รีวิว Logitech MX Air: เมาส์บินได้

by neizod
2 May 2010 - 20:30

เมื่อปี 2002 หนังเรื่อง Minority Report ได้จุดประกายการบังคับหน้าจอแบบใหม่ ที่ทำงานได้ด้วยการใช้นิ้วต่างๆ ชี้ไปยังหน้าจอเพื่อควบคุมการทำงานของระบบ ผมยังจำได้อยู่เลยว่า UI ของระบบนั้นน่าทึ่งมาก และหวังว่าซักวันเราคงจะได้ใช้ระบบที่แสนวิเศษนี้

ตอนนี้ ความฝันนั้นก็เข้าใกล้ความจริงขึ้นมาอีกระดับ เพราะเมาส์ Logitech MX Air มาพร้อมกับเทคโนโลยี Freespace ที่จะทำให้เราสามารถควบคุมเมาส์ในอากาศได้อย่างใฝ่ฝัน และวันนี้ผมจะพาทุกท่านไปรู้จักกับ MX Air เมาส์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต ที่อาจพลิกโฉมหน้าการสั่งการคอมพิวเตอร์ได้อย่างสิ้นเชิงครับ

บรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์

ด้านหน้าของกล่อง เรียบๆ มีรูปเมาส์ลอยเด่นเป็นสง่าครับ

เมื่อเปิดกล่องออกมา จะพบหน้าปกอีกชั้นหนึ่งครอบเอาไว้ และพอเปิดหน้าปกนั้นก็จะพบพระเอกของเรานอนรออยู่ ข้างๆ เป็นตัวรับสัญญาณที่ความถี่ 2.4GHz สังเกตว่าใต้ฝาด้านในที่ยกออกมานั้น มีกล่องเก็บคู่มือซ่อนอยู่ด้วยครับ

ตรงนี้ต้องชม Logitech ที่ออกแบบกล่องโดยใส่แม่เหล็กไว้ที่ขอบกล่องด้วย ซึ่งก็เพียงพอต่อการป้องสิ่งกันสิ่งของข้างในร่วงหล่นลงมา เมื่อทำการเคลื่อนย้ายบรรจุภัณฑ์ตามปรกติ

สำหรับชั้นล่างของกล่องจะเป็นส่วนของฐานชาร์จแบตเตอรี่และอะแดปเตอร์ครับ

ถ่ายรูปรวมครับ นอกจากอุปกรณ์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีคู่มือการใช้งานเมาส์แบบแผ่นพับ 1 เล่ม ข้อตกลงการใช้งาน USB 1 แผ่น แผ่น CD โปรแกรมและไดร์วเวอร์ 1 แผ่น และผ้าเช็ดเมาส์สีดำพิมพ์คำว่า MX Air 1 ผืน ส่วนกล่องที่อยู่ริมขวาล่างนั่นคือ กล่องเก็บคู่มือที่ซ่อนอยู่ใต้ฝาปิดชั้นในครับ

จับถ่ายรูปคู่กับฐานชาร์จแบตเตอร์รีซักหน่อยครับ ตรงนี้ต้องชมทีมออกแบบที่ทำการพิมพ์โลโก้สีดำด้านบนตัวเมาส์ ซึ่งจะเห็นโลโก้นี้ก็ต่อเมื่อสะท้อนแสงเท่านั้น ทำให้เมื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์สองชิ้นนี้เข้าด้วยกันแล้ว ยังคงเห็นโลโก้ Logitech เพียงที่เดียว ซึ่งดูดีกว่าการเห็นโลโก้ผลิตภัณฑ์พร่ำเพรื่อครับ

ถ่ายรูปหมู่กับญาติพี่น้องซักหน่อย จากซ้ายสุดคือ "น้องเล็ก" V120 laser cord wrap ถัดมาคือ "คุณปู่" optical mouse PS/2 ต่อมาเป็น "พี่เขย" ในชุด wireless desktop MK250 และสุดท้ายก็ "พระเอก" MX Air ครับ สังเกตว่า MX Air นั้นยาวที่สุด แต่ความสูงนั้นสูงพอๆ กับน้องเล็กเลยครับ

