10 คำถามกับ 3G ฉบับ Blognone

by mk
24 June 2010 - 15:58

อย่างที่เขียนไปหลายทีแล้วว่า 3G ในไทยกำลังเข้าใกล้ความเป็นจริง โดยวันที่ 25 มิ.ย. นี้ กทช. จะเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะเรื่อง 3G ก่อนเริ่มกระบวนการประมูล

ทาง Blognone มีความตั้งใจว่าจะเสนอความเห็นต่อร่างกฎเกณฑ์ 3G เข้าไปยัง กทช. เช่นกัน แต่เรื่องการออกใบอนุญาต 3G มีความซับซ้อนสูงมาก (ผมนั่งอ่านอยู่อาทิตย์นึงกว่าจะ "พอเข้าใจ") ถ้าเอาเวอร์ชันที่ยึดตามโครงของ กทช. (PDF) รับรองงงกันหมดแน่ ผมมานั่งคิดๆ ดูแล้ว เลยขอเสนอเป็นเวอร์ชันตัดทอนรายละเอียดลงเพื่อให้เข้าใจง่าย น่าจะมีประโยชน์ต่อคนที่ยังงงๆ กับประเด็นเรื่อง 3G มากกว่าครับ

บทความก่อนหน้าที่เกี่ยวข้อง

หมายเหตุ: เนื้อหาในบทความนี้ หลายส่วนมากได้ข้อมูลจากคุณ jows สมาชิกผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมของเรา (ดูผลงานที่เคยเขียนก่อนหน้านี้) และบางประเด็นมาจากคุณ lew ครับ

ผมจะใช้รูปแบบการเขียนเป็นถาม-ตอบ เหมือนกับ FAQ ซึ่งจะจำกัดไว้ที่ 10 คำถาม

1) 3G, 3.5G, 3.9G หรือ 4G

คำถามนี้เป็นเรื่องของชื่อ-ชนิดของเทคโนโลยีเป็นสำคัญครับ ผมคิดว่าเราคงรู้กันดีอยู่แล้วว่ามือถือปัจจุบันเรียกว่า 2G (EDGE มักถูกนับเป็น 2.75G) ส่วน 3G เป็นชื่อเรียก "กลุ่ม" หรือ "รุ่น" เทคโนโลยีที่ใหม่ขึ้นมาอีกระดับ เล่นเน็ตได้เร็วขึ้นมาอีกระดับ

3G

ที่ต้องเน้นว่า "กลุ่ม" ก็เพราะใน 3G เองก็มีเทคโนโลยีแยกย่อยมากมาย ถ้าจะให้ถูกต้องตามหลักวิชาการจริงๆ เราจะต้องเรียกเทคโนโลยีกลุ่มนี้ว่า International Mobile Telecommunications-2000 (IMT-2000)

เทคโนโลยีตระกูล IMT-2000 แบ่งเป็น 2 ค่ายใหญ่ๆ ตามขั้ว GSM/CDMA ในอดีตยุค 2G

  • ฝั่ง GSM คือ UMTS และ WCDMA (ถึงแม้จะมีชื่อ CDMA แต่เป็นของค่าย GSM อย่าเพิ่งงงนะครับ)
  • ฝั่ง CDMA คือ CDMA2000 1xEV-DO

3.5G

ตัวเทคโนโลยี 3G นั้นออกมาตั้งแต่ช่วงปี 1999/2000 (เปิดบริการเชิงพาณิชย์ที่แรกในญี่ปุ่นปี 2001) ซึ่งมันก็พัฒนาขึ้นมาตามกาลเวลา ความเร็วสูงขึ้น ฟีเจอร์เยอะขึ้น ชื่อเทคโนโลยีในตระกูลนี้ที่เราคุ้นเคยกันก็อย่างเช่น HSDPA, HSUPA ซึ่งคนมักเรียกว่า 3.5G เพื่อความเข้าใจง่าย

ถัดมาจากนั้นอีกนิดเราก็มี HSPA+ ซึ่งเร็วขึ้นอีก ไม่ค่อยมีใครนิยามตัวเลขให้มันมากนัก ผมเรียกมันให้เป็นตัวเลขว่า 3.7G แล้วกันครับ

4G

ถ้ายึดเอา ITU องค์การโทรคมนาคมนานาชาติเป็นหลัก ตอนนี้ โลกเรายังไม่มีมาตรฐาน 4G ครับ ITU กำลังพิจารณามาตรฐานนี้ และน่าจะเสร็จประมาณปี 2012

มาตรฐานที่เข้าข่าย 4G ของ ITU มีสองตัวคือ LTE Advanced และ WiMAX แบบ 802.16m ซึ่งกำลังยื่นขอผ่านกระบวนการของ ITU ทั้งคู่

ส่วน 4G ที่เราเห็นตามข่าวเก่าๆ โดยเฉพาะข่าวของ Sprint ในสหรัฐนั้น เป็น "ชื่อทางโฆษณา" ของ Sprint เท่านั้น ถ้ายึดตามหลักวิชาจริงๆ มันนับเป็นแค่ 3.9G

