จาก Schmidt ถึง Page กับทศวรรษที่สองของกูเกิล

by mk
24 January 2011 - 16:49

เมื่อสัปดาห์ก่อน โลกไอทีเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะสองในสามขั้วบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิลและกูเกิล ต่างประกาศการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงสุด โดยไม่มีใครคาดฝันมาก่อน

กรณีของแอปเปิลอาจดูตื่นเต้นกว่า เพราะสตีฟ จ็อบส์ ต้องพักรักษาอาการป่วยเป็นครั้งที่สาม ซึ่งผมมองว่าอาการป่วยของจ็อบส์จะส่งผลให้แอปเปิลต้องปรับตัว เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารมาเป็นแบบทีมภายใต้การนำของ Tim Cook (แอปเปิลในยุคที่ไม่มี "สตีฟ จ็อบส์")

ส่วนกรณีของกูเกิลนั้นต่างออกไป Eric Schmidt ประกาศลงจากตำแหน่งซีอีโอ และมอบไม้กลับคืนให้ Larry Page หนึ่งในสองผู้ก่อตั้งอีกครั้ง หลังเวลาผ่านมาประมาณสิบปีพอดี

อะไรคือเหตุผลที่ Schmidt ต้องลงจากตำแหน่ง?

Schmidt พูดเอง

หลังการประกาศข่าวเปลี่ยนตัวซีอีโอ Eric Schmidt ได้ทวีตข้อความดังนี้

Day-to-day adult supervision no longer needed! http://goo.gl/zC89p

ประโยคสำคัญที่สื่อต่างประเทศนำไปอ้างอิงกันมากคือคำว่า "adult supervision" ซึ่งหมายถึงภาระที่เขาเข้ามาช่วยดูแลกิจการให้กับสองคู่หู ในฐานะผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์มากกว่า ได้สิ้นสุดลงแล้ว

Schmidt ยังเขียนลงบล็อกของกูเกิลว่า กูเกิลโตขึ้นมากจนการบริหารรูปแบบเดิมที่เขาและ Page/Brin มีอำนาจตัดสินใจเท่าๆ กัน ไม่สามารถตอบสนองได้ทัน ผู้บริหารสูงสุดทั้งสามคนจึงปรึกษากันและตัดสินใจเมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่า จะดัน Larry Page ขึ้นมาเป็นซีอีโอ ส่วน Schmidt จะถอยขึ้นไปดำรงตำแหน่งประธานบริษัทเพียงอย่างเดียว

แต่แหล่งข่าววงในบอกว่า...

Ken Auletta นักเขียนของนิตยสาร The New Yorker (ซึ่งเคยมีผลงานออกหนังสือที่เกี่ยวกับกูเกิลชื่อ Googled: The End of the World As We Know It) ได้อ้างข้อมูลจากที่ปรึกษาใกล้ชิดว่า Schmidt ไม่พอใจที่กูเกิลถอนตัวออกจากจีน เมื่อปี 2010 และการตัดสินใจครั้งนี้มาจาก Sergey Brin ในขณะที่ Schmidt มองว่ากูเกิลควรเข้าไปชิงตลาดขนาดมหาศาลในจีนต่อไป

การทำงานของ Page/Brin แบบ "ข้ามหน้าข้ามตา" ซีอีโอผู้กุมอำนาจสูงสุดของกูเกิลไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นที่รู้กันทั่วไป Schmidt เองก็ยอมรับเรื่องนี้ต่อสาธารณะ และบางทีก็เล่นมุขขำๆ เวลาพูดถึงเรื่องนี้ด้วยซ้ำ

กรณีที่ดังที่สุดคือเรื่อง Chrome เมื่อ Page/Brin เห็นว่ากูเกิลต้องมีเบราว์เซอร์ แต่ Schmidt กลับไม่เห็นด้วยเพราะขยาดจากสงครามเบราว์เซอร์สมัย Netscape ผู้ก่อตั้งทั้งสองก็แอบไปดึงวิศวกรของ Firefox มาพัฒนา Chrome จนสุดท้าย Schmidt ต้องยอมรับ