มาดูที่ตัวเมาส์กันบ้างครับ วัสดุที่ใช้ทำเมาส์เป็น glossy plastic ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ดูดีมีระดับ แต่นั่นก็แลกมากับการเป็นรอยนิ้วมือและรอยขนแมวได้ง่ายมาก สำหรับแถบสกรอลล์นั้น ไม่พบว่าใช้วัสดุที่แตกต่างออกไปจากพลาสติกบนตัวเมาส์แต่อย่างใด จึงคาดเดาว่าใช้เทคโนโลยีวัดแรงกดเพื่อระบุตำแหน่งที่นิ้วสัมผัส แน่นอนครับว่าทำ Multi-Touch ไม่ได้

ส่วนบริเวณใต้ท้องเมาส์ไล่ไปจนถึงบั้นท้ายทำจากอลูมิเนียมชิ้นเดียวครับ ขับให้ MX Air ดูหรูหราขึ้นไปอีก

สำหรับปุ่มเมาส์นั้น นอกจากปุ่มสำหรับคลิกซ้าย-ขวาแล้ว ก็มีแถบสกรอลล์แบบสัมผัสที่สามารถกดบริเวณขอบปุ่มเพื่อเลื่อนทีละสเต็ปได้ (ด้านบนสุดนั้นไม่ใช่ปุ่มครับ) ต่อมาเป็นปุ่ม Back ปุ่ม Sel ปุ่มเล่น/หยุด และปุ่ม Vol ตามลำดับ ส่วนด้านล่างจะเป็นโลโก้ Logitech แบบดำด้าน ไล่ไปจนถึงขอบอลูมิเนียมที่ปั้มตัวอักษรบ่งบอกถึงเทคโนโลยี Freespace

เมื่อจับเจ้า MX Air หงายท้อง จะพบกับโลโก้ Logitech อันเล็กๆ อีกครั้ง ไล่ลงมาเป็นปุ่มเปิด-ปิดเมาส์ และรูสำหรับลำแสงเลเซอร์ที่ความยาวคลื่น 848nm ซึ่งเป็นช่วงที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นและไม่เป็นอันตรายต่อสายตา โดยเมาส์ตัวนี้สามารถทำความละเอียดได้สูงสุดที่ 800 DPI ถัดลงมาเป็นหมายเลขผลิตภัณฑ์และข้อมูลต่างๆ ของเมาส์ โดยระบุว่าใช้แบตเตอรี่แบบ Li-Ion ขนาด 1000mA ส่วนล่างสุดเป็นผิวหน้าทองเหลืองสัมผัสสำหรับต่อเข้ากับฐานชาร์จแบตเตอรี่ครับ

เมื่อเปิดเมาส์ขึ้นมา ไฟแสดงสถานะทุกดวงจะติดขึ้น โดยไฟแสดงระดับแบตเตอรี่จะดับลงใน 5 วินาที ส่วนแถบแนวนอนที่แสดงตรงปุ่มคลิ๊กเมาส์ซ้าย-ขวานั้น เป็นตัวบ่งบอกว่าเรากำลังใช้งานเมาส์เป็นรีโมทบนอากาศ ถ้าเราใช้เมาส์แบบธรรมดาบนพื้นโต๊ะ แถบแนวนอนยาวนี้จะจางหายไปครับ

ตรงนี้ขอชมทีมออกแบบที่เลือกใช้สีส้มทั้งหมด เพราะเป็นสีที่สบายตาแม้จะมองในที่มืด ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของหลายๆ คนที่จะนำเมาส์ตัวนี้ไปใช้ในห้องดูหนังครับ

ภาคซอฟต์แวร์

เพียงแค่เสียบตัวรับสัญญาณเข้ากับคอมพิวเตอร์ (Windows XP, Vista, 7, Mac OS X 10.3.9+) ก็สามารถใช้งานเมาส์ได้ทันที ไม่ต้องโหลดไดร์เวอร์เพิ่มจากอินเตอร์เน็ต แต่ในตัวรับสัญญาณนั้นไม่มีหน่วยความจำอยู่ ทำไห้ไม่สามารถบันทึกการตั้งค่าปุ่มเมาส์เพื่อนำไปใช้งานข้ามเครื่องได้ ต้องทำผ่านโปรแกรม SetPoint ของทาง Logitech เท่านั้น

