รีวิว Samsung Galaxy S ตอนที่ 2

by mk
6 July 2010 - 06:13

ต่อจากตอนแรก รีวิว Samsung Galaxy S ตอนที่ 1 กลับมาต่อกันที่เรื่องของซอฟต์แวร์ของ Samsung Galaxy S มือถือ Android ที่ร้อนแรงที่สุดในตอนนี้

ระบบปฏิบัติการที่ใช้เป็น Android 2.1 พร้อมอินเทอร์เฟซ TouchWiz 3.0 ของซัมซุงเอง นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมแถมมาให้อีกจำนวนหนึ่ง ไปดูกันทีละส่วนครับ

TouchWiz 3.0

เช่นเดียวกับ Android ของผู้ผลิตฮาร์ดแวร์รายอื่นๆ ซัมซุงได้ดัดแปลงและปรับแต่ง Android ให้เป็นเวอร์ชันของตัวเองเช่นกัน โดยอินเทอร์เฟซของซัมซุงมีชื่อว่า TouchWiz 3.0 ซึ่งจะกลายเป็นอินเทอร์เฟซมาตรฐานสำหรับมือถือของซัมซุงที่ใช้ระบบปฏิบัติการอื่น (เช่น กรณีของ bada/Wave) ด้วย นโยบายอันนี้เหมือนกับกรณีของ HTC Sense UI ที่อินเทอร์เฟซหน้าตาเหมือนกัน ไม่ว่าข้างใต้จะเป็น Android/Windows Mobile/BREW

Home screen

หน้าตาของ home screen ของ TouchWiz 3.0 เป็นไปตามภาพด้านบน ไล่จากบนลงล่าง

  • notification area ตามมาตรฐานของ Android
  • หมายเลขแสดง home screen (ให้มา 7 อัน)
  • widget สำหรับค้นกูเกิล ซึ่งเป็น widget มาตรฐานของ Android อยู่แล้ว
  • พื้นที่วางไอคอนบน home screen

โดยไอคอนแถวล่างสุด จะอยู่ตรงนั้นเสมอ ย้ายและปรับแต่งไม่ได้ ทั้งในหน้า home screen อื่นและเมนูแสดงรายการโปรแกรม

ภาพนี้แสดง home screen ที่สี่ จะเห็นว่า ไอคอนแถวล่างยังอยู่ที่เดิมเสมอ

ซัมซุงมีวิธีเรียง home screen แปลกๆ คือเริ่มจาก 1 อยู่ซ้ายมือสุด (กดปุ่ม Home จะกลับมาที่หน้าจอนี้เสมอ) ต่างจากมาตรฐานของ Android ที่ใช้ home screen หลักอยู่ตรงกลาง วิธีการเรียงแบบของซัมซุงทำให้เราใช้ home screen ไกลๆ อย่างหน้าจอที่ 7 ได้ยาก (ต้องเลื่อนหลายทีทั้งไปและกลับ)

ในส่วนของ notification area ซัมซุงปรับเปลี่ยนเล็กน้อย โดยเพิ่มปุ่มของตัวเลือกที่ใช้บ่อย เช่น Wi-Fi, Bluetooth ไว้ด้วย อันนี้เป็นการออกแบบที่เจ๋งมากครับ ทำให้คนใช้ Galaxy S ไม่จำเป็นต้องลงพวก shortcut widget เพิ่มเติม (ยกเว้น APNDroid)

Widget

ซัมซุงได้ให้ widget ของตัวเองมาเพิ่มเติมจาก widget มาตรฐานของ Android เช่นเดียวกับผู้ผลิตฮาร์ดแวร์อื่น ๆ อย่าง HTC และ Acer โดยเพิ่มมาเป็นอีกหมวดดังภาพ


Widget ที่ซัมซุงให้มา มีแต่นาฬิกาซะเยอะครับ (ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกันว่าให้มาทำไมเยอะเยอะ) โดยจะเป็น นาฬิกา + อัพเดตอื่น ๆ เช่น สภาพอากาศ ตารางนัด

