ชาว Blognone คงไม่มีใครไม่รู้จัก Nexus S มือถือตัวที่สองในตระกูล Nexus ของกูเกิล ถึงแม้จะไม่โด่งดังเหมือนกับรุ่นพี่อย่าง Nexus One แต่ก็มีคนสนใจมันไม่น้อย (รายละเอียดดูจากข่าว Nexus S มาแล้ว)
ณ ตอนนี้ Nexus S ยังไม่มีขายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย (มีข่าวลือว่า "อาจจะ" แต่ก็เงียบหายไป) ถ้าอยากซื้อต้องพึ่งเครื่องหิ้วหรือคนหิ้ว ก่อนตัดสินใจลองอ่านรีวิวดูก่อนครับ
เรื่องราวของมือถือตัวนี้จะพิเศษกว่ามือถือเกือบทุกตัวที่ผมรีวิวมาบน Blognone เพราะ Nexus S เป็นมือถือที่ผมซื้อเอง (รุ่นอื่นๆ ส่วนมากเป็นเครื่องที่ส่งให้สื่อรีวิว) และตั้งใจใช้งานเป็นมือถือหลักติดตัวโดยเฉพาะ
ก่อนหน้านี้ผมใช้ HTC Magic มือถือ Android รุ่นที่สองของโลก (รุ่นแรกคือ T-Mobile G1)
Magic เปิดตัวกลางปี 2009 ปัจจุบันโดน HTC ทิ้งแบบไม่เหลียวแลมานานแล้ว และเนื่องจากเป็นมือถือรุ่นแรกๆ ทำให้มันมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งเรื่องสมรรถนะและกล้องถ่ายภาพ ผมใช้ไปสักพักก็รู้สึกอึดอัดจนต้องหาโอกาสเปลี่ยน ซึ่งสุดท้ายมาลงเอยที่ Nexus S
จากที่ลองเล่นและรีวิวมือถือ Android มาหลายตัว ผมพบว่าโดยส่วนตัวไม่ได้ต้องการฟีเจอร์หรือ "มูลค่าเพิ่ม" ที่ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์แถมมาให้เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็น HTC Sense, Motoblur หรือ Samsung Apps ก็ตาม ไม่ใช่ว่าฟีเจอร์เหล่านี้ไม่ดีนะครับ (Samsung Apps ให้โหลดเกมฟรี ไม่ดีตรงไหน) เพียงแต่ผมรู้สึกว่าไม่จำเป็นกับการใช้งานส่วนตัวสักเท่าไร
สิ่งที่ผมต้องการจากมือถือฝั่ง Android คือฮาร์ดแวร์ที่ดีพอสมควร ตอบสนองเร็ว กล้องใช้ได้ และที่สำคัญที่สุด "ได้ใช้ Android รุ่นล่าสุดในวันที่กูเกิลออกรุ่นใหม่" (Pure Google) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ทุกเจ้าไม่ค่อยอยากทำเท่าไร (ดูข่าวล่าสุดประกอบ)
Nexus One คือมือถือรุ่นนั้น (Blognone มีสัดส่วน Nexus One ต่อประชากรสูงมากที่หนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าเกิดจากเหตุผลเดียวกัน) แต่ผมมัวแต่ลังเลเลยไม่ได้ตัดสินใจซื้อ และการซื้อ Nexus One ช่วงปลายปี 2010 คงไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีนัก เพราะถือว่าเป็นตกรุ่นไปแล้ว (โลกมือถือหมุนเร็วมากเลยเนอะ)