หน้าแรกเป็นการตั้งค่าปุ่มต่างๆ ถ้าไม่พอใจค่าเดิม ซึ่งก็สามารถเปลี่ยนค่าได้หลากหลายมาก เช่น เปลี่ยนเป็นปุ่มเมาส์กลางที่ไม่มีมาให้แต่ต้น การทำ Document Flip เพื่อเปลี่ยนหน้าต่างโปรแกรม ไปจนถึงการกำหนด keystroke เพื่อความรวดเร็วในการทำงานอย่าง Ctrl+S หรือ Alt+Shift+Tab (จากการใช้งาน พบว่าไม่สามารถกำหนดปุ่ม Windows+key ได้ครับ) นอกจากนี้ ยังสามารถใช้การเขย่าเมาส์เพื่อกำหนดการทำงานได้อีกด้วย

สำหรับหน้าอื่นที่เหลือนั้น เป็นการตั้งค่าต่างๆ ตามแบบฉบับเมาส์ทั่วไป เช่น ความไวของเมาส์ ซึ่งแยกการตั้งค่าเป็นแบบเมาส์และแบบรีโมท ตั้งค่าความเร็วและเปิด-ปิดความเฉื่อยของการสกรอลล์ ไปจนถึงตั้งค่าปุ่มเมาส์เป็นพิเศษสำหรับโปรแกรมหรือเกมโดยเฉพาะครับ

นอกจากนี้ ในโปรแกรมยังบอกถึงระดับแบตเตอรี่คงเหลือด้วย ซึ่งสามารถเลือกให้แสดงได้ทั้งแบบเปอร์เซ็นต์และจำนวนวันใช้งานคงเหลือ โดยอัตราการบริโภคพลังงานของเมาส์ตัวนี้อยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ต่อชั่วโมง (วัดโดยใช้เมาส์เล่นเกมซึ่งมีการเคลื่อนที่เมาส์ตลอดเวลา) และการเลือกให้แสดงแบบวันใช้งานคงเหลือนั้น โปรแกรมจะทำการเก็บสถิติการใช้งานเมาส์ในแต่ละวันของเรามาคำนวณวันคงเหลือให้ครับ

แต่การติดตั้งโปรแกรมนี้ก็ไม่ได้ให้ประสบการณ์การใช้งานที่ดีเท่าไหร่ อย่างเช่นตอนที่ลงแต่ไดร์เวอร์ เพียงแค่กดปุ่ม Vol ครั้งเดียวก็ปิดเสียงได้แล้ว แต่พอลงโปรแกรมนั้น ต้องกดปุ่ม Vol ถึงสองครั้งเพื่อปิดเสียง (ครั้งแรกเพื่อเรียกแถบควบคุมเสียง อีกครั้งเพื่อปิดเสียง) แต่ถ้าลบโปรแกรม SetPoint ออกก็จะไม่สามารถตั้งค่าปุ่มเมาส์ตามใจได้อีก

เนื่องจากผมไม่มี Unifying receiver จึงไม่ได้ทดลองเปลี่ยนการใช้ตัวรับสัญญาณเมาส์ครับ

การใช้งานจริง

เมื่อใช้งานเป็นเมาส์บนโต๊ะ

ด้านการทำหน้าที่เป็นเมาส์

  • เมาส์ทำงานได้อย่างแม่นยำและไม่มีอาการหน่วงให้เห็น แม้จะปล่อยไว้จนเข้าโหมด standby ก็ตาม
  • ถึงไม่ได้ปิดเมาส์เมื่อเลิกใช้งาน แต่อัตราการบริโภคพลังงานนั้นก็ต่ำมากจนหายกังวลเรื่องการเปิด-ปิดเมาส์ไปได้เลย
  • แถบสกรอลล์ของเมาส์ทำงานได้ดี โดยการสกรอลล์นั้นจะเป็นแบบมีแรงเฉื่อยคล้ายกับ iPhone เพียงแต่ว่า MX Air จะเลื่อนเป็นสเต็ปๆ ไม่ไหลลื่นต่อเนื่อง
  • เวลาใช้งานแถบสกรอลล์จะมีเสียงสังเคราะห์คล้ายเสียงเลื่อนวงล้อของเมาส์รุ่นอื่นๆ ซึ่งบางทีมันก็ดังน่ารำคาญเหมือนกัน
  • ถ้าวางนิ้วทำมุมกับแถบสกรอลล์ผิด เวลาต้องการสกรอลล์ลง จะกลายเป็นการสกรอลล์ขึ้นซะงั้น

