วานนี้ รมว.คลัง ได้เรียกผู้ประกอบการโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ 3 รายของไทยคือ เอไอเอส ทรู และดีแทค เพื่อหารือถึงแนวทางในการพัฒนาโทรคมนาคมของไทย รมว.คลัง กล่าวว่า การหารือในครั้งนี้เอกชนรายใหญ่ทั้ง 3 รายเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลทั้ง 4 แนวทางคือ 1) การแปรสัญญาสัมปทานมาเป็นใบอนุญาต 3G 2) การพิจารณาของคณะกรรมการมาตรา 13 และ 22 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุน 3) การจัดตั้ง กสทช. และ 4) การทำตลาด MVNO ร่วมกับทีโอที ในส่วนของ พ.ร.บ.ร่วมทุนตามมาตรา 13 และ 22 นั้น ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ไปดำเนินการ คาดว่าภายในสิ้นปีจะเสร็จ
รมว.คลัง กล่าวต่อว่า สัมปทานระหว่างเอไอเอสและทีโอทีนั้นพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนอีก 2 บริษัทที่มีสัญญาสัมปทานกับ กสท. ยังไม่แล้วเสร็จ แต่เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นานก่อนจะเสนอให้กระทรวงไอซีทีก่อนเข้า ครม. เรื่องนี้เมื่อมีความชัดเจนก็จะทำให้บริษัทเอกชนรู้ได้ว่าจะสามารถใช้คลื่นความถี่นอกเหนือจากปัจจุบันที่ใช้อยู่ได้หรือไม่ ซึ่งจะทำให้เอกชนพร้อมที่จะพิจารณาการลงทุนเพิ่มเติมได้
ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่จะมีการจัดตั้ง กสทช. เอกชนก็ได้เห็นแล้วว่ารัฐบาลพยายามเร่งรัดในเรื่องนี้ เพียงแต่เอกชนต้องการให้ภาครัฐกำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจนในการจัดตั้งคณะกรรมการและการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บท
หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงินของทรู กล่าวว่า เนื่องจากทรูมูฟเป็นรายเดียวที่มีระยะเวลาสัมปทานเหลือน้อยที่สุด ดังนั้นการแปรสัญญาสัมปทานก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับทรูมูฟ ยังมีประเด็นที่ต้องถกเถียงกันก่อนว่าจะมีอายุใบอนุญาต 15 ปี หรือจะให้มีอายุเท่าสัมปทานที่เหลือ ซึ่งหากเป็นอย่างหลังก็จะไม่เป็นประโยชน์
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์