3.9G

ผู้ผลิตอุปกรณ์มือถือได้ออกเทคโนโลยีมาสองตัวสองขั้วคือ LTE และ WiMAX ทั้งสองตัวนี้เร็วกว่า 3.7G แต่มันยังเร็วไม่พออย่างที่ ITU อยากให้ 4G เป็น ดังนั้นบางคนเลยเรียกมันว่า "3.9G" (แต่ที่ผมว่าตรงกว่าคือ "4G Beta" คงไม่มีใครเรียกตาม)

กทช. จะประมูลอะไรกันแน่

ถึงแม้ว่า ดร. นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จะโปรโมทคำว่า 3.9G อย่างมากก็ตาม (ข่าวเก่า กทช. หวังเปิด 3.9G นำหน้าทุกประเทศเพื่อนบ้าน, กทช. เดินเครื่อง 3.9G เต็มกำลัง!) แต่เอาจริงแล้ว ในเอกสารอย่างเป็นทางการสำหรับการออกใบอนุญาต เขียนไว้แค่ว่า "โทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1GHz" เท่านั้น แปลให้ง่ายๆ ก็คือประมูลเฉพาะความถี่เท่านั้น ผู้ชนะจะใช้เทคโนโลยีอะไรก็เชิญตามสะดวก

ถ้าเรายึดเอานิยาม 3.9G ตามหลักวิชา ก็อาจมองได้ว่าผู้ชนะอาจใช้ LTE (หรือ WiMAX ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้น้อยกว่า) แต่ถ้ามองตามสภาพความเป็นจริง LTE ยังอยู่ในขั้นทดลองใช้ในหลายๆ ประเทศ และอุปกรณ์ LTE ก็ยังไม่แพร่หลายมากนัก ทั้งในฝั่งเครื่องส่งและเครื่องรับ (ผมมองว่ามันคือเทคโนโลยีรุ่น Beta ที่ออกมาคั่นกลางระหว่าง 3G และ 4G คงจะตายไปในเร็ววัน เพื่อรอใช้ LTE Advanced ทีเดียว) ดังนั้นสุดท้ายแล้วเราคงได้ใช้ HSPA+ กันในช่วงปีแรกที่เปิดให้บริการครับ (แค่นี้ก็หรูแล้ว)

สรุปว่าตอนนี้ กทช. จะให้คลื่นช่วง 2.1 GHz มาทำธุรกิจ จะเรียกมันว่า IMT/IMT-2000/3G/3.9G หมายถึงสิ่งเดียวกันครับ

2) สัมปทาน vs ใบอนุญาต

อันนี้เป็นเรื่องที่ยังเข้าใจผิดกันเยอะมาก ผมเลยใช้โอกาสนี้เขียนอธิบายเลยละกัน

สัมปทาน

โทรศัพท์แบบ 2G ของไทย อยู่ใต้ระบบสัมปทาน (concession) ซึ่งออกโดย รัฐวิสาหกิจ ด้านโทรคมนาคมในขณะนั้น (ช่วง พ.ศ. 2533) คือ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ให้กับ AIS) และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (ให้กับ DTAC และ TRUE)

ภายหลังพอมีรัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดให้ "แยกส่วน" รัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคม คือ แยกส่วนของการกำกับดูแล (กรรมการ) ออกจากผู้ประกอบการ (ผู้เล่น)

  • ตั้งองค์กรใหม่ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ขึ้นมาเป็นกรรมการ
  • ส่วนองค์การโทรศัพท์ฯ และการสื่อสารฯ ถูกถอดบทลงให้กลายเป็นผู้เล่น และถูกแปรรูปเป็นบริษัทในเวลาต่อมา (แต่ยังเป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง 100%) ซึ่งตอนนี้คือ TOT และ CAT Telecom

แม้ว่า TOT และ CAT ถูกแปรสภาพเป็นบริษัท เช่นเดียวกับ AIS, DTAC, TRUE แล้วก็ตาม แต่สัญญาสัมปทานเดิมยังคงอยู่ ต้องรอหมดอายุในช่วงปี 2556-2561 ขึ้นกับสัญญาของแต่ละเจ้า

คำว่า "สัมปทาน" มีลักษณะพิเศษตรงที่ รัฐจะจ้างให้เอกชนดำเนินงานให้ แต่เมื่อครบสัญญาแล้ว ผลงาน ทรัพย์สิน อุปกรณ์ทั้งหมด จะตกเป็นของรัฐ แนวคิดนี้มาจากวงการคมนาคม-ก่อสร้าง (เช่น สร้างทางด่วน) มีชื่อเรียกว่า Build-Operate-Transfer (BOT)

