Ubuntu ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่สำหรับชาว Blognone (ถ้ารู้สึกแปลก ต้องรีบหามาใช้แล้วครับ ;P)
ที่ผ่านมาเราเคยรีวิว Ubuntu ไปหลายครั้ง ตอนนี้ Ubuntu รุ่นล่าสุด 10.04 LTS "Lucid Lynx" ออกมาแล้ว ก็ได้เวลารีวิวครับ
รีวิว Ubuntu รุ่นก่อนๆ มารวบรวมไว้หน่อยเผื่อจะมีคนสนใจ
ส่วนของ 10.04 Lucid Lynx เราเคยมี พรีวิวรุ่น Beta 1 เช่นกัน
เนื่องจากมันเป็นรีวิว Ubuntu ครั้งที่เท่าไรไม่รู้ ผมจะไม่เขียนถึงกระบวนการดาวน์โหลดและติดตั้งแล้วนะครับ (น่าจะทำกันเป็นหมด ถ้ายังไม่เคยลองปรึกษาเซียนๆ แถว Ubuntuclub ได้)
วิธีที่ง่ายที่สุดคือดาวน์โหลดอิมเมจจาก mirror1.ku.ac.th (หรือถ้าใครมี mirror อื่นก็แจ้งไว้ในคอมเมนต์ได้) เลือกรุ่นที่เป็น ubuntu-10.04-desktop-i386.iso หรือ ubuntu-10.04-desktop-amd64.iso แล้วแต่ชอบ จากนั้นเขียนอิมเมจลง thumbdrive/flashdrive ด้วย UNetbootin แล้วบูต
กระบวนการติดตั้งของ Ubuntu 10.04 ไม่มีอะไรต่างจากเดิม ยกเว้นหน้าจอตอนคัดลอกและติดตั้งไฟล์ทำใหม่ให้สวยขึ้น เปลี่ยนโลโก้ของ Ubuntu เป็นแบบใหม่เท่านั้น (ดูภาพประกอบได้จาก ข่าวของ Ubuntuclub)
ติดตั้งเสร็จแล้วก็รีบูตครับ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่างของ Ubuntu 10.04 คือเปลี่ยนโปรแกรมระบบหน้าจอบูต (อีกแล้ว) จากที่เปลี่ยนมาทีหนึ่งใน 9.10 รุ่นก่อนหน้านี้ โปรแกรมของรุ่น 9.10 ใช้ xsplash แต่ใน 10.04 เปลี่ยนมาใช้ Plymouth ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนาโดยค่าย Fedora อย่างไรก็ดี ในแง่การใช้งานของผู้ใช้ เราคงไม่รู้สึกเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
ใน Ubuntu 9.10 ว่าบูตเร็วกว่ารุ่นก่อนๆ แล้ว ใน 10.04 ยิ่งบูตเร็วขึ้นไปอีก ผมไม่ได้จับเวลาทดสอบจริงจัง แต่กะเอาได้ประมาณ 20 วินาทีกว่าๆ เร็วกว่า Windows 7 ที่ติดตั้งบนเครื่องเดียวกันอย่างชัดเจน
หน้าตาของระบบ Plymouth ตัวใหม่ ดูได้ตามวิดีโอที่มีคนโพสต์ใน YouTube ดีกว่าครับ (อีกเวอร์ชันเป็นการบูตใน VirtualBox เร็วมาก)
การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดของ Ubuntu 10.04 คงไม่มีอะไรโดดเด่นไปกว่าธีมใหม่ (ที่สัญญากันว่าจะออกมาตั้งนานแล้ว แต่เบี้ยวเรื่อยมา)
สังเกตว่าธีมสีจะเปลี่ยนไปเป็นสีออกม่วง-ดำ ซึ่งเป็นชุดสีใหม่ของการรีแบรนด์ Ubuntu (ดูข่าวใน Ubuntuclub ประกอบ) ต่างไปจากธีมสีออกน้ำตาลแบบเดิม ที่โดนวิจารณ์มานาน (ดูภาพใน รีวิว Ubuntu 9.10 ประกอบ)
