รีวิว MeeGo Netbook 1.0

by champjss
29 July 2010 - 16:50

สมัยก่อนที่จะเป็น MeeGo นั้น ทั้งอินเทลและโนเกียต่างก็ทำแพลตฟอร์มของตัวเอง โดยของอินเทลคือ Moblin ที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับ MID (ข่าว IDF ปี 2008) ส่วนของโนเกียเป็น Maemo ที่มีใช้งานอยู่ใน Nokia N-Series บางรุ่น ตัว Moblin นั้นไม่ประสบความสำเร็จนักอาจจะด้วยราคา และเทคโนโลยีที่ยังไม่พร้อมในตอนนั้น ส่วนทาง Maemo นั้นก็ดูจะมีเพียงโนเกียเท่านั้นที่ใช้งาน สุดท้ายทั้งสองตัดสินใจรวมกันเป็น MeeGo และออกรุ่น 1.0 มาแล้วเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และเพิ่งจะออก MeeGo Day 1 สำหรับนักพัฒนาบนโทรศัพท์มือถือไป

วันนี้เราก็หยิบ MeeGo ของเน็ตบุ๊กมารีวิวกันก่อน ถึงแม้ MeeGo จะดำเนินรอยตาม Moblin มาก็ตาม แต่เนื่องจากที่นี่ไม่เคยรีวิวไว้ รีวิวนี้จะรีวิวทั้งหมดเลยถึงจะเป็นฟีเจอร์เก่าใน Moblin นะครับ

การติดตั้ง

เนื่องจากเน็ตบุ๊กทั่วไปจะไม่มีไดร์ฟซีดีในตัว, MeeGo จึงให้ไฟล์สำหรับติดตั้งมาเป็นไฟล์นามสกุล img แทน เวลาติดตั้งต้องดาวน์โหลดโปรแกรมเขียนไฟล์อิมเมจลงแฟลชไดร์ฟมาสั่งโปรแกรมให้เขียนไฟล์อิมเมจของ MeeGo ลงแฟลชไดร์ฟ แล้วบูตเครื่องจากแฟลชไดร์ฟแทนซีดี ตรงนี้ MeeGo เตรียมพร้อมมาอย่างดี โปรแกรมเขียนไฟล์อิมเมจมีไว้ให้ครบทุก OS

การติดตั้งก็ง่ายเหมือนกับการติดตั้งระบบปฏิบัติการทั่วๆ ไป ที่เด่นที่สุดคือการติดตั้งรวดเร็วมาก ไม่น่าจะใช้เวลาเกิน 3 นาที ซึ่งเท่าที่สังเกตจากข้อความขณะติดตั้ง เข้าใจว่ามันแค่คัดลอกไฟล์อิมเมจไปเฉยๆ เลย ทำให้ติดตั้งได้เร็วเป็นพิเศษ

ข้อควรระวังสำหรับคนที่ต้องการลองใช้งาน MeeGo คือมันไม่ได้ออกแบบมาให้ทำงานพร้อมกับระบบปฎิบัติการอื่นๆ ดังนั้นเมื่อติดตั้งเสร็จ bootloader จะถูกคอนฟิกให้เข้าไปยัง MeeGo ทันทีโดยไม่มีเมนูให้เลือก ส่วนนี้อาจจะเป็นเพราะอินเทลออกแบบมาให้ MeeGo ต้องบูตเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้โดยเป็นฟีเจอร์ดั้งเดิมมาจากตัว Moblin เอง อีกข้อที่ควรระวังคือตัวติดตั้งมีปัญหากับ bootloader ของ Ubuntu อาจทำให้การติดตั้งมีปัญหาได้

บูต

MeeGo บูตไวและที่สำคัญคือมันบูตเร็วมากไม่ว่าจะติดตั้งในเครื่องเองหรือลงผ่าน USB ผมลองทดสอบไปสามครั้ง:

  • Asus N10JC (ผ่าน USB)
  • ThinkPad X200 (ผ่าน USB, และผ่านฮาร์ดดิสก์ที่ติดตั้งแล้ว)

