วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2011 เป็นวันประวัติศาสตร์ที่วงการมือถือและวงการไอทีต้องจารึกไว้ เหตุเพราะบริษัทมือถืออันดับหนึ่งของโลกและบริษัทซอฟต์แวร์อันดับหนึ่งของโลก ประกาศจับมือกันผลักดันยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อสู้ศึก "สมาร์ทโฟน" ที่ทั้งสองบริษัทกำลังเพลี่ยงพล้ำอยู่ในช่วงหลัง
ใจความหลักของงานแถลงข่าวไม่มีอะไรผิดคาดจากข่าวลือต่างๆ ก่อนหน้า (Elop ก็บอกใบ้เรื่องนี้เองไม่กี่วันก่อนผ่านบันทึกภายใน) นั่นคือโนเกียจะหันมาใช้ Windows Phone เป็นระบบปฏิบัติการ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ก็ติดตามได้ในบทความนี้ครับ
งานนี้ Stephen Elop ซีอีโอคนใหม่ของโนเกีย (ย้ายข้ามมาจากฝ่าย Office ของไมโครซอฟท์ เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว) นั่งแถลงการณ์คู่กับเจ้านายเก่าของเขา สตีฟ บัลเมอร์ที่กรุงลอนดอน
รายละเอียดของการแถลงข่าวแบ่งได้เป็นหัวข้อต่างๆ ดังนี้
ประเด็นที่ทุกคนจับตาคือการ "หักมุม" ทางยุทธศาสตร์ด้านระบบปฏิบัติการแบบเฉียบพลัน นั่นคือโนเกียจะใช้ Windows Phone ของไมโครซอฟท์
Windows Phone
ประโยคสำคัญที่สุดในการแถลงข่าวครั้งนี้คือ
Nokia will adopt Windows Phone as its primary smartphone strategy
ตอนนี้เรายังไม่มีรายละเอียดใดๆ ว่า Nokia Windows Phone จะมีหน้าตาอย่างไร มีจำนวนกี่เครื่อง ออกเมื่อไร สิ่งที่เรารู้คือโนเกียจะไม่เป็นเพียงคนขอใช้ WP7 แต่จะมีส่วนร่วมกับการพัฒนาด้วยจำนวนหนึ่ง
Stephen Elop ตอบคำถามในช่วงแถลงข่าวว่า โนเกียจะมีสิทธิ์ปรับแต่ง WP7 บนฮาร์ดแวร์ของตัวเองได้ตามต้องการ แต่ในการปฏิบัติจริง โนเกียจะไม่ปรับแต่งมากจนเกินไป และพยายามรักษาความเข้ากันได้ของระบบมากกว่า - Engadget
สตีฟ บัลเมอร์ ตอบคำถามว่าดีลกับโนเกียครั้งนี้ "ไม่ exclusive" แต่ไมโครซอฟท์จะยื่นผลประโยชน์ที่ "ไม่ซ้ำใคร" (unique) ให้กับโนเกีย ซึ่งยังไม่บอกว่าเป็นอะไรบ้าง
Elop ยังเล่าว่าโนเกียเคยไปคุยกับกูเกิลว่าจะใช้ Android แต่สุดท้ายไม่เลือกทางนี้เพราะไม่เห็นหนทางที่จะสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้ ไมโครซอฟท์เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในปัจจุบัน
Symbian
คำถามต่อมาที่ทุกคนอยากรู้คือ Symbian จะเป็นอย่างไรต่อไป คำตอบของโนเกียก็คือ มีแผนจะขายอุปกรณ์ Symbian อีก 150 ล้านเครื่อง ฟังแล้วดูดี แต่ในสไลด์ที่โนเกียนำเสนอต่อนักลงทุนกลับไม่เป็นเช่นนั้น
จากภาพจะเห็นว่าอนาคตของ Symbian จะถูกแทนที่ด้วย Windows Phone ทั้งหมด เพียงแต่ในสไลด์ไม่ระบุว่าเป็นเมื่อไรเท่านั้นเอง (คาดกันว่าถึงปี 2012)
ที่มา - Engadget
MeeGo
แม้ว่าสไลด์ข้างต้นจะยังเหลือ MeeGo ไว้ให้เห็น แต่ในช่วงตอบคำถามนักข่าว Stephen Elop บอกว่าเขาไม่เชื่อว่าโนเกียจะสร้างสภาพแวดล้อมรอบ MeeGo ได้ทันท่วงที แม้โนเกียยืนยันว่าจะวางขายอุปกรณ์ MeeGo ในปีนี้ (เพียงรุ่นเดียวด้วย) แต่มันไม่ใช่ยุทธศาสตร์หลักของบริษัท เป็นแค่ "โอกาสในการเรียนรู้" และหลังจากวางขายได้แล้ว ทีม MeeGo จะหันไปโฟกัสยังแพลตฟอร์มในอนาคต