เมื่อ Nexus S ออกตามมา ด้วยสเปกที่ดีกว่าและนโยบาย "Pure Google" ก็เลยตัดสินใจไม่ยาก ฝากเพื่อนที่อเมริกาหิ้วมาให้หนึ่งเครื่องครับ
เอาล่ะ มาเริ่มรีวิวกันเลยดีกว่า
กูเกิลเปลี่ยนผู้ผลิตฮาร์ดแวร์จาก HTC มาเป็นซัมซุง และ Nexus S ก็ถูกสร้างขึ้นโดยใช้ Galaxy S (ซึ่งเป็นมือถือที่ดีมากตัวหนึ่ง) เป็นฐาน จะว่าไปแล้วสเปกด้านฮาร์ดแวร์ของมันเหมือนกับ Galaxy S แทบจะทุกประการ จุดแตกต่างสำคัญได้แก่
สเปกโดยละเอียดสามารถอ่านได้จาก หน้าเว็บของ Nexus S
ตรงนี้เลยได้ข้อสรุปง่ายๆ ข้อแรกว่า ใครที่มี Galaxy S อยู่แล้ว ไม่ต้องสนใจ Nexus S ข้ามไปได้เลย
Nexus S มาในกล่องสีขาวขนาดเล็กกะทัดรัด ใช้สไตล์เดียวกับมือถือตัวอื่นๆ ของซัมซุง มีภาพด้านหน้าของตัวเครื่องบนหน้ากล่อง กรณีของ Nexus S จะพิเศษขึ้นอีกนิดตรงที่มีสติกเกอร์ใสแปะมาเพื่อบอกว่าถ้ามีคำถามเกี่ยวกับตัวเครื่อง เข้าไปหาคำตอบได้จาก google.com/nexus
เปิดฝากล่องออกมา ด้านใต้ฝากล่องมีลูกเล่นเล็กน้อยเป็นเจ้าหุ่น Android
อุปกรณ์ที่มากับกล่องมีไม่เยอะนัก นอกจากตัวเครื่องแล้วก็มี
หัวเสียบเพื่อแปลงร่างเป็นปลั๊กจะแปลกๆ อยู่บ้างเพราะต้องเสียบด้านข้าง ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ (หัวเสียบของ Kindle เล็กกว่านี้เยอะ แต่หัวเสียบของ HTC รุ่นหลังๆ ก็ใหญ่กว่านี้เยอะ)
ตัวเครื่อง Nexus S มีสติกเกอร์ใสแปะมาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง สังเกตว่าใช้โลโก้ X จาก Nexus One และ S จาก Galaxy S มารวมกัน
รูปลักษณ์ของ Nexus S นั้นไม่เหมือนกับ Galaxy S รุ่นที่ขายในบ้านเราซะทีเดียว เครื่องจะโค้งมนกว่าเล็กน้อย ผมคิดว่าที่คล้ายที่สุดคงเป็น Samsung Epic 4G รุ่นที่ขายกับ Sprint ในสหรัฐ เพียงแต่ไม่มีคีย์บอร์ดแบบสไลด์เหมือนกับ Epic 4G (อีกตัวที่คล้ายๆ กันคือ Samsung Fascinate ที่ขายกับ Verizon)
จอภาพเป็น Super AMOLED สวยงาม จอแบบนี้คนชอบจะชอบเลย (แบบผม) คนไม่ชอบก็ไม่ชอบเลย อันนี้แล้วแต่รสนิยมของแต่ละคน (ต้องรอดู Super AMOLED Plus กันต่อไปว่ามีดีแค่ไหน รวมถึงจอภาพจากมือถือคู่แข่งค่ายอื่นๆ ด้วย)
