ข่าว Chrome ยกเลิกการรองรับ H.264 แล้ว ยังสะเทือนวงการเว็บต่อเนื่องอีกหลายวัน เราเห็นปฏิกริยาตอบโต้จากไมโครซอฟท์กันแล้ว คราวนี้มาดูปฏิกริยาจากค่ายอื่นๆ กันบ้าง
ค่าย Mozilla ไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะไม่เอา H.264 ตั้งแต่แรก บุคคลากรของ Mozilla ออกมาสนับสนุนการตัดสินใจของกูเกิลกันสั้นๆ โดยให้ข้อมูลว่าพันธมิตร WebM ทั้งสามเบราว์เซอร์มีส่วนแบ่งตลาดโลกรวมกัน 40% จะช่วยดันให้ WebM เกิดได้ไม่ยาก - Aza Dotzler
ที่เหลือเป็นสงครามตัวหนังสือระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน ถ้าไม่นับกรณีของไมโครซอฟท์ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ศึกครับ
ศึกแรก เริ่มโดย John Gruber บล็อกเกอร์ชื่อดังที่เปรียบเสมือน "โฆษกอย่างไม่เป็นทางการ" ของแอปเปิล Gruber เริ่มโดยตั้งคำถาม 5 ข้อถึงกูเกิล ดังนี้
- ถ้ากูเกิลเอา H.264 ออกโดยให้เหตุผลว่าไม่เป็นมาตรฐานเปิด ทำไมถึงรวม Flash เข้ามาใน Chrome
- ตอนนี้ Android รองรับ H.264 ในอนาคตจะเอาออกด้วยหรือไม่
- YouTube จะเอาวิดีโอเวอร์ชัน H.264 ออกด้วยหรือไม่
- คิดว่าเว็บใหญ่ๆ ที่เล่นวิดีโอด้วย H.264 จะเปลี่ยนมาใช้ WebM แทนหรือไม่ ถ้าไม่ ผู้ใช้ Chrome จะทำอย่างไร
- ใครได้ประโยชน์จากการตัดสินใจครั้งนี้บ้าง?
มีคนพยายามตอบคำถามนี้หลายคน เช่น เว็บไซต์ FlashComGuru (ซึ่ง Gruber เขียนบล็อกตอบอีกครั้ง) แต่ที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือเว็บไซต์ OSNews ตั้งคำถามกลับต่อ Gruber อีก 10 ข้อ คัดมาบางข้อนะครับ
- Gruber พยายามแสดงตัวว่าสนับสนุนมาตรฐานเปิด แต่ในมาตรฐานของ W3C ระบุไม่ให้เก็บค่าใช้งาน (ซึ่ง H.264 เก็บ) ทำไม Gruber ถึงสนับสนุน H.264
- Gruber จะยอมให้องค์กรอย่าง MPEG-LA ที่หากินจากการฟ้องสิทธิบัตร มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของเว็บงั้นหรือ
- Gruber สนับสนุนให้แอปเปิลใช้อิทธิพลกด Flash ไม่ให้เกิดบน iOS แต่พอกูเกิลจะใช้อิทธิพลของตัวเองกด H.264 บ้าง Gruber ถึงไม่เห็นด้วย
- เหตุผลที่ Gruber ไม่สนับสนุน WebM เป็นเพราะว่า WebM ไม่ได้รับการสนับสนุนจากแอปเปิล แค่นั้นหรือเปล่า?
