แอปเปิลในยุคที่ไม่มี "สตีฟ จ็อบส์"

by mk
23 January 2011 - 04:29

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สตีฟ จ็อบส์ ประกาศการลาป่วยรอบที่สาม หลังจากพบว่าเป็นมะเร็งในรอบแรก และต้องเปลี่ยนตับในรอบที่สอง

รอบนี้แอปเปิลแทบไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับอาการป่วยของจ็อบส์เลย บอกเพียงแค่ "ลาป่วย" โดยไม่ระบุระยะเวลา น้อยกว่าคราวก่อนที่บอกว่าลาป่วย 6 เดือนด้วยซ้ำ

ทุกคนย่อมอยากรู้ว่าจ็อบส์ป่วยเป็นอะไร อาการหนักเบาแค่ไหน มีโอกาสหายหรือไม่ ฯลฯ แต่นั่นคงไม่ใช่เรื่องที่สำคัญเท่ากับคำถามที่ว่า "แอปเปิลจะเป็นอย่างไรถ้าไม่มีสตีฟ จ็อบส์"

ผมเชื่อว่าเราทุกคนปรารถนาให้จ็อบส์หายดี กลับมาเป็นสีสันให้วงการไอทีอีกครั้ง แต่เมื่อประเมินจากสถานการณ์แล้ว ไม่ว่าจ็อบส์จะกลับมาดำรงตำแหน่งซีอีโอได้หรือไม่ สิ่งที่แอปเปิลต้องยอมรับก็คือ ตอนนี้ถึงเวลาที่จะคิดถึง "การสืบทอด" ตำแหน่งของสตีฟ จ็อบส์เสียที

ภาพจาก Wikimedia Commons

แอปเปิลภายใต้การนำของสตีฟ จ็อบส์ โดดเด่นมากในเรื่อง "วิสัยทัศน์" ที่นำพาวงการไอทีเปลี่ยนผ่านจากคอมพิวเตอร์พีซีแบบดั้งเดิม เข้าสู่ยุคแห่งอุปกรณ์รูปแบบใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไป แต่ตอบโจทย์เก่าๆ ได้ดีกว่าเดิม ความสำเร็จต่อเนื่องจาก iPod มายัง iPhone จนถึง iPad เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องยอมรับ และเกียรติภูมิอันนี้คงยกให้ใครอื่นไม่ได้นอกจากสตีฟ จ็อบส์ นั่นเอง

แต่สตีฟ จ็อบส์ ไม่มีวันอยู่กับแอปเปิลตลอดไป (ถึงแม้จะหายป่วยกลับมา และเป็นซีอีโอได้อีก 10-20 ปีก็ตาม มันก็ต้องมีวันที่ลงจากตำแหน่ง) และเมื่อถึงเวลานั้น แอปเปิลต้องถามตัวเองว่าต้องการ "วิสัยทัศน์" อยู่อีกหรือไม่

ถ้าให้ผมตอบคำถามนี้ ผมจะบอกว่า "แอปเปิลต้องการวิสัยทัศน์" แต่ไม่ต้องการ "ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์" อีกต่อไปแล้ว

เหตุผลประกอบมี 2 ข้อดังนี้

  1. จะหาใครที่มีวิสัยทัศน์ และมีคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นเท่าสตีฟ จ็อบส์ได้อีก?
  2. แอปเปิลไม่ต้องการ "วิสัยทัศน์" ใหม่ เพราะสตีฟ จ็อบส์ สร้างไว้ให้แล้วอย่างเหลือเฟือ

ถ้าเราย้อนดูประวัติศาสตร์ของวงการไอที จะเห็นว่ายุคสมัยของไอทีเปลี่ยนไม่บ่อยนัก (แม้จะเร็วกว่าอุตสาหกรรมอื่นเยอะ) เช่น เราใช้พีซีกันมาร่วมสามสิบปี ใช้คีย์บอร์ดกันมานานกว่านั้น เว็บถูกใช้ในวงกว้างประมาณ 15 ปี (แม้จะวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ แต่แนวคิดหลักยังเหมือนเดิม)

วิสัยทัศน์ของจ็อบส์ต่อโลกไอทีในยุคหน้า คือ "อุปกรณ์ชนิดใหม่ๆ ที่ผูกกับบริการบนอินเทอร์เน็ต ตัดตอนความยุ่งยากของพีซีออกไป" ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นไม่นานมานี้ (iPod ในปี 2001 หรือจะเริ่มนับ iPhone ปี 2007) ยังไปต่อได้อีกมาก และใช้ต่อได้อีกนาน

