จากความล่าช้าและอุปสรรคในการออกใบอนุญาต 3G ทาง Blognone เห็นว่าควรแสดงจุดยืนบางอย่างผ่านแถลงการณ์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สังคมเล็งเห็นว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจาก "โครงสร้าง" ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่มีปัญหาเรื้อรังมายาวนาน (มิใช่เกิดจากองค์กรใดองค์กรหนึ่งเพียงลำพัง)
แถลงการณ์นี้ถือเป็นความเห็นของเว็บมาสเตอร์ มิใช่ความเห็นจากสมาชิกทั้งหมดของเว็บไซต์ ถ้าหากสมาชิกท่านใดเห็นด้วยกับแถลงการณ์ ก็สามารถลงชื่อไว้ได้ที่ช่องคอมเมนต์
แถลงการณ์เว็บไซต์ Blognone กรณีความล่าช้าในการประมูลความถี่ 3G
เทคโนโลยีการสื่อสารแบบ 3G เริ่มให้บริการในเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในโลกที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2001 และประเทศอื่นๆ ได้ทยอยเริ่มให้บริการในเวลาต่อมา สำหรับประเทศไทยถือว่าล่าช้ามาโดยตลอด และปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นประเทศท้ายๆ ในเอเชียที่ยังไม่มีบริการ 3G เชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ
จากความพยายามครั้งล่าสุดของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับ 3G ด้วยวิธีการประมูล แต่กลับถูกยื่นฟ้องจากบริษัท กสท. โทรคมนาคม และศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน ให้หยุดการประมูลไปก่อนจนกว่าจะมีการก่อตั้ง กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก่อน
ทางเว็บไซต์ Blognone ขอแสดงจุดยืนดังต่อไปนี้
- ขอแสดงความผิดหวัง ที่กระบวนการออกใบอนุญาต 3G ต้องล่าช้าอีกครั้ง หลังจากที่ล่าช้ามายาวนาน เทคโนโลยี 3G จะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้คนส่วนใหญ่ของประเทศสามารถเข้าถึงสารสนเทศได้จากเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างทางเทคโนโลยี (digital divide) ได้มาก และเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจเชิงความรู้ (knowledge economy) การที่กระบวนการออกใบอนุญาต 3G ต้องล่าช้าออกไปอีก ถือเป็นการสูญเสียโอกาสครั้งสำคัญของคนไทย
- ขอสนับสนุน ทิศทางและนโยบายของ กทช. ในการออกใบอนุญาต 3G ด้วยการประมูล การประมูลครั้งนี้ถือเป็นการประมูลคลื่นความถี่ครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมและสื่อสารมวลชนอื่นๆ ในอนาคต ขณะนี้ยังไม่มีผู้ใดทราบว่ากระบวนการประมูลของ กทช. จะประสบความสำเร็จมากเพียงใด มีความยุติธรรมและโปร่งใสมากแค่ไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นบทเรียนที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเรียนรู้ร่วมกันผ่านการประมูลซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น ถ้าหากไม่พบอุปสรรคเสียก่อน
- ขอเรียกร้อง ให้องค์กรของรัฐที่เป็นเจ้าของคลื่นความถี่ ทั้งทางด้านโทรคมนาคมและกิจการกระจายเสียง เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนเหนือกว่าประโยชน์ขององค์กร และให้ความร่วมมือ สนับสนุน กระบวนการจัดสรรคลื่นความถี่ขององค์กรกำกับดูแลต่างๆ ทั้ง กทช. ในปัจจุบัน และ กสทช. ในอนาคต เพื่อให้กระบวนการจัดสรรคลื่นขององค์กรอิสระเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และยุติธรรม ไม่ถูกผูกขาดหรือเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าของความถี่เดิมรายใดรายหนึ่ง
- ขอเสนอ ไปยังรัฐบาลไทย โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าของ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะผู้กำกับดูแล อดีตรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมสองแห่ง ได้แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการปฏิรูปองค์กรทั้งสองแห่ง เพื่อให้อยู่ภายใต้ระบบการแข่งขันของตลาดเช่นเดียวกับบริษัทเอกชนทั่วไป โดยขอเสนอให้นำบริษัททั้งสองเข้าสู่ระบบตลาดหลักทรัพย์ไทย เพื่อให้ผู้ถือหุ้นเป็นผู้ควบคุมทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทโดยตรง และให้ถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดังเช่นบริษัทเอกชนอื่นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะทำให้พื้นฐานด้านกฎเกณฑ์การแข่งขันขององค์กรทั้งสอง เท่าเทียมกับบริษัทโทรคมนาคมภาคเอกชนในปัจจุบัน
เว็บไซต์ Blognone หวังจะเห็นการปฏิรูปโครงสร้างในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่บิดเบี้ยวมานานจากปัจจัยต่างๆ จนส่งผลให้ประเทศไทยมีความล้าหลังในเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม
อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์
วสันต์ ลิ่วลมไพศาล
เว็บมาสเตอร์ เว็บไซต์ Blognone
17 กันยายน พ.ศ. 2553