ทดสอบ Nokia N900 มือถือตัวท็อปจากโนเกีย

by mk
21 February 2010 - 03:08

Blognone ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับระบบปฏิบัติการ Maemo ของโนเกียมาโดยตลอด เดิมทีโนเกียพัฒนามันขึ้นมาใช้กับอุปกรณ์ตระกูล internet tablet ซึ่งไม่ได้ขายในวงกว้างมากนัก (แต่แถวนี้ก็เห็นมีใช้กันบ้าง) แต่เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว โนเกียก็ออกโทรศัพท์ตัวแรกที่ใช้ Maemo นั่นคือ N900 ซึ่งเราได้เสนอข่าวไปแล้วหลายครั้งเช่นกัน

ช่วงต้นปี N900 เดินทางมาถึงเมืองไทย และเริ่มทำตลาดในฐานะ "มือถือตัวท็อป" ของโนเกีย ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมได้รับคำเชิญจากโนเกียประเทศไทย ให้ไปลองทดสอบ N900 ครับ

สเปกของ N900 สามารถหาได้จากข่าวเก่าๆ หรือเว็บไซต์ด้านไอทีบนอินเทอร์เน็ตนะครับ คงไม่ต้องเขียนซ้ำ บทความนี้ไม่ใช่รีวิวเพราะผมได้จับเครื่องประมาณ 1 ชม. จะกล่าวถึงแค่ประสบการณ์การใช้งานที่ได้รับ และยุทธศาสตร์ของโนเกียต่อ Maemo/MeeGo เท่านั้น ท่านที่สนใจจะซื้อ ควรอ่านรีวิวฉบับเต็มของเว็บไซต์อื่นๆ ประกอบด้วย

ผมขอเริ่มจากยุทธศาสตร์มือถือของโนเกียก่อน ถ้าใครติดตามข่าวของโนเกียในช่วงหลังมานี้ น่าจะรู้ว่าปัจจุบันโนเกียมีระบบปฏิบัติการ 3 ตัว จับตลาด 3 ระดับ

  • Maemo - จับตลาดบนสุด โนเกียเรียกมันว่า mobile computing
  • Symbian - จับตลาดกลาง จัดเป็นกลุ่ม smart phone
  • Series 40 - ตลาดล่าง มือถือธรรมดาที่เป็น feature phone

ก่อนหน้า N900 เราถือว่าโนเกียมีระบบปฏิบัติการแค่ Symbian กับ Series 40 เท่านั้น เมื่อ Maemo เข้าสู่วงการของมือถือ โนเกียเลยเลื่อน Symbian ลงมาจับตลาดที่ต่ำลงเล็กน้อย แล้วเริ่มขยายฐาน Maemo ในตลาดบน ผู้บริหารของโนเกียประเทศไทยเรียกแผนการนี้ว่า "พีระมิด" ระบบปฏิบัติการแต่ละตัวจะดำเนินการพัฒนาขนานกันไป

ทิศทางการพัฒนาของระบบปฏิบัติการแต่ละตัว เป็นดังนี้

  • Maemo - จะหันมาใช้ Qt ซึ่งเป็นผลมาจากโนเกียเข้าซื้อ Trolltech (ข่าวเก่า) และล่าสุดจะรวมกับ Moblin ของอินเทล เปลี่ยนชื่อเป็น MeeGo (ข่าวเก่า)
  • Symbian - โอเพนซอร์สใต้การดูแลของ Symbian Foundation และจะเปลี่ยนมาใช้ Qt เช่นกันในรุ่น Symbian^4 (ข่าวเก่า)
  • Series 40 - โนเกียบอกว่ายังไม่ทิ้ง แม้ว่าจะเก่าหน่อยแต่มันคือระบบปฏิบัติการที่มีคนใช้มากที่สุดในโลก แผนการปรับปรุงก็มีเรื่องจอสัมผัสและ 2 ซิม (ข่าวเก่า)

ตามแผนการใหญ่ของโนเกีย Maemo/MeeGo กับ Symbian จะมาบรรจบกันในช่วงปลายปีนี้ โดยมันจะใช้ Qt เหมือนกัน นักพัฒนาสามารถเขียนโปรแกรมข้ามกันได้ไม่ยาก ส่วนการแจกจ่ายโปรแกรมจะผ่าน Ovi Store ซึ่งจะคอยจัดการเรื่องเวอร์ชันให้อยู่แล้ว พูดง่ายๆ ว่า Maemo กับ Symbian จะไม่แตกต่างกันนักในแง่การใช้งาน และสภาพแวดล้อมในการพัฒนา แค่มีแกนกลางคนละตัวกันเท่านั้น

คำถามคือ กำหนดปลายปีของโนเกียจะช้าไปหรือไม่? โนเกียจะทำได้ทันตามที่ระบุไว้หรือเปล่า? เท่าที่ผมสัมผัสจาก Maemo 5 ที่มากับ N900 สามารถสรุปได้ว่า Maemo เป็นระบบปฏิบัติการที่ "ยังไม่เสร็จ" โครงสร้างข้างใต้ของมันแข็งแกร่งมาก เป็นมัลติทาสกิงโดยสมบูรณ์ และรองรับโปรแกรมจากลินุกซ์เป็นจำนวนมาก แต่ GUI ยังไม่ค่อยเนียนนัก ถ้าเทียบกับคู่แข่งอย่างแอปเปิลหรือ webOS ยังเป็นรอง อาการจะคล้ายๆ กับ Symbian รุ่นปัจจุบันที่ GUI ใช้ยากและมีขั้นตอนมาก

เท่าที่ผมลองใช้ GUI ของ N900 จะคล้ายๆ กับ Android ครับ (ซึ่งมันไปลอกมาจาก desktop GUI อีกที แต่ก็ไม่น่าแปลกใจอะไรเพราะเค้าวางตัวไว้เป็น mobile computing) หน้าจอมี 3 ระดับ