ใบอนุญาต

ในโลกโทรคมนาคมยุคใหม่ ไม่ใช้ระบบสัมปทาน แต่ใช้ ระบบใบอนุญาต (licensing) ซึ่งออกโดยองค์กรกำกับดูแลอิสระ (regulator) อันนี้เป็นแนวทางที่ทุกประเทศทำกันหมดแล้วในสมัยนี้ ตัวอย่างองค์กรกำกับดูแลด้านโทรคมที่ดังๆ ของต่างชาติก็คือ FCC ของสหรัฐ, Ofcom ของอังกฤษ และ ACMA ของออสเตรเลีย

องค์กรกำกับดูแลองค์กรโทรคมนาคม (ในที่นี้คือ กทช.) จะเป็นอิสระจากรัฐบาล อันนี้เป็นเรื่องที่คนยังเข้าใจผิดกันเยอะ

  • รัฐบาลเปลี่ยน กทช. ไม่เปลี่ยนตาม (กทช. จะเปลี่ยนเมื่อหมดวาระ และมีกระบวนการสรรหาของตัวเอง)
  • รัฐบาลไม่สามารถสั่ง กทช. ได้เหมือนกับที่สั่งกระทรวงไอซีที
  • กทช. มีฐานะเหมือน "เพื่อนร่วมงาน" ของรัฐบาล ทำงานร่วมกันได้แต่ไม่ต้องเชื่อฟังกันและกัน

รูปแบบของ กทช. จะคล้ายๆ กับองค์กรอิสระอื่นๆ เช่น กสช. (ซึ่งยังไม่เกิด) กกต. หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งองค์กรลักษณะนี้เพิ่งมีได้ไม่นานนัก (หลังรัฐธรรมนูญปี 40) โดยจุดหมายของการตั้งองค์กรแบบนี้เพื่อให้เป็นอิสระ ไม่โดยการเมืองแทรกแซง และคานอำนาจกับรัฐบาลได้

เครื่องมือที่ กทช. ใช้กำกับดูแลคือ "ใบอนุญาต" (license) การประกอบธุรกิจด้านโทรคมนาคมใดๆ ต้องผ่านการขออนุญาตจาก กทช. ก่อน ปัจจุบัน ISP ทุกราย และผู้ให้บริการเกตเวย์ทุกราย ผ่านการขออนุญาตจาก กทช. มาหมดแล้วครับ

ในกรณีของ ISP ซึ่งมีได้ไม่จำกัด มาขอกี่ราย กทช. ก็ให้ใบอนุญาตหมด (ถ้าผ่านเกณฑ์ที่กำหนด) โดยคิดค่าธรรมเนียมจำนวนหนึ่ง แต่ในกรณีของโทรศัพท์มือถือซึ่งคลื่นความถี่มีจำกัด อยากได้ใบอนุญาตก็ต้องชิงกันหน่อย ซึ่งวิธีที่ กทช. เลือกใช้ก็คือ "การประมูล" ใครจ่ายมากได้ความถี่ไปครอบครอง

สรุปอีกครั้งว่า การประกอบธุรกิจด้านโทรคมนาคมในประเทศไทย เปลี่ยนมาใช้ระบบใบอนุญาตหมดแล้ว เพียงแต่ สัมปทาน 2G เดิมที่ยังอยู่นั้นยังไม่หมดอายุ และมีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนี้ด้วย (1 ประเทศ 2 ระบบ)

3) วิธีการประมูลคลื่น 3G

อย่างที่เขียนไปแล้วว่า คลื่นความถี่มีจำกัด คนอยากได้มีเยอะ ดังนั้นต้องแข่งกันเสียก่อน วิธีการแข่งขันมีหลายวิธี เช่น สุ่มให้ (มีจริงๆ นะ), การประกวดคุณสมบัติ (เหมือนประกวดนางงาม), มาก่อนได้ก่อน (แบบการสมัครกวดวิชา) ฯลฯ แต่ที่ กทช. เลือกใช้สำหรับกรณี IMT/3G คือการประมูล (คนที่ยังไม่รู้จักว่าประมูลคืออะไร ควรไปอ่าน Hunter x Hunter)

การประมูลเองก็มีวิธีแยกย่อยหลายวิธีครับ เช่น ประมูลใบอนุญาตทีละใบ (เดือนหนึ่งประมูลใบแรก เดือนสามประมูลใบที่สอง) หรือประมูลพร้อมกันหมดทุกใบ

กรณีของการประมูลความถี่ด้านโทรคมนาคม มีวิธีที่นิยมกันในระดับสากลที่เรียกว่า Simultaneous Multiple-Round Auctions (SMR) คือการประมูลใบอนุญาตทุกใบพร้อมกัน (มี 3 ใบ ประมูล 3 ใบ, มี 5 ใบ ประมูล 5 ใบ) และแบ่งการประมูลเป็นรอบๆ หนึ่งรอบยื่นราคาได้คนละครั้งเดียว เพิ่มราคาได้รอบละไม่เกิน 10% สิ้นสุดต่อเมื่อรอบนั้นมีคนเสนอราคาแค่คนเดียว (คู่แข่งคนอื่นยอมหมอบหมดแล้ว)