เว็บไซต์ The Register ยังอ้างคำพูดของ Schmidt ในปี 2009 ว่าสองผู้ก่อตั้งแอบไปซื้อบริษัท Android โดยที่เขาไม่รู้เรื่อง และย้อนไปไกลกว่านั้น คนที่ซื้อบริษัท Keyhole ซึ่งภายหลังกลายเป็น Google Earth ก็คือ Sergey Brin ที่เปิดไปเจอบนอินเทอร์เน็ต และเดินไปบอก Schmidt ในภายหลังว่าเขาซื้อมาเรียบร้อย

บทความของ Ken Auletta ระบุว่า Schmidt หมดพลังจากปัญหาเรื่องจีน และช่วงนั้นกูเกิลก็เริ่มเจอปัญหารุมเร้า ทั้งการกดดันจากหน่วยงานรัฐบาล การกดดันจาก Facebook และปัญหาผลิตภัณฑ์ไม่เข้าเป้า ซึ่ง Schmidt ก็คิดถึงการลงจากตำแหน่งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2010 แต่การตัดสินใจนี้ก็ลากยาวมาจนถึงสิ้นปี จนมีผลในช่วงต้นปี 2011 ที่ผ่านมา

ย้อนรอยเส้นทางเดินของ Schmidt กับกูเกิล

ก่อนจะลงลึกเรื่องเหตุผลในการเปลี่ยนถ่ายอำนาจของ Schmidt เราอาจต้องย้อนดูเส้นทางเดินของเขาสักหน่อย

กูเกิลจดทะเบียนเป็นบริษัทในปี 1998 และเริ่มหาเงินลงทุนจากนักลงทุนในปี 1999 ตามธรรมเนียมปฏิบัติของธุรกิจไฮเทคในซิลิคอนวัลเลย์ นักลงทุนจะได้หุ้นตอบแทนตามเงินที่ลงไป และหลายครั้งนักลงทุนจะช่วยให้คำแนะนำ รวมถึงค้นหาผู้บริหารมืออาชีพมาช่วยดูแลกิจการให้ (เพราะปล่อยเด็กๆ ไม่มีประสบการณ์ไปเป็นผู้บริหาร มีแต่เจ๊งกับเจ๊งแน่นอน)


สามทหารเสือแห่งกูเกิล บนปกนิตยสาร TIME ปี 2006

Eric Schmidt คือผู้บริหารที่ถูกดึงเข้ามาในปี 2001 เขาถือเป็นผู้บริหารที่ไม่ธรรมดาในตอนนั้น เพราะเคยเป็น CTO ที่ซัน และเป็น CEO กับโนเวลล์ (แต่บริษัททั้งสองตอนนี้ไม่เหลือรอดแล้วทั้งคู่ :P) การที่เขาเข้ามารับตำแหน่งในบริษัทเกิดใหม่อย่างกูเกิล จึงน่าสนใจมาก

เหตุการณ์ที่เหลือคงไม่ต้องเท้าความกันต่อ ผลงานของ Schmidt เป็นที่ประจักษ์ชัดเจน ในสิบปีที่ผ่านมา เขาเปลี่ยนกูเกิลจากบริษัทหน้าใหม่ กลายเป็นบริษัทไอทีที่มีอิทธิพลล้นฟ้า

กูเกิลผลัดใบ

โจทย์ด้านหน้าที่การงานของ Schmidt เป็นโจทย์พิสดาร ถ้าเป็นบริษัทธรรมดา Schmidt น่าจะยึดบริษัทเบ็ดเสร็จ หรือไม่ก็ต้องออกจากบริษัทไปเพราะทะเลาะกับผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้น แต่เนื่องจากกูเกิลเป็นบริษัทไม่ธรรมดา และผู้ก่อตั้งทั้งสองของกูเกิลเองก็มีความเฉลียวฉลาด มีวิสัยทัศน์ที่ก้าวหน้า ถือว่าเป็นบุคคลากรโดดเด่นของโลกไอที สถานการณ์จึงต่างออกไป โครงสร้างการบริหารจึงพัฒนามาเป็นผู้บริหารสามคนอย่างที่เราเห็น