ตัวอย่าง widget

  • Buddies now - แสดงรายชื่อเพื่อคนสนิท พร้อมสถานะการอัพเดต (ยืมคนแถวๆ นี้มาใช้เป็นตัวอย่างน่อยนะครับ)
  • Daily Briefing - ข่าว สภาพอากาศ ราคาหุ้น ตารางนัด ประมาณว่าตื่นเช้ามาดู widget อันนี้อันเดียวพอ
  • Feeds and Updates - แสดงการอัพเดตสถานะใน Facebook/Twitter ของเพื่อนๆ เรา

ผมถ่ายวิดีโอ home screen + live wallpaper + widget มาด้วย น่าจะเห็นภาพมากกว่า

สรุปว่า widget ของ TouchWiz ไม่มีอะไรแปลกใหม่พิสดาร แต่ก็ถือว่ามีมาให้ครบครันครับ

Application Menu

เมื่อกดปุ่ม Applications สีน้ำเงิน ด้านขวาสุดในแถวล่างของ home screen มันจะพาเราเข้าสู่รายการแอพพลิเคชัน

ซัมซุงปรับเปลี่ยนรายการแอพพลิเคชันของ Android ไปมากจนแทบจำไม่ได้ อย่างแรกที่เห็นชัดเจนคือ แถวล่างสุดจะเป็นไอคอนชุดเดิมของ home screen ยกเว้นปุ่ม Applications กลายเป็นปุ่ม Home เท่านั้น

แนวคิดว่าโปรแกรมแถวล่างสุดเป็นโปรแกรมหลักที่ใช้บ่อย อันนี้ชัดเจนว่าเอามาจาก iPhone (เพียงแต่ iPhone ไม่มีแนวคิดของ home screen)

คนที่เคยใช้ Android มาก่อน จะทราบดีว่ารายการแอพพลิเคชันจะเลื่อนจากบนลงล่าง โดยมี scroll bar กำกับ แต่เวอร์ชันของซัมซุงจะใช้วิธีเลื่อนซ้าย-ขวา เช่นเดียวกับหน้า home screen

ในส่วนของไอคอน ดูจากภาพจะเห็นชัดเจนว่า ซัมซุงเลือกใช้ไอคอนที่มีกรอบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสมุมโค้ง ในกรณีของโปรแกรมที่ติดมากับเครื่อง ก็ไม่มีอะไรแปลก แต่สำหรับโปรแกรมที่เราลงเพิ่มจาก Market ซัมซุงจะเพิ่มกรอบสี่เหลี่ยมพวกนี้มาให้แบบสุ่มสีมาให้ด้วย

ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมา ทำให้รายการแอพพลิเคชันของ TouchWiz หน้าตาเหมือน iPhone มาก อันนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือมันหน้าตาสวยกว่า Android มาตรฐานเยอะ แต่แน่นอนว่าหน้าตาดูเหมือนๆ iPhone

Task Management

อันนี้ผมเข้าใจว่าเป็นฟีเจอร์เฉพาะเครื่องทดสอบเท่านั้น แต่เอามาให้ดูกันไว้เป็นข้อมูลครับ

การสลับโปรแกรมของ TouchWiz ใช้การกดปุ่ม Home ค้างเหมือน Android รุ่นปกติ ซึ่งจะแสดงรายชื่อของโปรแกรมที่เปิดอยู่ 6 ตัวล่าสุด (เหมือนกับหน้า Alt+Tab ของวินโดวส์)

ความพิเศษของรุ่นทดสอบคือมีปุ่ม Task Manager เข้ามาให้ด้วย กดแล้วจะเข้าสู่โปรแกรม Task Manager ของซัมซุง (ในรุ่นขายจริง ไม่มี Task Manager มาให้)

