Project สามก๊กไอที

by mk
29 October 2010 - 05:52

โครงการนี้เป็นโครงการที่ผมเตรียมตัวมาสักระยะแล้ว แต่เพิ่งได้ฤกษ์ลงมือทำ

ในฐานะที่ทำงานด้านสื่อไอที ผมมักได้รับคำถามอยู่เสมอๆ ว่ามองโลกไอทีในอนาคตอย่างไร กูเกิลจะครองโลกหรือไม่ ไมโครซอฟท์จะแพ้หรือเปล่า ฯลฯ ซึ่งผมก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนนัก ได้แต่ตอบมั่วๆ แกนๆ เอาตัวรอดไปตามสถานการณ์

พอโดนถามมากๆ เข้า เราก็เริ่มคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังนะครับ ช่วงหลังผมเริ่มตกผลึกและได้คำตอบว่า “โลกไอที” ในทศวรรษหน้า (หลังปี 2010 เป็นต้นไป) จะเกิดสภาพยันกันของบริษัทผู้นำตลาด 3 ราย อันได้แก่ ไมโครซอฟท์ แอปเปิล และกูเกิล

เราคงไม่ต้องเสียเวลาแนะนำบริษัททั้งสามให้รู้จัก ผมคิดว่าทั้งสามรายนี้เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลในด้านของตน และกำลังพยายามสยายปีกผลิตภัณฑ์และบริการออกไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกัน แต่สุดท้ายด้วยเหตุผลเชิงโครงสร้างของการแข่งขัน ทั้งสามบริษัทจะมีผลิตภัณฑ์และบริการซ้อนทับกันเกือบทุกประการ

ทุกวันนี้เราก็เห็นภาพที่ว่ากันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการ เบราว์เซอร์ มือถือ ชุดโปรแกรมสำนักงาน อีเมล เกม เพลง หนัง ทั้งสามเจ้าล้วนมีครบในมือ และแข่งขันกันอย่างดุเดือด

ผมคิดว่าสภาพสามเส้าอันนี้เปรียบเสมือน “สามก๊ก” ในประวัติศาสตร์จีน ซึ่งก่อตัวจากสภาพแผ่นดินเดือดช่วงปลายราชวงศ์ ประเทศแตกเป็นก๊กมากมายในช่วงแรก แต่สุดท้ายก็ต่อสู้ หลอมรวม หลงเหลือเป็นสามก๊กใหญ่ที่ไม่มีใครแพ้ชนะ เกิดดุลยภาพของ “แผ่นดินที่แบ่งเป็นสามส่วน” กินเวลาถึง 60 ปี (ระยะเวลาแบบเป๊ะๆ ขึ้นกับวิธีนับ)

ถ้าจะเปรียบให้สนุก ไมโครซอฟท์คงเทียบได้กับ “วุยก๊ก” ที่สืบทอดฐานอำนาจเดิมของราชวงศ์ฮั่นอันเกรียงไกร แม้จะเสื่อมอิทธิพลลงจากเดิม แต่ก็ยังแข็งแกร่งไม่ล้มหายตายจากไปไหน

แอปเปิลเหมือนดังเช่น “ง่อก๊ก” ที่อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงเดิม แต่ก็มีฐานที่มั่นของตัวเองอันเหนียวแน่นมายาวนาน และเมื่อ “วุยก๊ก” เริ่มเสื่อมก็ขยายขอบเขตของตัวเองออกมาอย่างรวดเร็ว

ส่วน “จ๊กก๊ก” คงไม่มีใครอื่นนอกจากกูเกิล ก๊กใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาจากความว่างเปล่า แต่ด้วยความสามารถของ “สามพี่น้องแห่งสวนท้อ” อันได้แก่ อีริค ชมิดท์, ลาร์รี เพจ และ เซอร์เก บริน ก็ก่อร่างสร้างตัวจนเป็นอาณาจักรที่ไม่ด้อยไปกว่ารุ่นพี่ทั้งสอง อีกทั้งยังสร้างแรงกดดันให้ก๊กอื่นๆ ต้องปรับตัวเป็นการใหญ่

คำถามสำคัญคือ “ใครจะชนะ?” อันนี้ผมไม่ทราบจริงๆ แต่ตามประวัติศาสตร์ของสามก๊ก ผู้ชนะคือตระกูลสุมาที่แฝงกายอยู่ในวุยก๊ก รอจนทั้งสามฝ่ายสู้กันเองจนอ่อนแอ และสุดท้ายขึ้นมากินรวบ ตั้งราชวงศ์จิ้นที่รวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นได้สำเร็จ ดังนั้นก็ไม่แน่ว่าผู้ชนะในศึกครั้งนี้ อาจเป็น “เด็กเนิร์ดในโรงรถ” คนใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อนก็เป็นได้

