สบท. แจง เงื่อนไข "เปลี่ยนเครือข่ายใหม่เบอร์เดิม" ยังต้องปรับปรุง

by nuntawat
9 August 2010 - 21:42

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยถึง เงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่า มีหลายประเด็นที่ควรมีการพิจารณา เช่น

  • การที่ผู้ให้บริการกำหนดเพิ่มเติมว่า ผู้ที่จะมีสิทธิใช้บริการ "เปลี่ยนเครือข่ายใหม่ ใช้เบอร์เดิม" จะต้องใช้บริการกับรายเดิมอย่างน้อย 90 วัน ไม่เป็นธรรมและไม่สมเหตุสมผล เพราะมีการกำหนดอยู่แล้วว่าบริการดังกล่าวมีการคิดค่าธรรมเนียม ดังนั้นการโอนย้ายย่อมเหมือนการขอเปิดเบอร์ใหม่ซึ่งเราจะเปิดวันไหนก็ได้ บริษัทไม่มีสิทธิกำหนดว่าคุณต้องอยู่ 90 วัน เว้นแต่บริษัทจะเปิดให้ขอใช้บริการได้ฟรีโดยปลอดค่าธรรมเนียม
  • การคิดค่าบริการต้องขึ้นกับต้นทุนโดยถือว่าเป็นบริการที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งจากการสำรวจของ สบท. มีผู้บริโภคถึงร้อยละ 10 ที่ต้องการใช้บริการนี้ จำนวนผู้ต้องการใช้บริการที่มากต้นทุนจึงถูกลงได้อีกมาก จากเดิมที่ผู้ให้บริการคิดบนฐานว่ามีผู้ต้องการใช้บริการเพียงร้อยละ 1 ดังนั้นการคิดค่าบริการที่ 99 บาท ถือว่าแพงเกินไป
  • การเตรียมความพร้อมเรื่องการถ่ายโอนเงินคงเหลือ กรณีผู้ใช้บริการในระบบจ่ายเงินล่วงหน้า (เติมเงิน) เมื่อโอนย้ายเลขหมายสำเร็จ หากมีเงินคงเหลือไม่ควรที่ผู้ใช้บริการต้องย้อนกลับไปขอเงินคืนจากรายเดิมอีก แต่ควรมีระบบที่อำนวยความสะดวก ในกรณีนี้รวมถึงบริการเสริมต่างๆ ด้วย ถ้าเราโอนย้ายเครือข่าย บริการเสริมต่างๆ ก็สิ้นสุดไปด้วย แต่ในกรณีที่เป็นประเภทจ่ายเงินล่วงหน้า เช่น ตัดเงินไปก่อนแล้วสำหรับบริการ 1 เดือน แต่เราเพิ่งใช้บริการครึ่งเดือนแล้วโอนย้าย แปลว่า สิทธิในการรับบริการเสริมอีกครึ่งเดือนหายไป ซึ่งผู้ให้บริการต้องคืนเงินให้กับผู้ใช้บริการ หรืออาจมีการถ่ายโอนกันระหว่างผู้ให้บริการ เพื่อให้ผู้ใช้บริการไม่เสียสิทธิที่เหลืออยู่
  • ระยะเวลาในการโอนย้าย ควรใช้ระยะเวลาในการโอนย้าย 3 วันตามที่กฎหมายระบุไม่ว่าจะโอนย้ายกี่หมายเลขก็ตาม เพราะการอ้างว่าจำนวนเลขหมายที่มากขึ้นทำให้ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสารมากนั้นไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากปกติการตรวจสอบเอกสารจะตรวจสอบเจ้าของ คือ บัตรประชาชนและทะเบียนนิติบุคคล เท่านั้น
  • การระบุว่าผู้ใช้บริการต้องชำระหนี้ค้างชำระให้หมดก่อนนั้นเป็นจริงไม่ได้ เพราะถ้าใช้ระบบจดทะเบียน หนี้จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าจะตัดเครือข่ายเดิมแล้วต่อเครือข่ายใหม่สำเร็จ เนื่องจากแม้จะมีการตัดยอดบิลหลังสุดแต่ผู้บริโภคก็มีสิทธิใช้มือถือในช่วงก่อนโอนย้ายสำเร็จ ดังนั้นระบบที่สมเหตุสมผลคือ การที่บริษัทแจ้งยอดหนี้ให้ผู้บริโภคทราบทีเดียวหลังการโอนย้าย เพื่อให้ชำระคืนเป็นยอดเดียว

ที่มา: ประชาไท

Blognone Jobs Premium