ปุ่มกดของ Nexus S เป็นปุ่มแบบ capacitive ตามสมัยนิยมของมือถือรุ่นใหม่หลายตัว เท่าที่ใช้งานมาก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ที่ไม่น่าให้อภัยคือ วิธีการเรียงปุ่ม ซึ่งไม่เหมือนกับมือถือรุ่นใดเลย
ปัญหาเรื่อง button fragmentation ที่มือถือ Android แต่ละเจ้าเรียงไม่เหมือนกัน เป็นประเด็นที่มีคนเคยยกเรื่องนี้ขึ้นมาถกเถียงกันแล้ว (ลองดูบทความใน Wired หรือ Engadget) ซึ่งคนที่เปลี่ยนมือถือ Android หลายรุ่นคงพบว่ามันไม่สะดวก เพราะเราคุ้นกับปุ่มของมือถือเครื่องเดิม
การที่มือถือต่างยี่ห้อกันเรียงปุ่มไม่เหมือนกัน ยังเป็นเรื่องที่เข้าใจและยอมรับได้ แต่ Nexus S ในฐานะลูกผสมจากกูเกิลและซัมซุง กลับเรียงปุ่มไม่เหมือนค่ายไหนสักค่าย เป็นสิ่งที่น่าฉงนเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากประเด็นเรื่องการเรียงปุ่มไม่เหมือนชาวบ้านแล้ว ปัญหาที่ผมพบจากปุ่มของ Nexus S คือเอาปุ่ม Back และ Home ไปไว้ที่ขอบทั้งสองข้าง ซึ่งมีข้อเสียตรงที่มือโดนได้ง่าย (โดยเฉพาะเวลาที่เราเอาอุ้งมือหนีบโทรศัพท์) และผมมักจะพบอาการออกจากโปรแกรมโดยไม่รู้ตัวอยู่เรื่อยๆ
ด้านล่างของเครื่องเป็นพอร์ต Micro USB ตามมาตรฐาน และช่องเสียบหูฟัง ส่วนด้านบนก็มีลำโพงและกล้องหน้า เหมือนกับของ Galaxy S
ตัวเครื่องด้านหลังมีตรากูเกิลและซัมซุงคู่กัน ฝาหลังเป็นแบบครอบติดแนบชิดเหมือนกับ Galaxy S ซึ่งผมว่ามันแกะยากไปหน่อย ด้านล่างนูนขึ้นมาเพื่อให้จับสะดวกขึ้น และแน่นอน กล้องมีแฟลชซึ่งเป็นจุดต่างไปจาก Galaxy S
จุดสำคัญในดีไซน์ของ Nexus S คือกระจกหน้าที่โค้งเป็นเลนส์เว้า ตรงนี้กูเกิลอธิบายว่าเป็นฟีเจอร์ของเครื่อง เพื่อจะได้รับกับสรีระของร่างกายมากขึ้น (โค้งแค่กระจก จอไม่โค้งนะครับ) เท่าที่ใช้ก็ไม่รู้สึกแปลกแยกจากมือถือแบบหน้าจอแบนราบแต่อย่างใดครับ
เปิดฝาหลังออกมา เราจะเห็นแบตเตอรี่และช่องเสียบซิมตามปกติทั่วไป แต่ถ้าสังเกตดีๆ เราจะเห็นฟีเจอร์สำคัญของ Nexus S ที่ถูกซ่อนไว้ มันคือ NFC นั่นเอง
ชิปสำหรับ NFC จะถูกซ่อนอยู่ในฝาหลัง (บริเวณที่สีดำๆ) และส่งข้อมูลไปยังตัวเครื่องโทรศัพท์ผ่านโลหะที่อยู่ข้างๆ ซิมการ์ดนั่นเอง
ขนาดของตัวเครื่องถือว่าไม่ใหญ่เกินไปสำหรับผม สามารถใส่กระเป๋ากางเกงยีนส์ได้สบาย (พลาดไปนิดตรงไม่ได้ถ่ายเทียบกับ Galaxy S มาให้ดู)