จุดที่เป็นประเด็นโต้เถียงกันมากที่สุดคือ ตำแหน่งของปุ่มควบคุมหน้าต่าง ที่ย้ายมาอยู่ด้านซ้ายมือ (แบบเดียวกับ Mac OS X) อ่านข่าวเก่าประกอบครับ
ซึ่งเหตุผลของการย้ายปุ่ม ก็เฉลยออกมาแล้วว่า จะเอาพื้นที่ด้านขวาบนของหน้าต่าง ไปให้ Window Indicator นั่นเอง (วิวัฒนาการของ Ubuntu รุ่น 10.10 จะเพิ่ม Window Indicator ที่มุมขวาบนของหน้าต่าง)
ในแง่การใช้งานแล้ว ผมยังติดนิสัยลากเมาส์ไปมุมขวาบ้างในช่วงแรกๆ แต่ใช้ไปไม่นานก็ชินกับแบบใหม่แล้ว
ไอคอนของระบบก็ปรับให้เข้ากับสไตล์ใหม่ จะเห็นว่าไอคอนของโฟลเดอร์ใน Nautilus เปลี่ยนมาใช้โทนม่วง-ส้มแล้ว
ธีมมาตรฐานเปลี่ยนมาใช้ธีม "Ambiance" ขอบหน้าต่างและเมนูเป็นสีดำ ตัว widget ต่างๆ ออกเป็นสีเข้ม ในความเห็นของผมคือ สวย เรียบหรูดูดีในภาพรวม แต่ตรง scrollbar และ progress bar ยังดูไม่ค่อยดีเท่าไร
สำหรับคนที่ไม่ชอบสีดำ Ubuntu 10.04 ยังมีธีมฝาแฝดกันแต่สีอ่อนชื่อ "Radiance" ให้เปลี่ยน แต่ผมว่ามันไม่สวยเท่ากับ Ambiance นะ ดูมันเบลอๆ ตัดขอบไม่ค่อยชัด
การทำธีมสีเข้มไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมี UI หลายจุดที่ออกแบบมาสำหรับธีมสีอ่อน ตัวอย่างเช่น แถบที่อยู่ของ Firefox พอเป็นธีมสีเข้ม Ambiance แล้วน่าเกลียดเชียว
แต่ธีมสีอ่อนอย่าง Radiance ไม่มีปัญหานี้
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของ Ambiance คือโปรแกรม OpenOffice.org จะตัดขอบสีเข้ม น่าเกลียดมากเช่นกันครับ (Radiance ไม่มีปัญหานี้)
ภาพพื้นหลังแบบมาตรฐานดูคล้ายกับของ Mac OS X มาก ใครไม่ชอบก็มีให้เปลี่ยน คุณภาพของภาพสวยกว่า Ubuntu 9.10 มาก แต่เทียบกับ Windows 7 ผมยังให้เป็นรองเล็กน้อย (ภาพประกอบในรีวิว ผมจะพยายามเปลี่ยนหลายๆ แบบให้ดูนะครับ)
ถ้าใครไม่ชอบภาพพื้นหลังที่ติดมากับ Ubuntu ลองดูภาพพื้นหลังแบบอื่นๆ ได้จาก OMG Ubuntu
Panel
ถ้าไม่นับธีมแล้ว อีกจุดที่เกิดความเปลี่ยนแปลงมากใน Ubuntu รุ่นหลังๆ คือบริเวณด้านขวาบนใน Panel ซึ่งเราเดิมเรียกมันว่า notification area (หรือ system tray)
notification area/system tray ถือกำเนิดขึ้นใน Windows 95 โดยมีจุดหมายเพื่อเป็นจุดแสดงการแจ้งเตือน (notification) แก่ผู้ใช้ แต่เนื่องจากว่ามันไม่มีข้อกำหนดและการควบคุมที่ชัดเจน ทำให้มันกลายเป็น "แหล่งพักไอคอน" ไปแทน วินโดวส์พบปัญหานี้ และลินุกซ์ก็พบปัญหานี้เช่นกัน
Windows 7 พยายามแก้ปัญหานี้ด้วย Superbar และลดความสำคัญของ system tray ลง (อ่านรายละเอียดใน รีวิว Windows 7 ตอนที่สอง)