ทั้งสามครั้งใช้เวลาประมาณ 17 วินาที

เมื่อบูตเสร็จแล้ว ไม่มีการล็อกอินเข้าระบบ เราจะพบกับหน้าจอแรกคือหน้า My Zone เลย

หน้าตา

แต่ละระบบปฏิบัติการสำหรับเน็ตบุ๊กพยายามสรรหาวิธีต่างๆ มาเพื่อให้เราใช้งานกับจอเล็กๆ ได้สะดวก สำหรับ MeeGo ใช้ท่าหลักๆ คือ

  • รวมการใช้งานหลักๆ ไว้ที่แท็บด้านบน ไม่ต้องเปิดหน้าต่างโปรแกรมจริง
  • ให้โปรแกรมทำงานที่ขนาดเต็มหน้าจอเป็นหลัก และตัดปุ่มเปลี่ยนขนาดหน้าต่างออกไป (แต่ยังย่อขนาดหน้าต่างได้)
  • เอาเมนูบาร์หรือทูลบาร์ของโปรแกรมมาแทนส่วนตัวอักษรของไตเติลบาร์ (เฉพาะโปรแกรมหลักๆ)
  • ไม่ใช้ taskbar แต่ใช้วิธีสลับหน้าต่างลักษณะเดียวกับ GNOME Shell แทน

แท็บ

แท็บใน MeeGo ถือเป็นฟีเจอร์สำคัญที่ลดการเปิดหน้าต่างพร้อมกันมากๆ ได้ผลมาก หลักการง่ายๆ คือย้ายการทำงานพื้นฐานของผู้ใช้ไปไว้บนแท็บ ซึ่งอยู่บนพื้นที่ทำงานปกติอีกทีนึง โดยปกติแท็บนี้จะซ่อนไว้ และจะแสดงขึ้นเมื่อเราเอาเมาส์ไปไว้ที่ขอบบนของหน้าจอ หรือเมื่อไม่มีหน้าต่างอื่นเปิดอยู่แล้ว

เท่าที่ลองใช้งานดู พบว่าเราจะได้ใช้แท็บพวกนี้ค่อนข้างบ่อย ขอไล่อธิบายทุกแท็บเลยก็แล้วกันนะครับ

My Zone

เป็นแท็บหลัก จะเรียกว่ามันคือแดชบอร์ดก็ไม่ผิดนัก ด้านซ้ายเป็นปฏิทิน, รายการงานที่ต้องทำ, อีเมลใหม่, และโปรแกรมโปรด ส่วนด้านขวาเป็น "ยำใหญ่ใส่สารพัด" คือเอาทั้งข้อความล่าสุดจากเครือข่ายสังคม, ภาพที่ดูล่าสุด, เว็บที่ดูล่าสุด เอามารวมๆ กัน

ผมลองใช้แล้วพบว่า เราจะเจอหน้านี้บ่อยกว่าที่คิด ทำให้ส่วนซ้ายมือทำหน้าที่ได้ดีทีเดียว ส่วนด้านขวาพอใช้จริงดูเหมือนจะไม่ค่อยได้มองมันบ่อยนัก เพราะข้อมูลที่ปนกันไปมา (อารมณ์เดียวกับ tag cloud)

Zones

แท็บนี้ใช้สำหรับสลับหน้าต่างโปรแกรมที่ทำงาน อันนี้ขออธิบายเต็มๆ เรื่องสลับหน้าต่างโปรแกรมทีเดียวนะครับ

Applications

รวมรายการโปรแกรมทั้งหมด โดยเราสามารถเลือกปักหมุดโปรแกรม เพื่อแสดงโปรแกรมนั้นให้เด่นขึ้นที่ส่วนโปรแกรมโปรด และในหน้า My Zone ได้

ส่วนนี้จะแสดงผลต่างกันไปตามขนาดหน้าจอด้วย คือถ้าหน้าจอเล็กจะแสดงแยกเป็นหมวดๆ แต่ถ้าหน้าจอใหญ่ขึ้น จะแสดงทั้งหมดพร้อมกันเลย

ไอคอนของโปรแกรมพื้นฐานจะเป็นไอคอนสีเดียวที่ใช้ลายเส้นสีขาวเหมือนกันหมด ดูผ่านๆ ก็สวยดี แต่พอจะใช้จริงแล้วเกิดปัญหา "หาโปรแกรมไม่เจอ" เพราะมันดูเหมือนๆ กันไปหมด แต่ผมลองเอา MeeGo รุ่นที่เป็น nightly build มาลองติดตั้งดู พบว่ามันเปลี่ยนเป็นไอคอนแบบปกติแล้ว

