รู้จักกับ MeeGo (ภาคทฤษฎี)

by mk
2 August 2010 - 08:44

เราอ่าน รีวิว MeeGo Netbook 1.0 ภาคปฏิบัติโดยคุณ champjss ไปแล้ว วันนี้มาย้อนดูภาคทฤษฎีว่า MeeGo เป็นใคร ถือกำเนิดมาจากไหน ฯลฯ กันดีกว่าครับ

ผมสรุปเนื้อหามาจาก สไลด์ที่เกี่ยวข้องกับ MeeGo ในงาน OSCON 2010 ซึ่งจัดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ข้อมูลยังใหม่มาก น่าจะใช้อ้างอิงไปได้อีกสักพัก

บทความนี้เป็นแค่สรุปใจความสำคัญของ MeeGo จากสไลด์เท่านั้น สำหรับผู้สนใจควรดาวน์โหลดสไลด์ทั้ง 3 ชิ้นจากลิงก์ข้างต้น

MeeGo เป็นการหลอมรวมกันของระบบปฏิบัติการลินุกซ์สองตัวคือ Moblin ของอินเทล และ Maemo ของโนเกีย โดยเหตุผลที่ต้องรวมกันก็เพื่อแชร์ทรัพยากรร่วมกัน โดยเฉพาะส่วนที่เป็น core OS และองค์ประกอบพื้นฐานในระดับล่างๆ ที่ซ้ำซ้อนกัน ส่วนอินเทอร์เฟซในระดับบน ต่างคนต่างทำครับ

ปัจจุบันโครงการ MeeGo ถูกยกให้ Linux Foundation เป็นคนดูแล โดยมีหัวหน้าโครงการสองคนจากทั้งอินเทลและโนเกีย โครงการ MeeGo เป็นโอเพนซอร์สทั้งหมด และเน้นการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม (ต่างจาก Android ที่โค้ดเป็นโอเพนซอร์ส แต่การพัฒนาเป็นกูเกิลคุมหมด)

MeeGo เน้นการใช้เทคโนโลยี Qt ของโนเกียเป็นอย่างมาก ซึ่งตรงนี้เป็นยุทธศาสตร์ของโนเกียเอง เพื่อให้พอร์ตโปรแกรมระหว่าง Symbian กับ MeeGo ได้ง่ายขึ้น (Symbian^4 จะใช้ Qt เช่นกัน) แต่ก็ยังรองรับเครื่องมือพัฒนาอื่นๆ อย่าง GTK+ (ซึ่งใช้ใน Moblin และ Maemo มาก่อนจะเปลี่ยนเป็น Qt) รวมไปถึง HTML5, AIR, Java และ Silverlight ด้วย

กลับมาที่เรื่องอินเทอร์เฟซ MeeGo เป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้ได้บนอุปกรณ์หลายชนิด ในเบื้องต้นมี 5 ประเภท

ในเบื้องต้น MeeGo จะสนใจเน็ตบุ๊กกับมือถือเป็นหลักก่อน

หน้าตาของ MeeGo Netbook กับ MeeGo Handset ครับ (อ่าน หรือนี่คือภาพหน้าจอของ MeeGo Handset? เพิ่มด้วย)

คำถามที่ตามมาคือ ในเมื่ออินเทอร์เฟซคนละอย่าง มันจะทำงานข้ามกันได้อย่างไร ตรงนี้ทาง MeeGo ตอบว่าในส่วนของซอฟต์แวร์พื้นฐานจะต้องทำงานร่วมกันได้ แต่ในระดับ UI คงต้องแยกเป็นเวอร์ชัน (เช่น โปรแกรมอีเมลภาค Handset, โปรแกรมอีเมลภาค Netbook)

สถาปัตยกรรมของ MeeGo เป็นไปตามภาพด้านบน (ภาพเต็มๆ ดูได้จาก MeeGo Architecture) สองส่วนล่างจะถูกเรียกว่า MeeGo Core และใช้ร่วมกันเสมอ ส่วนของ UX จะแตกต่างกันออกไปแต่ละค่าย (สำหรับผู้ที่สนใจ ในสไลด์ของ MeeGo ตามลิงก์แรกสุดมีอธิบายส่วนประกอบอย่างละเอียดครับ)

ในระดับของ API ณ ขณะนี้จะยังมีแต่ Qt ให้เลือกใช้ แต่อนาคตจะมีอย่างอื่นตามมาอีก

ในระดับระบบปฏิบัติการชั้นล่างสุด อันนี้ตรงไปตรงมาคือเอาลินุกซ์มาเลย

MeeGo จะออกแบบมาเป็นดิสโทรกลางๆ ให้ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์เอาไปยำต่อ ตรงนี้อาจคล้ายกับ Debian/Fedora หรือจะมองว่ามันเหมือน Android ก็ได้

แผนผังการออกรุ่น ตอนนี้เรามี MeeGo 1.0 ภาค Netbook ใช้กันแล้ว อีกไม่ช้าจะถึงคิวของ MeeGo 1.1 ซึ่งเพิ่มส่วนติดต่อผู้ใช้ภาค Handset และอุปกรณ์อื่นๆ ก่อนจะอัพเกรดเป็น MeeGo 1.2 ในปีหน้า

รอบการออกรุ่นจะเป็นทุก 6 เดือน ลักษณะเดียวกับ GNOME, Ubuntu และ Fedora

ขั้นตอนการพัฒนาโปรแกรมบน MeeGo SDK (ยังไม่ออก) ใช้ระบบแพกเกจแบบ RPM และมีช่องทางจัดจำหน่ายโปรแกรมหลายทาง ทั้ง AppUp ของอินเทล และ Ovi ของโนเกีย

สรุป

ผมมองว่า MeeGo ภาค Netbook คงไปได้เรื่อยๆ ไม่หวือหวานัก เพราะมีคู่แข่งเป็น Windows XP อันแข็งแกร่ง มันอาจมาแทนลินุกซ์ที่พรีโหลดมาให้กับเน็ตบุ๊กบางตัว ซึ่งเกิดจากผู้ผลิตฮาร์ดแวร์กับอินเทลมีความตกลงระหว่างกัน

อุปกรณ์ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือแท็บเล็ต ซึ่งตอนนี้ MeeGo อาจจะยังไม่พร้อมมากนัก แต่ในช่วงที่ตลาดแท็บเล็ตยังอยู่ในขั้นลองผิดลองถูก ก็อาจเป็นโอกาสของ MeeGo ได้

สำหรับโทรศัพท์มือถือ MeeGo ที่หลายๆ คนคาดหวังว่ามันจะมาแทน Symbian ได้อย่างสมบูรณ์ ตรงนี้ต้องยอมรับว่า MeeGo มีศักยภาพสูง เพียงแต่โนเกียจะแปรเปลี่ยนมันเป็นผลิตภัณฑ์จริงได้ดีแค่ไหน (เท่าที่ลองใช้ N900 ผมยังไม่ประทับใจเท่าไร) ผมคิดว่าในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า เราคงได้เห็นมือถือ MeeGo ตัวแรกว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

ตลาดอุปกรณ์ในรถยนต์และทีวีต่อเน็ตได้ เป็นตลาดที่ยังมีการแข่งขันไม่สูงนัก ถ้าพัฒนาดีๆ และทำข้อตกลงกับผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ให้พร้อม MeeGo ก็มีโอกาสสดใสเช่นกันครับ

Blognone Jobs Premium