Contacts และ Social Network

ซัมซุงได้ปรับส่วนของ Account ให้รองรับ social network เช่นเดียวกับคู่แข่ง โดยเวอร์ชันของซัมซุงรองรับ social network 3 ตัว คือ Facebook, Twitter, MySpace (ไม่มี Flickr)

ส่วนหน้า Contacts จะสามารถ merge รายชื่อที่อยู่ในซิมการ์ด, GMail, Twitter, Facebook, MySpace ได้เช่นกัน โดยจะแสดงไอคอนเล็กๆ อยู่หลังชื่อ ว่า merge จากอะไรบ้าง

กระบวนการ merge จะต่างไปจาก HTC Sense ซึ่งเก็บ id ของ social network ลงในช่อง Notes ของ GMail Contact (คือยึด GMail Contact เป็นหลัก) ในเวอร์ชันของซัมซุงจะเก็บข้อมูลการ merge ไว้ในเครื่อง แปลว่าลบแล้วลงใหม่ ก็ต้องมา merge ใหม่ อันนี้ไม่ค่อยดีเท่าไร

ผมพบว่าขั้นตอนในการ merge ของซัมซุงค่อนข้างยุ่งยาก โดยเฉพาะกรณีว่าเพื่อนเราตั้งชื่อในแต่ละ social network ต่างกัน ต้องมานั่ง scroll ไล่หากันยาว กว่าจะเจอคนที่ต้องการ

ในโปรแกรม Contacts มีแท็บ Activities แสดงการอัพเดตล่าสุดของเพื่อนๆ เรา (เช่นเดียวกับ HTC Sense) แต่หน้าจอนี้คงไม่มีคนใช้กันมากนัก คงไม่มีใครกดเข้ามาใน Contacts เพื่อดูว่าใครอัพเดตอะไรบ้าง ดูจาก widget ง่ายกว่า

จุดอ่อนของ TouchWiz ในด้าน social network คือมันเหมาะสำหรับ "ดู" สถานะของเพื่อนๆ เท่านั้น แต่ถ้าอยาก "อัพเดต" สถานะด้วยควรลง client เพิ่มเองจะดีกว่า

Connectivity

นอกจากการต่อ Wi-Fi, Bluetooth ตามมาตรฐานแล้ว ซัมซุงยังเพิ่มการเชื่อมต่อเพิ่มเติมให้อีก 2 แบบ

อย่างแรกคือการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ให้ความบันเทิงอื่นๆ ผ่านมาตรฐาน DLNA เราสามารถเล่นหนังจากมือถือแล้วให้ไปออกทีวี หรือเล่นหนังจากพีซีให้มาออกมือถือได้เลย อันนี้เป็นฟีเจอร์ที่เจ๋งมาก แต่ผมไม่มีอุปกรณ์ใดๆ สำหรับทดสอบ คงจะเล่าได้แค่นี้

จุดติเล็กๆ น้อยๆ ของซัมซุงคือไม่สามารถสั่งปิด GPRS/EDGE ได้ (ซึ่งคู่แข่งอย่าง HTC/Acer ทำได้) ใครกลัวปัญหา EDGE รั่ว ต้องลง APNDroid กันเองครับ

การเชื่อมต่ออย่างที่สองคือ Wi-Fi Tethering หรือที่ซัมซุงเรียกว่า Mobile AP

มันคือการทำมือถือเป็น Wi-Fi Access Point สำหรับแชร์เน็ตจาก EDGE นั่นเอง ผมมีโอกาสไปอยู่สถานที่ที่ไม่มี Wi-Fi ให้ใช้ ก็เอาตัวรอดได้ด้วยฟีเจอร์นี้ล่ะครับ แค่ติ๊กถูกทีเดียวที่ช่อง Mobile AP เราจะได้ Wi-Fi พร้อมรหัสผ่านมาให้อัตโนมัติ (ง่ายมากๆ ไม่ต้องเซ็ตอะไรเลย) ที่เหลือแค่เปิดโน้ตบุ๊กแล้วพิมพ์รหัสผ่านตามเท่านั้น ก็ใช้เน็ตผ่าน EDGE ได้โดยไม่ต้อง pair Bluetooth หรือใช้สาย USB เลย

