ยืนยัน กทช. สั่งขึ้นค่าโทรให้เท่ากันทั้งในและนอกเครือข่าย

by lew
12 May 2010 - 13:10

หลังจากเป็นข่าวลือมาตั้งแต่เมื่อวานนี้ วันนี้ทาง กทช. โดยนายพิทยาพล จันทนะสาโร รองเลขาธิการ กทช. ก็ออกมาให้ข่าวแล้วว่า บอร์ดมีมติให้ผู้ให้บริการทั้งหมดต้องให้บริการในราคาเท่ากัน ทั้งการโทรในเครือข่ายและนอกเครื่อข่ายจริง โดยมีเหตุผลว่าโดยทั่วไปแล้วผู้ใช้มักไม่รู้ว่ากำลังโทรไปยังเครือข่ายใด โดยค่าโทรที่กำหนดไว้นั้นจะต้องไม่เกิน 3 บาทต่อนาที

จุดน่าสนใจของเรื่องนี้คือการที่นายพิทยาพลกล่าวถึงเรื่องการตั้งราคาค่าโทรตามเวลา ว่าเป็นเรื่องเล็กและจะมีการลงมติในเรื่องนี้อีกครั้ง ทำให้น่าสนใจว่าหากผู้บริโภคไม่รู้ว่ากำลังโทรไปเครือข่ายใด ผู้บริโภคก็อาจจะไม่รู้ด้วยว่าค่าโทรแต่ละเวลาเป็นเท่าใดหรือไม่ในความคิดของ กทช.

อำนาจในการบังคับใช้คำสั่งนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 (Google Docs) โดยผมเข้าใจว่าเป็นไปตามมาตรา 56 (3) และมาตรา 60 ที่กำหนดให้อำนาจกทช. ในการกำหนดอันตรา "ขั้นสูง" ของค่าธรรมเนียม โดยมาตรา 56 (3) นั้นระบุว่าอัตราขั้นสูงที่ กทช. กำหนดจะต้อง "ไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฎิบัติ แบ่งแยกหรือกีดกันผู้ใช้บริการหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใด" ตรงนี้น่าสนใจว่าสุดท้ายแล้ว กทช. มีอำนาจในการกำหนดอัตราค่าบริการจริงๆ หรือไม่เพราะ พ.ร.บ. ฉบับนี้ในหมวดที่ 5 และ 7 ที่เกี่ยวข้องกับค่าบริการนั้นเป็นการระบุถึงอัตรา "ขั้นสูง" ทั้งหมด ซึ่งในวันนี้ก็ไม่มีค่ายใดเก็บค่าบริการเกินกว่า 3 บาทต่อนาทีอย่างที่ กทช. ตั้งมา แต่เป็นการตั้งราคาให้ถูกกว่าเพดานที่กำหนดโดยไม่เท่ากัน

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือความเท่าเทียมกันของเครือข่าย เนื่องจาก กทช. มีภารกิจในการส่งเสริมการแข่งขัน แม้จะต้องบังคับให้ขึ้นราคาเพื่อให้ผู้บริโภคโดยรวมได้รับประโยชน์ในระยะยาว แต่น่าสนใจว่าการบังคับให้ราคาเท่ากันทั้งนอกและในเครือข่ายเช่นนี้จะสร้างภาวะการแข่งขันที่ดีขึ้นได้จริงหรือไม่? เพราะสังเกตว่าผู้ใ้หบริการที่เสนอโปรโมชั่นในเครือข่ายอย่างหนักนั้นกลับเป็นผู้ให้บริการขนาดเล็ก และหากค่าบริการเท่ากันทั้งหมด จะเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ับริโภคให้ไม่สนใจว่าปลายทางเป็นเครือข่ายใด ส่งผลให้ผู้ให้บริการขนาดเล็กมีภาระค่าใช้จ่ายสำหรับค่าเชื่อมต่อโครงข่ายสูงกว่าผู้ให้บริการรายใหญ่ๆ มาก

ที่มา - ไทยรัฐ

UPDATE: รายงานการประชุมมาแล้วครับ ผมคัดเฉพา่ะวาระ 4.26 ในเรื่องนี้มา

ระเบียบวาระที่ ๔.๒๖ : การไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีการให้บริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ กรณีบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) : คณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง

มติที่ประชุม

  1. ได้พิจารณาและวินิจฉัยแล้วลงมติว่าการให้บริการดังกล่าวเป็นบริการโทรคมนาคมลักษณะหรือประเภทเดียวกัน จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ และข้อ ๑๗ ของประกาศ กทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการและการเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
  2. มีคำสั่งให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) เรียกเก็บค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากผู้ใช้บริการของตนสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในโครงข่าย (on net) และการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างโครงข่าย (off net) ในอัตราเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อผู้ใช้บริการตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ และเพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคไม่สามารถรู้ได้ว่าเลขหมายปลายทางให้บริการโดยผู้ให้บริการรายใดและเป็นการใช้บริการภายในโครงข่าย (on net) หรือระหว่างโครงข่าย (off net)
  3. เนื่องจากการเรียกเก็บค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากผู้ใช้บริการของตนในอัตราที่แตกต่างกันระหว่างการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในโครงข่าย (on net) และการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างโครงข่าย (off net) เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายตาม ๑. จึงให้มีผลใช้บังคับกับผู้รับใบอนุญาตและผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย
  4. มอบหมายให้สำนักงาน กทช. จัดทำร่างหนังสือแจ้ง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ผู้รับใบอนุญาตและผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายเพื่อทราบมติที่ประชุมตาม ๑. ทั้งนี้ ให้หารือ กทช.สุธรรมฯ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมและถูกต้องของถ้อยคำทางกฎหมายก่อนจัดส่งต่อไป

UPDATE2: มาตรา 57 ที่รายงานของกทช. อ้างถึงมีดังนี้

ผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการนอกเหนือหรือเกินกว่าอัตราขั้นสูงที่คณะกรรมการกำหนดในมาตรา ๕๕ ไม่ได้และต้องไม่เป็นการกำหนดอัตราในลักษณะที่เป็นการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะมีผลเป็นการจำกัดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยจะต้องเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการของตนในอัตราเดียวกันสำหรับบริการโทรคมนาคมลักษณะหรือประเภทเดียวกัน

ประเด็นนี้ทางกทช. ระบุว่าบริการในเครือข่ายและนอกเครือข่ายเป็นบริษัทที่มี "ลักษณะหรือประเภท" อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ในส่วนนี้ยังน่าสงสัยว่าเราสามารถบอกได้ว่ามันอยู่ในประเภทเดียวกันได้หรือไม่ เพราะถ้าได้แล้วมันต่างจากการโทรศัพท์รูปแบบอื่นๆ อย่างไร? เช่นการโทรทางไกล ที่มีค่าใช้จ่ายต่างกัน หรือการโทรจากโทรศัพท์บ้านไปยังโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ

Blognone Jobs Premium