รีวิว Norton 360 เวอร์ชัน 4.0 ชุดบำรุงรักษาพีซีแบบครบวงจร

by mk
3 June 2010 - 04:45

ผมเชื่อว่าผู้อ่าน Blognone คงไม่มีใครไม่รู้จัก Norton โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยอดนิยม Norton Antivirus (หรือถ้าใครแก่พอจะทัน Norton Commander ก็ไม่ว่ากันนะครับ :P)

แม้ว่าจะเป็นเจ้าตลาดมานาน แต่ภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ตรา Norton ในสายตาของพวกเรา คงหนีไม่พ้นประโยคทำนองว่า "ช้า กินแรงเครื่องมาก น่ารำคาญ จับไวรัสได้น้อย" อันเนื่องมาจากความประทับใจใน Norton รุ่นเดิมๆ ที่สร้างชื่อ (เสีย) ไว้มาก

หลายคนจึงหนีไปใช้ผลิตภัณฑ์แอนตี้ไวรัส (หรือรักษาความปลอดภัยที่เป็นมากกว่าแอนตี้ไวรัส) ค่ายอื่นๆ ซึ่งก็มีตัวเลือกมากมายในตลาด รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ฟรีอย่าง Microsoft Security Essentials, AVG หรือ Avast! เป็นต้น

ทางบริษัทแม่อย่าง Symantec คงเห็นส่วนแบ่งการตลาดลดฮวบฮาบ เลยถึงเวลาต้องยกเครื่องครั้งใหญ่ จึงเป็นที่มาของ Norton Internet Security 2009 คิดใหม่ ทำใหม่ ที่ว่ากันว่าเร็วขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่เคยกลับไปใช้ Norton อีก เพราะมีผลิตภัณฑ์ฟรีที่ใช้งานได้ดีให้เลือกอยู่ในตลาดอยู่แล้ว (โดยส่วนตัวผมใช้ Microsoft Security Essentials ซึ่งเป็นสิทธิ์ของคนซื้อ Windows 7 แผ่นแท้อยู่แล้ว)

จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง ทางตัวแทนของ Symantec ในไทยได้ส่ง Norton 360 มาให้หนึ่งกล่อง เลยลองเล่นเสียหน่อย เพื่อดูว่าโลกพัฒนาไปมากแล้ว Norton เพื่อนเก่าของเราเป็นอย่างไรบ้าง และนี่คือรีวิว (แบบผ่านๆ) ของ Norton 360 เวอร์ชัน 4.0 ครับ

หมายเหตุ: รีวิวอันนี้สนใจเรื่องฟีเจอร์และประสบการณ์ในการใช้งาน ผมไม่มีความรู้และเครื่องมือพอที่จะทดสอบอัตราการตรวจจับไวรัสหรือภัยคุกคามประเภทอื่นๆ ได้ คนที่สนใจผลการทดสอบในระดับนี้ สามารถอ่านได้จาก white paper ด้านความปลอดภัยของต่างประเทศ ซึ่งก็มีอยู่หลายเจ้าในท้องตลาดครับ

รู้จักกับ Norton 360

Norton 360 เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถือว่าใหม่มากของบริษัท Symantec บอกตามตรงว่าตอนแรกที่ผมได้มา ก็งงเหมือนกันว่า Norton 360 คืออะไร ต่างจากผลิตภัณฑ์อย่าง Norton Antivirus หรือ Norton Internet Security อย่างไรบ้าง

บนเว็บของ Symantec มีคำตอบครับ

ตอนนี้ผลิตภัณฑ์ด้านความปลอดภัยสำหรับพีซีจาก Symantec มีรุ่นหลักๆ อยู่ 3 ตัว

  • Norton Antivirus - แอนตี้ไวรัส มัลแวร์ สปายแวร์ โทรจัน ตอนนี้เลขเวอร์ชันล่าสุดคือ 2010
  • Norton Internet Security - มันคือ Norton Antivirus ที่เพิ่มเครื่องมือด้านความปลอดภัยด้านอื่นๆ เช่น firewall, phising, spam เข้ามาด้วย เลขเวอร์ชันเป็น 2010 เช่นกัน
  • Norton 360 - เป็นซูเปอร์เซ็ตของ Norton Internet Security อีกต่อหนึ่ง เพิ่มเครื่องมือที่ไม่เกี่ยวกับความปลอดภัย เช่น การแบ็คอัพ การปรับแต่งสมรรถภาพของพีซี เข้ามาอีก

