จะเกิดอะไรขึ้นหลัง IPv4 หมดโลก

by lew
3 February 2011 - 19:04

ข่าวหมายเลข IPv4 หมดโลกอาจจะสร้างความตกใจให้กับหลายๆ คนว่าวันพรุ่งนี้เราจะใช้งานอินเทอร์เน็ตกันไม่ได้หรืออย่างไร เรามาดูกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้

แนะนำโปรโตคอล IP

ก่อนยุคอินเทอร์เน็ต โลกของเรามีเครือข่ายหลากหลายรูปแบบที่ล้วนเชื่อมต่อกันไม่ได้ เช่น IPX, Nowell Netware (Xerox Network Systems), หรือแอปเปิลเองก็มีเครือข่าย Appletalk ความพยายามที่จะเชื่อมคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในเครือข่ายเหล่านี้เข้าด้วยกันหลายต่อหลายครั้งล้วนล้มเหลว จนกระทั่งมกราคมปี 1980 ผลของโครงการ ARPANet ก็เริ่มออกมาเป็นรูปธรรม เมื่อทีมงานสามารถออกมาตรฐาน RFC 760 (ภายหลังปรับปรุงเพิ่มเป็น RFC 791 ออกมาอธิบายถึงการทำงานของโปรโตคอลไอพีหรือ Internet Protocol ออกมาเป็นผลสำเร็จ จากโครงการที่ทดลองในมหาวิทยาลัยไม่กี่แห่ง เครือข่ายไอพีเริ่มได้รับความนิยมจากบริษัทภายนอกอย่างรวดเร็ว

โปรโตคอลไอพีมีไว้เพื่อการส่งข้อมูลจากเครื่องหนึ่งไปยังคอมพิวเตอร์เครื่องใดๆ ก็ได้ในโลก มันเปรียบเหมือนกับที่อยู่ที่เราใช้ส่งจดหมายที่เราจะต้องระบุตั้งแต่ ประเทศ, จังหวัด, ตำบล, ถนน, ไล่ลงมาจนถึงเลขที่บ้าน เพื่อให้ไปรษณีย์สามารถจดหมายไปถึงปลายทางอย่างถูกต้อง แต่หมายเลขไอพีนั้นถูกกำหนดไว้ด้วยเลขฐาน 2 จำนวน 32 หลัก ซึ่งมักเขียนเป็นสี่ชุด เช่น 203.150.228.224 โดยหมายเลขเหล่านี้จะไล่จากเลขด้านต้น เช่น 203 อาจะหมายถึงหมายเลขไอพีนี้อยู่ในประเทศไทย 203.150 หมายถึงหมายเลขนี้เป็นของบริษัทอินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) 203.150.228 อาจจะระบุห้องคอมพิวเตอร์นั้นวางอยู่ และเมื่อหมายเลขครบถ้วนสี่ชุดเราก็จะสามารถบอกได้ว่าเครื่องปลายทางของเราอยู่ที่ไหนในโลกได้จริง

Vint Cerf ผู้จัดการโครงการ ARPANet ในยุคนั้น (ปัจจุบันทำงานอยู่กูเกิล) ระบุว่า IPv4 ถูกออกแบบมาเพื่อ "ทดลอง" การเชื่อมต่อเท่านั้น โดยมันควรถูกออกแบบใหม่ก่อนจะใช้งานจริง ทำให้การกำหนดหมายเลขนั้นจึงใช้เลขเพียง 32 บิต ซึ่งสามารถใช้งานได้สูงสุดประมาณ 4 พันล้านเลขหมายแต่ในทางปฎิบัติจะมีประสิทธิภาพต่ำกว่านี้มาก เพราะ การแจกจ่ายเลขนั้นขั้นต่ำสุดคือการแจกจ่าย 256 เลขหมาย เช่นบริษัทหนึ่งอาจจะต้องการหมายเลขไอพีของตัวเองก็จะสามารถไปขอใช้งานได้ โดยได้รับหมายเลขเป็นชุดเช่น 203.150.228.xxx โดยเราจะสามารถใช้หมายเลขใดๆ ในกลุ่มนี้ก็ได้

การจัดสรรหมายเลขไอพี

หน่วยงานที่มีอำนาจในการแจกจ่ายหมายเลขไอพีนั้นคือ Internet Assigned Numbers Authority หรือ IANA โดย IANA นั้นไม่ได้จัดสรรหมายเลขไอพีให้กับหน่วยงานต่างๆ โดยตรงแต่จัดสรรเป็นบล็อคขนาดใหญ่ (ประมาณ 16 ล้านเลขหมายต่อบล็อค) เพื่อจัดสรรไปยังภูมิภาคต่างๆ 5 ภูมิภาคทั่วโลก ที่เรียกว่า regional Internet registry (RIR) ได้แก่ AfriNIC (แอฟริกา), APNIC (เอเชียตะวันออก, เอเชียใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, และออสเตรเลีย), ARIN (อเมริกาเหนือ), LACNIC (อเมริกาใต้), และ RIPE NCC (ยุโรป, และเอเชียตะวันตก)

หน่วยงาน RIR นั้นจะมีนโยบายในการแจกจ่ายไอพีให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแตกต่างกันไป ในบรรดา RIR ทั้งหมด APNIC นั้นมีความต้องการหมายเลขไอพีเพิ่มเติมอย่างมากในช่วงหลายปีมานี้ ทำให้ IANA ต้องจ่ายบล็อคใหม่ๆ มาให้หลายต่อหลายครั้ง จนกระทั้งเหลือเพียง 5 บล็อคเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยตามข้อตกลงล่วงหน้าของเหล่า RIR ได้ระบุให้ 5 บล็อคสุดท้ายจะต้อง "หารเท่า" ไปยัง RIR ต่างๆ ทันที นั่นคือเครือข่าย 102 ส่งให้กับ AfriNIC, 103 ส่งให้ APNIC, 104 ส่งให้ ARIN, 179 ส่งให้ LACNIC, และ 185 ส่งให้ RIPE NCC

การกล่าวว่าหมายเลขไอพีหมดโลก นั้นคือเราไม่มีบล็อคขนาดใหญ่ ส่งมอบให้กับภูมิภาคต่างๆ อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม RIR ต่างๆ สามารถบริหารจัดการหมายเลขไอพีที่ตนมีเพื่อให้การแจกจ่ายหมายเลขไอพีเพียงพอต่อความต้องการไปได้อีกระยะหนึ่ง โดยคาดว่า APNIC จะหมดก่อนภายในหนึ่งถึงสองปีข้างหน้า

ตอนต่อไปผมจะมาพูดถึงผลกระทบต่อผู้ใช้ตามบ้านอย่างเราๆ ท่านๆ ต่อไป

Blognone Jobs Premium