ศาลประเทศออสเตรเลียตัดสินยกฟ้องบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต iiNet ในคดีที่กลุ่มเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ฟ้องร้องโทษฐานที่อนุญาตให้ผู้ใช้แชร์ไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ได้
คดีดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์จากคำตัดสินเมื่อปีที่แล้ว ที่ศาลชั้นต้นตัดสินว่าผู้ให้บริการไม่ต้องรับผิดชอบเช่นกัน
ความเป็นมาของคดีดังกล่าวเริ่มจากว่า กลุ่มเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ในนาม Australian Federation Against Copyright Theft (AFACT) ได้ว่าจ้างบริษัทหนึ่งให้คอยสอดส่องเครือข่ายทอร์เรนต์เพื่อหาการกระทำผิด ก่อนจะส่งที่อยู่ IP ไปให้กับ iiNet เพื่อให้ iiNet ดำเนินการบางอย่างกับผู้ใช้เหล่านี้ (เช่นระงับบริการ) แต่ iiNet ปฏิเสธคำร้องขอของ AFACT โดยให้เหตุผลว่า ลำพังข้อกล่าวหาและที่อยู่ IP นั้น ไม่เพียงพอที่จะเป็นเหตุให้ iiNet ระงับการใช้งาน และ AFACT ควรจะดำเนินเรื่องผ่านผู้มีอำนาจรัฐที่มีหน้าที่ดังกล่าว สุดท้าย บรรดาบริษัทภาพยนตร์ก็เลยฟ้อง iiNet โทษฐานที่อนุญาต (authorize) ให้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ และไม่ใช้มาตรการที่จำเป็นในการระงับเหตุดังกล่าว
ถึงแม้ว่าศาลจะตัดสินยกฟ้อง แต่ก็ระบุไว้ว่า การตัดสินยกฟ้องในคดีนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคดีในอนาคตที่ iiNet จะถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาอนุญาตให้ผู้ใช้ละเมิดลิขสิทธิ์ได้
คำตัดสินในคดีนี้ยาวและละเอียดมาก มีระบุกระทั่งว่า "Computers operate by means of binary code. A bit is either a zero or a one. A byte is 8 bits. A kilobyte is 1,024 bytes, a megabyte is 1,024 kilobytes and a gigabyte is 1,024 megabytes."
ที่มา – Ars Technica