ผมคงไม่ลงรายละเอียดมาก แต่มันเป็นวิธีการประมูลที่ให้การแข่งขันเป็นธรรมมากที่สุดในขณะนี้ คนคิดคือ FCC ของสหรัฐ การประมูล 3G ของอังกฤษใช้วิธีนี้ การประมูล 3G ของอินเดียที่เพิ่งจบไปก็ใช้วิธีนี้ (อ่านข่าวเก่าของคุณ jows ประกอบ ประมูล 3G อินเดีย จบที่ห้าแสนล้าน, ประมูล BWA ที่อินเดียจบที่เกือบสามแสนล้านบาท)

ถ้าใครนึกรูปแบบการประมูลแบบ SMR ไม่ออก ลองดูผลของการประมูล 3G ของอังกฤษในปี 2000 แจกใบอนุญาต 5 ใบ คนประมูลเกือบสิบ ประมูลกันไป 150 รอบกว่าจะลงเอยครับ (ประมูลกันเป็นเดือนเลยล่ะ)

สรุปว่า กทช. เลือกใช้วิธีการประมูลแบบ SMR ที่เป็นสากล ไม่มีอะไรพิสดาร แต่เมืองไทยจะมีการประมูลลักษณะนี้เป็นครั้งแรก รอดูข่าวประมูลกันเป็นเดือนได้เลย)

4) จะมีผู้ให้บริการ 3G กี่ราย

ความถี่ที่ว่างอยู่มีจำกัด และความถี่ในการใช้งาน 3G อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีช่วงกว้างอย่างต่ำที่ 5 MHz สำหรับขาเดียว (แปลว่าส่งรับต้อง 2x5 MHz) โดยทั่วไปมักใช้กันที่ 10-20 MHz

กรณีของอังกฤษ แจกทั้งแบบ 2x15 MHz และ 2x10 MHz โดยแจกรวมกัน 5 ใบ

กรณีของไทยคราวนี้ จะแจก 2x15 MHZ เท่ากันหมด 3 ใบ

การแจกความถี่ช่วงกว้างเท่ากันหมด ช่วยให้การแข่งขันของผู้ให้บริการทั้ง 3 รายยุติธรรมดี ไม่มีแต้มต่อของใครคนหนึ่ง ส่วนการแจกจำนวน 3 ใบ มีหลักอธิบายเรื่องเทคนิค (15 MHz) และเรื่องเศรษฐศาสตร์ (จำนวนผู้ให้บริการที่เหมาะสม) ซึ่งจะสมเหตุสมผลหรือไม่ก็ต้องไปว่ากันในรายละเอียด (บางคนอาจบอก 4 รายดีกว่า แต่งานนี้ กทช. เลือก 3 ราย)

ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือผู้ให้บริการรายเดิมทั้งสาม จะได้ใบอนุญาต 3G กันหมด อันนี้ไม่มีอะไรต่างไปจากเดิมที่เป็นอยู่ในตอนนี้มากนัก แต่ถ้ามียักษ์รายใหม่ทุนหนาโผล่เข้ามา (เช่น Vodafone, China Mobile) ก็ต้องมีรายเก่าสักรายน้ำตาเช็ดหัวเข่า

กทช. มีเงื่อนไขเล็กน้อยว่า จะเปิดประมูล 3 ใบ ถ้ามีผู้เข้าประมูลที่มีศักยภาพมาร่วมประมูล 4 รายขึ้นไป ถ้ามีผู้เข้าร่วมประมูล 3 รายเท่านั้น จะทำให้การแข่งขันต่ำลงมาก (ประมูลยังไงก็ได้แน่ ไม่ต้องทุ่มเงิน) ประเทศเสียเงินที่ควรจะได้จากการแข่งขัน ถ้าเกิดกรณีนี้ขึ้น กทช. จะลดจำนวนใบอนุญาตลงเหลือ 2 ใบแทน (กฎ N-1)

อันนี้เป็นคำอธิบายฉบับคุณ jows

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญของร่างประกาศฯ ฉบับนี้เมื่อเทียบกับร่างประกาศฯ ฉบับก่อนคือจำนวนใบอนุญาตที่ลดลงจาก 4 ใบเหลือ 3 ใบ ครั้งที่แล้ว กทช. ให้เหตุผลว่าการออกใบอนุญาต 4 ใบเนื่องจากต้องการเห็นผู้เล่นรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1 ราย โดยที่ 3 รายจะได้ 2x10MHz แต่อีกรายจะได้ 2x15MHz และมีการกำหนดราคาใบอนุญาตที่แตกต่างกันไปตามขนาดของคลื่นความถี่ มาครั้งนี้ กทช. ประกาศว่าจะให้เพียง 3 ราย รายละ 2x15MHz โดยอ้างความเท่าเทียมกันในการแข่งขัน ทุกรายจะได้ขนาดของคลื่นความถี่เท่ากันและราคาใบอนุญาตที่เท่ากัน ถ้ามองในเชิงเทคนิคแล้ว 2x15MHz นั้นเหมาะสมกว่าในการวางแผนคลื่นความถี่และมีความยืดหยุ่น (flexible) ในการรองรับเทคโนโลยีในอนาคตได้ดีกว่า (เช่นการรองรับ femtocell และ HSPA+ แบบ dual-carrier)