ศึกที่สอง เริ่มจากบทความ Google's dropping H.264 from Chrome a step backward for openness ของเว็บไซต์ Ars Technica
บทความนี้ยาวหน่อยแต่น่าอ่านครับ ประเด็นสำคัญมีดังนี้
- กูเกิลอ้างว่า "WebM เป็นมาตรฐานเปิด" ซึ่งในความจริงแล้วตรงข้าม เพราะ H.264 เป็นมาตรฐานที่ออกโดยองค์กรอย่าง ISO และ ITU ในขณะที่ WebM อยู่ใต้การดูแลของกูเกิลฝ่ายเดียว
- กูเกิลใช้คำผิด จริงๆ ต้องบอกว่า WebM ไม่เสียค่าใช้งาน (royalty-free) ในขณะที่ H.264 ต้องเสีย
- ค่าใช้งาน H.264 สำหรับผู้ผลิตเบราว์เซอร์ (ฝั่ง decode) จะอยู่ที่ปีละไม่เกิน 6.5 ล้านดอลลาร์ เงื่อนไขนี้ใช้ได้ถึงปี 2015 ส่วนฝั่งผู้ผลิตวิดีโอ (ฝั่ง encode) ฟรีตลอดไป (อ่านข่าวเก่า MPEG LA ประกาศให้ใช้ H.264 สำหรับวีดีโอบนอินเทอร์เน็ตฟรีตลอดไป)
- Ars เทียบกรณีของ GIF vs PNG ซึ่งคล้ายๆ กัน โดยบอกว่าเหตุผลที่คนเปลี่ยนมาใช้ PNG เป็นเพราะ PNG มีคุณสมบัติเหนือกว่า ไม่ใช่เพราะ PNG ไร้สิทธิบัตร
- ประเด็นเรื่อง "Chrome 2 มาตรฐาน" แบบเดียวกับที่ Gruber ยกขึ้นมา คือ ถ้าเอา H.264 ออก ทำไมยังสนับสนุน Flash, AAC, MP3 อยู่อีก
- ตอนนี้ H.264 ถูกใช้ในวงกว้างมาก โดยเฉพาะวิดีโอที่ไม่ได้อยู่บนเว็บ เช่น บนแผ่น Blu-ray, บนมือถือ ฯลฯ กูเกิลจะรองรับผู้ใช้กลุ่มนี้ได้อย่างไร
- H.264 ใช้ได้กับทั้ง Flash และ HTML5 video ช่วยให้ย้ายจาก Flash ได้ง่ายขึ้น (เพราะไม่ต้องแปลงไฟล์วิดีโอใหม่)
- การที่ฝ่าย HTML5 video แยกเป็นสองค่ายคือ WebM กับ H.264 จะทำให้คนที่ได้ประโยชน์คือ Flash video (ตัวเดียวใช้ได้ทุกกรณี) แทนหรือเปล่า จะทำให้วิดีโอบนเว็บถูกผูกขาดโดย Flash ต่อไปหรือเปล่า
คนที่ออกมาโต้ Ars คือ Opera ครับ โดยพนักงานฝ่าย Desktop QA ชื่อ Haavard เขียนบล็อกตอบโต้ดังนี้
- H.264 ถูกออกโดยองค์กรมาตรฐานอย่าง ISO แต่เป็นคนละมาตรฐานกับ W3C ซึ่งระบุว่าห้ามเก็บค่าใช้งาน
- แม้ VP8 ไม่ได้ออกโดยองค์กรมาตรฐาน แต่ระบุว่าให้ใครก็ใช้ได้ และไม่เก็บค่าใช้งาน
- มาตรฐานเว็บไม่ได้กำหนดให้ใช้ H.264 และการเลือกใช้ codec ตามความนิยม ก็จะซ้ำรอย IE6
- การเทียบ Flash กับ H.264 เป็นคนละเรื่องกัน เพราะ Flash เป็นปลั๊กอิน ในขณะที่ H.264 ฝังมาในตัวเบราว์เซอร์เลย
- H.264 มีใช้เยอะจริง แต่ไม่ได้แปลว่ามันเหมาะสำหรับเว็บ และการเล่นวิดีโอบนเว็บต้องแปลงฟอร์แมตอยู่แล้ว แม้จะอัพโหลดมาเป็น H.264 ก็ตาม
- Ars อ้างว่า Firefox เล่น H.264 ได้ผ่านปลั๊กอินของไมโครซอฟท์ (ข่าวเก่า) แค่แนวทาง "ปลั๊กอิน" ก็ไม่ใช่ HTML5 video แล้ว
เดี๋ยวคงมีต่อกันอีกหลายยกครับ ประเด็นนี้ยาวแน่นอน