Messages

ใช้อ่านข้อความและอัพเดตข้อความใหม่ในเครือข่ายสังคม ตอนนี้รองรับสองระบบคือ last.fm และ twitter

People

แท็บนี้ก็คือแท็บที่ขยายหน้า contact list ในโปรแกรมแชต Emphaty ให้แสดงข้อมูลมากขึ้นนั่นเอง เมื่อดับเบิลคลิกที่ชื่อของใครแล้วจึงจะมีหน้าต่างแชตของ Emphaty เปิดขึ้นมาให้

Internet

แท็บนี้เป็นด่านหน้าก่อนที่เราจะเปิดเว็บเบราว์เซอร์ โดยมีแท็บที่เปิดค้างไว้อยู่แล้ว และหน้าที่เข้าดูบ่อยๆ ไว้ให้เลือก หรือจะใช้ช่องค้นหาก็ได้ แล้วมันก็จะไปเปิดเว็บเบราว์เซอร์จริงๆ ให้อีกทีหนึ่ง (Google Chrome หรือ Chromium แล้วแต่เวอร์ชันของ MeeGo ที่ดาวน์โหลดมา)

ใช้ MeeGo แล้วพื้นที่เล่นเว็บมีมากน้อยขนาดไหน อธิบายโดยเปิด Blognone ให้ดูเลยง่ายที่สุด อันนี้ผมทดสอบด้วย Netbook ผ่าน USB จึงยังไม่มีฟอนต์ภาษาไทยนะครับ

แต่ถึงเราจะติดตั้งฟอนต์แล้ว แต่จะมีปัญหาภาษาไทยเช่นเดียวกับ Google Chrome ในลินุกซ์ ก็หวังว่าปัญหานี้จะถูกแก้ในเร็ววันก่อนสินค้าที่เป็น MeeGo จะเข้ามาบ้านเราจริงๆ

Music

แท็บนี้ใช้เล่นเพลงด้วยโปรแกรม Banshee แต่เท่าที่ใช้มา ผมไม่เคยยุ่งกับหน้าต่างโปรแกรมจริงๆ เลย เพราะว่าเราสามารถสั่งจัดรายการเพลง แล้วสั่งเล่นผ่านแท็บนี้ได้แทบทั้งหมด

ถ้าติดตั้งจริงแล้วจะมีเพลงแจ๊ซแถมมาให้ด้วยหนึ่งอัลบั้ม (ฟอร์แมต OGG) ฟังเพลินดีทีเดียว

Devices

แท็บนี้ใช้ดูรายละเอียดหลักๆ ของเครื่อง (พื้นที่ว่าง แบตเตอรี่) โฟลเดอร์หลักๆ และอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออยู่ รวมถึงปุ่มเรียกหน้า Settings ด้วย ถ้าเลือกเปิดโฟลเดอร์หรืออุปกรณ์ใด ก็จะเปิดโปรแกรมจัดการไฟล์ Nautilus ขึ้นมาให้

ผมลองเสียบฮาร์ดดิสก์, แฟลชไดร์ฟ, และโทรศัพท์มือถือที่เปิดโหมดเชื่อมต่อด้วย USB ก็หาเจอทันทีไม่มีปัญหาอะไร ยกเว้นอุปกรณ์ที่ใช้พาร์ติชันแบบ NTFS ก็ใช้ไม่ได้เป็นปกติ (เพราะลินุกซ์ทั่วไปก็อ่านพาร์ติชันแบบ NTFS ไม่ได้อยู่แล้วถ้าไม่มีโปรแกรมเสริม)

Bluetooth

แท็บนี้รวมอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อผ่านบลูทูธได้เอาไว้ แต่เมื่อกดปุ่ม Pair เพื่อจับคู่อุปกรณ์แล้ว แทนที่จะแสดงหน้าต่างขั้นตอนการจับคู่แยกมาต่างหาก กลับแสดงทับไปบนแท็บนั้นเลย ทำให้หน้านี้มีพฤติกรรมแปลกไปจากหน้าอื่นพอสมควร

ด้านการเชื่อมต่อ ผมทดลองเชื่อมต่อกับ HTC Hero แล้ว เชื่อมต่อและส่งไฟล์ได้ไม่มีปัญหา