โนเกียอาจเลี้ยง MeeGo เอาไว้เผื่อพลาดกับ Windows Phone แต่ในระยะสั้นแล้วคงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เอาตัวให้รอดด้วย Windows Phone ก่อน ส่วน MeeGo ไว้ว่ากันทีหลัง
ข้อมูลส่วนตอบคำถามจาก - Engadget
S40
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับว่าระบบปฏิบัติการเก๋ากึ๊กอย่าง S40 ยังอยู่รอดปลอดภัยดีไม่มีปัญหา เหตุเพราะมีตลาดที่แยกกันชัดเจน และยังแข็งแกร่งอยู่มากในตลาดล่างนั่นเอง (อ่านหัวข้อ "โนเกียจะปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ขนานใหญ่" ประกอบ)
ส่วนบริการอื่นๆ นอกจากตัวระบบปฏิบัติการ ในแถลงข่าวบอกว่า "โนเกียกับไมโครซอฟท์จะรวมบริการต่างๆ เข้าด้วยกัน" และยกตัวอย่างบริการบางส่วน
ที่มา - Forum Nokia, Engadget
สิ่งที่เรายังไม่รู้ยังมีอีกหลายอย่าง เช่น อนาคตของ "แท็บเล็ต" ของโนเกียว่าจะไปทางไหน (ไมโครซอฟท์เองก็ยังไม่มีคำตอบสำหรับสาธารณะเช่นกัน) หรือว่าซอฟต์แวร์บางตัวของไมโครซอฟท์อย่าง Office หรือ Xbox จะมาเชื่อมกับโนเกียหรือไม่อย่างไร
การแถลงข่าวรอบนี้ โนเกียบอกว่าจะปรับโครงสร้างการบริหารงานของตัวเอง (ซึ่งเป็นปัญหามาโดยตลอด)
การเปลี่ยนแปลงสำคัญก็คือโนเกียจะแยก business unit ออกเป็น 2 ฝ่ายใหญ่ๆ แยกกันชัดเจน คิดกำไรขาดทุนเฉพาะฝ่ายตัวเอง ได้แก่
ฝ่ายอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับมือถือโดยตรง ได้แก่
สำหรับฝ่ายอื่นๆ พวกกฎหมาย ทรัพยากรมนุษย์ การเงิน บริหารงานทั่วไป ฯลฯ คงไม่ต้องลงรายละเอียดนะครับ การปรับโครงสร้างองค์กรครั้งนี้ทำให้ข่าวลือว่าผู้บริหารบางส่วนจะถูกปลด เป็นเรื่องไม่จริง เพราะทุกคนยังอยู่ดีมีสุขในการปรับโครงสร้างรอบนี้
Stephen Elop ยังปฏิเสธข่าวการย้ายสำนักงานไปที่ซิลิคอนวัลเลย์ โดยบอกว่าโนเกียเป็นบริษัทของคนฟินแลนด์ และจะไม่ย้ายไปไหน
ข้อมูลจาก Nokia Press Release, ภาพประกอบจาก Engadget
ผลประกอบการ
สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือโนเกียประกาศเตือนนักลงทุนว่าปี 2011-2012 จะเป็น "ช่วงเปลี่ยนผ่าน" ซึ่งโนเกียจะต้องลงทุนเพิ่มเติมในสภาพแวดล้อมของไมโครซอฟท์ หลังจากนั้นโนเกียคาดว่าจะมียอดขายเกินอัตราเฉลี่ยของตลาด และมีสัดส่วนกำไรประมาณ 10% - Engadget
พนักงาน
และในช่วงตอบคำถามกับนักข่าว Stephen Elop ยืนยันว่าโนเกียจะลดพนักงานลงจำนวน "ไม่น้อย" (substantial reductions in employment) ทั้งในฟินแลนด์และที่อื่นๆ ในโลก - Engadget
สภาพการแข่งขันในตลาด
โนเกียจั่วหัวบล็อกอันหนึ่งใน Nokia Conversations ว่า Welcome to the Third Ecosystem
แม้จะไม่บอกตรงๆ แต่ทุกคนคงเข้าใจตรงกันว่า First และ Second หมายถึง iOS กับ Android
Stephen Elop ตอบคำถามว่าโนเกียเองเพียงลำพังไม่สามารถแข่งขันกับแอปเปิลและกูเกิลได้ การจับมือกับไมโครซอฟท์จะทำให้ขั้วของโนเกีย-ไมโครซอฟท์มีสภาพเป็น "ขั้วใหญ่ที่สาม" ซึ่ง Elop บอกว่ายุทธศาสตร์นี้ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากโอเปอเรเตอร์หลายรายที่เขาไปคุยด้วย
ปี 2010
เมื่อปี 2010 วงการมือถือและอุปกรณ์พกพา มีผู้เล่นในตลาด (นับเป็นแพลตฟอร์ม) ดังนี้
