข้างในมีสาย USB อยู่หนึ่งเส้นดังนั้นคงให้ความเห็นเรื่องของของในกล่องไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อผมจับเครื่องครั้งแรก ผมพบว่ามันใหญ่กว่าที่คิดไว้ค่อนข้างมาก เครื่องหนัก 120 กรัม กว้าง 6 เซนติเมตร ยาว 12 เซนติเมตร และหนา 1.3 เซนติเมตรนับว่าเป็นมือถือขนาดกลางๆ ขณะที่มันถูกวางตัวเป็น Android รุ่นเล็กสุดซึ่งผมคาดว่ามันจะเล็กกว่านี้มาก

ตัวถังของ Spica นั้นด้านหน้าเป็นแผ่นเรียบเงาขณะที่ฝาหลังเป็นดำด้าน ซึ่งมีข้อดีคือเกิดคราบรอยนิ้วมือน้อยกว่า แต่เวลามีคราบอะไรขึ้นมาแล้วก็เช็ดออกยากอีกเช่นกัน

หน้าจอของ Spica เป็นหน้าจอมาตรฐาน Android โดยไม่มีการปรับแต่งใดๆ นอกจากการใส่ซอฟต์แวร์ DivX VOD มาให้ในตัว ตรงนี้ mk ยืนยันว่า Sense UI ของ HTC นั้นดีกว่ามาก แต่เท่าที่ใช้งานผมเองก็รู้สึกว่ามันใช้งานได้ดีไม่มีปัญหาอะไร

ซีพียู 800MHz ของ Spica ตอบสนองการใช้งานโดยทั่วไปได้ดีพอสมควร อย่างไรก็ตามผมยังพบจังหวะกระตุกแปลกๆ ของเครื่องนี้เวลาพิมพ์อยู่เรื่อยๆ และการดู YouTube นั้นมีกระตุกอยู่เป็นพักๆ แม้จะอยู่ในเกณฑ์ที่พอดูเอาบันเทิงได้ แต่คงไม่เรียกว่าลื่น

ปัญหาอย่างเดียวในแง่ของซอฟต์แวร์คือมันไม่มีคีย์บอร์ดไทยมาให้ในตัว ซึ่งนับเป็นข้อเสียที่ค่อนข้างสำคัญเพราะผู้ใช้ทั่วไปอาจจะสับสนว่ามันพิมพ์ไทยไม่ได้หรืออย่างไร แต่อย่างน้อยการอ่านภาษาไทยก็ทำได้ดีในซอฟต์แวร์ทุกตัว เรื่องคีย์บอร์ดนี้ผมเคยไปลองเล่นที่งาน TME2010 แล้วพบว่ามันมีคีย์บอร์ดไทย ดังนั้นอาจจะเป็นที่เครื่องทดสอบนี้เท่านั้นก็เป็นได้

การใช้งานจริงจากที่เคยใช้ Samsung i550w เป็นโทรศัพท์เครื่องที่แล้วของผมเอง Samsung มีปัญหาสองเรื่องคืออายุแบตเตอรี่และ GPS ที่ใช้งานไม่ได้จริง คือต้องอยู่กลางที่โล่งและนิ่งอยู่นานมากกว่าจะจับสัญญาณได้ ผมทดสอบ Spica โดยเปิด jibjib ตลอดเวลา (เพราะต้องการ notification) บนเครือข่าย 3G ของ TOT มันสามารถทำงานได้ประมาณ 18-24 ชั่วโมง ซึ่งคงไม่แตกต่างจากโทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ เครื่องอื่นๆ นัก แต่ส่วน GPS นั้นผมเองยังไม่สามารถใช้งานมันได้หลังจากเปิดใช้อยู่หลายครั้ง อาจจะเป็นเพราะผมพยายามลองในอาคารหรือในรถที่วิ่งอยู่เอง

แต่จุดตายจริงๆ ที่ทำให้การใช้งาน Spica เป็นเรื่องยากสำหรับผมมีสองจุดคือ จุดแรก micro USB ที่ใช้ชาร์จและโอนข้อมูล แม้ว่าหลังๆ มานี้โทรศัพท์หลายรุ่นจะเลือกใช้ micro USB เช่นกันแต่อุปกรณ์ในบ้านของผมเป็นจำนวนมากยังคงเป็น mini-USB ซึ่งเอาเข้าจริงผมก็ไม่รู้สึกว่ามันจะมีฟังก์ชั่นการใช้งานแตกต่างกันอย่างใด นอกจากเพิ่มความลำบากในการจัดการสายเข้ามาอีก

จุดที่สองคือกล้องที่แม้โดยทั่วไปแล้วจะทำงานได้ดีพอสมควร แต่มันทำได้แย่มากในการถ่ายมาโคร ทำให้การใช้งาน Spica เพื่อสแกนบาร์โค้ดกลายเป็นเรื่องยากไป

อย่างไรก็ดีราคาเป็นจุดแข็งที่ซัมซุงทำได้ดีเสมอ สมัยผมใช้ i550w นั้นซังซุงก็กดราคาโทรศัพท์เครื่องละเกือบสองหมืนมาเป็นไม่ถึงหมื่นได้อย่างน่ามหัศจรรย์ Spica ก็ไม่ได้หลุดจากแนวทางนี้ ล่าสุดราคาของ Spica นั้นอยู่ต่ำกว่า 11,000 บาท ทำให้มันเป็นโทรศัพท์ Android แบรนด์อินเตอร์ที่ราคาต่ำที่สุด เมื่อรวมกับ 3G, ขนาดหน้าจอ, และซีพียู โทรศัพท์ Android ที่ถูกที่สุดในบ้านเราอย่าง i-mobile IE6010 ก็คงบอกได้ไม่เต็มปากกว่าคุ้มค่ากว่า

Blognone Jobs Premium