ผมได้อ่าน eBook และเนื้อหาดิจิตอลต่าง ๆ มาตั้งแต่ใช้ PDA และ smartphone ต่าง ๆ มาเรื่อย ๆ ด้วยความสะดวกในการพกพาติดไปกับตัวได้ตลอด แต่ก็มีข้อจำกัดของอุปกรณ์เหล่านี้ นั่นก็คือ หน้าจอของมันมีขนาด 3.2-3.5 นิ้ว ซึ่งถือว่าเล็กเมื่อเทียบกับการอ่านพ็อกเก็ตบุ๊คโดยทั่วไป
กระแสของ iPad และ tablet PC ทำให้พอจะความหวังที่จะได้อ่านเนื้อหาบนอุปกรณ์พกพาจอใหญ่ ๆ บ้าง แต่ก็ติดด้วยราคาและน้ำหนัก ทำให้ลองหันมามอง eReader ซึ่งราคาเริ่มลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ จนกระทั่งได้ตัดสินใจสั่ง BeBook Mini มาในที่สุด หลังจากใช้เวลากับมันมาประมาณ 1 เดือนแล้วก็ขอนำมาเล่าประสบการณ์ให้อ่านกันครับ
BeBook เป็น eReader ตระกูลหนึ่ง ที่ผลิตโดยบริษัท Jinke ในประเทศจีน และไปปรากฏตัวในต่างประเทศ ในชื่อต่าง ๆ กัน เช่น BeBook, LBook, Hanlin, EZReader สามารถสั่งผ่านทางเวบไซต์ http://www.mybebook.com/ ชำระเงินผ่านทาง PayPal ราคา ($199) รวมค่าส่ง ($25) และภาษีขาเข้าอีก 1 พันกว่าบาท แล้วก็ตกประมาณ 7 พันกว่าบาท ใช้เวลาเดินทางจากต้นทางประเทศเนเธอร์แลนด์ 3 วัน ทาง FedEx
อุปกรณ์ที่มากับตัวเครื่องประกอบไปด้วย
ทัวร์รอบตัวเครื่อง
ด้านล่างของจอ: มีแป้นตัวเลข ซึ่งจะใช้เป็น input หลักของเครื่อง, ปุ่ม back และ menu/ok |
ด้านบน: ช่องใส่ SD card, mini USB และปุ่ม power |
ด้านล่าง: ช่องเสียบสายหูฟัง 3.5 mm |
ด้านขวา: thumbwheel สำหรับใช้ navigation |
ด้านหลัง: ปุ่ม reset และช่องใส่แบตเตอรี่ |
เปิดเครื่อง
เมื่อเปิดเครื่องก็จะพบกับตัวหนังสือสีดำบนหน้าจอสีขาว ไม่มี backlight ความชัดเจน จะขึ้นอยู่กับแสงสว่างของสิ่งแวดล้อม ให้ความรู้สึกเหมือนอ่านหนังสือกระดาษ หน้าจอ ความละเอียด 800x600 พิกเซล greyscale 8 ระดับ ขนาดหน้าจอของ BeBook Mini คือ 5 นิ้ว (ตามเส้นทแยงมุม) ถ้าเทียบแล้ว ก็จะเล็กกว่าหน้ากระดาษหนังสือ paperback อยู่เล็กน้อย
ในส่วนติดต่อกับผู้ใช้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ file browser ที่แสดงรายละเอียดของไฟล์ และโฟลเดอร์ต่าง ๆ ที่อยู่ในหน่วยความจำ และส่วนที่ 2 คือ หน้าแสดงเนื้อหาของหนังสือ เนื่องจากหน้าจอไม่ใช่ touch screen การ input จึงต้องผ่านทางปุ่มต่าง ๆ ที่อยู่บนเครื่อง ในการ navigate ไปตามที่ต่าง ๆ ซึ่งไม่ซับซ้อนอะไร
ประสบการณ์ "อ่าน"