ด้านการจับใช้งาน

  • ตัวเมาส์ยาวและแบนเกินไป จับแล้วรู้สึกไม่เต็มไม้เต็มมือ เทียบกับเมาส์ทั่วไปที่เมื่อวางมือลงไปแล้ว ปลายนิ้วชี้กลางนางจะชี้ลง ส่วนอุ้งมือจะยกสูงขึ้น MX Air จึงไม่สามารถทำให้รู้สึกสบายมือได้เหมือนเมาส์ทั่วๆ ไปครับ
  • แต่พอใช้งานไปได้ 1 สัปดาห์ก็เริ่มชินครับ และรู้สึกว่าการจับใช้งานก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร
  • เนื่องจากเซนเซอร์แสงเลเซอร์อยู่บริเวณปลายนิ้ว ต่างจากเมาส์ทั่วไปที่อยู่บริเวณอุ้งมือ ทำให้ขยับเมาส์ได้ง่ายขึ้น
  • ปุ่มฟังก์ชันอื่นๆ บนเมาส์ไม่เหมาะกับการกดใช้งานครับ (อันนี้ไม่ว่ากัน เพราะเข้าใจว่าฝ่ายออกแบบใส่ปุ่มต่างๆ มาเพื่อการใช้งานรีโมทเป็นหลัก)
  • ปุ่มคลิกขี้นและลงบนแถบสกรอลล์นั้นไม่ค่อยได้ใช้ ถ้าเปลี่ยนเป็นปุ่มคลิกเมาส์กลางจะเข้าท่าและได้ใช้งานเยอะกว่ามาก
  • ปุ่มคลิกขึ้นนั้นอยู่ไกลเกินและกดยากครับ
  • เมื่อยกเมาส์ขึ้นเล็กน้อยเพื่อย้ายที่เมาส์โดยไม่ต้องการเลื่อนลูกศร เมาส์จะไม่เปลี่ยนเป็นรีโมททันที ตรงนี้ขอชมครับ

เมื่อใช้งานเป็นรีโมทบนอากาศ

ทำความเข้าใจกับวิธีใช้งานบนอากาศกันก่อน

  • การใช้งาน MX Air บนอากาศนั้น ให้จับเหมือนจับรีโมททีวี คือ ฝ่ามือหงายขึ้น นิ้วโป้งกดลง นิ้วชี้จะไปตกอยู่ตรงร่องเมาส์ด้านใต้พอดี และการเลื่อนลูกศรเมาส์นั้น ให้ขยับเพียงแค่ส่วนปลายเมาส์พอ ไม่จำเป็นต้องขยับเมาส์ทั้งอันครับ
  • นอกจากนี้ ฝ่ายเทคนิคของ Logitech ยังแนะนำว่า เวลาใช้งานให้ชี้รีโมทไปยังลูกศรบนหน้าจอ แต่ผมเห็นว่ามันค่อนข้างไร้สาระและเสียเวลาครับ อยากใช้ยังไงก็ใช้เหอะ
  • ปุ่ม Back นอกจากจะทำหน้าที่เพื่อย้อนกลับไปยังหน้าก่อนในหลายๆ โปรแกรมแล้ว เมื่อกดปุ่มนี้ค้างไว้ 2 วินาทีจะเป็นการหยุดลูกศรเมาส์ ซึ่งมีประโยชน์มากเวลาพรีเซนต์งาน
  • สำหรับปุ่ม Sel นั้น มีค่าเทียบเท่ากับการคลิกเมาส์ซ้าย เนื่องจากเวลาใช้งานเป็นรีโมทนั้น นิ้วโป้งจะเอื่อมไปกดปุ่มเมาส์ซ้ายลำบาก จึงมีปุ่ม Sel ไว้ทำหน้าที่แทนกัน
  • ปุ่มเล่น/หยุดนั้น ไม่สามารถกดเพื่อเรียกโปรแกรมเล่นเพลงขึ้นมาได้ แต่สามารถใช้เพื่อเลือกเพลงถัดไป/ก่อนหน้าได้โดยการกดปุ่มนี้ค้างไว้ แล้วหมุนเมาส์ตามเข็ม/ทวนเข็มนาฬิกาครับ
  • ปุ่ม Vol เมื่อกดจะทำการเรียกโปรแกรมควบคุมเสียงขึ้นมา ถ้ากดค้างไว้แล้วเลื่อนรีโมทในแนวซ้าย-ขวา จะเป็นการเพิ่ม-ลดระดับเสียง ซึ่งการบังคับระดับเสียงนี้จะเข้าไปบังคับในส่วนของ Windows โดยตรง ไม่ได้ทำผ่านโปรแกรมเล่นเพลง และถ้ากดปุ่มนี้อีกครั้งหนึ่งจะเป็นการปิดเสียงทั้งหมดครับ
  • สำหรับระยะใช้งานนั้น เหมือนจะเป็นมาตรฐานของอุปกรณ์ประเภทนี้ไปแล้วคือ 10 เมตร ซึ่งก็ถือว่าเหลือเฟือสำหรับการใช้งานภายในบ้านครับ (ไม่ได้ลองวัดเองเพราะบ้านแคบครับ)
  • นอกจากนี้ การเลื่อนลูกศรเมาส์นั้น MX Air ไม่ได้ยึดติดกับองศาการเอียงของตัวรีโมท แต่ใช้วิธีตรวจจับเทียบกับพื้นโลกเลยครับ ดังนั้น แม้จะจับมันหงายท้องขึ้นก็ยังใช้งานได้ตามปรกติ ชี้รีโมททางซ้ายลูกศรก็ขยับทางซ้ายครับ ไม่ได้ขยับไปทางขวา