ฟีเจอร์นี้มีใน Android 2.2 แต่ Galaxy S ทำได้จาก Android 2.1 เลย

โปรแกรม

ซัมซุงแถมโปรแกรมมาให้อีกจำนวนหนึ่ง มีอะไรบ้างดูได้จากภาพหน้าจอในหัวข้อ Application Menu นะครับ มีเท่าที่เห็น 2 หน้าจอนั่นล่ะ ผมเขียนถึงแค่โปรแกรมแปลกๆ บางตัวละกัน

Aldiko eBook

โปรแกรมอ่าน eBook จะมองว่าเอามาแข่งกับ iBooks ของแอปเปิลก็พอได้ อย่างไรก็ตาม จอของ Galaxy S แม้ว่าจะใหญ่พอสมควร แต่มันก็ยังไม่เหมาะสำหรับการอ่านหนังสือยาวๆ เท่าไรนัก

Aldiko มาพร้อมกับหนังสือฟรีที่ลิขสิทธิ์หมดแล้วจำนวนหนึ่ง ให้พอเป็นไอเดีย โปรแกรมนี้สามารถดาวน์โหลดได้จาก Market นะครับ

Daily Briefing

โปรแกรมหลักของ widget ชื่อ Daily Briefing ที่เขียนไปแล้วข้างบน อันนี้ไม่มีอะไรพิเศษ เป็นการอัพเดตข่าวสาร-พยากรณ์อากาศตามปกติ ส่วนมากคงดูจาก widget กันเสียมากกว่า (ถ้าเรากดจาก widget ก็จะเข้ามายังโปรแกรมนี้)

FM Radio

ตรงไปตรงมาครับ ฟังวิทยุได้ ไม่มีอะไรพิสดาร แต่ดี

Gallery

Galaxy S มาพร้อมกับโปรแกรมแสดงภาพแบบ 3 มิติ ซึ่งจริงๆ แล้วมันคือ Cooliris คนที่มี Nexus One คงคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว

เมื่อเทียบกับโปรแกรม Gallery มาตรฐานของ Android แล้ว Cooliris ดีกว่าหลายเท่า ทั้งในแง่หน้าตาและฟีเจอร์ (มันสามารถดึงภาพจาก Picasa มาแสดงได้ด้วย) ข้อติผมมีนิดเดียวคือมันไม่สามารถแชร์ภาพขึ้น Flickr ได้

Media Player

ดูเป็นวิดีโอง่ายกว่าเช่นกันครับ

My Files

เป็นโปรแกรมจัดการไฟล์ที่รวมมาให้ในตัว ทำงานพื้นฐานได้หมด แต่เลือกไฟล์ทีละหลายๆ ไฟล์ไม่ได้ ผู้ที่ต้องการฟีเจอร์เพิ่มเติม ควรดาวน์โหลด File Manager ตัวอื่นจาก Market เอาเอง

ThinkFree Office

โปรแกรมชุดออฟฟิศจาก ThinkFree นอกจากใช้อ่านไฟล์เอกสารแล้ว ยังเชื่อมกับ cloud โดยเก็บไฟล์ไว้บนเซิร์ฟเวอร์ของ ThinkFree ได้ด้วย ผมไม่ได้ทดสอบฟีเจอร์นี้มากนัก ถ้าใครใช้อยู่ช่วยคอมเมนต์เพิ่มละกันครับ

Video Player

จุดขายที่สำคัญมากของ Galaxy S คือจอ Super AMOLED ผมคงหาคำอธิบายที่ดีกว่าการเอา Avatar มาดูบน Galaxy S ไม่ได้ มันเป็นประสบการณ์ที่ดีจริงๆ ส่วนโปรแกรม Video Player ก็ไม่มีอะไรต่างไปจากตัวเล่นวิดีโอปกติ