Network

เป็นหนึ่งในแท็บที่ผมประทับใจที่สุดใน MeeGo เพราะออกแบบมาให้เราจัดการกับเครือข่ายของเราได้ครบเลยในหน้านี้หน้าเดียว

ด้านซ้ายใช้เปิด ปิด ส่วนด้านขวาใช้เลือกเครือข่ายที่จะเชื่อมต่อ เมื่อเชื่อมต่อแล้วเครือข่ายต้องการรหัสผ่าน จะปรากฎช่องรหัสผ่านตรงชื่อเครือข่ายนั้นเลย และถ้าต้องการตั้งค่าไอพีแอดเดรสเอง ไม่ต้องไปงมหาหน้าตั้งค่าแล้ว แค่คลิก Advanced ก็จะมีช่องให้ตั้งค่าแสดงขึ้นมาทันที

Time and Date

ส่วนนี้เหมือนรวมเรื่องเวลาในชีวิตของเราไว้ในแท็บนี้เลย มีเวลาในโซนเวลาต่างๆ และมีปฏิทิน และรายการงานที่ต้องทำในหน้านี้อีกครั้ง

ไตเติลบาร์และแถบเครื่องมือ

เพื่อเพิ่มเนื้อที่ใช้สอยในแนวตั้ง, MeeGo จึงตัดข้อความในไตเติลบาร์ของหน้าต่างที่ไม่จำเป็นออก แล้วเอาทูลบาร์หรือเมนูบาร์ไปไว้แทน ซึ่งทำให้ได้เนื้อที่มาอีกพอสมควร

ทุกโปรแกรมไม่ได้ใช้พฤติกรรมแบบนี้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับที่ MeeGo เลือกกำหนดมา เช่นในโปรแกรม Abiword ที่ผมติดตั้งเพิ่มทีหลัง ไม่มีพฤติกรรมลักษณะนี้

บางกรณีการย้ายแถบเครื่องมือนี้ก็ทำให้เราเหวอได้เหมือนกัน เช่นในหน้าเพิ่มเหตุการณ์ใหม่ในปฏิทิน ปุ่มบันทึกการแก้ไขคือปุ่มมุมบนซ้ายสุด ซึ่งในโปรแกรม Evolution ปกติแล้วปุ่มนี้เป็นปุ่มแรกในทูลบาร์ และมีข้อความ Save ประกอบ จึงไม่มีปัญหา แต่พอเป็น Meego แล้วก็ทำให้งงไปพักหนึ่งเลยทีเดียว

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งที่ผมยังหาเหตุผลให้ไม่ได้คือ ทั้งๆ ที่ MeeGo พยายามเพิ่มเนื้อที่ใช้สอยในแนวตั้งด้วยหลายๆ วิธี แต่ทำไมต้องทำไตเติลบาร์ให้ใหญ่ขนาดนี้

การสลับหน้าต่าง

ใน MeeGo ใช้ระบบหน้าจอมีหลายพื้นที่ทำงาน (workspace) คล้ายกับใน GNOME หรือแมค แต่ใน MeeGo จะเรียกว่าโซน และจำนวนโซนจะไม่คงที่ เพิ่มหรือลดได้ตามจำนวนหน้าต่างที่เปิดอยู่

MeeGo เลือกตัด taskbar ออกไป และให้เราเลือกสลับหน้าต่างโดยดูจากแท็บ Zones แทน (ชวนให้สับสนกับ My Zone มาก) ซึ่งจะแสดงหน้าต่างทั้งหมดแยกเป็นโซนๆ ให้เราคลิกเลือกหน้าต่าง หรือปิดหน้าต่างจากตรงนี้เลยก็ได้

โดยปกติเมื่อเปิดหน้าต่างใหม่ MeeGo จะสร้างโซนให้หน้าต่างนั้นใหม่เสมอ แต่เราจะย้ายหน้าต่างไปรวมกับโซนอื่นๆ ก็ได้ เพื่อให้เราเปิดสองหน้าต่างพร้อมๆ กันได้ อย่างไรก็ตาม การย่อขนาดหน้าต่างทำได้ค่อนข้างยาก ต้องเล็งขอบหน้าต่างกันให้แม่นๆ หน่อย