ด้านการทำหน้าที่เป็นรีโมท

  • MX Air นั้น ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเป็นรีโมทโดยตรงเสียทีเดียว แต่ต้องทำหน้าที่เป็นเมาส์ควบคู่ไปด้วย ดังนั้น เมื่อมองในแง่ของปุ่มกดรีโมทแล้ว ถือว่าปุ่มมีน้อยเกินกว่าความต้องการใช้งานครับ แต่สิ่งนี้ก็ได้รับการชดเชยโดยระบบตรวจจับการเคลื่อนไหว ทำให้สามารถใช้การกดปุ่มรีโมทควบคู่ไปกับการวาดมือเพื่อสั่งงานได้เป็นอย่างดีครับ
  • แต่การควบคุมลูกศรบนอากาศนั้น บางครั้งก็เกิดอาการเลื่อนทางด้านข้างเองได้ครับ เหมือนเมาส์ optical รุ่นเก่าที่แม้จะปล่อยไว้เฉยๆ ก็เกิดอาการลูกศรเลื่อนไปทางด้านข้างเองอย่างนั้นเลยครับ

ด้านการถือใช้งาน

  • การวางมือเพื่อจับเป็นรีโมทนั้นสบายมือมาก (มากกว่าการจับเป็นเมาส์เสียอีก)
  • ปุ่มซ้าย-ขวาแข็งมากจนการกดแต่ละครั้งไม่แม่นยำ เลยต้องอาศัยการกดปุ่ม Sel แทนครับ
  • เมื่อจับรีโมทแบบขนานพื้น นิ้วโป้งจะสามารถกดปุ่มได้ถึงปุ่ม Back เท่านั้น ไปไม่ถึงบริเวณแถบสกรอลล์
  • ถ้าต้องการใช้งานแถบสกรอลล์ ให้บีบนิ้วชี้ที่รองใต้รีโมทเข้ามาหาอุ้งมือจนตัวรีโมทตั้งฉากกับพื้นครับ
  • การจับใช้งานด้วยวิธีอื่นทำได้ยากมากครับ
  • ด้านน้ำหนักเมาส์นั้น ผมไม่ได้ชั่งมาว่าหนักเท่าไหร่ แต่กะประมาณพอๆ กับมือถือรุ่นใหญ่ยอดฮิตที่ใช้กัน ซึ่งผมมองว่าค่อนข้างสมเหตุสมผลครับ เพราะในการใช้งานจริงนั้น คงไม่ได้ถือรีโมทตลอดเวลาอยู่แล้ว จะใช้เป็นรีโมทก็ตอนที่นอนเอนหลังเปิดหนังดูเท่านั้นครับ