Write and Go

แนวคิดของโปรแกรมตัวนี้น่าสนใจครับ มันเอาไว้สำหรับสถานการณ์ที่คิดอะไรไม่ออกก็จดไว้ก่อน (เช่น จดโน้ต) แต่จดเสร็จแล้วเราอาจต้องการนำมันไปทำอะไรสักอย่าง เช่น ส่งเป็นอีเมล หรือ ส่งเข้า social network โปรแกรม Write and Go มีเอาไว้เพื่อการนี้

Swype

Blognone นำเสนอเรื่อง Swype ไปหลายครั้ง คงไม่ต้องอธิบายกันซ้ำ ส่วน Swype ใช้งานยังไง ดูวิดีโอง่ายกว่าเช่นกัน

ผมสรุปให้สั้นๆ ตรงนี้ว่า Swype เจ๋งมาก พิมพ์ข้อความได้เร็วกว่าคีย์บอร์ดบนหน้าจอแบบปกติเยอะ เพราะเราไม่ต้องเล็ง แถมมันมีระบบสะกดคำที่เจ๋ง สะกดตามชื่อใน Contacts ได้ด้วย ใช้แล้วจะไม่อยากเปลี่ยนกลับไปเป็นคีย์บอร์ดแบบปกติเลย (อันนี้ต้องไปลองใช้ด้วยตัวเอง)

ข้อเสียมีประการเดียวคือมันใช้ภาษาไทยไม่ได้ ถ้าจะพิมพ์ไทย ต้องกดค้างเพื่อเปลี่ยนไปใช้ input method ตัวอื่นแทน ทำให้การสลับภาษาจะยุ่งยากเล็กน้อย

Samsung Apps

ประเด็นสุดท้ายที่จะนำเสนอคือ Samsung Apps ร้านขายโปรแกรมของซัมซุงครับ

เนื่องจากยุทธศาสตร์ของซัมซุงในตอนนี้คือ "1 บริษัท 1 อินเทอร์เฟซ หลายระบบปฏิบัติการ" สิ่งที่ซัมซุงต้องทำคือสร้าง App Store สำหรับผู้ใช้มือถือซัมซุง โดยไม่ต้องแคร์ว่าเป็นมือถือเราใช้ระบบปฏิบัติการอะไร จะเป็น bada หรือ Android มาดาวน์โหลดโปรแกรมเดียวกันจากที่นี่ได้

ตอนนี้ โปรแกรมบน Samsung Apps ยังมีไม่ค่อยเยอะนัก (บางโปรแกรมจำกัดเฉพาะประเทศด้วย) ของประเทศไทยมีให้ดาวน์โหลดประมาณ 5 โปรแกรม เช่น โปรแกรมพจนานุกรมภาษาไทย เกมขับรถ Asphalt 5 เป็นต้น อันนี้คงต้องค่อยๆ ดูไปว่าในระยะยาว ซัมซุงจะพัฒนา Samsung Apps ให้ดีขึ้นอีกแค่ไหน

เกม Asphalt 5 เป็นเกมมือถือของค่าย Gameloft ซัมซุงซื้อสิทธิ์มาแจกให้เราดาวน์โหลดฟรีบน Samsung Apps

เกมนี้เป็นเกมเชิดหน้าชูตาของซัมซุง จะเห็นว่านำไปโปรโมทในทุกๆ ที่ แถมมันยังเป็นเกมที่แสดงถึงศักยภาพของ Galaxy S ที่มีหน่วยประมวลผล Hummingbird 1 GHz และความสามารถในการประมวลผลโพลีกอนที่สูงกว่าคู่แข่งในเกรดใกล้เคียงกัน ผมเล่นแล้วก็สนุกดีครับ เรื่องความลื่นทำได้ดีเยี่ยม ไม่มีกระตุกแม้แต่น้อย