อย่างไรก็ตาม วิธีการประมูลแบบนี้ก็มีด้านให้วิจารณ์ได้

เงื่อนไข N - 1 ที่ กทช. ตั้งขึ้นดูเหมือนว่าจะก่อให้เกิดการแข่งขันในระหว่างประมูลเ่ท่านั้นโดยไม่มีผลในการส่งเสริมการแข่งขันในตลาดเลย ซ้ำร้ายเงื่อนไขนี้ยังจะ ‘ลด’ การแข่งขันในตลาดลงด้วย พิจารณาจากตัวอย่างข้างต้นเมื่อมีผู้มีสิทธิประมูล 3 ราย และการประมูลสิ้นสุดลงจะมีผู้ัรับใบอนุญาตเพียงสองรายเท่านั้น เมื่อในตลาดมีผู้เล่นเพียงสองราย การร่วมมือกันตั้งราคาก็เป็นไปได้ง่าย (duopoly) หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการรายเล็กที่สุดถอนตัวจากการประมูลก่อนการประมูลจะเริ่มต้นขึ้น ทำให้เหลือผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูลเพียงสองราย นั่นหมายความว่าจะเหลือผู้เล่นเพียงรายเดียวในตลาดตั้งแต่ต้น (monopoly) ซึ่งทำให้การประมูลในรูปแบบนี้ลดการแข่งขันในตลาดอย่างชัดเจน และผู้ที่เสียเปรียบก็คือผู้บริโภค

ถึงแม้จะไม่ได้กล่าวไว้ในร่างประกาศฯ แต่ กทช. ก็ได้ให้ข่าวว่าจะนำใบอนุญาตที่ไม่สามารถจัดสรรได้ในครั้งนี้มาประมูลใหม่ในคราวหลัง แต่นั่นอาจนำไปสู่ปัญหาความเท่าเทียมในการแข่งขันที่จะตามมาอีกมา เช่น ระยะเวลาใบอนุญาตที่ไม่ตรงกัน ราคาใบอนุญาตที่ไม่เท่ากัน ความได้เปรียบ-เสียเปรียบทางการตลาด เงื่อนไขใบอนุญาตที่ (จำเป็นต้อง) ต่างกัน ฯลฯ
แต่ปัญหาสำคัญเหมือนจะเป็นเรื่องกรอบเวลาที่จะสามารถจัดประมูลได้อีกครั้ง เนื่องจากภาวะสูญญากาศที่ กทช. 3 ท่านจะพ้นวาระไปในเดือนตุลาคมนี้ และถ้าจะรอ กสทช. ตาม พรบ. องค์การจัดสรรคลื่นฯ ใหม่ก็คาดว่าจะต้องรอการจัดตั้งได้ราวกลางปีหน้า นี่ยังไม่นับเวลาที่คณะกรรมการใหม่จะนำใบอนุญาต 3G มาพิจารณาอีกรอบ

ตัวอย่างของประเทศที่การจัดสรรใบอนุญาตไม่สามารถเสร็จสิ้นได้ในคราวเดียว เช่นกรณีของฝรั่งเศสที่เริ่มให้ใบอนุญาต 2 ใบแรกในปี 2001 และอีก 1 ใบในปีถัดมา และเพิ่งสามารถออกใบอนุญาตใบสุดท้ายได้เมื่อปลายปี 2009 ซึ่งยังมีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของสิทธิในใบอนุญาตแต่ละใบมาจนถึงบัดนี้ หรือกรณีของโปแลนด์ซึ่งเริ่มจัดสรรครั้งแรก 3 ใบในปี 2000 และจัดสรรได้อีกใบในอีก 5 ปีให้หลัง โดยใบหลังสุดมีราคาเพียงหนึ่งในแปดของใบอนุญาตก่อนหน้านี้

5) ราคาตั้งต้นของใบอนุญาต

กทช. กำหนดราคาตั้งต้นไว้ที่ใบละ 10,000 ล้านบาท ถูกหรือแพง? ผมยกคำอธิบายของคุณ jows มาเลยดีกว่า (ง่ายดี :P)