สรุปสั้นๆ ว่า Norton 360 ถือเป็นชุดซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัยและการบำรุงรักษาพีซีรุ่นใหญ่ที่สุดของ Symentec ในขณะนี้ เวอร์ชันล่าสุดคือ 4.0 (น่าสนใจที่ไม่นับเป็นเลขปีเหมือนกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ)

รายละเอียดของฟีเจอร์ในแต่ละรุ่น ดูจาก ตารางเปรียบเทียบของ Symantec ชัดเจนดี

ราคาขายของ Norton 360 แบบใช้งานได้หนึ่งปีและมีพื้นที่แบ็คอัพ 2GB อยู่ที่ 79.99 ดอลลาร์ ส่วนราคาในไทย ผมดูจาก Symentec Store อยู่ที่ 2,699 บาท ส่วนราคาของ Software.co.th อยู่ที่ 3,140 บาทครับ ใครจะซื้อรบกวนเช็คราคากันอีกทีด้วย

หมายเหตุ: เรื่องพื้นที่แบ็คอัพจะกล่าวต่อไปในภายหลัง แต่เราสามารถซื้อเพิ่มได้ถ้าพื้นที่ไม่พอใช้ หรือจะซื้อ Norton 360 Premier Edition ที่เพิ่มพื้นที่มาเป็น 25GB ให้เลยก็ได้ (ราคาเพิ่มเป็น 99.99 ดอลลาร์)

การติดตั้ง

การติดตั้ง Norton 360 ไม่มีอะไรซับซ้อน เป็นการติดตั้งโปรแกรมบนวินโดวส์ทั่วไปครับ ผมมีปัญหานิดนึงตรงที่แพกเกจของ Norton 360 ที่ได้มายังเป็นแผ่นซีดี ซึ่งโน้ตบุ๊กของผมไม่มีไดรว์ DVD แล้ว (และคิดว่าของหลายคนก็เริ่มจะไม่มีเช่นกัน) ทำให้ต้องลำบากไปหา external DVD มาเสียบ

ลองไปค้นดูในเว็บของ Symantec พบว่าเค้ามี Norton 360 Netbook Edition ที่สื่อติดตั้งเป็น USB drive มาเลย (ในราคาเท่ากับรุ่นปกติ) ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี และหวังว่าในอีกไม่ช้า มันจะกลายเป็นมาตรฐานสำหรับซอฟต์แวร์แบบกล่องนะ

หน้าจอใส่คีย์ตามมาตรฐาน

เช่นเดียวกับโปรแกรมในตระกูลความปลอดภัย ต้องดาวน์โหลดแพตช์ล่าสุดก่อนติดตั้ง เพื่อความปลอดภัย

เสร็จเรียบร้อยก็จะได้หน้าต่างหลักแบบที่เห็น

จากภาพจะเห็นว่า Norton 360 แบ่งออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ ๆ พร้อมเครื่องมือเสริมอื่น ๆ ทั้งในขอบบนและขอบล่างของหน้าต่าง เรามาดูกันทีละส่วนครับ

PC Security

ส่วนนี้คือ Norton Antivirus และ firewall นั่นเองครับ เมื่อกดเข้ามาเราจะเห็นหน้าต่างรวมข้อมูลของส่วน PC Security

ส่วนของโปรแกรมแอนตี้ไวรัสคงไม่ต้องลงรายละเอียดนะครับ ไม่มีอะไรแตกต่างจากแอนตี้ไวรัสปกติแต่อย่างใด

การดาวน์โหลดไฟล์จากอินเทอร์เน็ตจะถูกแสกน แล้วขึ้นความปลอดภัยเป็นป๊อปอัพ อันนี้มาตรฐานเช่นกัน