ผมเชื่อว่า Schmidt เองรู้ตัวดีตั้งแต่แรกว่าเขามาที่กูเกิลในฐานะ "รุ่นพี่มากประสบการณ์" และจะต้องมอบภาระนี้แก่ Page หรือ Brin สักวันหนึ่ง และเขาไม่ได้โกรธเรื่องถูกข้ามหน้าข้ามตามากนัก เหตุเพราะโครงสร้างการบริหารของกูเกิลไม่ใช่เป็นระบบ "ซีอีโอเดี่ยว" มาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

ทศวรรษแรกของกูเกิลเติบโตมาได้อย่างเหลือเชื่อ (Schmidt บอกเองว่าไม่คิดว่าจะมาได้ขนาดนี้) แต่เมื่อเขาถึงจุดอิ่มตัว บวกกับกูเกิลโตมาจนถึงระดับที่การบริหารจัดการแบบเดิมๆ เริ่มใช้ไม่ได้ผล และตลอดสิบปีที่อยู่ด้วยกันมา Page/Brin เองก็พัฒนาตัวเองจนพร้อมรับภาระอันใหญ่หลวงได้แล้ว ซึ่ง Page เองก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาเรียนรู้วิธีการบริหารองค์กรจาก "การสังเกต" วิธีการทำงานของ Schmidt มาโดยตลอด


สามพี่น้องแห่งสวนท้อ รูปประกอบบล็อกของ Schmidt ที่ประกาศการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งบริหาร

กูเกิลในทศวรรษที่สองต้องการผู้นำใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ แนวทางใหม่ๆ การผลัดเปลี่ยนรุ่นจาก Schmidt สู่ Page จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผล Page เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของกูเกิลในตอนนี้ และเป็นตัวเลือกที่บริษัทอื่นต้องอิจฉา (แม้แต่แอปเปิลเองก็ไม่มีผู้สืบทอดสไตล์นี้) เพราะเป็นทั้งผู้ก่อตั้ง มีประสบการณ์บริหารมาโดยตลอด และได้รับการยอมรับจากวงการจากผลงานที่เคยทำมา คนวงในของกูเกิลให้ความเห็นว่า Page จะช่วยให้กูเกิลกลับมาสดใส เดินหน้าไปด้วยจังหวะที่เร็วกว่าเดิม มีนวัตกรรมใหม่ๆ แหกกรอบเดิมๆ มากขึ้น

การเปลี่ยนถ่ายอำนาจของกูเกิลรอบนี้ค่อนข้างเตรียมพร้อม Schmidt เองก็ไม่ได้หายไปไหน ยังดำรงตำแหน่งประธานบริษัท เน้นงานที่ต้องติดต่อกับภายนอก และยังเป็นที่ปรึกษาให้กับคู่หูทั้งสองอยู่ (กรณีนี้จะคล้ายๆ กับบิล เกตส์ ยกตำแหน่งซีอีโอให้บัลเมอร์อยู่ตั้งหลายปีกว่าจะวางมือ ระหว่างนั้นก็เป็นประธานบริษัทไปแทน)

อีกคนที่ไม่เป็นข่าวมากนักในรอบนี้คือ Sergey Brin กูเกิลระบุว่าตำแหน่งใหม่ของเขาจะเป็นผู้ดูแลโครงการใหม่ๆ ที่เป็นยุทธศาสตร์ในอนาคตของบริษัท แต่ผมกลับคิดว่า Brin จะมีบทบาทสำคัญอยู่เงียบๆ ในฐานะคู่คิดของ Page ด้วยอีกหน้าที่หนึ่ง เพียงแต่ไม่ได้ออกหน้าและมีบทบาทมากเท่า Page ผลงานที่ผ่านมาตลอดสิบปีน่าจะยืนยันได้แล้วว่าสองคู่นี้อยู่ด้วยกันได้ยืด

