เมื่อวันที่ 25 ที่ผ่านมาทางกทช. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องร่างหลักเกณฑ์การอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ไปแล้ว ในตอนนั้นผมได้ร่างความเห็นและประเด็นที่ผมกังวลให้ mk และคนในกลุ่มบางคนไป แต่เนื่องจากงานในวันนั้นคนเยอะมาก mk ซึ่งไปร่วมงานจึงไม่ได้ขึ้นพูด แต่ก็ไม่มีปัญหาเพราะทางกทช. เปิดให้เราส่งอีเมลเข้าไปได้
บทความนี้จึงเป็นประเด็นต่างๆ ที่ผมกังวลถึงหลักเกณฑ์ในประเด็นต่างๆ ที่อาจจะมีปัญหาในอนาคตได้ โดยมี 2 ประเด็นคือการใช้งาน Femtocell และเกณฑ์การควบคุมคุณภาพบริการ
ขณะที่ร่างฉบับนี้สนับสนุนการแข่งขันค่อนข้างดีในหลักการ เช่นการสนับสนุนการแบ่งปันเครือข่าย และการทำ MVNO อย่างไรก็ตามมีประเด็นเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นมาหลายปีแล้วนั่นคือ Femtocell
Femtocell (Femto Forum) เป็นเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความครอบคลุมของสัญญาณที่ยังคงมีปัญหาจนทุกวันนี้แม้ในประเทศที่มีการติดตั้งเครือข่าย 3G ไปนานแล้วอย่างออสเตรเลีย โดยการเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถตั้งเสาบริการ 3G ขนาดเล็กกำลังส่งมักไม่เกิน 20mW และรองรับเครื่องลูกข่ายได้เพียง 2-16 เครื่อง โดยเชื่อมต่อไปยังผู้ให้บริการผ่านทางเครือข่ายมีสายเช่น ADSL และเนื่องจากผู้ใช้ต้องติดตั้งเครือข่ายเอง ผู้ให้บริการมักตอบแทนด้วยค่าโทรที่ถูกลง เช่น AT&T นั้นเปิดให้ผู้เปิดบริการ AT&T 3G Microcell สามารถโทรจากเสาในบ้านของตนได้ไม่จำกัด
บริการจาก Femtocell นั้นทำให้เกิดการติดตั้งที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นการติดตั้งไปยังบ้านหรือตำแหน่งของผู้ใช้งานโดยตรง
ดูเหมือนร่างหลักเกณฑ์ของกทช. ฉบับนี้ไม่ได้ตระหนักถึงบริการเช่นนี้นัก โดยไม่มีความชัดเจนว่าผู้ได้รับใบอนุญาตจะสามารถอนุญาตให้ผู้ใช้งานรายย่อยติดตั้งเสาสัญญาณในบ้านหรือในบริษัทได้หรือไม่ หรือหากทำได้ จะติดกฏเกณฑ์ในเรื่องของการทำ Roaming และ MVNO ไปด้วยทำให้เกิดความยุ่งยากต่อการเปิดบริการนี้จนอาจจะทำไม่ได้ในทางปฎิบัติ
กทช. ควรเปิดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตสามารถให้อนุญาตแก่ผู้ใช้บริการรายย่อย อนุญาตให้มีการคิดค่าบริการเป็นกรณีพิเศษเพื่อเป็นการต่างตอบแทนให้กับผู้ใช้ รวมถึงการทำให้เกิดความชัดเจนในการแบ่งปันเครือข่ายเพื่อให้ไม่เป็นการปิดกั้นบริการเช่นนี้ และบริการรูปแบบอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ร่างหลักเกณฑ์นี้มีการกำหนดคุณภาพการบริการไว้ว่า "ผู้รับใบอนุญาตจะต้องรองรับอัตราการส่งข้อมูลด้าน downlink (ความเร็วในการส่งข้อมูลผ่านอากาศจากสถานีฐานไปยังอุปกรณ์ของผู้ใช้บริการ) ได้ไม่น้อยกว่า 700kbps"
เกณฑ์นี้มีข้อน่าสังเกต 3 ประการ
โดยทั่วไปแล้วเมื่อเราพูดถึงบริการ 3G เรามักพูดถึงบริการรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ข้อกำหนดความเร็วฝั่ง downlink แต่เพียงอย่างเดียวดูเหมือนจะให้ความสนใจต่อบริการดั้งเดิมเช่น HTTP, FTP ฯลฯ มากกว่าบริการใหม่ๆ
ขณะที่บริการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับ 3G นั้นมักเป็นบริการที่ต้องการการรับประกันความหน่วง เช่น VoIP (Skype, Google Talk, SIP), หรือกระทั่ง Twitter, Instant Messaging ต่างๆ และอีกหลายบริการที่ต้องการความเร็วในการอัพโหลดที่สูงเช่น บริการถ่ายทอดสด (Qik, Twitvid, YouTube) การร่างโดยไม่กำหนดความเร็วทั้งสองรูปแบบเอาไว้เป็นการเปิดช่องให้ผู้บริการสามารถปิดกั้นบริการเหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์ เช่นบริการ VoIP นั้นโดยทั่วไปยอมรับความหน่วงได้ไม่เกิน 250ms ในทางปฎิบัติแล้วบริการ 3G ในไทยตอนนี้จาก TOT ก็มีความหน่วงอยู่ที่ 100-180ms เท่านั้น
อีกประเด็นหนึ่งคือการไม่เปิดให้ผู้ให้บริการสามารถให้บริการที่ความเร็วต่ำๆ ได้ อาจจะเป็นปัญหาที่ตกถึงตัวผู้ใช้เอง บริการเช่น TOT 3G ทุกวันนี้ไม่มีแพ็กเกจการใช้งานแบบไม่จำกัด และมีค่าใช้จ่ายต่อ MB ค่อนข้างสูง เป็นข้อจำกัดต่อบริการที่ต้องการการออนไลน์ตลอดเวลา ขณะที่บริการเหล่านี้มีจำนวนมากที่ไม่ต้องการความเร็วสูงนัก เช่นอีเมล, Instant Messaging, Social Network (Facebook), Microblogging (Twitter) ฯลฯ ผู้ให้บริการสามารถที่จะให้บริการความเร็วต่ำแต่เก็บค่าบริการต่ำมาก เช่น Sonera ในฟินแลนด์ที่เก็บค่าบริการการใช้งานแบบไม่จำกัดเพียง 4 ยูโรต่อเดือน (160 บาท) แต่ให้ความเร็วเต็มที่เพียง 40MB แรก แต่หลังจากนั้นจะจำกัดความเร็วเหลือ 64kbps การเปิดกว้างเช่นนี้ทำให้คนมีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงบริการข้อมูลในค่าใช้จ่ายที่ต่ำมากได้
ควรเปลี่ยนความเร็วในร่างหลักเกณฑ์นี้เป็นความเร็วเพื่อใช้วัดพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุมแล้วเท่านั้น และเปิดให้ผู้ให้บริการสามารถทำความตกลงกับผู้ใช้บริการถึงความเร็ว และเงื่อนไขของการใช้บริการได้ ตามเวลาและสภาวะการใช้งานที่เปลี่ยนไป