ผมเรียกภาพอนาคตอันนี้ว่า “สามก๊กไอที” และโครงการนี้ก็คือการเขียนหนังสือเล่าถึงเรื่องนี้แบบละเอียด

แต่ไหนเลยเขียนเองทั้งเล่ม เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เองทั้งหมด ก็น่าจะใช้โอกาสนี้ให้คุ้มค่า ทดลองอะไรแปลกๆ ที่น่าสนุกไปพร้อมกัน จะถือเป็น “งานเขียนเชิงทดลอง” แบบที่คุณวินทร์ เลียววาริณ ทำอยู่บ่อยๆ ก็ได้

ผมจึงตั้งใจว่าแทนที่จะเขียนไปเรื่อยๆ เสร็จแล้วรวมเล่มตีพิมพ์แบบหนังสือทั่วไป ก็เปลี่ยนมาเขียนเป็นตอนๆ ลง Blognone นี่ล่ะ (ตอนแรกคิดว่าจะเขียนลงนิตยสารแต่คิดไม่ออกว่าลงที่ไหนดี ก็ลง Blognone แล้วกันง่ายดีเนอะ) เสร็จแล้วจะนำไปรวมเล่มอย่างไรค่อยว่ากัน ส่วนความถี่ในการเผยแพร่ยังไม่กล้ารับประกัน เดี๋ยวจะทำไม่ได้ตามที่สัญญาไว้ เอาเป็นว่าเขียนเสร็จก็จะนำมาโพสต์ทันทีดีกว่า

ส่วนการทดลองที่ว่า ยังคิดไม่ค่อยออกทั้งหมด อันนี้ไม่ซีเรียส คิดไปทำไปได้ไม่มีปัญหา ที่นึกออกตอนนี้ได้แก่

  • เขียนแบบ rough cut ฉบับแรกยังไม่ต้องสมบูรณ์มาก แต่เปิดโอกาสให้ผู้อ่านเป็นคนถามถ้าอยากรู้หรืออยากให้เน้นประเด็นไหนเพิ่ม แล้วค่อยไปเติมในเวอร์ชันถัดไปที่รวมเป็นเล่ม
  • วิธีการนำเสนอที่ไม่ใช่เป็นข้อความล้วนๆ เขียนบนเว็บทั้งทีเราสามารถใส่ภาพ เสียง วิดีโอ สื่อมัลติมีเดียพิสดารพันลึกเพิ่มไปได้
  • กระบวนการจัดพิมพ์ ยังไม่ฟันธงแต่ผมอาจเลือกพิมพ์เฉพาะเท่าที่มีคนสั่งซื้อ (แบบตอน Blognone Year Book) หรืออาจทำเวอร์ชัน Kindle ก่อนเวอร์ชันกระดาษ
  • รวมความเห็นของผู้อ่านเข้ามาในหนังสือ อันนี้เคยลองทำตอน Blognone Year Book แล้วพบว่าเข้าท่า น่าทำอีก
  • ปฏิสัมพันธ์ผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น Facebook/Twitter ยังคิดไม่ค่อยออกเช่นกันว่าควรทำอะไรดี
  • สัญญาอนุญาตของหนังสือจะเปิดกว้างให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้ CC-BY-SA เพื่อให้เข้ากันได้กับ Wikisource/Wikibooks
  • (ถ้ามีไอเดียน่าสนใจก็เสนอมาได้ครับ)

บทความตอนนี้เป็นเพียงแค่แนะนำแนวคิดของโครงการเท่านั้น (บทที่ 0) คราวหน้ามาเริ่มกันในบทที่ 1 ของ “สามก๊กไอที” ครับ

หมายเหตุ:

  • การใช้กรอบวิเคราะห์แบบสามก๊ก เพื่อให้รู้สึกตื่นเต้นน่าติดตาม และเน้นสภาวะ “สามเส้า” ให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น ในความเห็นของผมประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องย้อนรอยแบบเป๊ะๆ เสมอไป บทความชุดนี้ไม่ได้เสนอว่าผู้ชนะในขั้นตอนสุดท้ายจะต้องเป็นแบบสามก๊กในบั้นปลาย
  • ผมยังคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรกับ social network แต่ก็ไปจองชื่อเอาไว้แล้ว ไป follow/like กันได้ครับ Twitter, Facebook
Blognone Jobs Premium