อุปสรรคเบื้องหน้า

ทันทีที่มีข่าว Larry Page จะรับตำแหน่งซีอีโอของกูเกิล สื่อต่างประเทศก็วิจารณ์ว่า Page จะพบปัญหาเรื่องนิสัยส่วนตัวแน่นอน เพราะเขารักความเป็นส่วนตัว ไม่ชอบประชุม ไม่ชอบให้สัมภาษณ์ ไม่ชอบออกสื่อ ซึ่งเป็นงานที่ซีอีโอจำเป็นต้องทำ (วงในของกูเกิลระบุว่า Page รับบทเป็นตัวแทนกูเกิลในการประชุมสำคัญๆ กับคนนอกมาสักระยะแล้ว)

ส่วนปัญหาอื่นๆ ขององค์กรที่ Page จะต้องแก้ไข ก็มีตั้งแต่ ผลการค้นหาลดคุณภาพลง, สงครามกับ Facebook, ผลิตภัณฑ์อย่าง Buzz และ Wave ที่ไม่เข้าเป้า, รายได้หลักยังกระจุกอยู่ที่โฆษณาเพียงอย่างเดียว, Android ที่ยังไม่ทำเงิน ฯลฯ แต่ที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุดมี 2 เรื่องคือ

  • ภัยคุกคามจากองค์กรภาครัฐ ทั้งจากฝั่งอเมริกาและยุโรป ในคดีผูกขาดและละเมิดกฎหมายต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไมโครซอฟท์โดนเล่นงานมาแล้วในยุค 90s ช่วงปลาย (และยังขยาดมาจนถึงทุกวันนี้)
  • ขนาดของตัวกูเกิลเองที่ใหญ่มากขึ้น มีลำดับชั้นมากขึ้น อุ้ยอ้ายเคลื่อนตัวช้า และส่งผลให้คนเก่งๆ ลาออกไปอยู่ที่อื่นหรือไปเปิดบริษัทเอง (เรื่องนี้มีอธิบายละเอียดในบทความ Google Grows, and Works to Retain Nimble Minds ของ The New York Times)

แม้จะดูตันๆ มึนๆ ในช่วงหลัง แต่กูเกิลยังห่างไกลกับคำว่า "เสื่อมถอย" หรือ "ขาลง" (เราคงบอกว่าบริษัทที่ครองตลาด search ทั่วโลกเกือบเบ็ดเสร็จ หรือมีส่วนแบ่งในตลาดสมาร์ทโฟนอเมริกาเป็นอันดับหนึ่ง เป็นบริษัทที่อยู่ในช่วง "ขาลง" ลำบาก) เพียงแต่กูเกิลต้องการปรับฐานใหม่ เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ๆ เพื่อก้าวขีดจำกัดของตัวเอง เข้าสู่ทศวรรษใหม่อย่างมั่นใจ

Fred Wilson นักลงทุนชื่อดังซึ่งมีผลงานมากมายจากการปั้น Twitter/Foursquare/Zynga แสดงความเห็นบนเว็บไซต์ Business Insider ว่าในสายตาของนักลงทุน การผลัดเปลี่ยนรุ่นของทั้งแอปเปิลและกูเกิลจะไม่มีผลต่อทิศทางของบริษัทในระยะสั้น เพราะต่างฝ่ายต่างเตรียมตัวกันมาเป็นอย่างดี ส่วนในระยะยาวจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ต้องติดตามกันต่อไป

ข้อมูลประกอบบทความนี้ แทรกลิงก์ไว้เป็นระยะๆ แล้วแต่รวมให้เป็นหมวดหมู่ก็ดี

Blognone Jobs Premium