เบราเซอร์ Google Chrome นั้นได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงหลัง (ผู้อ่าน Blognone ใช้เกิน 20% แล้ว) แต่ตั้งแต่ปลายปี 2009 ที่ผ่านมา Chromium (Chrome รุ่นที่เป็นโอเพนซอร์สสมบูรณ์) บนลินุกซ์ก็เริ่มเรนเดอร์ฟอนต์ภาษาไทยผิดพลาดจนใช้งานกับบางฟอนต์ไม่ได้เพราะวรรณยุกต์และสระที่อยู่ด้านบนและล่างจะวางผิดตำแหน่งจนอ่านไม่ได้ ล่าสุด Evan Martin จากทีม i18n ของ Chromium ระบุว่าเขากำลังกลับมาดูแลปัญหาในกลุ่ม complex text อีกครั้งในไตรมาสนี้ทำให้มีความหวังว่าปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขในเร็ววัน
ปัญหาการแสดงผลฟอนต์ภาษาไทยเกิดจากปัญหาการใช้งานตัวเลขสองค่าในฟอนต์คือ advance ที่ระบุว่าอักขระตัวนั้นๆ จะทำให้เคอร์เซอร์เลื่อนไปข้างหน้ามากแค่ไหน และ offset ที่ระบุว่าควรวางอักขระไว้ตรงไหน โดยแต่เดิมที่ Chromium สามารถแสดงผลได้ถูกต้องเนื่องจาก Chromium ไม่สนใจทั้งสองค่านี้แต่อย่างใด ทำให้ฟอนต์บางภาษาเช่น ฮีบรู แสดงผลผิดพลาด แต่การแก้ไขกลับกระทบฟอนต์ในภาษาอื่นๆ (ข้อมูลจากบั๊ก 43951)
การแก้ไขเบื้องต้นนั้นมีการเสนอไว้ตั้งแต่กลางปีที่แล้วให้มีการนำค่าอื่นๆ จากฟอนต์มาพิจารณาประกอบ อย่างไรก็ตามทีมงาน skia ซึ่งดูแลส่วนเรนเดอร์ฟอนต์ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้เพราะต้องให้เลเยอร์ด้านบนเข้าถึงข้อมูลในฟอนต์เพิ่มเติมมากเกินไป
อย่างไรก็ตามในฐานะคนตามบั๊กเหล่านี้ตลอดเวลา ต้องบอกว่าการแสดงความเห็นในบั๊กเหล่านี้มีไว้เพื่อพูดคุยข้อมูลทางเทคนิคและแนวทางการแก้ไขปัญหา หลายครั้งที่มีมีการเรียกร้องให้แก้ปัญหาในคอมเมนต์โดยไม่เพิ่มเติมข้อมูลใดๆ จะเป็นการรบกวนคนที่ติดตามบั๊กเหล่านี้โดยไม่จำเป็น ดังนั้นช่วยกันใช้งานให้ถูกประเภทจะดีกว่าครับ
ที่มา - บั๊ก Chrome OS 3031