ราคาเริ่มต้นที่ใบละ 10,000 ล้านบาทอาจดูเหมือนแพง แต่จริงๆ แล้วการจ่ายเงินเพียง 10,000 ล้านสำหรับใบอนุญาตอายุ 15 ปีนั้น ถือว่าถูกมาก ลองคิดกันเล่นๆ ว่าประเทศไทยมีประชากรราว 63 ล้านคน สมมุติว่าเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรหรือราว 30 ล้านคนจะเป็นลูกค้า 3G (ปัจจุบันลูกค้า 2G ในตลาดมีมากกว่าจำนวนประชากรแล้ว) และผู้รับใบอนุญาตทั้ง 3 รายได้ส่วนแบ่งลูกค้าเฉลี่ยรายละ 10 ล้านคน ในอายุของใบอนุญาต 15 ปีให้ถือว่า 5 ปีแรกเป็นช่วงทำตลาดและถือว่าตลาดโต (mature) ในระยะเวลา 10 ปีหลัง ภาระต้นทุนค่าคลื่นความถี่ที่จะตกไปสู่ผู้ลริโภคจะเหลือคนละ 100 บาทต่อคนต่อปีเมื่อคิดเพียง 10 ปีหลังหรือตกเดือนละไม่ถึง 10 บาทจากค่าโทรศัพท์ทั้งหมด (หรืออาจจะต่ำกว่านี้ถ้าคิด discount rate ด้วย) นี่คือภาระที่ถูกผลักไปยังผู้บริโภคครับ

ราคาใบอนุญาตนั้นนักเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นต้นทุนจม (sunk cost) แต่ก็มีนักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ต้นทุนจมนั้นตามทฤษฎีแล้วจะไม่มีผลในการกำหนดราคาขั้นสุดท้ายสำหรับผู้บริโภค นั่นหมายความว่าถึงจะประมูลค่าคลื่นไปเป็นหลักหมื่นล้านแต่ก็จะไม่ทำให้ค่าโทรศัพท์แพงตามไปด้วยเนื่องจากค่าโทรศัพท์จะถูกกำหนดโดยการแข่งขันในตลาดและต้นทุนแปรผัน (variable costs) มีนักเศรษฐศาสตร์บางส่วนที่แม้ยอมรับว่าค่าคลื่นเป็นต้นทุนจม แต่ก็ยังเห็นว่ามันมีผลกระทบทางอ้อมต่อการกำหนดราคาขั้นสุดท้ายต่อผู้บริโภคอยู่ดี (ดู NERA (บริษัทที่ให้คำปรึกษาแก่ กทช. เรื่องการประมูลคลื่น!) และ McAfee) ตัวอย่างเช่นกรณีการประมูลคลื่น 3G ในเยอรมันเมื่อปี 2000 ซึ่งเป็นการประมูลคลื่นที่แพงที่สุดในโลก ผลก็คือทำให้บริษัทที่ชนะการประมูล 2 ใน 6 รายต้องคืนใบอนุญาตในภายหลัง เนื่องจากไม่สามารถลงทุนสร้างโครงข่ายได้ทันตามกำหนด ซึ่งเป็นการลดการแข่งขันและอาจส่งผลให้การแข่งขันด้านราคาไม่เกิดขึ้นมากอย่างที่ควรจะเป็น นั่นหมายถึงการส่งต่อภาระต้นทุนไปยังผู้บริโภคนั่นเอง

6) อายุของใบอนุญาต

กทช. กำหนดอายุใบอนุญาตที่ 15 ปี ยกคำอธิบายมาจากคุณ jows เช่นกัน

ระยะเวลาของใบอนุญาตนั้นสำคัญพอๆ กับปีที่สิ้นสุดใบอนุญาต กล่าวคือมูลค่าของใบอนุญาตขึ้นอยู่ระยะเวลาของใบอนุญาต ยิ่งระยะเวลานาน ราคาใบอนุญาตก็ยิ่งมีราคาแพงเนื่องจากมีระยะเวลาหากำไรหลังจากจุดคุ้มทุนนานขึ้น ส่วนปีที่สิ้นสุดใบอนุญาตนั้นก็ควรจะมีจังหวะเวลาสอดคล้องตลาดอื่นๆ ในโลกเพื่อความเหมาะสมในการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

ใบอนุญาตอายุ 15 ปีนี้จะสิ้นสุดราวปี 2025 ซึ่งถือว่าเป็นจังหวะเวลาที่กำลังพอดีในการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี การหมดอายุนั้นสำคัญมาก หากพิจารณาว่าใบอนุญาตจะหมดปี 2030 ระยะเวลา 5 ปีสุดท้ายที่เพิ่มขึ้นมาอาจจะเป็นข้อเสียมากกว่าข้อดี เนื่องจากในตลาดต่างประเทศอาจใช้ความถี่ย่านนี้ไปใช้ให้บริการอย่างอื่นที่ไม่ใช่ 3G แล้วในเวลานั้น ขณะที่ผู้รับใบอนุญาตก็จะไม่กล้าลงทุนกับบริการใหม่ๆ เหล่านั้นเนื่องจากเหลือเวลาใบอนุญาตอีกเพียง 5 ปี ลงทุนไปไม่มีก็อาจจะคืนทุนไม่ทัน ซ้ำยังต้องรออีก 5 ปีจนกว่าจะมีการจัดสรรใหม่เกิดขึ้น ทำให้ช้ากว่าประเทศอื่นๆ ไป 5 ปีโดยเปล่าประโยชน์ อนึ่ง ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทที่สาม (แบบมีโครงข่ายของตัวเอง) สามารถมีอายุได้ตั้งแต่ 15 - 25 ปี โดยเฉลี่ยแล้ว กทช. จะให้ที่ 20 ปี ดังนั้นใบอนุญาตอายุ 15 ปีนั้นดูเหมือนค่อนข้างจะสั้นกว่าใบอนุญาตประเภทที่สามอื่นๆ แต่ทั้งนี้เป็นเพราะการจัดสรรใบอนุญาต 3G นั้นได้ล่วงเลยมานานมากแล้วนั่นเอง