การกดเปลี่ยนหน้า สามารถทำได้จากหลาย ๆ ปุ่ม ที่อยู่รอบเครื่อง (thumbwheel ทางด้านขวา, Next/Previous page ทางด้านซ้าย และปุ่มเลข 9, 10 ทางด้านล่าง) ทำให้สามารถถือได้หลายท่า มือขวา หรือซ้าย ในช่วงแรก ๆ จะรู้สึกหน่วง ๆ ในเรื่องของความเร็วในการเปลี่ยนหน้าอยู่บ้าง เพราะอาจใช้เวลาประมาณ 0.5-1 วินาที โดยประมาณ ในการกดเปลี่ยนหน้าแต่ละครั้ง ไม่ได้ไหลลื่นเหมือนอย่างที่เราคุ้นเคยกับการใช้อ่านบน smartphone หรือ หน้าจอ PC ถ้ามองอีกแง่หนึ่งก็คงใช้เวลาพอ ๆ กับการขยับมือ พลิกหน้าหนังสือก็พอได้อยู่
เหตุผลที่ผมตัดสินใจเลือก BeBook เพราะเห็นตามคุณสมบัติที่แจ้งไว้ว่า รองรับไฟล์ format ต่าง ๆ ได้หลากหลาย (pdf, doc, html, bmp, jpg, png, gif, tif, djvu, fb2, wol, txt, epub, ppt, lit, chm, rar, zip, mp3, mobi, prc, htm) ซึ่งมากกว่าที่ eReader ตระกูลอื่น ๆ สนับสนุน หลาย ๆ format โดยเฉพาะ format ที่เกิดมาในยุคของ ebook สามารถทำงานบน BeBook ได้อย่างน่าประทับใจ เช่น epub, fb2, txt และ prc อาจจะเป็นเพราะเครื่องถูกออกแบบมาให้เหมาะกับการอ่านเนื้อหาที่ไหลไปเรื่อย ๆ (เช่น นิตยสาร, นวนิยาย) ที่ไม่มี text formatting หรือ page layout ที่ซับซ้อนมากนัก
แต่สิ่งที่ผมค่อนข้างผิดหวังก็คือการทำงานในหลาย format ที่ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เช่น ไม่สามารถแสดงไฟล์ html ที่มี layout ที่ซับซ้อน และส่งผลไปยัง format ที่ใช้ html เป็นพื้นฐานอย่าง chm จนไม่สามารถเปิดอ่านเนื้อหาที่ต้องการได้ในบางไฟล์ เพราะ layout เพี้ยนจนอ่านไม่ได้ ต้องอาศัยการ convert ให้กลายเป็น pdf บน PC ก่อน
ตัวอย่าง pdf จากนิตยสาร The Economist เปิดแบบ original layout |
ในส่วนของ pdf สามารถอ่าน pdf ส่วนใหญ่ได้อย่างไม่มีปัญหา โดยเฉพาะไฟล์ที่ให้ความสำคัญกับการ reflow เนื้อหา อย่างเช่น นิตยสารต่างประเทศ
การ zoom ทำให้กลายเป็น reflow mode |
ปัญหาที่พบในการใช้งานกับ pdf ก็คือ ใน original layout ตัวหนังสือจะเล็กเกินไป เพราะจอแค่ 5 นิ้ว (ความคิดแรกหลังจากเห็น layout เต็ม ๆ ของ original layout ก็คือ ถ้าได้เปิดบนจอ 9 นิ้วก็คงจะเยี่ยมไปเลย) นอกจากนี้การขยาย (zoom) เป็นการขยายตัวอักษรให้ใหญ่ขึ้น และข้อความถูก reflow ใหม่ทำให้ไม่สามารถดูเอกสารแบบ layout เต็ม ๆ แบบขยายได้ ซึ่งทำให้อรรถรสการดูข้อมูลที่เป็นตาราง และแผนภูมิต่าง ๆ หายไป
ภาษาไทย
การสนับสนุนภาษาไทย คงจะเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจซื้อ eReader มาใช้งานของหลาย ๆ คน จากการใช้งานพบว่า ใน firmware มีการ install font ภาษาไทยมาให้เรียบร้อย แต่การจัดเรียงข้อความจาก text file ธรรมดา ยังเจอปัญหาสระลอยอยู่
สระลอยใน text file ภาษาไทย (UTF8) |
แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะการจัดเรียงข้อความสำหรับไฟล์ pdf สนับสนุนภาษาไทยได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้น การเอาเนื้อหาภาษาไทยมาเปิด ก็เพียงแต่นำข้อความที่ต้องการ มาแปะลงในโปรแกรม word processor ต่าง ๆ แล้ว บันทึกเป็น pdf หรือการใช้เครื่องมืออย่าง cups-pdf หรือ cutepdf มาช่วยก็สามารถทำได้แล้ว
ภาษาไทยใน pdf ที่บันทึกผ่าน OpenOffice Writer |
ความสามารถทางสื่ออื่น ๆ
นอกจากจะสามารถใช้อ่าน ebook แล้ว BeBook Mini ยังมีความสามารถในการเล่นไฟล์เสียง mp3 ได้อีกด้วย แต่ไม่มี built-in speaker ในเครื่อง จะต้องต่อแจ็ค 3.5 mm เข้ากับตัวเครื่องเท่านั้น สำหรับคุณภาพเสียงของเครื่องที่ทำการทดสอบนี้ ไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับ portable player อื่น ๆ แม้ว่าจะใช้ไฟล์ที่มี bitrate ขนาดสูงแล้วก็ตาม หลังจากทดลองฟังไม่ถึง 5 นาทีก็ต้องถอยก่อนดีกว่า
สรุปประสบการณ์การใช้งาน BeBook Mini และความเห็นเกี่ยวกับ eReader ของผม
ในปัจจุบันตลาด eBook และ eReader กำลังอยู่ในภาวะสงคราม ของการลดราคาตัวเครื่อง eReader เอง และการสร้างเครือข่ายเนื้อหาต่าง ๆ ด้วย ราคาที่เริ่มน่าสนใจมากขึ้น ความสามารถที่เพิ่มขึ้น ความสะดวกในการพกพา และกินพลังงานต่ำ ทำให้ eReader จะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับหนอนหนังสือทั้งหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ
BeBook Mini เป็น eReader รุ่นประหยัด น้ำหนักเบา พอที่จะสามารถพกติดตัวไปได้ทุกที่ ด้วยความสามารถของ e-Ink ที่ไม่กินพลังงาน และให้ความรู้สึกคุ้นเคยเหมือนการอ่านหนังสือบนหน้ากระดาษ ทำให้ผมรู้สึกคุ้มค่า ที่จะพกมันไปด้วยในโอกาสต่าง ๆ เพื่อ "อ่าน"
เนื่องจากมันไม่ได้มีความสามารถทางด้าน multimedia, wireless หรือ internet connection เลย ทำให้คุณจะตัดสินใจซื้อมันมาเพื่อ "อ่าน" เท่านั้น
แม้ว่าจะมีจุดเด่นที่สามารถอ่านไฟล์ได้หลากหลาย format แต่ความเหมาะสมที่จะเอามาอ่านบนหน้าจอ 5 นิ้วนี้ คงจะเป็นเนื้อหาที่มีการจัดเรียงหน้าที่ไม่ซับซ้อนมากนัก และมีเนื้อหาเป็นแบบไหลไปเรื่อย ๆ แต่ไม่เหมาะกับการอ่านแผนภูมิ ตาราง รูปภาพ ที่มีความซับซ้อน และการอ่านไฟล์ในหลาย ๆ format ก็ยังทำได้ไม่ดีนัก ท่านที่กำลังพิจารณาตัดสินใจซื้ออาจจะต้องเตรียมใจเอาไว้บ้าง หรืออาจจะต้องทำการบ้านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแปลงไฟล์ไปเป็น format ที่ไว้ใจได้อย่าง pdf, epub, txt, mobi, pdb
Spec ของ BeBook mini เป็นดังนี้
Links