แบตเตอรี่มีความจุ 1500 mAh อึดแค่ไหนอันนี้ตอบยากเพราะขึ้นกับสไตล์การใช้งานจริงๆ ผมเทรนตัวเองให้ใช้แบตประหยัด เลยปิดแทบทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น GPS หรือ EDGE (เปิด Wi-Fi ค้างไว้อย่างเดียว อย่างอื่นเปิดเฉพาะเมื่อต้องการใช้) ตั้งความสว่างหน้าจอปานกลาง อยู่ได้เกินวันสบายๆ ครับ
จุดขายอันหนึ่งของ Nexus S คือเป็นมือถือที่มาพร้อมกับ Android 2.3 Gingerbread (น่าจะยังเป็นมือถือตัวเดียวในตอนนี้ที่มาพร้อมกับ Gingerbread แต่ตอนนี้มือถืออื่นๆ ก็เริ่มใช้ได้แล้วผ่าน custom rom ต่างๆ)
ถ้าให้ตอบว่า Gingerbread มีอะไรใหม่บ้าง (ที่ผู้ใช้สัมผัสได้) คำตอบก็คือ "แทบไม่มีเลยครับ"
เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาจะพบหน้าจอแอนิเมชันรูปตัว X แบบเดียวกับของ Nexus One
รอสักครู่จะพบ homescreen มาตรฐาน 5 หน้าจอ เรียงกันดังภาพ ภาพพื้นหลังจะใช้ live wallpaper แบบเดียวกับของ Nexus One
โดยส่วนตัวผมว่าค่าดีฟอลต์ตั้งมาแบบนี้มันจืดไปหน่อย แต่ก็ได้อารมณ์แข็งๆ แบบกูเกิลดี (นี่ล่ะ Pure Google)
ส่วนหน้า launcher สำหรับเรียกโปรแกรม จะใช้เอฟเฟคต์ 3D Cube ที่มีใน Android มาได้สัก 1-2 รุ่นแล้ว (แต่ไม่ค่อยพบมากนักถ้าใช้รอมของผู้ผลิตฮาร์ดแวร์)
โปรแกรมที่มากับเครื่องก็ตามที่เห็นในภาพ (ผมลงเองเพิ่มสองตัวคือ Facebook/Twitter) ซึ่งก็เป็นโปรแกรมมาตรฐานของ Android อยู่แล้ว
ถ้าใครตาดีหน่อยอาจจะสังเกตว่า Gingerbread วาดไอคอนให้คมขึ้น มีเหลี่ยมมุมกว่าเดิม ใช้สีเขียวเป็นไฮไลท์มากขึ้น และเปลี่ยน notification bar เป็นสีดำ (ตรงนี้ HTC ทำมาก่อนแล้ว) แต่ทั้งหมดนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงระดับเล็กมากๆ จนแทบไม่รู้สึกอะไรนัก หน้าตาส่วนมากยังเป็นแบบเดิมแทบจะทุกประการ
ภาพด้านซ้ายอาจจะดูเข้าใจยากสักหน่อย ลองนึกภาพตามครับว่าถ้าเราเลื่อนหน้าจอลงจนสุดปลาย Gingerbread จะเพิ่มไฮไลท์สีส้มตรงบริเวณนั้น เพื่อบอกเราว่าสุดทางแล้ว นี่เป็นการเปลี่ยนแปลง UI แบบเล็กๆ ของ Gingerbread
ภาพด้านขวาเป็นเลขเวอร์ชันของระบบ เผื่อจะมีใครสนใจนำไปใช้อ้างอิง
ความเท่เล็กๆ ของ Gingerbread อยู่ที่แอนิเมชันตอนปิดจอ ซึ่งทำเลียนแบบการปิดทีวีจอ CRT ในสมัยก่อน
การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ อีกอย่างของ Gingerbread คือเพิ่มตัวจัดการโปรแกรมที่รัน-ติดตั้งอยู่ วิธีการเรียกคือกดปุ่ม Menu ที่หน้า Home จะเห็นไอคอน Manage Apps เพิ่มเข้ามา
