เมื่อสัปดาห์ก่อนผมมีโอกาสได้ไปงานรับฟังความเห็นเรื่อง Broadband Wireless Access ของ กทช. ส่วนสัปดาห์นี้ได้ไปงานใกล้เคียงกัน แต่เป็นการรับฟังความเห็นด้าน 3G
ต้องปูพื้นสักนิดนะครับว่า การออกใบอนุญาต 3G ของ กทช. นั้นมีการรับฟังความเห็นหลายวงมาก รอบล่าสุดนี้หลังจาก กทช. ออก "ร่าง" หลักเกณฑ์การออกใบอนุญาต 3G ก็จะมีการรับฟังความเห็นวงใหญ่มาก (1,000+ คน) ในวันศุกร์หน้า (25 มิ.ย.) ส่วนงานที่ผมเพิ่งไปมา เป็นการรับฟังความเห็นจากเครือข่ายผู้บริโภค ที่จัดโดย สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ซึ่งเป็นลูกคนหนึ่งของ กทช. อีกทีครับ
งานจัดขึ้นวันที่ 17 มิ.ย. ที่ห้องประชุมของ กทช. โดยมีชื่องานว่า การรับฟังความเห็นผู้บริโภค เรื่อง "มิติการคุ้มครองผู้บริโภคในยุค 3G and Beyond" มีผู้ร่วมเสวนาดังนี้
- พ.อ.ดร. นที ศุกลรัตน์ - กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ แม่งานของ 3G และ BWA
- ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ - รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ใครติดตามข่าวโทรคมนาคมน่าจะคุ้นชื่ออยู่บ้าง
- ผศ.ดร. จิรศิลป์ จยาวรรณ - คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- คุณอดิศร์ หะริณสุต - บริษัทซิสโก้ ซีสเต็มส์ จำกัด
ดำเนินรายการโดย คุณสุภิญญา กลางณรงค์
งานนี้ผมไม่ค่อยได้จดประเด็นการเสวนา แต่ทดลองวิธีใหม่ คือใช้มือถือ (Samsung Galaxy S) ถ่ายวิดีโอ + อัดเสียงเสวนามาแทน (อย่างไรก็ตามเพื่อความสะดวกในการอัพโหลด ผมเลยถ่ายเป็น standard definition ก็พอ)
ประเด็นการเสวนาเป็นเรื่อง "ผู้บริโภคได้อะไรจาก 3G" เสียมาก โดยมีเครือข่ายผู้บริโภคทั่วไทยมาเข้าร่วมเกือบร้อยคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเรื่องโทรคมนาคมไทยเป็นอะไรที่ซับซ้อนสุดๆ หลายคนมีคำถามแต่ไม่กล้าถาม หรือไม่รู้จะถามใคร งานนี้เราเลยได้เห็น กทช. มาอธิบายคำถามหรือข้อสงสัยด้านโทรคมนาคมด้วยภาษาชาวบ้านๆ ซึ่งผมคิดว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก ใครไม่เข้าใจเรื่องโทรคมนาคมไทยและพอมีเวลา ควรดู-ฟังคลิปเหล่านี้ครับ
คลิปทั้งหมดรวมกันแล้วยาวเกือบ 3 ชั่วโมง อาจไม่จำเป็นต้องดูทั้งหมด ผมจะเลือกบางส่วนที่คิดว่าสำคัญจริงๆ และควรฟังเอาไว้ให้ครับ การเรียงคลิปจะเรียงตามลำดับเวลาในการพูดจากเริ่มงาน
พ.อ.ดร. นที ศุกลรัตน์ (รอบที่ 1 นำเสนอ)
อันนี้ไม่มีคลิป แต่มีประเด็นดังนี้
- พ.อ.นที เป็นคนรับดูแลเรื่อง 3G/WiMAX หลังจาก กทช. ชุดใหม่ได้รับการแต่งตั้ง โดย กทช. แต่ละคนจะแบ่งงานกันดูคนละประเด็น
- พ.อ.นที ยอมรับว่าตอนเข้ารับตำแหน่ง ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อ กทช. เหลือน้อยเต็มที
- วันที่แถลงข่าวรับตำแหน่ง นักข่าวรุมถามเรื่อง 3G ซึ่งตอนนั้น พ.อ. นที ยังไม่กล้าตอบว่า 3G เมื่อไร เพราะจะกลายเป็นสร้างความคาดหวังไป (ทำไม่ได้แล้วซวยอีก) แต่ตอนนี้กล้าบอกว่าภายในเดือนกันยายนจะออกใบอนุญาตให้ได้ และได้ใช้จริงในช่วงสิ้นปี
- แนวทางของ พ.อ.นที คือหาประโยชน์จากวิกฤต ไหนๆ ช้าแล้วก็ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดไปเลย เราเลยได้เห็นชื่อ 3.9G
