โต้จดหมายของสตีฟ จ็อบส์ ภาค 2 โดย Free Software Foundation

by mk
5 May 2010 - 13:43

ต่อจาก โต้จดหมายของสตีฟ จ็อบส์ ภาค 1 โดย OSNews ผมคัดบทความโต้สตีฟ จ็อบส์ มาให้อ่านกันอีกชิ้น บทความนี้มีน้ำหนักกว่าบทความแรก เพราะมันเขียนโดย John Sullivan แห่ง Free Software Foundation องค์กรที่มีภาพเรื่อง "ความเสรี" มากเป็นอันดับต้นๆ

หมายเหตุ: เช่นเดียวกับบทความชิ้นแรก อันนี้เป็นการเรียบเรียงและสรุปเนื้อหา ควรอ่านฉบับเต็มประกอบอีกครั้งหนึ่งครับ

John Sullivan เขียนบทความนี้ไปลงพิมพ์ในเว็บไซต์ Ars Technica เขาเริ่มต้นอย่างน่าสนใจว่า การมองดู "บริษัทซอฟต์แวร์ระบบปิด" สองแห่งโต้กันว่า อีกฝ่ายปิดกั้นเสรีภาพของผู้ใช้อย่างไร นั้นเป็นเรื่องเหนือจินตนาการมาก

แต่สิ่งที่ชัดเจนก็คือ "เสรีภาพ" ที่ทั้งสองฝ่ายนำมาอ้าง หมายถึง "เสรีภาพของบริษัท" ไม่ใช่ "เสรีภาพของผู้ใช้" แน่ๆ และที่สำคัญ "เสรีภาพ" ในความหมายของทั้งสอง แท้จริงแล้วคือ "ความสามารถในการควบคุม" ต่างหาก

Adobe โกรธเมื่อแอปเปิลไม่ยอมให้ควบคุมผู้ใช้ iPhone, iPod, iPad ผ่าน Flash และในทางกลับกัน แอปเปิลก็โกรธที่ Adobe โจมตีว่า แอปเปิลควบคุมผู้ใช้ App Store อย่างเข้มงวด

Sullivan เริ่มวิจารณ์จดหมาย Thoughts on Flash ว่าไม่ยอมอธิบายว่า เทคโนโลยีปิดมีผลเสียกับเว็บอย่างไร และมาตรฐานเสรี (free standard) มีข้อดีอย่างไร การที่จ็อบส์เว้นเรื่องนี้เอาไว้ ช่วยให้เขาทำความเข้าใจได้ดีขึ้นว่า ทำไมข้อเสนอของจ็อบส์นั้นแปลกและรับไม่ได้ (bizarre and unacceptable) แม้ว่าเขาจะเห็นด้วยกับประเด็นที่จ็อบส์โจมตี Flash ก็ตาม

Sullivan สรุปความในจดหมายของจ็อบส์ออกมาสั้นๆ ว่า

Don't use Adobe's proprietary platform to engage with information on the Web. Use Apple's.

จ็อบส์ไม่ต้องการให้ผู้ใช้ท่องเว็บหรือใช้งานคอมพิวเตอร์ของตัวเองอย่างเสรีไร้ขอบเขต แต่สิ่งที่เขาต้องการคือให้ผู้ใช้ย้ายจาก "เขตปลอดภัย" ใน San Jose (สำนักงานใหญ่ของ Adobe) มายัง Cupertino (สำนักงานใหญ่ของแอปเปิล) แทนต่างหาก

"เสรีภาพ" บนเว็บมีองค์ประกอบหลายอย่าง มาตรฐาน HTML5 ที่ออกโดยองค์กรอิสระอย่าง W3C ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่นั่นก็เป็นแค่องค์ประกอบหนึ่ง เพราะระหว่างมาตรฐานกับผู้ใช้ เรายังมีชั้นของซอฟต์แวร์มาคั่นกลางอยู่

เสรีภาพในการเผยแพร่เนื้อหาบนเว็บ (web publishing) ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ถ้าหากซอฟต์แวร์นั้น "ห้าม" ไม่ให้เราเข้าถึงเว็บ ซอฟต์แวร์ปิดสามารถทำงานร่วมกับมาตรฐานเปิดได้ แม้ว่ามันจะทำให้ค่าของมาตรฐานเปิดลดลง ดังนั้น เพื่อ "เสรีภาพบนเว็บที่แท้จริง" เราควรมีทั้งมาตรฐานเปิดและซอฟต์แวร์เปิดควบคู่กันไป

จ็อบส์พูดว่า "เชื่อมั่นว่ามาตรฐานของเว็บต้องเปิด" แต่เขากลับทำในสิ่งตรงข้าม นั่นคือส่งเสริมมาตรฐานปิดอย่าง H.264 และซอฟต์แวร์ปิดอย่าง iPhone OS

จ็อบส์โจมตี Flash ว่าเป็นซอฟต์แวร์ปิดไว้ดังนี้

Adobe's Flash products are 100% proprietary. They are only available from Adobe, and Adobe has sole authority as to their future enhancement, pricing, etc. While Adobe’s Flash products are widely available, this does not mean they are open, since they are controlled entirely by Adobe and available only from Adobe. By almost any definition, Flash is a closed system.