ผู้เล่นที่สร้างโมเมนตัมได้อย่างชัดเจนมีสองรายคือ iOS และ Android ส่วนรายอื่นๆ สภาพก็แย่บ้าง เฉยๆ บ้างแตกต่างกันไป
ปี 2011
ปี 2011 สภาพตลาดเปลี่ยนไปเยอะ
สถานกรณ์ของ iOS กับ Android ยังคงเหมือนเดิมคือติดลมบนไปเรียบร้อย ส่วนขั้วที่สามของโนเกียกับไมโครซอฟท์ก็ถือว่าน่าสนใจ เพราะทั้งสองถือเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่มากในโลกของตัวเอง และมีกำลังเหลือเฟือที่จะต่อกรกับผู้นำทั้งสอง
ทางเลือกที่สาม
ในฝั่งของโนเกียนั้นชัดเจนว่า "อนาคตคือ Windows Phone" ถึงแม้จะยังเลี้ยงๆ Symbian/MeeGo เอาไว้บ้าง แต่ในทางทฤษฎีถือว่าจบไปแล้ว รอวันตาย ทุกสิ่งทุกอย่างต้องฝากไว้ที่ Windows Phone เท่านั้น ความชัดเจนในเรื่องนี้จะค่อยๆ ปรากฎขึ้นเมื่อเราเห็นข่าวมือถือ Windows Phone เครื่องแรกจากโนเกีย
ฝั่งของไมโครซอฟท์นั้นน่าสนใจกว่า เพราะ Windows Phone ไม่ได้ขายให้เฉพาะโนเกีย ยังมี HTC/Samsung/LG/Dell เป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์รายอื่นด้วย นอกจากนี้เรายังไม่รู้ว่าบทบาทในการพัฒนาตัวซอฟต์แวร์ Windows Phone ระหว่างไมโครซอฟท์กับโนเกียจะแบ่งกันอย่างไร ถ้ามีความเห็นไม่ลงรอยกันจะทะเลาะกันจนเจ๊งทั้งคู่หรือไม่ ฯลฯ
ผมคิดว่าหนทางเดียวที่ขั้วไมโครซอฟท์-โนเกียจะไปรอดได้ ก็คือแบ่งบทบาทกันอย่างชัดเจนว่า "โนเกียทำฮาร์ดแวร์ ไมโครซอฟท์ทำซอฟต์แวร์" โดยโอนพนักงานฝ่ายซอฟต์แวร์ของโนเกียไปอยู่ใต้บังคับบัญชาของไมโครซอฟท์เลย (ไมโครซอฟท์อาจตั้งบริษัทลูก Windows Phone แยกออกมาเพื่อความคล่องตัวในการบริหาร) ยุทธศาสตร์นี้จะทำให้ความร่วมมือชัดเจนขึ้น และโนเกียจะได้โฟกัสกับธุรกิจของตัวเองมากกว่าเดิม (ตอนนี้โนเกียไม่มีอะไรจะเสียแล้ว)
ถึงแม้ไมโครซอฟท์จะมีผู้ผลิตฮาร์ดแวร์รายอื่น และบอกว่าดีลนี้กับโนเกียไม่ exclusive แต่ในทางปฏิบัติ บริษัทอย่าง HTC/Samsung/LG/Dell ก็ไม่น่าจะพอใจที่เห็นโนเกียเป็น "ความสำคัญอันดับหนึ่ง" ของไมโครซอฟท์ และน่าจะค่อยๆ ถอนตัวออกจากทีม Windows Phone ในไม่ช้า
ทางเลือกที่สี่และห้า
อีกจุดที่น่าสนใจคือ เบอร์สี่และเบอร์ห้าอย่าง BlackBerry กับ webOS จะยืนระยะได้นานแค่ไหน เพราะมีขนาดและกำลังเล็กกว่าสามอันดับแรกมาก กรณีของ BlackBerry ผมคิดว่าพอไปได้ในภาคธุรกิจที่มีตลาดเฉพาะของตัวเอง ส่วน webOS มีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องม้วนเสื่อออกจากธุรกิจมือถือและแท็บเล็ต (ถ้าจุดกระแสไม่ติด) แต่อาจมีชีวิตรอดอยู่ไปใต้ในอาณาจักรของ HP เช่น เครื่องพิมพ์ หรืออุปกรณ์เฉพาะทางอื่นๆ
สรุป
กล่าวโดยสรุปก็คือ ยุทธศาสตร์การจับมือกันของโนเกียกับไมโครซอฟท์ถือว่าสมเหตุสมผล เสริมจุดอ่อนจุดแข็งซึ่งกันและกัน การรวมตัวกันรอบนี้มีพื้นฐานทรัพย์สินอิทธิพลเดิมอยู่ไม่น้อย เป็นทุนรอนไปสู้ศึกกับโลกภายนอกได้สบาย ส่วนจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับผู้บัญชาการทั้งสองคนนี้แล้วล่ะครับ (อย่าทะเลาะกันเองเสียก่อนน่าจะพอไปได้นะ)
ทั้งหมดเป็นการวิเคราะห์เท่าที่มีข้อมูล ณ ปัจจุบัน อาจมีผิดบ้างถูกบ้าง ลองให้เวลาอีกสักครึ่งปีแล้วเรามาดูกันใหม่ ยุทธศาสตร์ของโนเกียกับไมโครซอฟท์น่าจะเริ่มชัดเจนขึ้นครับ