Firewall สามารถระบุ rule ได้อย่างละเอียด (เหมาะสำหรับ power user)

Norton Insight - Application Ratings บอกข้อมูลของโพรเซสที่รันอยู่ในรูปแบบง่ายๆ เช่น บอกระดับของทรัพยากรที่ใช้ด้วยสี บอกระดับความน่าเชื่อถือโดยเทียบกับฐานข้อมูลของ Symantec และจำนวนผู้ใช้งานคนอื่นๆ

Norton Insight ยังสามารถเช็คข้อมูลของแต่ละไฟล์ได้ด้วย โดยแสดงข้อมูลจากผู้ใช้คนอื่นๆ ในฐานข้อมูลของ Symantec เป็นตัวเปรียบเทียบ ตัวอย่างนี้ทดสอบกับไฟล์ DLL ของโครงการ LAME ซึ่งผู้ใช้ Audacity ทุกคนน่าจะต้องเคยเห็น

Identity Protection

หมวดนี้เกี่ยวข้องกับการป้องกันข้อมูลส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ตครับ ในตัวโปรแกรม Norton 360 เอาไว้ตั้งค่าเท่านั้น การใช้งานจริงๆ อยู่บนเว็บเบราว์เซอร์แทน

เมื่อเราติดตั้ง Norton 360 แล้ว เปิด Firefox (หรือ IE) ขึ้นมาจะพบกับทูลบาร์ของ Norton ถ้าดูละเอียดสักนิดจะเห็นว่ามันเป็น extension (ตอนนี้ยังไม่รองรับ Chrome)

บนทูลบาร์ของ Norton มีปุ่มอยู่ 2 ปุ่ม เอาทีละอันนะครับ ปุ่มแรกชื่อ Norton Protection ช่วยเตือน "ความเสี่ยง" ของเว็บที่เราเข้าในขณะนั้น (หลักการทำงานคล้ายๆ กับบริเวณ favicon ของเบราว์เซอร์หลายๆ ตัวในตอนนี้ล่ะครับ) สถานะปกติจะเป็นสีเขียวพร้อมเครื่องหมายถูก เหมือนในรูปข้างบน

ถ้าเข้าเว็บที่มีข้อมูลของผู้ขายสินค้า ไอคอนจะมีรูปรถเข็นเพิ่มเข้ามา ตัวอย่างนี้คือ Facebook

หรือเว็บที่มีความปลอดภัยสูง จะเป็นรูปโล่ (ตัวอย่างนี้คือ Amazon มันควรจะเป็นรูปรถเข็นมากกว่านะ)

แน่นอนว่าเว็บที่เป็นภัยคุกคามผู้ใช้อินเทอร์เน็ต มันจะเตือนเป็นสีแดงครับ

ฐานข้อมูลที่ใช้เป็นของ Symantec เอง ไม่ใช่ของกูเกิลแบบที่ Firefox/Chrome ใช้ ตัวอย่างที่ต่างกันชัดเจนคือเว็บของกรมประชาสัมพันธ์ที่กูเกิลขึ้นเตือน แต่ Norton บอกไม่มีปัญหา

นอกจากขึ้นไอคอนเตือนในทูลบาร์แล้ว มันยังขึ้นเตือนในผลลัพธ์การค้นหาด้วย (บางคนอาจไม่ชอบเพราะดูรกตา)

เตือนภัยในหน้าผลลัพธ์การค้นหาได้เหมือนกัน

ไม่ใช่เฉพาะกูเกิล แต่ยังรองรับ Bing ด้วย (ผมลองกับ Yahoo! ก็ได้นะ)

โดยสรุปแล้วผมว่าฟีเจอร์นี้แนวคิดดี เพียงแต่มันยังไม่สามารถนำเสนอประโยชน์ที่เหนือกว่าฟีเจอร์แบบเดียวกันที่มากับเบราว์เซอร์ได้มากนัก (คือเบราว์เซอร์เตือนก็น่าจะพอแล้วสำหรับคนทั่วไป)