สรุป

ส่วนตัวแล้ว ผิดหวังกับการใช้งานในอากาศขั้นรุนแรง (แต่ไม่ได้หมายความว่าเมาส์ไม่ดีนะครับ) เพราะผมจินตนาการเอาไว้ว่า ตอนจะใช้งานบนอากาศนั้น ต้องทำการ calibrate เมาส์กับมุมจอภาพ (เหมือนกับที่เรา calibrate มือถือจอสัมผัส) พอถึงเวลาใช้ค่อยชี้เมาส์ไปที่ตำแหน่งต่างๆ อย่างในหนังเรื่อง Minority Report ครับ

แต่เมื่อได้ใช้งานจริงๆ สิ่งที่ผมผิดหวังนี้ กลับกลายเป็นข้อดีไป เพราะมันทำให้เราสามารถใช้เมาส์ ณ จุดไหนก็ได้ ไม่ต้องเมื่อยมือชี้เมาส์ไปที่หน้าจอตลอด แถมเวลาย้ายเครื่องก็ไม่ต้อง calibrate ใหม่ให้เสียเวลา

ส่วนเรื่องราคา ในเว็บของ Logitech เองตั้งไว้ที่ $149.99 ตั้งแต่วันเปิดตัวเมื่อสามปีที่แล้ว ซึ่งจากการสืบค้นข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยน ราคาตอนนั้นจะอยู่ที่ 4,500-5,000 บาท (ปัจจุบันคิดเป็นเงินไทยได้ประมาณ 4,850 บาท) ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมพอนำเข้าแล้ว ราคาถึงได้อัพไปที่ 6,000 บาทเลยทีเดียว ทำให้ MX Air กลายเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มไปซะได้ สำหรับตัวที่ผมได้มานี้ เป็นตัวโชว์หน้าร้านตัวสุดท้ายที่ลดราคาล้างสต๊อกเหลือ 4,180 บาทครับ

ข้อดี

  • ทำหน้าที่เป็นเมาส์และรีโมทได้อย่างเป็นอย่างดี
  • เทคโนโลยี Freespace ช่วยให้สามารถใช้งานเมาส์บนอากาศได้
  • แบตเตอร์รี Li-Ion ชาร์จใหม่ได้เรื่อยๆ
  • สามารถใช้งานในที่มืด เช่น ห้องดูหนังได้เป็นอย่างดี
  • สวยงาม หรูหรา ดูดีมีระดับ
  • ประกัน 3 ปี

ข้อเสีย

  • จับเป็นเมาส์ได้ไม่ถนัดเลย
  • โปรแกรมที่ใช้คู่กับเมาส์ยังไม่ดีเท่าที่ควร
  • บันทึกโปรไฟล์ข้ามเครื่องไม่ได้
  • เปื้อนง่าย และเป็นรอยขนแมวง่ายมากๆ
  • เก่าไปนิด (เปิดตัวมาได้ 3 ปีแล้ว)
  • แพง

ถ้าอยากได้เมาส์ใหม่มาใช้งาน ผมว่า เมาส์ที่ออกแบบถูกต้องตามหลักสรีระศาสตร์จะให้ประสบการณ์การใช้งานที่ดีกว่าครับ

ส่วนถ้าอยากได้รีโมทมาใช้งานอย่างเดียว ผมแนะนำให้หารีโมทอัน 199 จากอมรมาใช้จะตรงความต้องการกว่า (ถ้ารับรูปร่างหน้าตาไม่ได้ ลองหาการ์ดทีวีแบรนด์ดังที่มีรีโมทแถมในกล่องดูครับ)

แต่ถ้าอยากสัมผัสประสบการณ์ใหม่ของการใช้เมาส์ หรือต้องการเมาส์เพื่อการนำเสนอผลงาน ไปจนถึงการมีเมาส์สวยๆ ไว้ประดับห้องนั่งเล่น Logitech MX Air ก็เป็นตัวเลือกที่ไม่เลวเลยครับ

ปล.รีวิวนี้เป็นรีวิวแรก ขาดตกบกพร่องประการใดก็ขอคำแนะนำด้วยครับ

Blognone Jobs Premium