วันนี้เป็นวันงาน Intel Insider Day ที่อินเทลจัดขึ้นเพื่อพูดคุยกับบล็อกเกอร์ในไทยนอกเหนือไปจากสื่อมวลชนตามปรกติ ผมขอรายงานประเด็นที่ผมเชื่อว่าน่าสนใจจากการพูดคุยกันในงาน
Atom
- Moorestown ดูจะไม่ได้รับความนิยมนัก แต่ Medfield ซึ่งเป็นตัวถัดไปนั้นก็มีผลลัพธ์ที่ "ทำให้ทุกคนประหลาดใจ [ในเรื่องพลังงาน]" โดยงานนี้มีข่าวว่าจะมีผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ "รายใหญ่" ผลิตโทรศัพท์ด้วย Medfield หลังจากมันออกมา
- ราคาของชิป ARM ในตอนนี้ยังต่ำกว่า 10 ดอลลาร์ต่อชุด (ตัวถูกสุดไม่กี่บาทเท่านั้น) ขณะที่ Atom นั้นอยู่ที่ 20 ดอลลาร์ อนาคตเราน่าจะได้เห็น Atom ในระดับราคาเดียวกัน
- ในประเด็นที่ ARM กำลังบุกเข้าตลาดเซิร์ฟเวอร์ ผมถามว่าอินเทลคิดอย่างไร คำตอบที่ได้คือ "ARM ไม่มี x86" และเท่าที่ดูแผนการแล้วอินเทลยังไม่มีความคิดจะนำ Atom มาสู้กับ ARM ในกระแส Green IT แต่อย่างใด
- ผมถามถึง TSMC ที่มีการประกาศความร่วมมือกันเมื่อปีที่แล้วและหายไปเลย ปรากฏว่า TSMC นั้นเป็นเพียงแผนสำรองไว้ในกรณีที่อินเทลไม่สามารถผลิตชิปได้ทัน และเหตุการณ์นั้นไม่เคยเกิดขึ้น ทำให้เราคงไม่ได้เห็นชิป Atom จาก TSMC ไปอีกนาน
- อนาคตทุกอย่างคงเป็น SoC (System On Chip) ทั้งหมด
- เป้าหมายของการประหยัดพลังงานของ Atom คือระดับมิลลิวัตต์
- อินเทลลงทุนกับ Atom ครั้งแรกด้วยวิศวกร 400 คนโดยที่ผู้บริหารหลายคนไม่เห็นด้วย ในตอนนี้ฝ่าย Atom ทำกำไรได้ดี (เพราะต้นทุนต่อตัวต่ำมาก) และมีวิศวกรทำงานอยู่หลายพันคนแล้ว
เดสก์ทอป
- ราคาของ K-Series ซึ่งเป็น Core รุ่นที่โอเวอร์คล็อกได้ จะไม่ต่างจากรุ่นปรกติมากนัก Core i5 655K นั้นอยู่ที่ 7200 บาทเท่านั้น (เทียบกับรุ่น 660 ที่อยู่ที่ 7650 บาทในตอนนี้)
- แต่ K-Series จะไม่มีพัดลมมาในกล่อง เพราะถือว่าเอาไปโอเวอร์คล็อก อยากใช้ไนโตรเจนเหลว หรือน้ำ หรืออื่นๆ ก็หากันมาหล่อเย็นกันเอง
- มีช่วงการรับประกันอยู่ว่าไม่เกินระดับใด (แต่ละรุ่นต่างกันไปเช่น 3.6GHz ในรุ่น 655K) แต่การปรับก็เปิดให้ปรับเกินค่าเหล่านั้นได้ โดยเครื่องเดโมเร่งไปถึง 4.13GHz แต่ถ้าไหม้ขึ้นมาก็นอกเหนือประกัน
- ตลาดเดสก์ทอปจะเริ่มนิ่งอยู่ที่ 10-20% ของพีซีทั้งหมด ส่วนของไทยนั้นรวมๆ อยู่ที่ 30% และหัวเมืองใหญ่ๆ และกรุงเทพฯ สัดส่วนพีซีต่อโน้ตบุ๊กอยู่ที่ 20:80 กันแล้ว
- อินเทลรู้ตัวดีว่าคนเลือกคอมพิวเตอร์กันเพราะ CPU น้อยลงส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ซื้อไม่ใช่บุคคลากรไอทีอีกต่อไป แต่กลายเป็นคนทั่วๆ ไป แต่ด้วยเหตุนี้ทำให้เราเห็นโฆษณาของอินเทลมากขึ้น
เซิร์ฟเวอร์
- Xeon เริ่มกินตลาดเมนเฟรมเข้าไปเรื่อยๆ จากการถดถอยของค่ายเมนเฟรมเช่นซัน ลูกค้าระดับองค์กรเริ่มไม่มีความสงสัยว่า x86 จะเสถียรหรือไม่
- ตอนนี้เครื่องใน TOP500 เป็น Xeon อยู่ 80% อันนี้ผมไม่แน่ใจว่านับยังไงเพราะตามจำนวน "ซีพียู" จากข้อมูลของ BBC นั้นไม่ถึง แต่เข้าใจว่าอินเทลนับตามจำนวน "เครื่อง"
- แต่ก็มีการระบุว่าข้อมูลนี้ขาดข้อมูลชุดใหม่ที่ได้มาหลัง Xeon 5600 วางตลาด และรอบหน้าอินเทลน่าจะครองพื้นที่ถึง 90% แล้ว