ไมโครซอฟท์ขอให้อินเทลทำ Atom สำหรับเซิร์ฟเวอร์

by mk
29 January 2011 - 07:20

Dileep Bhandarkar วิศวกรระดับสูงในฝ่าย Global Foundation Services ซึ่งทำหน้าที่ดูแลระบบเซิร์ฟเวอร์ทั้งหมดของไมโครซอฟท์ ไปบรรยายที่งาน The Linley Group Data Center Conference โดยพูดถึงสถาปัตยกรรมซีพียูสำหรับงานเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ที่กำลังเปลี่ยนไปจากเดิม

Bhandarkar พูดถึงการนำซีพียูประหยัดพลังงานอย่าง Atom หรือ Bobcat มาทำเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งมีข้อดีกว่าซีพียูสำหรับเซิร์ฟเวอร์แบบเดิมๆ อย่างพวก Xeon หรือ Opteron ในแง่ประสิทธิภาพต่อวัตต์ต่อราคา เขายังบอกว่าไมโครซอฟท์ได้ "ร้องขอ" ไปยังอินเทลและเอเอ็มดีให้ผลิตซีพียูประหยัดพลังงานที่มีจำนวนคอร์เยอะๆ เพื่อให้ไมโครซอฟท์นำมาใช้ทำเซิร์ฟเวอร์ด้วย

นอกจากเรื่องจำนวนคอร์แล้ว Bhandarkar ยังมองว่า Atom/Bobcat สำหรับเซิร์ฟเวอร์ควรผลิตมาเป็นแบบ SoC (system-on-chip) เพื่อประสิทธิภาพรวมของระบบ เขาบอกว่า Atom เล็กมากอยู่แล้ว เราไม่ควรเอาชิ้นส่วนอื่นๆ อย่างเซาธ์บริดจ์หรือคอนโทรลเลอร์ควบคุมระบบเครือข่ายไปวางล้อมมันไว้ ทำมาเป็น SoC แผ่นเดียวเลยดีกว่า

Linley Gwennap ผู้ก่อตั้ง The Linley Group ซึ่งเป็นผู้จัดงานนี้ ให้ความเห็นว่าไมโครซอฟท์มีกำลังซื้อเซิร์ฟเวอร์พวกนี้ในปริมาณมากๆ และอินเทลคงผลิตให้ตามคำร้องขอ ถ้าผลออกมาดี อินเทลอาจทำออกมาขายคนทั่วไปด้วยเลย

Bhandarkar ยังพูดถึง ARM ว่าถ้าสามารถสร้างหน่วยประมวลผลที่มีสมรรถนะต่อวัตต์ต่อดอลลาร์ได้สูงกว่าหน่วยประมวลผลจากค่าย x86 ประมาณ 2 เท่าขึ้นไปได้ ไมโครซอฟท์ก็ยินดีจะนำ ARM ไปใช้ในระบบเซิร์ฟเวอร์ของตัวเอง (ไม่เกี่ยวกับเรื่องไมโครซอฟท์ประกาศว่า Windows รุ่นหน้าจะรองรับ ARM นะครับ)

Bhandarkar ให้ภาพรวมทิศทางของตลาดเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ว่า แนวทางของซีพียูที่มีคอร์เยอะๆ สัญญาณนาฬิกาสูงๆ เริ่มตันแล้ว เพราะไม่สามารถทวีคูณประสิทธิภาพขึ้นไปได้เท่ากับพลังงานที่เสียไป และช่วงหลังไมโครซอฟท์หันมาเน้นแนวทางประหยัดพลังงานแทน ตัวอย่างคือ เซิร์ฟเวอร์ของไมโครซอฟท์รุ่นหลังๆ ใช้แบบ 1 ซีพียู 4 คอร์ต่อเครื่องเท่านั้น

ที่มา - PC World

Blognone Jobs Premium