ปุ่มที่สองชื่อว่า Identity Safe Cards & Logins อธิบายง่ายๆ ว่ามันคือตัวช่วยกรอกฟอร์มและรหัสผ่านนั่นเองครับ ก่อนใช้งานต้องสร้าง profile ในหน้าต่างของ Norton 360 ก่อน

เมื่อสร้าง profile และกรอกข้อมูลส่วนตัวเรียบร้อย เวลาเจอหน้าที่มีฟอร์มให้สมัครสมาชิกเว็บ (รวมถึงรหัสผ่าน) Norton จะขึ้นป๊อปอัพมาถามเราว่า อยากให้ช่วยกรอกหรือไม่

ถ้าต้องการก็ตอบตกลง ฟอร์มส่วนที่ Norton ช่วยกรอกจะแสดงเป็นสีเขียว เพื่อบอกว่าอันนี้ข้อมูลปลอดภัย Norton ช่วยกรองให้แล้ว อะไรประมาณนี้

ผมคิดว่าเบราว์เซอร์หลายตัวก็มีความสามารถด้านเก็บข้อมูลส่วนตัวเพื่อช่วยกรอกฟอร์ม และตัวจัดการรหัสผ่าน ฟีเจอร์นี้ของ Norton 360 จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่นัก เพียงแต่มันช่วยให้เราสบายใจกว่าเดิม ว่ามี Symantec รับประกันคุณภาพ

Backup

อันนี้เป็นฟีเจอร์เฉพาะของชุด Norton 360 โดยตรง มันช่วยแบ็คอัพข้อมูลสำคัญๆ ลงดิสก์ภายนอกอื่นๆ หรือจะเลือกแบ็คอัพผ่าน cloud ไปไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ของ Symantec ก็ได้ ในชุด Norton 360 ให้เนื้อที่ 2GB เท่ากับบริการคู่แข่งอื่นๆ อย่าง Dropbox หรือ Ubuntu One อยากได้ที่เพิ่มก็ต้องจ่ายเพิ่มตามสูตร

หน้าต่างแบ็คอัพไม่มีอะไรพิสดาร แค่เลือกชุดของไฟล์ที่ต้องการแบ็คอัพ และช่วงเวลาที่ต้องการให้ Norton รันแบ็คอัพให้เท่านั้น

ผมไม่ได้ลองทำไฟล์เสียแล้ว restore นะครับ :P คงกล่าวถึงเรื่องแบ็คอัพได้แค่นี้ แต่ถ้าให้เทียบบริการลักษณะเดียวกัน ก็ต้องบอกว่า Dropbox ทำได้เท่ากันในราคาถูกกว่า

PC Tuneup

อธิบายแบบคนแก่ๆ ก็ต้องบอกว่ามันคือ Norton Utilities แบบลดรูปนั่นเอง

มันสามารถทำการปรับปรุงพื้นที่บนดิสก์, ล้าง registry, วิเคราะห์ปัญหาของเครื่อง และจัดการกับ startup ของระบบ (ฟีเจอร์หลายอันในนี้ หาได้ใน CCleaner ซึ่งแจกฟรี)

เรื่องการล้าง registry และไฟล์ชั่วคราวต่างๆ คงไม่ต้องกล่าวละเอียดนะครับ แค่สแกนแล้วกดล้างไปตามปกติ

Diagnosis Report คือรายงานปัญหาของเครื่อง มันจะคล้ายกับ Action Center ของ Windows 7 แต่ละเอียดกว่า ครอบคลุมเรื่อง Windows Update, โปรแกรมที่ติดตั้ง และฮาร์ดแวร์ได้ด้วย

การใช้งานไม่ต่างอะไรกับการเปิด Control Panel, Device Manager หรือ Windows Update ขึ้นมาเอง เพียงแต่มีรายงานสรุปพร้อมสัญลักษณ์ให้ดูง่ายๆ แบบนี้ก็ดีเหมือนกัน

Startup Manager ช่วยจัดการโปรแกรม startup ที่แอบไปซุกอยู่ใน registry ฟีเจอร์นี้มีใน CCleaner เช่นกัน แต่ของ Norton สามารถสั่งให้ delay startup ได้ด้วย

