โต้จดหมายของสตีฟ จ็อบส์ ภาค 1 โดย OSNews

by mk
2 May 2010 - 11:11

ผมไม่แน่ใจว่ามีใครอ่าน จดหมายของสตีฟ จ็อบส์ กล่าวถึง Flash แล้วรู้สึกแปร่งๆ บ้างหรือเปล่า (เท่าที่ผมเช็คดู มีความเห็นของคุณ HudchewMan เพียงคนเดียว) แต่เมืองนอกมีคนออกมาพูดเรื่องนี้กันเยอะ เผอิญหยุดสามวันนี้พอมีเวลา เลยเรียบเรียง "คำโต้" ของผู้หาญกล้าคัดค้านศาสดามาให้อ่านกัน

ที่เลือกมามี 2 เวอร์ชัน ภาคแรกนี้เป็นฉบับของ Thom Holwerda บรรณาธิการของเว็บไซต์ OS News ครับ

หมายเหตุ: นี่ไม่ใช่การแปลแบบตัวต่อตัว แต่เป็นการสรุปใจความบางส่วน กรุณาอ่านต้นฉบับประกอบอีกครั้ง

OSNews เริ่มต้นโดยบอกว่าจดหมายของสตีฟ จ็อบส์ มีประเด็นที่ดีหลายอย่าง เช่น Flash เป็นซอฟต์แวร์เจ้าปัญหา มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพ มีปัญหาเรื่องความปลอดภัย และเป็นแพลตฟอร์มปิด

แต่จ็อบส์เองกลับ "ตีสองหน้า" เสแสร้งและให้ข้อมูลผิดๆ ซึ่งเป็นทริคด้านการตลาดแบบหนึ่ง ทาง OSNews ต้องการจะโต้ข้อมูลกับจ็อบส์ใน 3 ประเด็น

Cocoa

จ็อบส์โจมตี Adobe ว่าช้ามากในการเปลี่ยนจาก Carbon มาใช้ Cocoa (ผมยกฉบับแปลของคุณ Zerothman มาเลยละกัน)

ที่ผ่านมา Adobe ช้ามากในการใช้ฟีเจอร์บนแพลตฟอร์มของแอปเปิล โดยอ้างว่า Adobe เพิ่งสามารถสร้างแอพพลิเคชันที่ใช้ Cocoa ได้ (CS5) ทั้งๆ ที่มีเทคโนโลยีนี้มากกว่า 10 ปีแล้วตั้งแต่ Mac OS X เวอร์ชันแรก โดยแอปเปิลยังระบุว่า Adobe เป็นผู้พัฒนาแอพพลิเคชันรายใหญ่บนแมคเจ้าสุดท้ายที่ย้ายมาใช้ Cocoa

OSNews บอกว่าแอปเปิลต่างหากที่ช้ากว่าใคร ตัวอย่างไม่ใช่ใครอื่นแต่เป็นซอฟต์แวร์ที่สำคัญที่สุดบน Mac OS X นั่นคือ Finder ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนเป็น Cocoa ใน Mac OS X 10.6 เมื่อเดือนสิงหาคม 2009

แต่ที่แย่กว่านั้นคือ iTunes ซอฟต์แวร์หลักของแอปเปิล ยังเป็น Carbon 32 บิตอยู่เลย รวมถึง Final Cut Pro ด้วย

OSNews บอกว่า Microsoft Office 2008 เองก็เป็น Carbon เหมือนกัน และยังไม่เห็นแอปเปิลจะว่าอะไร นี่อาจแปลว่า "แอปเปิลไม่เปลี่ยนเป็น Cocoa ไม่เป็นไร แต่ Adobe ช้า กลับด่า Adobe???"

H.264

OSNews บอกว่า H.264 ไม่ใช่ฟอร์แมตที่ดีกว่า Flash เลย มันมีปัญหาเรื่องสิทธิบัตร และไม่ใช่มาตรฐานเปิดแบบที่อ้าง รวมถึงเจ้าของอย่าง MPEG-LA ก็เคยออกมาบอกชัดว่า ผู้ใช้ธรรมดาก็มีสิทธิ์โดน MPEG-LA ฟ้องข้อหาละเมิดสิทธิบัตรได้เช่นกัน ถ้าผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไม่ยอมจ่ายเงินให้ MPEG-LA (ข่าว OSNews)

The MPEG-LA further reiterated that individual users are just as liable as distributors or companies. "I would also like to mention that while our Licenses are not concluded by End Users, anyone in the product chain has liability if an end product is unlicensed," Harkness explains, "Therefore, a royalty paid for an end product by the end product supplier would render the product licensed in the hands of the End User, but where a royalty has not been paid, such a product remains unlicensed and any downstream users/distributors would have liability."

OSNews ตั้งคำถามว่า ทำไมแอปเปิลจึงผลักดัน H.264 อย่างเต็มที่ ทั้งที่มันไม่ใช่มาตรฐานเปิด? คำตอบก็คือ แอปเปิลนั้นเป็นสมาชิกของ MPEG-LA (เช่นเดียวกับไมโครซอฟท์) และคนยิ่งใช้ H.264 มาก จ่ายเงินให้ MPEG-LA มาก เงินก็ยิ่งเข้ามายังแอปเปิลมากขึ้นนั่นเอง

ทาง OSNews ได้สรุปว่า แรงจูงใจของแอปเปิลในการผลัก H.264 คือเรื่องเงินล้วนๆ โดยปลอมแปลง H.264 ว่าเป็นมาตรฐานเปิด และโจมตี codec ของ Flash ว่าเป็นมาตรฐานปิด

iTunes

ประเด็นเรื่องข้ามแพลตฟอร์ม จ็อบส์พูดไว้ดังนี้ (คัดมาจากฉบับแปลของคุณ Zerothman)

เหตุผลที่สำคัญที่สุด คือแอปเปิลเห็นว่าการที่มีชั้นของซอฟต์แวร์ที่มากั้นกลางทำให้แอพพลิเคชันที่ออกมาแย่ลง เพราะแอพพลิเคชันที่ข้ามแพลตฟอร์มจะสามารถใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์ที่มีร่วมกันข้ามแพลตฟอร์มเท่านั้น ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์ที่เป็นจุดเด่นแยกกันไปเฉพาะของแต่ละแพลตฟอร์มได้

OSNews ยกตัวอย่างค้าน (counter example) เป็นซอฟต์แวร์แบบ native ของแอปเปิลตัวหนึ่ง ที่ไม่กลืนกับระบบปฏิบัติการแม้แต่น้อย ไม่ใช้เทคโนโลยีเฉพาะของแพลตฟอร์ม แถมยังช้า ไม่เสถียร ไม่รองรับ 64 บิต และแถมขยะมาให้ในตอนติดตั้งเป็นจำนวนมาก

โปรแกรมตัวนี้คือ iTunes for Windows

สรุป

Thom สรุปปิดท้ายจดหมายว่า แอปเปิลกำลังทำตัวเป็นฮีโร่ของฝ่ายมาตรฐานเปิด ซึ่งไม่ผิดอะไร บริษัทอื่นๆ ก็ทำกันทั้งนั้น (เช่น กูเกิล) แต่ผู้อ่านไม่ควรลืมว่านี่คือ "ข้อความทางการตลาด" ไม่ใช่ "ข้อเท็จจริง"

ที่มา - OSNews

Blognone Jobs Premium