ส่วน Ubuntu พยายามแก้ปัญหานี้โดยเอา notification area แบบเดิมออกไป โดยไอคอนสำคัญๆ เช่น ปรับเสียง แบตเตอรี่ จะยังคงอยู่ที่เดิม แต่เปลี่ยนมาใช้ระบบ "เมนู" (ที่แสดงด้วยไอคอน) แทน เพื่อให้พฤติกรรมการใช้งานเหมือนกันทุกอัน สร้างความสม่ำเสมอ (consistency) แก่ผู้ใช้ แผนการนี้จะเสร็จสิ้นใน Ubuntu 11.04 (Ubuntu 11.04 จะเอา Notification Area ออกไป)
ไอคอนใน Panel แบบใหม่จะใช้สไตล์แบบ monochrome เหมือนกับ Mac OS X ให้ดูเหมือนกันหมด เพียงแต่ธีม Ambiance ใช้สีกลับกันเป็นไอคอนสีขาวบนพื้นเข้ม จะเห็นว่าบางโปรแกรมอย่าง VLC หรือ Shutter ด้านซ้ายสุด ยังไม่ปรับมาใช้ไอคอนแบบใหม่นี้
จากซ้าย: VLC, Shutter, Bluetooth, Tomboy, Keyboard Indicator, NetworkManager, Rhythmbox (ขณะไม่ได้เล่นเพลง สีจะทึมลง), Power Manager, Monitor Preference, Transmission, Sound Preference, Indicator Applet (ขณะมีข้อความใหม่เข้ามา), Clock Applet, MeMenu, Session Menu
Message Indicator
ส่วนวิธีการแจ้งเตือนนั้นจะถูกย้ายมาไว้ในบอลลูนข้อความ ที่จะแสดงขึ้นมาในมุมขวาบน (แต่ไม่บนสุด) ฟีเจอร์นี้ถูกเสนอมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2008 (Ubuntu เสนอระบบแจ้งเตือนแบบใหม่สำหรับ GNOME/KDE) และเริ่มสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ บอลลูนข้อความนี้เราไม่สามารถกดปิดได้ และแสดงเพียงชั่วขณะหนึ่งแล้วหายไป มีไว้ "แจ้งเตือน" เพียงอย่างเดียว แนวคิดของมันคล้ายกับโปรแกรม Growl ของ Mac OS X
ในภาพข้างต้น มีคนทักผมเข้ามาทาง IM ซึ่ง Ubuntu จะแสดงบอลลูนให้เห็น ถ้าผมอยากกดดูต้องคลิกที่ไอคอนจดหมายสีเขียว ซึ่งเป็นการระบุด้วยสีว่ามีข้อความเข้ามาใหม่
เมื่อคลิกที่ไอคอนจดหมายสีเขียว จะเป็นการเปิดเมนู Indicator Applet ขึ้นมาครับ ตามค่า default ของ Ubuntu จะรวม "ข้อความ" มาให้เรา 3 ชนิด ผ่านโปรแกรม 3 ตัว ได้แก่
ในภาพจะเห็นลูกศรชี้อยู่หน้าไอคอน แปลว่าเราเปิดโปรแกรมนี้ค้างไว้ เมื่อกดที่ข้อความแต่ละอันในรายการ จะเป็นการเปิดหน้าต่างของข้อความนั้นๆ ขึ้นมา
นอกจากข้อความ 3 ชนิดข้างต้นแล้ว เรายังสามารถเพิ่มให้เตือนข้อความหรือเหตุการณ์อื่นๆ ได้ด้วย ในภาพจะเห็นว่าผมเพิ่มการแจ้งเตือน Gmail มาเป็นอย่างที่สี่ (ดูวิธีการได้จาก OMG Ubuntu)