ฟีเจอร์อื่นๆ

นอกจาก 4 หมวดหลักของโปรแกรมแล้ว Norton 360 ยังมีเครื่องมืออื่นๆ มาให้อีกไม่น้อยเลยครับ

เริ่มจาก Norton Tasks เป็นลูกผสมของ Task Manager กับ scheduler สำหรับรันฟีเจอร์ต่างๆ ของ Norton 360

ข้างบนเป็นกราฟแสดงโหลดของระบบ (ที่ผมชอบคือแสดงโหลดของโปรแกรม Norton 360 เป็นสีเหลืองควบคู่ไปด้วย เป็นการบอกว่า "ตูไม่ได้กินโหลดนะเว้ย" แบบอ้อมๆ) ส่วนข้างล่างเป็นตารางงานพวกแสกน, อัพเดตฐานข้อมูลไวรัส ฯลฯ ที่จะรันเวลาเครื่องไม่ถูกใช้งาน

Network Security Map วิเคราะห์ความเสี่ยงจากเครื่องที่อยู่ในวงแลนเดียวกัน อันนี้ก็ดูเข้าใจง่ายดีครับ

System Insight แสดงประวัติของระบบทั้งหมด ตั้งแต่ติดตั้ง Norton 360 ไม่ว่าจะเป็นประวัติการสแกนไวรัส การอัพเดตฐานข้อมูลไวรัส การแบ็คอัพ รวมไปถึงการติดตั้งโปรแกรมของเรา และความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้น

หน้าต่างนี้แสดงเป็นไอคอนพร้อม timeline แยกเป็นเดือนสวยงาม ดูง่ายดี (โดยเฉพาะเวลาที่มีปัญหา)

แต่ถ้าอยากดูข้อมูลแบบละเอียดก็มี log manager ให้ดูเช่นกัน

Norton 360 รองรับ Windows 7 เป็นอย่างดี มีฟีเจอร์เล็กๆ น้อยๆ อย่างพวก jump list ให้ด้วย

สรุป

ผมลองใช้งาน Norton 360 มาเกือบเดือน สามารถตอบคำถามที่ทุกคนสงสัยว่า "หน่วงไหม" ได้ว่า "ไม่หน่วงแล้วครับ" ยืนยัน ลืมภาพลักษณ์เดิมๆ ของ Norton ไปได้เลย

ในแง่ฟีเจอร์โดยรวม เท่าที่ว่ามาทั้งหมด ผมคิดว่า Norton 360 มีมาให้พร้อมสรรพไร้ข้อกังขา การทำงานระหว่างฟีเจอร์แต่ละอันนั้นประสานงานกันเป็นอย่างดี โดยรวมแล้วคิดว่า Symantec ทำได้ยอดเยี่ยมเลยล่ะ

ประเด็นอยู่ที่ว่า ผมสามารถใช้งานฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยและการบำรุงรักษาระบบในลักษณะเดียวกัน ได้จากโปรแกรมฟรีในท้องตลาด เช่น

  • Microsoft Security Essentials สำหรับงานด้านความปลอดภัย (หรือโปรแกรมแอนตี้ไวรัสฟรีตัวอื่นก็ได้)
  • Dropbox สำหรับการแบ็คอัพ (2GB เท่ากัน)
  • CCleaner สำหรับการดูแลระบบ

ได้อยู่แล้ว (ถ้าให้ประเมินก็ประมาณ 70% ของสิ่งที่ Norton 360 ทำได้) คำถามจึงไปอยู่ที่ว่า เราควรเสียเงิน 79.99 ดอลลาร์ ให้ Norton 360 หรือเปล่า?

คำตอบคงขึ้นกับปัจจัยของแต่ละคน คงฟันธงได้ยาก ผมพอสรุปเป็นแนวทางได้ว่า ถ้าเป็นลูกค้าองค์กรที่เน้นความปลอดภัยของข้อมูล และมีเงิน (บริษัท) จ่าย ควรซื้อ ส่วนผู้ใช้ตามบ้านทั่วไป ใช้ของฟรีคุ้มกว่า

Blognone Jobs Premium