เราสามารถสั่งปิดโปรแกรม-ถอนการติดตั้งโปรแกรม ได้จากหน้าจอนี้ และที่ด้านล่างสุดของจอจะบอกสถานะของแรม หน่วยความจำภายใน และ USB storage ด้วย
เนื่องจากมือถือตัวนี้รองรับ NFC ดังนั้นจะมีตัวเลือกเปิด-ปิด NFC เข้ามาในหน้า Settings และทางกูเกิลเองก็ให้โปรแกรม Tags สำหรับติดต่อกับ NFC ด้วย
รีวิว Nexus S ของทุกเจ้าไม่มีอุปกรณ์ NFC สำหรับทดสอบฟีเจอร์นี้ ผมเองก็ไม่ต่างอะไรกัน ดังนั้นก็ต้องข้ามฟีเจอร์นี้ไปก่อนจนกว่าการใช้งาน NFC จะแพร่หลายมากกว่านี้ (ดูจากข่าวนี้ แอพ NFC บน Android เริ่มมาแล้ว ก็คงอีกไม่นานเกินรอ)
การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดของ Gingerbread คงหนีไม่พ้นคีย์บอร์ดรุ่นใหม่ กูเกิลโฆษณาว่ามันพิมพ์ง่ายกว่าเดิม ผมลองแล้วก็พบว่าเป็นจริงดังโฆษณา
ทีนี้จะอธิบายเป็นข้อความอย่างไรมันทำได้ยากเพราะมันต้องลองเล่นเอง ผมก็ขอใช้วิธีง่ายๆ คือแปะวิดีโอของกูเกิลให้เห็นภาพเลยนะครับ
ฟีเจอร์ของคีย์บอร์ดใหม่
โดยรวมคีย์บอร์ดพัฒนาขึ้นจากเดิมมาก สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้เลย (เฉพาะภาษาอังกฤษนะ) แต่ผมว่ายังไม่สมบูรณ์แบบ และสามารถพัฒนาได้มากกว่านี้อีกหลายจุด ต้องรอรุ่นถัดๆ ไป
ส่วนเรื่องการเลือกคำ (text selection) จะเปลี่ยนวิธีใหม่จากแบบเดิมที่ใช้ trackball มาเป็น virtual cursor สีส้มๆ แทน (ดูวิดีโอข้างบนประกอบ) ช่วยให้เรากดเลือกคำได้ง่ายเพราะไม่ต้องเล็งแล้วจิ้มไปที่เคอร์เซอร์กระพริบๆ ตรงข้อความโดยตรง แต่เอานิ้วลากแถบสีส้มซึ่งใหญ่กว่าและกดง่ายกว่าแทน ถือว่าทำได้ดีแต่ซัมซุงทำฟีเจอร์นี้มาก่อนกูเกิลแล้ว เลยไม่น่าตื่นเต้นมากนัก
ซอฟต์แวร์กล้องยังเป็นจุดอ่อนของ Android มาโดยตลอด และใน Gingerbread ก็ยังเป็นเช่นเดิม แม้ว่าซอฟต์แวร์กล้องจะรองรับกล้องหน้าแล้ว แต่หน้าตายังดูเทอะทะโบราณ และที่แย่มากคือตัวเลือกต่างๆ ไปรวมกันในปุ่มเดียว ทำให้เรามี context menu ที่ยาวมาก ไม่เหมาะกับธรรมชาติของการถ่ายภาพที่ต้องการความฉับไวในการปรับแต่งค่า
ตรงนี้ต้องหาโปรแกรมกล้องตัวอื่นใช้งานกันเองตามสะดวกครับ เท่าที่ผมใช้มา ซอฟต์แวร์กล้องของ Galaxy S ยังเยี่ยมที่สุด ฟีเจอร์ครบครันเหลือเฟือ
สรุปว่ามีอะไรใหม่ใน Gingerbread?