ถ้าถามว่าใช้แล้วเป็นอย่างไร ก็ตอบได้ว่า แนวคิดเข้าท่า ครับ กระบวนการแจ้งเตือนแบบใหม่นี้ไม่แย่งสมาธิเรามากเหมือนกับวิธีเดิมๆ (เช่น ไอคอนกระพริบ หรือ รายชื่อโปรแกรมใน taskbar กระพริบ) แถมยังประสานเข้ากับเดสก์ท็อป GNOME ได้ดีขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Ubuntu 10.04 รวมเอาการสื่อสารผ่าน social network ด้วยโปรแกรม Gwibber เข้ามา (จะพูดถึงตัวโปรแกรมในภายหลัง) ทำให้ตอนนี้ถือว่า Ubuntu 10.04 เป็นระบบปฏิบัติการที่รองรับ social network ได้ดีที่สุดในท้องตลาด เหนือกว่า Windows 7 และ Mac OS X ที่ไม่มีฟีเจอร์นี้รวมมาให้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวคิดจะดี แต่มันยังมีปัญหาเรื่อง implementation อยู่บ้าง ปัญหาที่ผมเจอมี 2 อย่าง
สรุปว่าแนวคิดนี้น่าสนใจมาก และอีกไม่นาน usability ในจุดนี้ของ Ubuntu จะหาคนทัดเทียมได้ยาก (ความฝันของ Shuttleworth ที่จะเอาชนะแมคใกล้ความจริง อย่างน้อยในเรื่องนี้)
Me Menu
นอกจากเมนูสำหรับแสดงข้อความใหม่แล้ว ใน Ubuntu 10.04 ยังมีเมนูอีกหนึ่งอันที่แสดงชื่อล็อกอินของเรา พร้อมกับไอคอนแสดงสถานะ online/offline ชื่อของมันคือ Me Menu
หน้าที่หลักของ Me Menu คือเป็นจุดปรับแต่งสถานะของตัวเรา เช่น ภาพแสดงตน (avatar) หรือ สถานะการออนไลน์ในโปรแกรม IM อย่างไรก็ตามมันยังมีกล่องข้อความสำหรับอัพเดตสถานะใน social network ด้วย
ผมพบปัญหาว่า Empathy ยังไม่ยอมเชื่อมกับ Me Menu ดีนัก คือเปลี่ยนภาพแสดงตนใน Me Menu แล้ว Empathy ไม่ยอมเปลี่ยนตาม ต้องไปเปลี่ยนในโปรแกรม Empathy อีกที
เท่าที่ใช้มาสักพัก Me Menu ยังไม่ค่อยมีประโยชน์มากนัก และทางโครงการ Ubuntu รับทราบปัญหานี้ จึงมีแผนจะปรับแต่งมันให้มีประโยชน์มากขึ้น เช่น ไอคอนสำหรับ social network ที่ต้องการโพสต์ หรือ ตัวนับความยาวของข้อความไม่ให้เกิน 140 ตัวอักษร เป็นต้น (ข่าวจาก OMG Ubuntu)
ในเชิงของโปรแกรมที่ติดมาด้วย Ubuntu 10.04 มีความต่างไปจาก 9.10 ไม่มากนัก สิ่งที่เปลี่ยนมีดังนี้
ที่ชัดเจนคือ Gimp ถูกตัดออกไป ด้วยเหตุผลด้านพื้นที่ และเหตุผลว่า F-Spot มีความสามารถแก้ไขภาพพื้นฐานมาด้วย ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันมาก อย่างไรก็ตาม เราสามารถเอา Gimp กลับมาได้ไม่ยากกันอยู่แล้วใช่ไหม
PiTiVi โปรแกรมตัดต่อวิดีโอแบบง่ายๆ ถูกเพิ่มเข้ามาเอาใจผู้ใช้ยุคที่ใครๆ ก็มีกล้อง/มือถือถ่ายวิดีโอได้ ตัวอย่างภาพขอสาธิตด้วยคลิปของคุณ @iMenn แล้วกัน
Gwibber ถูกรวมเข้ามาเป็นโปรแกรมหลักสำหรับงาน social network (ใน Ubuntu ใช้คำว่า "broadcast") มันรองรับ social network ยอดนิยมอย่าง Twitter/Facebook (เห็นว่าจะมี Buzz ในรุ่นถัดไป)