สรุปว่า 3G บ้านเรามันช้าไปมากแล้ว รอบนี้ออกใบอนุญาต 15 ปีก็ดูสมเหตุสมผลดี หมดแล้วตอนนั้นคงได้ใช้ 4G 5G กันแทนแล้ว

7) ใครประมูลได้บ้าง?

ที่ กทช. ประกาศชัดคือ TOT กับ CAT ประมูลไม่ได้ เพราะได้ใบอนุญาต 3G ของตัวเองไปแล้ว

ส่วนรายอื่นที่อยากเข้ามาประมูล ต้องมีคุณสมบัติคร่าวๆ ดังนี้

  • เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย
  • มิใช่คนต่างด้าว (มีหุ้นต่างชาติไม่เกิน 49%)
  • ไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ขออนุญาตรายอื่น เช่น ไม่ถือหุ้นข้ามกัน
  • มีเงินประกันการประมูล 500,000 บาท

ถ้าชนะการประมูลแล้ว แต่ยังไม่ได้เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องจดทะเบียนภายใน 3 ปี

เงื่อนไขเหล่านี้ รายใหญ่ทั้งสามรายผ่านหมด และคงเข้าประมูลกันพร้อมหน้า ที่น่าสนใจคืออาจมีม้ามืดเข้าร่วมการประมูลด้วยก็ได้

8) ว่าด้วย MVNO

การเปิดบริการ TOT 3G ทำให้คนไทยเริ่มรู้จักกับ MVNO กันมากขึ้น MVNO ย่อมาจาก Mobile Virtual Network Operator อธิบายให้ง่ายคือผู้ให้บริการโทรศัพท์ที่ไม่มีโครงข่ายโทรศัพท์ของตัวเอง (ใช้วิธีเช่าเอาจากผู้ให้บริการรายอื่นอีกที)

MVNO เป็นกฎที่ออกมาแก้ปัญหาเรื่องความถี่มีจำกัด ทำให้ผู้เล่นในตลาดมีน้อยราย การบังคับให้มี MVNO จะทำให้ตลาดมีการแข่งขันเพิ่มขึ้น เพราะมีจำนวนผู้ให้บริการเชิงพาณิชย์ได้มากกว่าที่ความถี่ทำได้นั่นเอง (มองว่ามันคือ virtualization ทางโทรคมนาคมก็ได้ครับ)

ตามกฎของ กทช. ระบุว่า ผู้ชนะการประมูลแต่ละราย ต้องยอมให้ MVNO มาขอใช้บริการร่วมได้ไม่ต่ำกว่า 40% ของความสามารถ (capacity) ของเครือข่าย

ถ้าเกิดว่ามีรายใหญ่สักราย ประมูลไม่สำเร็จ โดนม้ามืดมาแย่งไป อาจต้องมาให้บริการ 3G ผ่าน MVNO ของรายอื่นแทน

ในประกาศของ กทช. ยังไม่ให้รายละเอียดเรื่อง MVNO ที่ชัดเจนเท่าไรนัก (เป็นจุดอ่อนของประกาศฉบับนี้) แต่ผมคงไม่ลงรายละเอียดในบทความชิ้นนี้

9) การใช้งาน 2G กับ 3G

ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ขัดแย้งกันมาก (และอาจจะมากที่สุดในบรรดาเรื่อง 3G ทั้งหมด)

สมมติว่าผู้ให้บริการรายเดิมทั้ง 3 ราย ชนะการประมูลกันถ้วนหน้า มันจะเกิดสภาพ 1 บริษัท 2 บริการครับ ตัวอย่างของ AIS (ชื่อบริษัท)

  • ให้บริการ 2G (ซึ่งได้สัมปทานจาก TOT) ผ่านแบรนด์ GSM Advance
  • ให้บริการ 3G (ซึ่งได้ใบอนุญาตจาก กทช.) ผ่านแบรนด์ 3GSM

เท่าที่ผมอ่านจากร่างกฎเกณฑ์ของ กทช. (ข้อ 13.6) ผมเข้าใจดังนี้ครับ (อาจผิดได้)