- กทช. อยากเห็นการแข่งขันที่สมบูรณ์ ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการแข่งขัน
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
มีทั้งหมด 3 คลิป ประเด็นแบบสรุปๆ
- ร่างเกณฑ์การออกใบอนุญาตฉบับล่าสุดของ กทช. ดีกว่าร่างเดิมมาก
- ประเด็นด้าน MVNO ของเครือข่าย 3G ยังไม่ระบุจำนวน
- มีคำถามต่อ พ.อ.นที ว่า TOT/CAT สามารถร่วมประมูลได้หรือไม่ ได้คำตอบว่าได้
- เสนอให้ทำ coverage map ของ 3G เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ก่อนซื้อว่า ที่บ้านมีสัญญาณ 3G หรือไม่ (ตัวอย่าง coverage map ของอังกฤษ)
- ปัญหาการย้ายฐานลูกค้าจาก 2G ไปเป็น 3G เราอาจเห็นผู้ให้บริการร่วมกันขึ้นราคา 2G เพื่อบีบให้คนย้ายไปใช้ 3G
- ปัญหาใหม่ๆ ของ 3G เช่น 3G leak แล้วคิดเงินไปเรื่อยๆ
- การตีราคาตั้งต้นใบอนุญาต เสนอว่าราคาตั้งต้น 10,000 ล้านควรมากกว่านี้ และกทช. ควรมีราคาขั้นต่ำ (reserved price) ในใจ ถ้าไม่ถึงก็ไม่ต้องออกใบอนุญาต
คลิปชุดนี้: ควรดูเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ที่มีพื้นความรู้ด้านโทรคมนาคมเมืองไทยอยู่บ้าง (แต่ไม่รู้ก็ดูได้ครับ)
คุณอดิศร์ หะริณสุต
เสนอเรื่อง Open Access เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน และป้องกันการผูกขาดตลาด มีสไลด์ประกอบการบรรยายด้วย
ผศ.ดร. จิรศิลป์ จยาวรรณ
หลังจากนี้ไปเป็นคลิปเสียงครับ (อัดวิดีโอนานๆ มันเมื่อยมือนะ) ประเด็นมีดังนี้
- เราใช้ device คุ้มค่ากับเงินที่ซื้อมาหรือยัง?
- ปัญหา digital divide ถ้ารัฐไม่สามารถจัดการได้ จะยิ่ง divide มากขึ้น
- ปัญหา green it การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์, การนำไอทีมาใช้ลดกระดาษ
พ.อ.ดร. นที ศุกลรัตน์ (ช่วงที่ 2 ตอบคำถามของผู้ร่วมเสวนาท่านอื่น)
- กทช จะออกประกาศ MVNO เพิ่มเติม
- จำกัดสิทธิ์การร่วมกิจการของ MVNO กับเจ้าของโครงข่ายเดิม ให้เป็นธรรมกับเจ้าของเครือข่ายด้วย
- ต้องทำแผนที่ 3G coverage, ออกประกาศเรื่องการตรวจวัด coverage
- number portability กทช. สุรนันท์ ทำงานอยู่ รอแถลงข่าวในเร็วๆ นี้
- reserved price เหมาะสมแค่ไหน? ปัญหาโลกแตก
- ราคา 10,000 ล้าน ต้องมีที่มาที่ไป อธิบายได้
- ถ้าการแข่งขันสมบูรณ์จริง 10,000 ล้าน ไม่มีความหมายอยู่แล้ว เพราะตัวเลขประมูลจะเกินนี้
- ดังนั้น กทช. จึงต้องสร้างการแข่งขันสมบูรณ์ โดยออกใบอนุญาต n-1 น้อยกว่าจำนวนผู้เข้าร่วมประมูล 1 ใบ
- บังคับแชร์เสา infrastructure โดยกำหนดว่าผู้ให้บริการรายใหม่ต้องใช้เสาเดิมก่อน ยกเว้นมีปัญหาเทคนิคค่อยไปสร้างเสาใหม่ จะออกประกาศ กทช
- การสร้างโครงข่ายระดับชาติ: TOT, CAT, การไฟฟ้าทั้งสามองค์กร
คลิปเสียงนี้: ควรฟังเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ที่มีพื้นความรู้ด้านโทรคมนาคมเมืองไทยอยู่บ้าง
ช่วงรับฟังความเห็นจากผู้เข้าร่วมงาน
เครือข่ายผู้บริโภคที่มาร่วมงาน
พ.อ.ดร. นที ศุกลรัตน์ (ช่วงที่ 3 ตอบคำถามของผู้ร่วมงาน)
คลิปเสียงนี้: ควรฟังเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการคำอธิบายเรื่องโทรคมนาคมแบบง่ายๆ
ช่วงรับฟังความเห็นจากผู้เข้าร่วมงาน ช่วงที่สอง