นอกจากนี้ Gwibber 2.30 (นับรุ่นตาม GNOME) ยังมีฟีเจอร์แสดงผลแบบหลายคอลัมน์เหมือนกับโปรแกรม TweetDeck อย่างไรก็ตาม ผมพบว่า Gwibber มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพมาก (โดยเฉพาะโหมดหลายคอลัมน์) และทำให้ประสบการณ์ในการเล่น social network แย่กว่าที่ควรจะเป็นไปมาก
Rhythmbox มีร้านขายเพลงของ Ubuntu One เพิ่มเข้ามาแล้ว เผอิญฟีเจอร์นี้ไม่ได้ลองใช้ครับ
เบราว์เซอร์มาตรฐานคือ Firefox แต่เราสามารถลง Chrome/Chromium ได้ไม่ยากเช่นกันครับ ปัญหาของ Chromium ใน build หลังๆ มีกรณีภาษาไทยเละ และยังมีปัญหากับเว็บที่เป็น HTTPS ในบางครั้ง
ในภาพก่อนหน้านี้ Chromium แสดงปุ่มควบคุมหน้าต่างที่มุมซ้ายบนเหมือนของวินโดวส์ รวมถึงแสดงธีมสีฟ้าขัดกับเดสก์ท็อปส่วนอื่นๆ แต่เราสามารถเปลี่ยนได้ใน Options ทั้งเรื่องปุ่มควบคุมหน้าต่างและสี (แต่ผมชอบ Chrome สีฟ้าปุ่มอยู่ซ้ายมากกว่าอยู่ดีครับ)
Ubuntu Software Center ถูกเพิ่มเข้ามาใน 9.10 เพื่อมาแทนระบบจัดการแพกเกจตัวอื่นๆ ทุกตัว ในรุ่นที่แล้วความสามารถของ Software Center ยังต่ำมาก แต่ในรุ่นนี้มันถูกปรับปรุงขึ้นหลายจุด
ถ้าเปรียบเทียบกับรุ่นก่อน (ภาพประกอบ) Software Center ตัวใหม่มีไอคอนโปรแกรม ภาพหน้าจอ แถบแสดงความคืบหน้าขณะติดตั้ง แถมยังแสดงโปรแกรมแยกตาม repository ได้ด้วย
ฟีเจอร์ในตอนนี้ของ Software Center ถือว่าพอใช้แทน Synaptics ได้แล้ว ในมุมมองของผมคิดว่าตอนนี้ปัญหาของ Ubuntu ไม่ใช่ "วิธีการติดตั้งโปรแกรม" แต่เป็นการเลือกลงโปรแกรมเพิ่มเติมหลังติดตั้งระบบสำเร็จมากกว่า เพราะ Ubuntu รุ่นมาตรฐานยังขาดฟีเจอร์บางประการ ด้วยเหตุผลด้านกฎหมายและการคัดเลือกโปรแกรม
ผมแนะนำว่าในขั้นต่ำ ผู้ใช้ Ubuntu 10.04 ควรเพิ่ม repository ชื่อ Medibuntu เพื่อลง codec และโปรแกรมมัลติมีเดียที่สำคัญ และลง Ubuntu Tweak ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการติดตั้งโปรแกรมนอก repository หลัก
หลังจากติดตั้ง 2 ตัวข้างต้นแล้ว โดยส่วนตัวผมจะลง
ส่วนตัวอื่นๆ ที่แนะนำ คือ Opera, Nautilus Elementary, Pidgin (ถ้าชอบมากกว่า Empathy), Pino (ถ้าชอบมากกว่า Gwibber), Banshee (ถ้าชอบมากกว่า Rhythmbox)
สิ่งหนึ่งที่หายไปจาก Ubuntu 9.10 คือไอคอนก้อนเมฆของโปรแกรม Ubuntu One บริการ cloud sync ของ Canonical ครับ มันมาหลบอยู่ใน Me Menu แต่ก็สามารถเข้าได้จากใน System > Preferences เช่นกัน
ในหน้าจอนี้ เราสามารถปรับแต่งอุปกรณ์ที่ใช้กับ Ubuntu One และชนิดของข้อมูลที่ต้องการ sync กับ Ubuntu One ได้
