เป็นธรรมเนียมปฏิบัติทุกปีนะครับ ว่าขึ้นปีใหม่แล้วเราจะมาดูกันว่าผู้อ่าน Blognone ในปีก่อนนั้นเป็นอย่างไร (สำหรับสถิติปีก่อนๆ ดูได้จากหน้า สถิติ)
ตัวนับสถิติเราใช้ Google Analytics ตัวเลขอาจจะต่างไปจากสำนักอื่นๆ (เช่น TrueHits) บ้างนะครับ
สถิติรวม
ถ้าดูจากกราฟจะเห็น "ช่องแคบมาเรียน่า" อันเบ้อเริ่ม อันนี้น่าขายหน้ามากแต่มันพลาดไปแล้วก็ต้องยอมรับแต่โดยดี
วันที่ทำสถิติสูงสุดคือ 27 กันยายน ถือเป็น new high ของ Blognone ด้วยจำนวน visits 39,274 ต่อวัน ปัจจัยที่ทำให้เกิด new high มาจากหลายข่าวผสมกัน แต่โดยหลักๆ แล้วคือข่าวราคาของ Galaxy Tab และข่าว iPhone 4 วางขายในไทย อันดับสองคือ 7 ธันวาคมกับข่าว Nexus S และอันดับสาม 8 มิถุนายน หลังแอปเปิลเปิดตัว iPhone 4 หนึ่งวัน
แหล่งที่มาของทราฟฟิกก็ตามกราฟ โครงสร้างก็คล้ายๆ เดิมคือ search engine มากหน่อย ปีนี้ Google Analytics เริ่มนับส่วน "Other" ด้วย ผมไม่แน่ใจว่าหมายถึงอะไรกันแน่
คัดมาเฉพาะสิบอันดับแรกนะครับ จุดที่น่าสนใจคือ networkedblogs.com ซึ่งเป็นบริการที่เราใช้โพสต์เนื้อหาลง Facebook แรงขึ้นมาเป็นอันดับสอง (แสดงว่ามาจากคนที่เป็นแฟนของ Blognone) ตามด้วย facebook.com มาเป็นอันดับสาม (แชร์ข่าวของ Blognone ใน Facebook) นับรวมกันแล้ว Facebook มาแรงมาก
ที่เหลือที่น่าสนใจคือ drama-addict ที่เติบโตเร็วมาก และ cz.podzone.org ที่ติดอันดับมาตั้งแต่เปิดเว็บใหม่ๆ
เดาได้ไม่ยากว่ามันจะเต็มไปด้วยคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับมือถือ และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ wikileaks ซึ่งมาแรงตามประเด็นข่าว และ proxy ที่เป็นคีย์เวิร์ดยอดนิยม ติดอันดับมาหลายปี ยังไม่ตกลงไปง่ายๆ
ข่าวมือถือติดอันดับยกแผงเช่นเดียวกับคีย์เวิร์ด ที่เด่นพิเศษคือข่าวสมาร์ทโฟนของ DTAC ซึ่งติดอันดับสูงๆ ทั้งสองข่าว
คล้ายๆ ของปีก่อนคือ TOT มาอันดับหนึ่ง ส่วน True กับ Maxnet/3BB ก็ผลัดกันชิงอันดับรอง
ส่วนที่สนุกที่สุดของสถิติ Blognone ประจำปีคือซอฟต์แวร์ที่ผู้ชมเว็บใช้งาน ปีนี้ผมเขียนแบบพิเศษหน่อยคือใช้ข้อมูล 2 ช่วง ช่วงแรกคือปี 2010 ทั้งปีสำหรับดูภาพรวม ช่วงที่สองเอาเฉพาะเดือนธันวาคม 2010 เพื่อดู "ข้อมูลล่าสุด"
เริ่มจากเบราว์เซอร์ก่อน ภาพรวมของเบราว์เซอร์ปี 2010 เป็นดังกราฟ
จากนั้นมาดูสถิติของเบราว์เซอร์ปี 2010 เทียบกับปี 2009 บ้าง จะเห็นว่าทั้ง IE และ Firefox โดน Chrome กินส่วนแบ่งไปมาก ส่วน Safari และ Opera เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ส่วน "ข้อมูลล่าสุด" ของเบราว์เซอร์ยิ่งเห็นการเติบโตของ Chrome เด่นชัดมาก ตอนนี้ทั้ง IE, Firefox, Chrome กลายเป็น 3 เบราว์เซอร์ที่มีส่วนแบ่งใกล้กันมาก