  • ถ้าผมซื้อซิมการ์ดจาก 3GSM (ซึ่งใช้ได้แต่ 3G) ผมสามารถโรมมิ่งไปใช้ 2G ของ GSM Advance ได้
  • ถ้าผมมีซิม GSM Advance 2G จะไม่สามารถโรมมิ่งไปใช้ 3GSM ได้

สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ AIS จะพยายามชวนให้เราย้ายจาก GSM Advance ไปใช้ 3GSM เพราะมีแรงจูงใจด้านต้นทุนครับ (สัมปทาน 2G กำหนดให้ AIS ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ TOT สูงกว่าที่จะจ่ายให้ กทช. ผ่านใบอนุญาต 3G มาก)

ตรงนี้ Number Portability จะมีบทบาทอย่างมาก ถ้ามันได้ใช้จริงในตอนนั้น เราก็แค่ย้ายบริการจาก GSM Advance มาเป็น 3GSM ด้วยเบอร์เดิม (ซึ่งจะมีปัญหา TOT โวยวายรายได้หดต่อไป แต่จะไม่กล่าวถึงในบทความนี้) แต่ถ้า Number Portability ยังใช้ไม่ได้จริง เราก็ต้องเปลี่ยนเบอร์หรือเปิดเบอร์ใหม่อีกเบอร์ ไม่มีทางเลือก

10) ตกลงจะได้ใช้เมื่อไรกันแน่!

ผมเก็บคำถามนี้ไว้เป็นข้อสุดท้าย คำตอบดูได้จากกำหนดการณ์ของ กทช. จาก ร่างสรุปข้อสนเทศ (Draft Information Memorandum) การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz

ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด และเป็นไปตามนี้ทั้งหมด

  • เปิดให้ยื่นขอเข้าร่วมประมูล 1 สิงหาคม
  • เริ่มประมูล 1 กันยายน
  • ประเมินคร่าวๆ ใช้เวลาประมูล 1 เดือน ประมูลเสร็จ 1 ตุลาคม (ตัวเลขมั่วสุดๆ อย่าเชื่อมาก)
  • ผู้ชนะการประมูลยื่นเอกสารเพิ่มเติม ให้เวลามากที่สุด 45 วัน ก็ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน
  • กทช. ขอเวลา 7 วัน ออกใบอนุญาต ตีซะว่าสิ้นพฤศจิกายน
  • ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องเปิดให้บริการภายใน 1 ปีหลังได้ใบอนุญาต ซึ่งหลายรายออกมาประกาศแล้วว่าขอ 3-6 เดือนก็พอ

สรุปว่าถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ไม่มีใครฟ้อง กทช. ว่าไม่มีสิทธิ์ให้ใบอนุญาตจนต้องเลื่อนประมูลไปอีก เราคงได้ใช้ 3G กันจริงๆ ในช่วงสงกรานต์ปีหน้าครับ อันนี้ประเมินแบบกลางๆ

ประเด็นอื่นๆ

นอกจาก 10 คำถามข้างต้น ยังมีประเด็นอื่นๆ อีกหลายอันที่สำคัญ แต่ผมไม่ได้นำมาเขียนถึงเพราะมันจะยาวเกินไปครับ ผู้สนใจสามารถไปตามอ่านได้จากเอกสารของ กทช. ครับ

  • กทช. กำหนดให้แชร์เสาสัญญาณร่วมกัน โดยต้องใช้เสาที่มีอยู่แล้วก่อน (ใช้เสาร่วมกับ 2G เดิมก็ได้) เพื่อลดต้นทุนในการวางเสา
  • กทช. มีเงื่อนไขว่า ต้องให้บริการครอบคลุมทุกจังหวัดภายใน 2 ปี และให้บริการครอบคลุม 80% ของประชากรภายใน 4 ปี (แต่ยังไม่บอกว่าวัดยังไง)
  • ถ้าทำได้เร็วกว่า 4 ปี กทช. อนุญาตให้จ่ายเงินค่าใบอนุญาตงวดสุดท้าย ช้าไปอีกหนึ่งปี (ทำดีเอาเงินไปหมุนก่อนได้) เป็นแรงจูงใจเล็กๆ น้อยๆ
  • กำหนดความเร็วขั้นต่ำ downlink 700 kbps ไม่รู้ว่าน้อยหรือมากไป และไม่กำหนดความเร็วขั้นต่ำของ uplink
  • ต้องมีทำแผนความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในประเด็นต่างๆ ด้วย
  • ต้องสนับสนุนผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายย่อยในประเทศ (เช่น ผู้ผลิตอุปกรณ์สัญชาติไทย) อันนี้ประกาศก็ยังไม่ชัดเจนอีกเช่นกัน
  • ถ้าผู้ชนะการประมูล 3G มีสัมปทาน 2G อยู่ก่อน เมื่อหมดระยะเวลาตามสัญญา 2G ไม่สามารถต่อสัญญาได้
Blognone Jobs Premium