หลังจากลองใช้อยู่หนึ่งวัน ผมรู้สึกไม่ถูกใจกับวิธีการสลับหน้าต่างแบบนี้เท่าไหร่ สุดท้ายแล้วแทบไม่ได้ใช้แท็บ Zones ใช้แต่คีย์เทพ Alt + Tab อย่างเดียว

การแจ้งเตือน

การแจ้งเตือนข้อความต่างๆ ใน MeeGo คล้ายๆ กับในแมคหรือ Ubuntu คือแสดงเป็นบอลลูนข้อความ เพียงแต่ย้ายตำแหน่งไปอยู่มุมล่างขวาแทน และมีปุ่ม Dismiss เพื่อปิดข้อความนั้นได้

ที่แปลกออกไปคือ ถ้าที่มีหลายข้อความหลั่งไหลเข้ามาพร้อมๆ กัน จะแสดงซ้อนทับกันไปเลย และจะให้เรามองเห็นได้เมื่อเรากด Dismiss ข้อความบนสุดไปแล้ว แต่ถ้าเราไม่อยากอ่านแล้วก็สามารถกดปุ่ม Dismiss All เพื่อเอาข้อความทั้งหมดออกไปเลยก็ได้

ข้อความที่แจ้งเตือนมีทั้งแบบปกติที่เราเคยเจอกัน เช่น มีซอฟต์แวร์อัพเดตใหม่ มีข้อความจากเพื่อน นอกจากนี้ ถ้าโปรแกรมในโซนอื่นๆ มี dialog box เกิดขึ้น, dialog box นั้นจะไม่แสดงในโซนปัจจุบัน แต่จะแสดงในโซนเดียวกับโปรแกรมนั้น และแสดงข้อความเตือนว่ามี dialog box เกิดขึ้นแทน

ความรู้สึกกับวิธีการเตือนแบบนี้ทำให้กลับไปรู้สึกเหมือนปิดบอลลูนในวินโดวส์อีกครั้ง คือพอเห็นปุ่มให้ปิดแล้วจะรู้สึกยังไงก็ไม่รู้ ต้องไปคลิกปิดมันในทันที ผมเพิ่งเข้าใจวันนี้เองว่าที่แมคหรือ Ubuntu ทำให้บอลลูนข้อความไม่มีปุ่มปิดแล้วมีประโยชน์ยังไง

ซอฟต์แวร์

ซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ใน MeeGo ใช้ซอฟต์แวร์ตามที่ GNOME ได้เลือกไว้ แต่ก็มีบางตัวที่ต่างออกไป เช่นเว็บเบราว์เซอร์ซึ่งเป็น Google Chrome หรือ Chromium, ซอฟต์แวร์เล่นไฟล์เสียงเป็น Banshee

ซอฟต์แวร์สำคัญที่ไม่ได้ติดตั้งมาใน MeeGo คือชุดซอฟต์แวร์ออฟฟิศ ต้องติดตั้งเพิ่มเอาเอง โดยช่องทางติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ง่ายที่สุดก็คือใช้โปรแกรม Meego Garage ซึ่งรวมซอฟต์แวร์หลักๆ ไว้ให้คลิกติดตั้งได้ทันที แต่ว่ามีแต่ซอฟต์แวร์หลักจริงๆ เท่านั้น อันนี้เวอร์ชั่นที่วางขายจริงน่าจะมี Intel AppUp Center ติดตั้งมาให้ในตัวทำให้มีซอฟต์แวร์ให้เลือกมากขึ้น

สำหรับผู้ใช้สายแข็ง, MeeGo ใช้ระบบจัดการแพ็กเกจภายในของ Redhat (RPM) ก็สามารถติดตั้งซอฟต์แวร์ผ่านคำสั่ง yum ก็ได้ตามสะดวก

นอกจากนี้ซอฟต์แวร์ที่มีมาเฉพาะใน MeeGo นอกจาก MeeGo Garage ที่พูดถึงเมื่อสักครู่นี้แล้ว ก็ยังมี Sync และเกมต่างๆ

Sync

ใน Meego สามารถ sync รายชื่อ, ปฏิทิน, งานที่ต้องทำ, และบันทึกได้ โดยเบื้องต้นเชื่อมต่อได้ 6 ระบบ (ดูในภาพ) และเพิ่มเองได้