ใน Ubuntu One รุ่นล่าสุด มันรองรับการ sync ข้อมูลดังนี้
Ubuntu ยังพยายามแก้ปัญหาเรื่อง sync กับมือถือ โดยจับมือกับบริษัท Funambol ให้บริการ sync ข้อมูลระหว่างมือถือของเรากับ Ubuntu One (แล้วค่อยมา sync ระหว่าง Ubuntu กับ Ubuntu One อีกทอดหนึ่ง) กระบวนการคือต้องติดตั้งโปรแกรมของ Funambol ในมือถือนั่นเองครับ
แต่ฟีเจอร์นี้ไม่ฟรีครับ สำหรับคนที่ยอมจ่ายเงินอัพเกรด Ubuntu One เป็นรุ่น 50GB เท่านั้น ถ้าใช้ของฟรีแบบ 2GB สามารถทดลองใช้ได้นาน 30 วัน
โปรแกรม Funambol นั้นยังไม่รองรับ Android แต่เผอิญ RIM ส่ง BlackBerry มาให้ทดสอบพอดี ผมเลยจับมาลองเสียเลย ลองสั่ง sync รายชื่อจากมือถือเข้ามาใน Ubuntu One ก็ใช้ดีไม่มีปัญหาอะไร (ขอยืมคุณ @sugree มาเป็นนายแบบ)
โดยสรุปแล้ว ผมยังทดสอบ Ubuntu One ไม่เยอะเพราะว่าไฟล์อยู่ใน Dropbox เสียมาก (ขี้เกียจย้าย) อาจจะเล่าเรื่อง Ubuntu One ได้ไม่ดีนัก แต่ในระยะยาวแล้ว Ubuntu One แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ และในอีกไม่กี่รุ่น มันจะช่วยให้ Ubuntu กลายเป็นระบบปฏิบัติการที่ต่อเชื่อมกับบริการแบ็คอัพข้อมูลออนไลน์ได้เข้มแข็งมากตัวหนึ่ง (ดีกว่า Windows 7 + Windows Live หรือ Mac OS X + Mobile Me แน่)
ในอีกด้าน ถ้าสามารถเชื่อมกับบริการที่น่าดึงดูดต่อผู้ใช้ได้มากขึ้น (เช่น การขายเพลง การ sync มือถือ) Ubuntu One ย่อมจะเป็นช่องทางสร้างรายได้ที่ดีอีกอย่างของ Canonical เช่นกัน (ซึ่งมีผลต่อการดำเนินงานของบริษัทในระยะยาว)
ใน Ubuntu 9.10 "Karmic Koala" นั้น ผมเจอปัญหาด้านฮาร์ดแวร์มากมาย จนเรียกมันว่า "โคอาล่ามีกรรม" แต่ใน Ubuntu 10.04 Lucid Lynx กลับราบรื่นมาก แทบไม่มีปัญหาเลย
ผมทดสอบกับโน้ตบุ๊ก 2 ตัวที่มี ผลเป็นดังนี้ครับ
เสียดายว่าผมไม่สามารถหาเครื่องที่ใช้การ์ดจอ NVIDIA ทดสอบได้ (ซึ่งมักจะมีปัญหาการแสดงผล) เลยไม่มีข้อมูลในจุดนี้
แต่อย่างที่เขียนไปในรีวิว 9.10 เรื่องฮาร์ดแวร์นั้นเป็นปัญหาเรื่อง "กรรมเวร" ของแต่ละท่านอย่างแท้จริง ถ้าใครมีเรื่องกับ Lucid Lynx ก็มาแชร์ให้เป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ ได้ สำหรับผมแล้ว Ludic Lynx น่าประทับใจมาก
Ubuntu 10.04 LTS "Lucid Lynx" เป็นรุ่นที่ผมประทับใจมาก เพราะ
แต่มันก็ยังมีประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ให้ติอยู่ดี เช่น
ในอีก 2-3 รุ่นข้างหน้า เมื่อแผนการของ Ubuntu เริ่มเสร็จสมบูรณ์ มันจะเป็นระบบปฏิบัติการที่เจ๋งมากเลยล่ะ!
อ่านเพิ่มเติม