การเปลี่ยนแปลงสำคัญของ Gingerbread เน้นที่เทคโนโลยีฐานล่างซึ่งไม่สัมผัสกับผู้ใช้โดยตรง เช่น รองรับ NFC หรือ SIP อ่านรายละเอียดได้จาก Android 2.3 Platform Highlights คงไม่ต้องเขียนถึงในที่นี้
ส่วนการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ผู้ใช้จับต้องได้ มี 2 อย่าง
ผมว่าข้อหลังข้อเดียวก็คุ้มแล้วมั้ง ทุกคนที่มาเล่นเครื่องผมจะทดสอบความเร็วโดยการเปิด Angry Birds และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "เร็วว่ะ" โดยมิได้นัดหมาย
ตรงนี้อธิบายได้สั้นๆ ตรงไปตรงมาว่า "มันก็เหมือน Android รุ่นอื่น" ถ้าไม่นับ Tags ที่เป็นแอพสำหรับเดโมแล้ว แอพที่มากับ Gingerbread ไม่มีอะไรแตกต่างจาก Froyo เลย
ในวิดีโอโฆษณาของกูเกิลเอง ก็สาธิตแต่ฟีเจอร์ที่มีบน Froyo อยู่แล้ว เช่น Voice Actions, YouTube, Google Maps, Google Sky Maps
ตรงนี้เป็นผลมาจากความพยายามของกูเกิลในการแยกตัวแพลตฟอร์มออกจากแอพพลิเคชัน (เราเห็นข่าวการแยกแอพจากระบบปฏิบัติการมาอยู่ใน Market อยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Gmail, Maps) ทำให้เราไม่ต้องรอการอัพระบบปฏิบัติการใหม่ สามารถใช้แอพรุ่นใหม่ได้ทันที
ผมว่าเรื่องนี้เป็นผลดีต่อแพลตฟอร์ม Android โดยรวม (เพราะลด fragmentation ของระบบ) แต่แน่นอนว่ามันทำให้การรีวิว Android ในฐานะระบบปฏิบัติการจืดชืดลงไปเยอะ เพราะไม่มีอะไรใหม่จริงๆ
ฮาร์ดแวร์
Nexus S เหมือน Galaxy S เกือบทุกประการ (ซึ่งมันดีอยู่แล้ว) โดยเพิ่มนู่นเข้ามานิด ตัดนี่ออกไปหน่อย เรียงปุ่มพิสดารไปบ้าง
ในภาพรวมมันใช้งานได้ดีไม่มีปัญหาใดๆ แต่ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเมื่อเทียบกับมือถือคู่แข่งรุ่นใกล้เคียงกัน (มี NFC ที่น่าตื่นเต้น แต่ยังไม่รู้จะเอาไปทำอะไร) ตรงนี้จะต่างไปจาก Nexus One ที่เต็มไปด้วยฟีเจอร์ใหม่ๆ ในเวลานั้น
ซอฟต์แวร์
Android เวอร์ชันของกูเกิลมาแบบเรียบๆ ไม่หวือหวาเหมือนรอมของบริษัท แต่ก็ไม่ดิบเหมือนกับพวก Cyanogen
Gingerbread ไม่มีอะไรใหม่มากนักแต่เร็วได้ใจ ตรงนี้เป็นจุดขายของ Nexus S ในตอนแรก แต่อีกไม่นานมือถือรุ่นอื่นจะได้ Gingerbread ทันกัน ก็คงไม่ใช่จุดขายอีกต่อไป เรื่องแอพก็ตามที่เขียนไปแล้วว่าเหมือนๆ กันหมด อยากได้อะไรก็ลงใน Market กันเอง
ความสามารถในการอัพเกรด
นี่คือจุดขายที่สำคัญของ Nexus S ต้องรอดูว่าในระยะยาวแล้ว มันจะมีสถานะเป็น "มือถือที่ได้ใช้ Android รุ่นล่าสุดก่อนใคร" หรือ Pure Google ได้นานแค่ไหน
จากที่ได้เครื่องมา เปิดเครื่องครั้งแรกผมก็ได้ข้อความให้อัพเป็น 2.3.1 แบบ over-the-air ทันที ที่เหลือจะเป็นอย่างไรต่อต้องรอวันประกาศ Android 2.4 หรือ 3.0 นั่นล่ะครับ
Nexus S เป็นมือถือที่เจาะกลุ่มพิสดารมาก คนซื้อต้องรู้อยู่ก่อนแล้วว่าตัวเองอยากได้อะไร
รีวิวอื่นๆ สำหรับอ่านประกอบ: TechCrunch, Engadget