ผมทดลอง sync กับ Google พบว่า sync ได้เฉพาะรายชื่อเท่านั้น แต่ก็ทำได้สมบูรณ์ดี ส่วนการ sync อีเมลและปฏิทินนั้นต้องไปตั้งค่าเอาในโปรแกรม Evolution

อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือ เนื่องจากก่อน sync, MeeGo จะสำรองข้อมูลไว้ให้เราก่อนทุกครั้ง ดังนั้นถ้าเรา sync แล้วทำให้ข้อมูลบางอย่างหายไปโดยไม่ได้ตั้งใจและต้องการกู้คืน ก็สามารถทำได้

การตั้งค่า

ใน MeeGo แยกการตั้งค่าออกเป็นสองส่วนอย่างง่ายๆ คือการตั้งค่าส่วนตัวและการตั้งค่าฮาร์ดแวร์ ส่วนใหญ่จะมีตัวเลือกให้ไม่มากนักเพื่อให้ตั้งค่าได้ง่าย เช่น การตั้งค่าการต่อจอนอก ซึ่งมีตัวเลือกเพียงเปิด/ปิด และปรับความละเอียดหน้าจอเท่านั้น ซึ่งทำให้การตั้งค่านั้นดูง่ายขึ้นมาก

ภาษาไทย

MeeGo อ่านภาษาไทยไม่ได้ตั้งแต่แรก เนื่องจากไม่มีฟอนต์ภาษาไทยมาให้ แต่ในไฟล์ตั้งค่าฟอนต์นั้นมีชื่อฟอนต์ภาษาไทยมาเรียบร้อยแล้ว แค่หาฟอนต์ภาษาไทย (เช่น Loma, Kinnari) มาติดตั้งในโฟลเดอร์ /usr/share/fonts ก็จะอ่านภาษาไทยได้

ส่วนการพิมพ์ภาษาไทยนั้นก็แค่ไปที่หน้า Settings > Keyboard แล้วเพิ่มเลย์เอาต์ภาษาไทย แต่ใน MeeGo ไม่มีที่ให้ตั้งค่าปุ่มเปลี่ยนภาษา (ไม่รู้จะตัดออกทำไม) ต้องเล่นท่าเปิดเทอร์มินัล แล้วสั่ง gnome-keyboard-properties เพื่อเรียกโปรแกรมตั้งค่าคีย์บอร์ดของ GNOME มาตั้งแทน

ฮาร์ดแวร์

เท่าที่ผมทดสอบกับทั้งสองเครื่อง ไม่มีอะไรมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอ เสียง ไวร์เลส บลูทูธ ทำงานได้เลยโดยไม่ต้องลงไดรเวอร์อะไรอีก น่าประทับใจดี

ปิดเครื่อง

ดูมาจนทั่วแล้วก็ยังไม่มีปุ่มให้คลิกปิดระบบเลย วิธีปิดของ MeeGo คือสูงสุดกลับสู่สามัญ กดปุ่มปิดที่ตัวเครื่องซะเลย แล้วมันจะถามให้เรายืนยันก่อนปิดอีกที

สรุป

ตอนนี้ MeeGo เสถียรขึ้นกว่า Moblin และมีฟีเจอร์พื้นฐานพอสำหรับใช้งานทั่วๆ ไปอย่างไม่มีปัญหาแล้ว ไม่ว่าจะใช้บนเน็ตบุ๊ก หรือจะใช้บนโน๊ตบุ๊กหรือพีซีธรรมดา สำหรับคนที่ไม่ได้ใช้งานอะไรมากมาย ก็ใช้ดีได้ทีเดียว (ถ้าไม่ติดว่าแม่ต้องใช้ Microsoft Word นี่ผมจะลงให้แม่ใช้แล้วนะ)

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดหลายๆ อย่างยังไม่ลงตัวนัก อาจจะเป็นเพราะอินเทลพยายามผลักดันรุ่นแรกๆ ออกมาให้เร็วที่สุดเพื่อให้นักพัฒนาได้ลองใช้งานกันก่อน แบบเดียวกับสมัย Android รุ่นแรกๆ ก็มาแนวทางนี้เช่นกัน

ข่าวและบทความหมวด - Intel AppUp Center ได้รับการสนับสนุนจากอินเทล เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ Intel Atom Developer Program ให้กับนักพัฒนาในประเทศไทย

Blognone Jobs Premium