ผู้ใช้ Android ในไทยมีปัญหาว่าไม่สามารถซื้อโปรแกรมจาก Market แบบเสียเงินได้ (โดยง่าย) ทำให้ขาดเกมดีๆ ไปบ้าง การมีเกมมืออาชีพอย่าง Asphalt 5 ให้เล่นฟรี ถือเป็นประสบการณ์ที่ดียิ่ง

โปรแกรมอีกตัวหนึ่งที่จะพูดถึงคือ Facebook เวอร์ชัน Samsung

คนที่ใช้ Facebook for Android คงรู้ดีแก่ใจว่ามันห่วย (โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ Facebook บน BlackBerry ผมต้องหนีไปใช้เวอร์ชัน Touch แทน) ซัมซุงก็คงคิดเหมือนกัน เลยพัฒนา Facebook client ของตัวเองขึ้นมา มันเพิ่งโผล่มาในวันหลังๆ ที่ผมได้ทดสอบ Galaxy S ตอนแรกตื่นเต้นพอสมควร แต่เท่าที่ใช้ยังมีบั๊กอยู่มาก ไม่เหมาะกับการใช้จริงเท่าไร ไว้รอโปรแกรมนิ่งก่อนแล้วค่อยมาทดสอบกันอีกทีครับ

สรุป

ผมใช้ Android มาหลายตัว ทั้งที่เป็น Android vanilla รวมถึงเวอร์ชันดัดแปลงของบริษัทมือถือค่ายอื่นๆ ความรู้สึกของผมคือมันเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับนักพัฒนา ฟีเจอร์เยอะก็จริง แต่อินเทอร์เฟซไม่น่าอภิรมย์นัก

แต่หลังจากทดลองใช้ Android รุ่น TouchWiz บน Galaxy S ผมเลยเข้าใจว่า Android สำหรับคอนซูเมอร์มันต้องเป็นอย่างนี้

ซัมซุงเป็นบริษัทผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับคอนซูเมอร์ จึงมีประสบการณ์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับคอนซูเมอร์เป็นอย่างดี อินเทอร์เฟซของ TouchWiz จึงดู "เสร็จสมบูรณ์" ใส่ใจในรายละเอียดมากกว่า Android รุ่นอื่นๆ มาก

เอาเข้าจริงแล้ว ซัมซุงไม่ได้ทำอะไรใหม่มากนัก โปรแกรมหลายๆ ตัวเป็นโปรแกรมที่มีบน Android อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Aldiko, Layar, Swype หรือ Cooliris ซัมซุงเพียงแค่จับมารวมกันในแพกเกจใหม่ และเพิ่มฟีเจอร์คอนซูเมอร์อย่าง DLNA, Mobile AP และเกมใน Samsung Apps เข้ามาให้ ระดับความสมบูรณ์ของซอฟต์แวร์ทั้งหมดถือว่าดีมาก

อย่างไรก็ตาม มันย่อมมีจุดบกพร่อง อาการที่เป็นคือมันตอบสนองช้าเป็นพักๆ เหมือนกับ CPU กำลังรันอะไรอยู่ 100% (ดูใน Task Manager หลายตัวบอกว่าซีพียูรัน 100% แต่หาไม่เจอว่ามาจากโพรเซสไหน) อาการนี้ผมเช็คกับคนที่เคยทดลองจับเครื่อง ทุกคนบอกว่าเป็นเหมือนกันหมด คาดว่านี่คงเป็นบั๊กของ TouchWiz ครับ ถือเป็นข้อเสียที่น่ารำคาญใจไม่ใช่น้อย หวังว่าซัมซุงจะรีบแก้ปัญหานี้จากเฟิร์มแวร์ด้วยละกัน

ส่วนฟีเจอร์ด้าน social network ของ TouchWiz แม้จะมีให้ใช้ แต่เทียบกับคู่แข่งอย่าง Sense แล้วยังเป็นรองนิดหน่อย

ตอนหน้ามาดูกันเรื่องกล้อง จุดขายอีกอย่างของ Galaxy S ตอนที่สาม

Advertorial Content

Blognone Jobs Premium