แอปเปิลยังไม่จำเป็นต้องปฏิรูป "ฐานราก" ของระบบคอมพิวเตอร์ใหม่อีกครั้งในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้ และ "วิสัยทัศน์" อันนี้อาจมีอายุอยู่ได้ถึง 10 ปีหรือนานกว่านั้น (อนาคตไกลกว่านั้นค่อยคิดกันต่อไป)

ดังนั้นสิ่งที่แอปเปิลต้องการในตอนนี้ไม่ใช่วิสัยทัศน์ แต่เป็นผู้บริหารที่สามารถบริหารงานภายใต้วิสัยทัศน์ที่จ็อบส์วางเอาไว้ ให้เดินหน้าไปได้อย่างไม่มีปัญหาอะไรมากกว่า

ทิม คุก (Tim Cook) คือผู้บริหารคนนั้นหรือเปล่า? ผมว่าใกล้เคียงมาก

ทิม คุก เข้าทำงานกับแอปเปิลตั้งแต่ปี 1998 หลังการกลับมาของสตีฟ จ็อบส์ไม่นานนัก เขามีชื่อเสียงจากการดูแล "สายปฎิบัติการ" (operation) ให้กับแอปเปิล โดยบริหารจัดการด้านการผลิต การจัดเก็บสต๊อค ซัพพลายเชน ฯลฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้กำไรของแอปเปิลเพิ่มขึ้น (จากการลดต้นทุนเหล่านี้ลง) พูดง่ายๆ ว่าเป็นฝั่ง "หลังบ้าน" ของแอปเปิล ดูแลฐานของบริษัทให้พร้อมสำหรับ "แม่ทัพ" สตีฟ จ็อบส์ นำออกไปรบในสมรภูมิ

ทิม คุกอยู่กับแอปเปิลมาสิบกว่าปี และซึมซับการบริหารงานของสตีฟ จ็อบส์ อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด เขาจึงรู้จักแอปเปิลมากกว่าใคร (ยกเว้นจ็อบส์)

จากข้อมูลของ Wall Street Journal ระบุว่าตอนที่จ็อบส์กลับมาใหม่ๆ และต้องการตัวผู้บริหารมาช่วยดูแลงานภายในบริษัท จ็อบส์สัมภาษณ์คนเยอะมาก แต่ไม่ "คลิก" กับใครเลย (มีผู้บริหารคนหนึ่งที่จ็อบส์สัมภาษณ์เพียง 5 นาทีแล้วเดินออกจากห้อง) แต่เขากลับชอบบุคลิกหนักแน่นเยือกเย็นของคุก และเข้ากันได้เป็นอย่างดี

คุกพิสูจน์ตัวเองแล้วว่า เขาสามารถนำพาแอปเปิลเดินหน้าตามวิสัยทัศน์ของจ็อบส์ได้อย่างไม่มีปัญหา ในช่วงที่จ็อบส์ลาพัก 6 เดือนในปี 2009

ผมเชื่อว่าในระยะยาวแล้ว ไม่ว่าจ็อบส์จะกลับมาทำงานได้หรือไม่ คุกจะได้รับการเสนอชื่อเป็นซีอีโอคนต่อไป มากกว่าการหาซีอีโอคนนอกเข้ามาแทนจ็อบส์

และด้วยทิศทางแบบนี้ แอปเปิลในอนาคตจะยังมีแนวทางของผลิตภัณฑ์แบบเดิม (สตีฟ จ็อบส์ สไตล์) แต่มีการนำเสนอและจัดองค์กรที่ต่างไปจากเดิม คือ บริหารเป็นองค์คณะ ไม่มีผู้นำที่โดดเด่นเพียงคนเดียวอีกต่อไป เราจะเห็นผู้บริหารคนอื่นๆ ของแอปเปิลอย่าง Scott Forstall, Jonathan Ive และ Philip W. Schiller มีบทบาทในงานแถลงข่าวมากขึ้น

แอปเปิลในยุคหลังสตีฟ จ็อบส์ (Post-Jobs) ที่ใช้โครงสร้างการบริหารเป็นทีม (โดยมีหัวหน้าทีมชื่อทิม คุก) จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องที่เราต้องติดตามดูกันต่อไป แต่ผมคิดว่าเป็นโครงสร้างที่เหมาะกับแอปเปิลมากที่สุดแล้ว

ถ้าให้อธิบายด้วยกรอบของ "สามก๊กไอที" ก็ต้องบอกว่ายุคของ "จิวยี่" ผู้โดดเด่นหมดไปแล้ว เป็นหน้าที่ของ "ซุนกวน" และทีมขุนศึก-ที่ปรึกษาจะดูแล "ง่อก๊ก" ต่อไป

ข้อมูลบางส่วนจาก

Blognone Jobs Premium