เบราว์เซอร์ที่ชาว Blognone สนใจมากที่สุดคงไม่มีใครเกิน IE ตอนนี้สถิติที่น่าสนใจคือ IE8 กินส่วนแบ่ง 55.6% ของ IE ทั้งหมด ตามด้วย IE7 ที่ 25% ส่วน IE6 ลดลงต่ำกว่า 20% แล้ว เรียกได้ว่ากราฟกลับกับปีก่อนอย่างสิ้นเชิง
กราฟแสดงการลดลงของผู้ใช้ IE6 (วัดเป็นจำนวน ไม่ใช่สัดส่วน) เส้นสีเขียวคือปี 2009 และเส้นสีน้ำเงินเป็นของปี 2010
กราฟนี้แสดงการเพิ่มขึ้น-ลดลงของ IE แต่ละรุ่น เทียบกับข้อมูลของปีก่อน
สำหรับ "ข้อมูลล่าสุด" ของเดือนธันวาคม 2010 ส่วนแบ่งยิ่งเห็นแนวโน้มชัดเจน IE8 สูงถึง 65% ส่วน IE6 ลดลงเหลือ 12% เท่านั้น
สถิติของ Firefox ผมใช้ "ข้อมูลล่าสุด" เพียงอย่างเดียวนะครับ จากกราฟจะเห็นว่าผู้ใช้ Firefox ส่วนใหญ่ใช้ 3.6.12 หรือ 3.6.13 ซึ่งเป็นเวอร์ชันล่าสุด (มี 4.0 บ้างเล็กน้อย) ตรงนี้ก็ต้องขอบคุณระบบอัพเดตตัวเองของ Firefox ที่ช่วยให้ปรับรุ่นตามกันเร็ว ใครที่ยังใช้รุ่นเก่ากว่านี้ก็ควรอัพเดตโดยด่วน
กรณีของ Chrome ก็คล้ายๆ กัน (นับข้อมูลล่าสุด) ผู้ใช้ประมาณ 70% หันมาใช้ Chrome 8 หมดแล้ว แต่ Chrome 7 ก็ยังมีส่วนแบ่งอยู่ไม่น้อย ประมาณ 13%
ข้อมูลล่าสุดของ Flash Player ระบุชัดเจนว่าคนส่วนมากหันมาใช้ Flash 10.1 กันเยอะแล้ว เพียงแต่รุ่นย่อยอาจจะต่างกันไปบ้าง ใครที่ไม่รู้ว่า Flash ตัวเองเป็นเวอร์ชันอะไรก็เช็คจากหน้า Adobe Flash Player ถ้าเก่าเกินก็อัพเดตกันโดยด่วน
สัดส่วนของระบบปฏิบัติการที่ใช้ยังคล้าย ๆ กับปีก่อน Windows ครองแชมป์ด้วยสัดส่วน 83% ตามด้วยแมค 9.6% ที่เหลือเป็นระบบปฏิบัติการอื่นๆ รวมถึงมือถือ
อัตราการเติบโต
ถ้าดูเฉพาะวินโดวส์ จะเห็นว่า XP ยังครองแชมป์แต่สัดส่วนก็ลดลงมาก ในขณะที่ Windows 7 โตแบบก้าวกระโดด ส่วน Vista ก็คงใกล้หมดภารกิจในฐานะ "รุ่นคั่น" ในเร็ววัน
ตัวเลข "ล่าสุด" ของเดือนธันวาคม XP ใกล้โดน 7 แซงอยู่รอมร่อ ปี 2011 คงเปลี่ยนมือแชมป์อย่างแน่นอน
สัดส่วนของ Mac OS X ไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจ 10.6 มีส่วนแบ่งประมาณ 80% ตามด้วย 10.5 ประมาณ 16% ส่วนสถิติของ iPhone นี่ Google Analytics วัดแยกเวอร์ชันไม่ได้ครับ น่าเสียดาย
เวอร์ชันของ Android ถ้านับตลอดปี ส่วนมากใช้ Android 2.1 มีส่วนแบ่งเกือบครึ่ง ตามด้วย 2.2, 1.6 และ 1.5 ตามลำดับ ถือว่ามี fragmentation อยู่มาก
แต่ถ้าดูข้อมูลเดือนธันวาคม สถานการณ์จะกลับกันไปเลย เพราะคนส่วนมากกลับใช้ 2.2 (หรือ 2.2.1) โดยมี 2.1 ประมาณ 25% ส่วนพวก 1.x แทบจะหายไปหมดแล้ว (น่าสนใจว่าปี 2011 เราจะเห็น fragmentation จาก Android 2.3 หรือ 3.0 อีกหรือไม่)
จับคู่ความสัมพันธ์เบราว์เซอร์กับระบบปฏิบัติการ อันดับยังเหมือนเดิม แต่เบอร์ 3 คือ Chrome/Windows โตเร็วมาก (ปีก่อนประมาณ 7% ปีนี้ขึ้นมาที่ 19.25%)
สถิติ "ล่าสุด" ของเดือนธันวาคม
จดไว้เป็นสถิตินะครับ
Twitter โตขึ้นจากเดิมประมาณเท่าตัว ส่วน Facebook โตสามเท่า
สำหรับสถิติอื่นๆ ถ้าอยากรู้เพิ่มเติมก็ขอมาเป็นพิเศษได้ครับ