สรุปมีผู้ยื่นซองประมูลใบอนุญาต 3G เพียง 3 ราย: เอไอเอส-ดีแทค-ทรู, ชิงดำ 14 ก.ย.

by nuntawat
31 August 2010 - 00:32

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกทช. ในฐานะประธานคณะกรรมการ 3.9G กล่าวภายหลังปิดรับการยื่นซองประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 กิกกะเฮิร์ต (ไลเซ่นส์ 3G) และใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ว่า มีบริษัทเอกชนสนใจเข้าร่วมยื่นซองแสดงความจำนงเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตฯ ทั้งหมด 4 ราย แต่มีบริษัทเอกสารครบเพียง 3 รายได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด บริษัทลูกของ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) บริษัท ดีแทค อินเทอร์เน็ต เซอร์วิส บริษัทลูกของ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และบริษัท เรียล มูฟ จำกัด บริษัทลูกของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด (Truemove) ส่วนบริษัทธุรกิจรถเอ็นจีวีลูกสาว ประสิทธิ์ โพธสุธน เอกสารไม่ครบ ทำให้กรรมการกทช.ที่ทำหน้าที่ตรวจรับเอกสารไม่รับเอกสาร และจะทำหนังสือแจ้งให้บริษัทฯ ทราบอย่างเป็นทางการว่าไม่สามารถเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 3G ได้ในวันนี้

เมื่อยื่นซองเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 3G แล้ว ผู้ที่ยื่นซองประมูลต้องไม่ให้ข่าวหรือเปิดเผยข้อมูล อันเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการสมยอมราคา (ฮั้วประมูล) หากพบว่ามีการกระทำดังกล่าว กทช.จะมีบทลงโทษโดยการยึดเงินมัดจำ 10% และถูกตัดสิทธิการเข้าร่วมประมูล อีกทั้งยังต้องถูกดำเนินคดีทางอาญาว่าเป็นการส่อในทางทุจริตและเข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล 2542

เนื่องจากมีผู้ยื่นซองเข้าร่วมประมูล 3 ราย ดังนั้นกทช.จะให้ใบอนุญาต 2 ใบอนุญาตก่อน (ตามกฏ N-1) ส่วนใบอนุญาตอีก 1 ใบอนุญาตกทช.จะเปิดประมูลภายใน 90 วันหลังจากการเปิดประมูลใบอนุญาตครั้งแรก โดยจะใช้ราคาเริ่มต้นการประมูลของผู้ที่ชนะการประมูลเป็นอันดับที่สอง และไม่ใช้สูตร N-1 แต่ถ้ามีผู้ยื่นประมูลเพียงรายเดียวก็ได้รับเลย นอกจากนี้ยังหวังว่าการประมูลรอบ 2 จะมีการต่างชาติเข้าร่วมด้วย

พ.อ.นที กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ไม่มีบริษัทต่างประเทศเข้าร่วมประมูลครั้งนี้นั้นเพราะไม่มั่นใจเรื่องการแปลงสัมปทาน 2G เป็นใบอนุญาต 2G และไม่มั่นใจว่าจะแข่งขันกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายเดิมได้

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

Blognone Jobs Premium