Sullivan บอกว่าเราสามารถเปลี่ยนคำว่า "Adobe" ในย่อหน้าข้างบนเป็น "แอปเปิล" และคำว่า "Flash" เป็น "iPhone OS" ได้ทันที เพราะ EULA ของทั้งสองแทบไม่มีอะไรแตกต่าง นี่แปลว่าแอปเปิลก็ทำซอฟต์แวร์ปิดเหมือนกันหรือไม่ คำกล่าวหาของจ็อบส์ต่อ Adobe นั้นถูกต้อง แต่มันก็เข้าตัวแอปเปิลด้วยเช่นกัน

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทั้งแอปเปิลและ Adobe ต้องปิดซอฟต์แวร์ของตัวเอง ก็เป็นเพราะ H.264 ซึ่งต้องจ่ายค่าใช้งานให้กับ MPEG-LA

ถ้าเราอ่าน EULA ของ Flash, iPhone OS รวมถึงซอฟต์แวร์อื่นๆ เช่น Chrome, Windows 7, Mac OS X, Final Cut Pro ก็จะเจอข้อความนี้เช่นกัน

THIS PRODUCT IS LICENSED UNDER THE AVC PATENT PORTFOLIO LICENSE FOR THE PERSONAL AND NON-COMMERCIAL USE OF A CONSUMER TO (I) ENCODE VIDEO IN COMPLIANCE WITH THE AVC STANDARD ("AVC VIDEO") AND/OR (II) DECODE AVC VIDEO THAT WAS ENCODED BY A CONSUMER ENGAGED IN A PERSONAL AND NON-COMMERCIAL ACTIVITY AND/OR WAS OBTAINED FROM A VIDEO PROVIDER LICENSED TO PROVIDE AVC VIDEO. NO LICENSE IS GRANTED OR SHALL BE IMPLIED FOR ANY OTHER USE. ADDITIONAL INFORMATION MAY BE OBTAINED FROM MPEG LA, L.L.C. SEE HTTP://WWW.MPEGLA.COM

การที่ H.264 เป็นมาตรฐานที่มีคนใช้เยอะ ไม่ได้แปลว่ามันเป็นมาตรฐานเปิด

จดหมายของจ็อบส์นั้นกล่าวถึงปัญหาของระบบปิด แต่เขาเสนอทางออกให้ผู้ใช้โดยเลิกใช้ระบบปิดเดิม และเปลี่ยนมาใช้ระบบปิดอันใหม่แทน

Sullivan บอกว่าแนวคิดของจ็อบส์ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ถ้าเลือกเข้าไปอยู่ในโลกของแอปเปิลแล้ว ก็ต้องรอการอนุมัติจากแอปเปิลน่ะถูกแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้เป็นผู้มีสิทธิ์เลือก และการจะหลุดพ้นจากโลกปิดของแอปเปิลหรือ Adobe ได้ ก็คือการเลือกใช้ซอฟต์แวร์เสรี (free software)

สุดท้าย Sullivan กล่าวถึงคำอ้างของจ็อบส์ว่า แอปเปิลมีส่วนผลักดันซอฟต์แวร์เปิดอย่าง WebKit ว่า จ็อบส์ชูเรื่อง WebKit มาเพื่อบดบังนโยบายปิดของ App Store และความสำเร็จของ WebKit ไม่ได้มาจากแอปเปิลเพียงลำพัง เพราะมีนักพัฒนาอื่นๆ มาร่วมด้วย การที่ผู้ใช้ได้ประโยชน์จาก WebKit ไม่ใช่เพราะความเมตตาของแอปเปิล แต่นี่คือผลดีของการพัฒนาแบบโอเพนซอร์สต่างหาก

ที่มา - Ars Technica: Pot, meet kettle: a response to Steve Jobs' letter on Flash

ป.ล. ตอนแรกผมตั้งใจว่าจะให้มีแค่สองภาค แต่ล่าสุดทั้ง OSNews และ Engadget มีบทความเกี่ยวกับ H.264 ตามมาอีก ถ้าขยันและมีเวลาจะต่อภาคสามและสี่ครับ ระหว่างนี้ใครสนใจก็อ่านต้นฉบับกันเองไปก่อนนะ

Blognone Jobs Premium