  • homescreen คล้ายกับเดสก์ท็อปพีซี มีไอคอนและ widget ตามภาพข้างบน เลื่อนซ้าย-ขวาไปยัง homescreen อื่นๆ ได้
  • เมื่อกดปุ่มเรียกเมนูที่มุมซ้ายบน จะพบกับ launcher แสดงโปรแกรมที่ใช้บ่อยในรูปตารางไอคอน หน้าจอนี้เลื่อนไม่ได้และแสดงโปรแกรมได้จำกัด ถ้าโปรแกรมที่เราต้องการไม่อยู่ในนี้ จะมีไอคอน More อยู่มุมขวาล่างสุด
  • เมื่อกด More จะพบกับรายการโปรแกรมทั้งหมด

เหมือนวินโดวส์ไหมครับ?

การสลับโปรแกรมของ N900 มีหน้าจอที่คล้ายๆ กับ Alt+Tab ของวินโดวส์ แสดงเป็น thumbnail ของแต่ละหน้าต่างขึ้นมาให้เห็น สลับหน้าต่างหรือปิดหน้าต่างได้ง่าย ตรงนี้ผมว่าทำได้ดีกว่า Android เยอะ

เว็บเบราว์เซอร์ที่มาด้วยใช้เอนจิน Gecko เปิดเว็บทั่วไปได้สบาย ที่สำคัญมันมาพร้อมกับ Flash Player 9.4 เล่นเกมบน Facebook ได้สบาย ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของโนเกียเองก็คงเห็นจุดเด่นตรงนี้ สโลแกนอย่างไม่เป็นทางการของ N900 จึงเป็น "มือถือตัวเดียวที่เล่นเกมเก็บผักได้"

ประเด็นที่ผมสนใจของเบราว์เซอร์คือ เมื่อกด Back จะไม่ถอยไปยังหน้าที่แล้ว แต่จะเปิด History Timeline แสดงภาพ thumbnail ของเว็บที่เราเคยเข้าก่อนหน้านี้ ย้อนได้ทีละหลายๆ หน้า

N900 สามารถใช้งาน Firefox for Mobile (หรือที่เราเรียกกันว่า Fennec) ได้ด้วย เพียงแต่เครื่องที่ให้สื่อมวลชนทดสอบไม่ได้ติดตั้งมาด้วย และอินเทอร์เน็ตในสถานที่จัดงานค่อนข้างจำกัด (มันอยู่ใต้ดิน สัญญาณ 3G ไม่ถึง) ผมเลยไม่ได้ทดสอบ แต่สอบถามจากทีมของโนเกียบอกว่ามันยังใช้ Flash ไม่ได้

อัพเดต ข้อมูลจากคุณ pongkiat บอกว่า Firefox for Mobile นั้นใช้ Flash ได้ แต่ยังไม่สมบูรณ์นัก สามารถเปิดใช้ได้จากหน้า Plugins ครับ

N900 มี App Store มาให้ 2 ตัว Ovi Store ของโนเกียเอง (ซึ่งยังมีโปรแกรมไม่เยอะนัก) หรือผ่าน repository ของ Maemo.org อันนี้จะเหมือนการติดตั้งโปรแกรมของลินุกซ์ ผมไม่ได้ลองทดสอบตรงนี้ ขอข้ามไปครับ

ด้านฮาร์ดแวร์ ความน่าสนใจของ N900 อยู่ที่คีย์บอร์ด เท่าที่ผมใช้ก็ใช้งานได้ดี เป็นคีย์บอร์ดแบบ 3 แถว จะติดแค่ปุ่ม space มันเยื้องๆ ไปทางขวามือ ยังไม่คุ้น กดพลาดไปโดนปุ่ม M หลายครั้ง

ปัญหาอีกอย่างที่พบคือ N900 ออกแบบขั้นตอนของการทำงานเวลาพิมพ์ยังไม่ดีเท่าไรนัก หลายๆ ครั้งที่เรากำลังพิมพ์บนปุ่มจริงอย่างเมามัน แต่กลับต้องเลื่อนมือไปกดปุ่มบนหน้าจอ ทำให้เสียจังหวะ

คีย์บอร์ดของ N900 ไม่มีคีย์ภาษาไทย แต่สามารถป้อนภาษาไทยได้ผ่าน onscreen keyboard ซึ่งต้องปิดคีย์บอร์ดจริงเท่านั้น (เลื่อนกลับเพื่อซ่อนคีย์บอร์ด) ถึงจะใช้งานได้ ตรงนี้ใช้งานลำบากอยู่บ้าง

แผนผังคีย์ภาษาไทยเป็นดังภาพ

ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องกล้อง ดูคุณภาพของภาพกันเองครับ

ผมคุยกับผู้บริหารของโนเกียหลังเสร็จบรรยาย ทางโนเกียบอกว่า N900 นี่เอามาแบบไม่สนใจยอดขาย เพราะมันถือเป็นผลิตภัณฑ์เรือธงที่บอกว่า "โนเกียก็มีมือถือเจ๋งๆ นะ" แต่กลับได้รับความสนใจพอสมควร (เมืองไทยมีแฟนพันธุ์แท้โนเกียเยอะมาก) ใครรู้จักสาวๆ ที่ต้องการเก็บผักบนมือถือ สามารถแนะนำ N900 ได้ครับ ราคาแบบเป็นทางการอยู่ที่ 23,390 บาท เริ่มขายเดือนมีนาคมนี้

สุดท้ายขอขอบคุณโนเกียประเทศไทย และ MXphone ที่ชวนไปลองเล่น N900 ครับ

Blognone Jobs Premium